©ulture

เสียงเคาะกลองเป็นจังหวะชวนให้โยกย้ายตาม หน้าต่างบ้านเปิดออกเผยให้เห็นผู้คนที่ออกมาชื่นชมขบวนสุดอลังการ ถนนทั้งสายคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนหลากวรรณะในอินเดีย ที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือความศรัทธาอันแรงกล้าใน ‘พระพิฆเนศ’

บรรยากาศเหล่านี้เวียนมาให้สัมผัสอีกครั้งในเทศกาล ‘คเณศจตุรถี’ หรือ ‘วิไนยกะจตุรถี’ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองวันประสูติของพระพิฆเนศ เทพเจ้าที่มีผู้ศรัทธาอยู่ทั่วทุกมุมโลก 

common ganesha
(Photo : Indranil MUKHERJEE / AFP)

ในบรรดาเทพเจ้าทั้ง 33 ล้านองค์ของศาสนาฮินดู พระพิฆเนศเป็นหนึ่งในเทพที่มีคนบูชาอย่างล้นหลาม เนื่องจากพระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นเทพที่ช่วยขจัดอุปสรรคต่างๆ ทั้งยังอุปถัมภ์ด้านศิลปะ และเป็นเทพเจ้าแห่งการเริ่มต้น สังเกตได้ว่าในบทสวดนำพิธี มักปรากฏชื่อของพระองค์อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ผู้คนทั่วทุกสารทิศจึงเฉลิมฉลองคเณศจตุรถีอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วโลก

common ganesha
(Photo : SANJAY KANOJIA / AFP)

เทศกาลนี้จัดยาวนานถึง 10 วัน เริ่มต้นในเดือน Bhadra หรือเดือนที่ 6 ในปฏิทินฮินดู ซึ่งตรงกับปลายเดือนสิงหาคมและต้นเดือนกันยายนในปฏิทินสากล วันแรกของเทศกาลจะเริ่ม 4 วันให้หลังจากคืนเดือนดับ (แรม 14 หรือ 15 ค่ำ) สำหรับปี 2019 นี้ เทศกาลคเณศจตุรถีจัดขึ้นวันแรกในวันที่ 2 กันยายน และสิ้นสุดในวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา

common ganesha
(Photo : Money SHARMA/AFP)

ผู้ศรัทธาพระพิฆเนศทั่วโลกพากันเฉลิมฉลองในช่วงวันดังกล่าว โดยเฉพาะในเมืองต่างๆ ของอินเดีย ซึ่งมีการจัดขบวนแห่และสักการะบูชาพระคเณศอย่างยิ่งใหญ่ หากอยากไปเยือนสักครั้งต้องไม่พลาดเมือง ‘มหาราษฏระ’ เมืองเก่าแก่ซึ่งเป็นเมืองแรกเริ่มของเทศกาลนี้ และจัดมายาวนานถึง 125 ปี อีกเมืองที่อลังการไม่แพ้กันเห็นจะเป็น ‘นครมุมไบ’ อันแสนคึกคักและมีสีสัน ทั้งยังมีวัดสิทธิวินายักที่สร้างเพื่อสักการะพระพิฆเนศ ยิ่งไปกว่านั้นที่นครมุมไบยังมีการแห่รูปปั้นกว่า 150,000 องค์ในแต่ละปี 

common ganesha
ช่างฝีมือเมืองสิลิกริ กำลังปั้นรูปปั้นพระพิฆเนศจากดินเหนียว (DIPTENDU DUTTA / AFP)

เหล่าช่างประติมากรรมใช้เวลาร่วมเดือนในการรังสรรค์รูปปั้นพระพิฆเนศจากดินเหนียว และบรรจงแต่งแต้มสีสันอย่างวิจิตรและประณีตเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเทศกาลสักการะอันยิ่งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง เมื่อปั้นเสร็จสมบูรณ์ จะมีพิธีอัญเชิญดวงจิตขององค์พระพิฆเนศให้เข้ามาสถิตย์อยู่กับรูปปั้นเหล่านั้น

common ganesha
(Photo : AFP)
common ganesha
(Photo : DIPTENDU DUTTA / AFP)

ทุกๆ วันตั้งแต่เริ่มต้นเทศกาล ผู้คนจะสักการะพระพิฆเนศในบ้านของตนด้วยการสวดมนต์และเซ่นไหว้ ซึ่งในสำรับไหว้นั้นมีทั้งข้าว ขนม น้ำตาลโตนด มะพร้าว ดอกไม้ และเหรียญที่ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า จากนั้นจะมีการเจิมผงจันทน์หอมสีแดงบนหน้าผากของรูปปั้นพระคเณศเป็นอันจบพิธีไหว้ 

common ganesha
(Photo : Money SHARMA / AFP)
common ganesha
(Photo : NOAH SEELAM / AFP)

เมื่อมาถึงวันสุดท้ายของเทศกาล ถนนในเมืองจะคึกคักเป็นพิเศษ เสียงกลองและดนตรีเซ็งแซ่ ขบวนแห่อันอึกทึกครึกโครมค่อยๆ เคลื่อนตัวอย่างช้าๆ รอบๆ รูปปั้นใหญ่ยักษ์รายล้อมไปด้วยผู้คนจำนวนมหาศาล ที่กำลังมุ่งไปยังจุดหมายเดียวกันคือแม่น้ำสายหลักของเมือง เพื่อปล่อยรูปปั้นของพระคเณศที่บรรจงปั้นมาร่วมเดือนให้ลอยไปกับสายน้ำ

common ganesha
ขบวนแห่พระพิฆเนศไปยังแม่น้ำในนครมุมไบ (Photo : Punit PARANJPE / AFP)

ทำไมต้องทำเช่นนั้น ?

ความเชื่อสำหรับพิธีกรรมดังกล่าวแตกต่างกันออกไป แต่หนึ่งในความเชื่อหลักคือทำให้เราเข้าใจ ‘สัจธรรมแห่งจักรวาล’ การบรรจงปั้นรูปปั้นพระพิฆเนศนานร่วมเดือนและนำมาปล่อยทิ้งในน้ำ เป็นสิ่งที่ฟังดูไร้เหตุผล แต่แท้จริงแล้วความหมายของพิธีกรรมกลับลึกซึ้งมากกว่านั้น 

common ganesha
(Photo : Shaukat Ahmed / AFP)

ผู้คนในศาสนาฮินดูเชื่อว่ารูปปั้นเป็นตัวแทนของเทพเจ้า การปล่อยรูปปั้นให้ละลายไปกับสายน้ำ เป็นการสื่อว่า แม้รูปของพระพิฆเนศจะสิ้นไปแล้ว แต่พวกเขาก็จะยังศรัทธาในพระองค์อยู่เสมอ ราวกับจักรวาลกำลังกระซิบบอกเราว่า ‘แม้กายจะสลายไป แต่พลังงานจะยังคงอยู่ตลอดกาล’  นอกจากนี้พิธีกรรมของวันสุดท้ายยังชวนให้เราเข้าใจว่าทุกสิ่งบนโลกนั้นล้วนไม่แน่นอน และบางครั้งเราก็จำเป็นต้องจากกับสิ่งที่รัก

common ganesha
(Photo : INDRANIL MUKHERJEE / AFP)

‘ศรัทธา’ ที่ดีต้องควบคู่กับ ‘ปัญญา’ หมายถึงความศรัทธานั้นจะนำพาให้มนุษย์เราละทิ้งเปลือกและเข้าถึงแก่นแท้ของคำสอนในศาสนา

ในวันสุดท้ายของเทศกาล ‘คเณศจตุรถี’ นั้นแสดงให้เห็นถึง ศรัทธาที่ดีได้อย่างแจ่มชัด เพราะภายใต้แววตาของเหล่าผู้มาสักการะที่สะท้อนภาพรูปปั้นพระพิฆเนศกำลังค่อยๆ จมลงในแม่น้ำ ทำให้เรารู้ว่า ในตอนนั้นพวกเขากำลังก้าวเดินไปยังแก่นแท้ของพิธีกรรม ที่มาจาก ‘ศรัทธาอันเปี่ยมไปด้วยปัญญา’

 

อ้างอิง