©ulture

ทันทีที่ไฟทั้งฮอลล์ดับลง จอแอลอีดีก็สว่างวาบเป็นชื่อการแสดงคอนเสิร์ตจากนั้นแสงไฟเล็กๆ จาก ‘บง’ ของคนดูก็สว่างวาบขึ้นเป็นสีเดียวกัน

Concert วง NCT NEO CITY SEOUL — THE ORIGIN (Photo: twitter.com)

บง หรือ ในภาษาเกาหลี แปลตรงตัวว่า “แท่ง” คือแท่งไฟที่เป็นอุปกรณ์ (กึ่งๆ) บังคับสำหรับดูคอนเสิร์ต K-POP

ถ้าคุณเป็นแฟนคลับหรือมีคนรู้จักเป็นแฟนคลับวง K-POP คงจะเคยเห็นบงมาบ้าง แต่เคยสงสัยไหมว่า บงมาจากไหน? มีพัฒนาการมาอย่างไร? แล้วทำไมถึงต้องมี?

อยากให้คนจำ จึงมีสีประจำวง และมี ‘บง’

ในอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพลง การปั้นไอดอลขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคหลายๆ กลุ่ม แล้วนำมารวมไว้ในวงเดียวนั้นเป็นเรื่องที่ทำกันในวงการ

ปัจจุบันมีวงไอดอลจากทั้งค่ายเพลงเล็กและใหญ่มากกว่า 100 วงในเกาหลีใต้ คำถามคือเมื่อมีไอดอลมากมายขนาดนี้ ทำอย่างไรคนถึงจะจำได้ล่ะ?

ด้วยเหตุนี้ ค่ายเพลงจึงจำเป็นต้องสร้าง ‘อัตลักษณ์’ ของวงไอดอลขึ้นมา เริ่มตั้งแต่ตั้งชื่อวงให้มีเรื่องราว ใส่คาแรคเตอร์ให้กับคนในวง ทำแนวเพลงที่เป็นเอกลักษณ์ หรือเพลงที่ใช้ร้องอาจจะเกี่ยวข้องกับแนวคิดของวง

นอกจากนี้ การตั้งชื่อแฟนคลับให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับวงก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่ง่ายต่อการเข้าใจและจดจำมากที่สุดคือการกำหนด สีประจำวง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด ‘บง’ ในเวลาต่อมา

บรรยายกาศ Dream Concert 2008 (photo: https://pann.nate.com/talk/322931126?listType=c&page=4)

จากลูกโป่งถึง ‘บง’ แสงแห่งกำลังใจ

คอนเสิร์ตรวมศิลปินในเกาหลีใต้จะจัดขึ้นในสถานที่ขนาดใหญ่และจุคนได้เยอะส่วนมากจะเป็นสนามกีฬาที่มีอัฒจันทร์สูง

แฟนคลับที่นั่งอยู่ในโซนเฉพาะ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้จัดจะเปิดจำหน่ายบัตรในรอบพิเศษ เพื่อให้กลุ่มแฟนคลับได้นั่งอยู่ด้วยกัน (มักเป็นที่นั่งที่อยู่ค่อนข้างสูงและไกลจากเวที นิยมเรียกกันว่า “บัตรยอดดอย”)

แม้จะอยู่ไกลขนาดนี้จนแทบไม่เห็นตัวศิลปินแต่สำหรับกลุ่มแฟนคลับแล้วนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ ขอแค่ให้ศิลปินเห็นเราก็ยังดี โดยแฟนคลับจะถือ ‘ลูกโป่ง’ ที่มีสีประจำวงซึ่งเป็นวัตถุที่แสดงถึงการให้กำลังใจที่เห็นได้ในระยะไกลและชัดเจน

ทว่าการแสดงคอนเสิร์ตส่วนใหญ่จะเล่นในเวลากลางคืนหรือในฮอลล์ที่ค่อนข้างมืดเพื่อให้ศิลปินบนเวทีเฉิดฉาย ลูกโป่งที่ไม่มีแสงสว่างภายในตัวเองจึงไม่เพียงพออีกต่อไป

Lightstick

ต่อมาจึงได้มีการพัฒนามาใช้แท่งไฟแอลอีดี เพื่อจะส่องสว่างส่งกำลังใจไปให้ศิลปินเห็นว่าในฮอลล์มืดๆ ไม่ได้ว่างเปล่า แต่เต็มไปด้วยแฟนคลับที่มาเฝ้าชม

นี่คือจุดเริ่มต้นของบง ซึ่งเป็นที่มาของแสงเล็กๆ ที่ส่องสว่างไปทั่วคอนเสิร์ตจนใครบางคนเรียกแสงจากแท่งไฟจำนวนมหาศาลที่วาบไหวนี้ว่า “Ocean” ที่เปรียบเสมือนท้องทะเลที่มีสีสันต่าง ๆ

Red Ocean ของวง TVXQ (Photo: https://thelifeofthelychee.wordpress.com/2013/04/27/lychee-loves-red-ocean/)

เมื่อ ‘บง’ กลายเป็นธุรกิจ

จากแท่งไฟอะไรก็ได้ขอแค่ให้มีสีเหมือนกับสีประจำวง บงก็พัฒนาไปอีกระดับ เมื่อบริษัทต้นสังกัดเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจจึงจัดการผลิต Official Light Stick ออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ทั้งตามหน้างานคอนเสิร์ตหรือเปิดให้จับจองในออนไลน์

จากแท่งไฟธรรมดาๆ เริ่มมีการสลักชื่อบนแท่งไฟ โดยระบุชื่อคอนเสิร์ต รอบที่เล่น เมืองที่จัด เป็นเหมือนของที่ระลึกจากคอนเสิร์ตครั้งนั้น

แท่งไฟ Girls’ Generation Premium Show Case
แท่งไฟวง Super Junior ในคอนเสิร์ต SUPER SHOW4

‘บง’ ในตำนาน และที่มาของบงประจำวง

เอกลักษณ์ของบงถูกสร้างขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างเอกลักษณ์ของวงในยุคหลังเมื่อวงไอดอลเริ่มมากขึ้น แต่ถ้าพูดถึงบงที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครในยุคแรก (2006) ต้องยกให้บงของวงไอดอลเกาหลีในตำนานอย่าง Big Bang ที่เป็นแท่งไฟรูปมงกุฎส่องแสงสีเหลือง บ่งบอกถึงชื่อแฟนคลับว่าเป็น VIP ได้อย่างชัดเจน และยังเป็นบงที่คนเกาหลีโหวตให้เป็นหนึ่งในแท่งไฟที่สวยที่สุดอีกด้วย

คอนเสิร์ต 2014 BIGBANG + α IN SEOUL (Photo: BIGBANG official facebook)

นอกจากนี้ วงไอดอลที่มีเป็นร้อย ยังมีปัญหาเรื่องสีประจำวงที่ซ้ำกัน

คำถามคือ เมื่อซ้ำแล้วทำยังไงให้มันแตกต่างล่ะ? ให้ค่าสี? ให้โค้ดสี? ตั้งชื่อสี? กางชาร์ตแพนโทนออกมาจิ้ม?

2019 SM ARTIST + PANTONE™ (Photo:smtownandstore.com)

ก็อาจจะได้ แต่ในความเป็นจริง สีแอลอีดีไม่ได้แบ่งแยกสีชัดเจนได้ขนาดนั้น

เพราะฉะนั้นแล้วการสร้างรูปแบบที่ชัดเจนของแท่งไฟจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพื่อไม่ให้สับสนว่า Ocean สีนี้เป็นของศิลปินวงไหนกันแน่ และเป็นการป้องกันปัญหาระหว่างแฟนคลับสองวงที่มีสีประจำวงสีเดียวกัน

Official Light Stick ของวง EXO Ver 3.0 ที่เปลี่ยนรูปร่างหน้าตา ลูกเล่นของไฟ รวมถึงเปลี่ยนจากการใช้ถ่านไฟฉายเป็นการชาร์ตไฟแทน (photo: smtownandstore.com)

‘บง’ แห่งความเป็นหนึ่งเดียว กลยุทธ์การขายบงของบริษัทต้นสังกัด

แท่งไฟจากบริษัทต้นสังกัดส่วนใหญ่มักจะมีราคาสูง (ราว 900 – 1700 บาท) และกว่าจะได้ใช้ครั้งหนึ่งก็ต้องมีคอนเสิร์ต แฟนคลับบางกลุ่ม (โดยเฉพาะชาวต่างชาติ) จึงตัดสินใจที่จะไม่ซื้อ เพราะรู้สึกไม่คุ้มค่า แต่หันมาซื้อแท่งไฟที่มีสีเดียวกับสีประจำวงแทน

ทางบริษัทต้นสังกัดจึงหาทางจูงใจแฟนคลับด้วยการเพิ่มลูกเล่นเข้าไปในแท่งไฟ โดยใส่เทคโนโลยีบลูทูธ เพื่อควบคุม Official Light Stick ให้สามารถปิด-เปิด ปรับจังหวะไฟกะพริบให้เข้าเพลงที่แสดง หรือถึงขั้นเปลี่ยนเป็นสีต่างๆ (ที่ไม่ใช่สีประจำวงเพียงอย่างเดียว) พร้อมกันได้ทั้งฮอลล์ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมและประสบการณ์บนเวทีกับศิลปิน (บางเพลงศิลปินก็เอา Official Light Stick มาโบกด้วย)

ลองคิดดูว่า ถ้าในคอนเสิร์ตนั้น ทุกคนต่างถือบงที่เปลี่ยนสีไปพร้อมๆ กัน มีเพียงเราที่ถือบงธรรมดา (แม้จะส่องสว่างสีประจำวงก็ตาม)

มันก็ดูเปลี่ยวๆ นะ ว่าไหม?

SUPER SHOW 5 in BANGKOK (Photo: Super Junior Official facebook)

‘บง’ วัตถุแทนใจ แต่ไม่ใช่หัวใจ

ในฐานะแฟนคลับ เราสามารถไปดูคอนเสิร์ตโดยไม่มีบงได้ไหม?

คำตอบคือ “ได้”

ถึงแม้ว่าบงจะทำให้คอนเสิร์ตทั้งฮอลล์สวยเป็นสีเดียวกันและเป็นการแสดงถึงพลังสนับสนุนศิลปินของแฟนคลับ

ปัจจุบันวงไอดอล K-POP แทบทุกวงจะมี Official Light Stick ประจำวง (Photo: Twitter @rnsm_FA)

แต่ถ้าหากการซื้อตั๋วคอนเสิร์ตและบงในคราวเดียว ทำให้คุณรู้สึกว่าเป็นเรื่องเกินตัวไปหน่อย ก็ไม่จำเป็นต้องลำบากลำบนซื้อหา เพราะแค่การซื้อตั๋วคอนเสิร์ต แล้วเข้าไปสนุกกับศิลปินที่คุณรัก ก็ถือเป็นการสนับสนุนแล้ว

ขอเพียงสนุกไปกับห้วงเวลาตรงหน้าอย่างสุดหัวใจ

แท่งไฟก็แค่สิ่งประกอบเท่านั้น.

 

FACT BOX:

เหตุการณ์ Girls’ Generation Black Ocean ที่ Dream Concert ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2008 (Photo: https://www.koreaboo.com/lists/7-worst-scandals-surrounding-girls-generation-shocked-nation-1/)

Black Ocean: ในเหตุการณ์ Dream Concert คอนเสิร์ตรวมศิลปินเกาหลีใต้ ปี 2008 วงไอดอลเกิร์ลกรุ๊ป Girls’ Generation เคยโดน Black Ocean หรือการดับแท่งไฟทั้งสเตเดียมขณะทำการแสดงคอนเสิร์ต เป็นเวลา 10 นาที เนื่องมาจากการทะเลาะกันระหว่างแฟนคลับ และกระแสแอนตี้ตัวศิลปินที่เกิดขึ้นในปีนั้น

อ้างอิง: