สำหรับใครที่อ่านชื่อบทความแล้วขมวดคิ้ว แสดงว่าคุณอาจจะยังไม่รู้จัก ‘หนูรัตน์’ อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังแห่งยุค
เราติดตามหนูรัตน์มาตั้งแต่ “สวัสดีค่า หนูจื้อนางสาวธิดาพร ชาวคูเวือง จื้อเล่นจื้อหนูรัตน์ อายุ 23 ปีแล้ว” มาจนถึง…
“สวัสดีค่า หนูจื้อนางสาวธิดาพร ชาวคูเวือง จื้อเล่นจื้อหนูรัตน์ อายุ 25 จะ 26 ปีแล้วนะค้า”
ประโยคดังกล่าวถือได้ว่าเป็น Must-Have ในแทบทุกคลิปของ ‘หนูรัตน์’ หรือ ธิดาพร ชาวคูเวียง สาวนักแสดงและอื่นๆ (ที่บอกว่าและอื่นๆ เพราะเธอทั้งเล่นละครที่คิดบทเอง เล่นเอง ยิงเอง เจ็บเอง ทั้งอัดคลิปร้องเพลงพร้อมเต้นประกอบ ไปจนถึงรับงานกินชาบู)
นอกจากละครโฮมเมดที่เธอทำแล้ว ชื่อเสียงเธอยังโด่งดังจนได้เล่นภาพยนตร์เรื่องหลวงตามหาเฮง สงกรานต์แสบสะท้านโลกันต์ และ หอแต๋วแตก แหกต่อไม่รอแล้วนะ
ผลงานของเธอมักมีพล็อตเรื่องที่เรียบง่าย และตรงไปตรงมา เป้าหมายในชีวิตอย่างหนึ่งที่เธอกล่าวเสมอ คือเธออยากมีชื่อเสียงเพื่อหาเงินไปให้พ่อแม่ เมื่อคนดูรู้ถึงเบื้องหลังความตั้งใจ พวกเขาจึงยิ่งดูละครสนุกขึ้น แถมยังเอ็นดูเธอมากขึ้นอีกด้วย
หนูรัตน์บกพร่องทางการได้ยิน ทำให้พูดไม่ค่อยชัด จนเกิดการสร้างคำใหม่เป็นภาษาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งภาษาแปลกๆ นี่แหละที่หลายคนให้ความสนใจและใช้ร่วมกัน รวมทั้งเผยแพร่ออกไปสู่วงกว้าง
ถ้าถามว่ากว้างประมาณไหน ก็จะตอบว่ากว้างประมาณนี้
เธอนับเป็นผู้มีอิทธิพลต่อโลกไซเบอร์อย่างมากคนหนึ่ง มีผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กกว่าแสนคน ดังขนาดมีเอฟซีไปตั้งเพจแยกชื่อเพจ ‘หนูรัตน์’ ที่มียอดติดตามกว่าแสนเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีคนเอาชื่อหมาของเธอมาตั้งเป็นเพจอีกด้วย (ปุ๊กกี้ ชาวคูเวียง) ซึ่งแน่นอนว่าภาษาราชการที่ใช้ในเพจเหล่านี้คือภาษาหนูรัตน์
นอกจากเพจที่ผุดขึ้นมาหลายต่อหลายเพจแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกลุ่มลับ (เอฟตี มาติมาติ) ที่ถ้าไม่ใช่แฟนคลับตัวจริงคงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป โดยคำอธิบายของกลุ่มนี้คือ “ชมรมเรียนภาษารัตนศาสตร์ เฉพาะเอฟตี อย่ามาทำร้ายหนู”
จากที่เล่ามาดูท่าว่ารัตนศาสตร์กำลังมาแรงมาก common จึงอยากวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ภาษากำลังวิบัติ หรือกำลังวิวัฒน์ แล้วจะเป็นไปได้ไหมหากภาษานี้มีผู้คนนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งได้รับการบัญญัติเป็นคำศัพท์จริงๆ
รัตนศาสตร์ บทที่ 1
ภาษารัตนศาสตร์เบื้องต้น
ก่อนที่จะลงรายละเอียด ขออธิบายความเป็นมาและลักษณะของภาษาหนูรัตน์อย่างคร่าวๆ ก่อน ด้วยความที่หนูรัตน์บกพร่องทางการได้ยิน ทำให้ภาษาส่วนใหญ่เพี้ยนไป ดังนี้
1. การเพี้ยนเชิงเสียง
ตัวอย่าง
ลุ้ย = ลุค
เหมียน = เหมือน
ตำบือ = ตำบล
ขนมป๊อกกะแลต = ขนมช็อกโกแลต
จะเห็นว่าเสียงที่เพี้ยนไป อาจเป็นสระที่เปลี่ยน พยัญชนะ หรือไม่ก็ทั้งสอง
2. การย่อคำให้สั้นลงด้วยการตัดคำ
ตัวอย่าง
สยามก้อน = สยามพารากอน
รูปสมัย = รูปสมัยก่อน
ส่งโลชั่น = ส่งโลเคชั่น
3. การเปลี่ยนรูปประโยค
ตัวอย่าง จากละครคนเจ้าชู้ คนหลายใจ ตอน รักกันไม่ได้
“ต้องกลับไปคุยกับหนูรัตน์เถอะ หนูรัตน์สงสาร”
โดยปกติหากเป็นประโยคคำสั่งโดยใช้คำว่า ‘ต้อง’ ประโยคนี้จะเขียนได้ว่า “ต้องกลับไปคุยกับหนูรัตน์” และหากเป็นประโยคขอร้องโดยใช้คำว่า ‘เถอะ’ จะได้ว่า “กลับไปคุยกับหนูรัตน์เถอะ” แต่ในกรณีนี้ดูเหมือนว่าเธอจะเอาประโยคคำสั่งและประโยคขอร้องมารวมกัน จนเกิดเป็นประโยคดังกล่าว
“ผมก็คุยเรื่องของธุระของส่วนตัวคับผม ผมก็ไม่รู้หรอก”
ประโยคนี้มีการใช้คำบุพบททั้งๆ ที่ละได้ โดยส่วนมากในภาษาพูด คนนิยมละคำบุพบทแสดงความเป็นเจ้าของเพื่อให้ประโยคกระชับ เช่น “ผมก็คุยเรื่องธุระส่วนตัวคับผม” จะเห็นว่าเมื่อไม่มีคำว่า ‘ของ’ ผู้ฟังก็ยังสามารถเข้าใจประโยคได้ นอกจากนี้หนูรัตน์ยังเลือกใส่คำว่า ‘ของ’ ที่แหวกจากระบบไวยกรณ์ปกติ ทำให้ความหมายในเชิงไวยกรณ์เปลี่ยน แต่คนไทยระดับเจ้าของภาษายังสามารถทำความเข้าใจได้
จากการสังเกตคร่าวๆ จนได้มา 3 ทฤษฎี จะเห็นว่าภาษาหนูรัตน์อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ความไม่รู้ (Ignorance) ความบกพร่องทางร่างกาย (ที่ทำให้ออกเสียงได้ไม่ชัด) และอื่นๆ แต่ประเด็นคือเมื่อเกิดภาษาเหล่านี้ขึ้นมา กลับกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนบางกลุ่ม
รัตนศาสตร์ บทที่ 2
ไม่มีวันวิบัติกันไม่ได้?
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่คนเราจะชอบภาษาที่ผิดเพี้ยนจากแบบแผนไปบ้าง หลายๆ ครั้งเราบังเอิญสร้างคำใหม่จากความผิดพลาด เช่น การพิมพ์คำว่า ‘เทพ’ เป็น ‘เมพ’ จนกลายเป็นกระแส หรือบางทีก็จงใจสร้างคำผิดขึ้นมาเพื่อให้แปลกตา หรือแสดงอารมณ์ เช่น ‘ใช่ไหม’ เป็น ‘ชิมิ’
การใช้ภาษาที่ไม่ถูกมาตรฐานเช่นนี้มักจะโดนต่อต้านและกล่าวขานว่า ‘ภาษาวิบัติ’ อยู่เนืองๆ แต่อันที่จริงภาษาที่ยังไม่ตายย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ ทั้งนี้นักภาษาศาสตร์บางคนชี้ว่าคำคะนอง หรือคำแสลงดังกล่าวเป็นเพียง การเปลี่ยนแปร (Variation) เพราะไม่นานก็จะหมดความนิยมไป ต่างจาก การเปลี่ยนแปลง ที่ถาวรกว่า
นอกจากนี้ ครูทอม คำไทย ยังเคยกล่าวไว้ว่า “ภาษาวิบัติไม่มีอยู่จริง อย่างคำว่า บ่องตง จุงเบย นะครัช นะครัส ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงทางภาษา เป็นกลวิธีการสร้างคำอีกอย่างหนึ่ง การใช้คำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ควรจะรู้ว่าต้นแบบคือคำอะไร ต้องใช้ให้ถูกต้องตามกาลเทศะ เมื่อไหร่ควรใช้ เมื่อไหร่ไม่ควรใช้” ทำให้บางคนนิยามคำวิบัติที่มีความหมายเชิงลบเสียใหม่ว่า ‘ภาษาอุบัติ’
การใช้ภาษาเฉพาะกลุ่มที่ผิดแผกไปจากหลักการเดิมๆ อาจทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่มีบางอย่างร่วมกัน ทำให้บทสนทนามีสีสันมากขึ้น หรือรู้สึกได้ขบถเล็กๆ จากการพลิกแพลงภาษาด้วยความคิดสร้างสรรค์ และอย่างที่ครูทอมได้กล่าวไว้ ตราบใดที่เราไม่ลืมการเขียนที่ถูกต้อง และใช้ได้อย่างถูกกาลเทศะ การใช้คำแสลงพวกนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนัก
คำแสลงไม่ได้ใช้เพียงเพื่อสื่อสารอย่างมีอรรถรสเท่านั้น แต่มันยังสามารถระบุได้ว่าผู้พูดเป็นคนสมัยไหน เช่น หากได้ยินใครพูดคำว่า ‘จ๊าบ’ เราคงเดาได้ว่าผู้พูดน่าจะเติบโตมาในยุค 90s
ไม่แน่ต่อไปภาษาหนูรัตน์อาจจะเป็นหมุดปักให้กับยุค 2010s หรืออาจจะยาวนานกว่านั้นก็ได้
รัตนศาสตร์ บทที่ 3
เกียม (เตรียม) จดค่ะ
จากเพจหนูรัตน์และกลุ่มเรียนภาษารัตนศาสตร์ จะเห็นได้ว่ามีคนลิสต์คำและความหมายของภาษาหนูรัตน์ออกมามากมาย หากลองเสิร์ชกูเกิลก็จะพบว่าบางคำถึงกับมีคนตั้งกระทู้ถามในเว็บไซต์พันทิปด้วย เป็นไปได้ไหมว่าคำเหล่านี้จะถูกบัญญัติลงพจนานุกรมจริงๆ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
คำตอบก็คือ เป็นไปได้!
ที่เราคิดเช่นนั้นเพราะเราเจอคำว่า ‘โซแซ้ด’ ‘เวียนเฮ้ด’ ‘ลูกอีช่าง…’ ‘มคปด.’ (หมาคาบไปแดก) และอีกหลายๆ คำที่ไม่คิดว่าจะเจอในพจนานุกรม!
พจนานุกรมที่ว่านี้ คือ พจนานุกรมคำใหม่ ที่ราชบัณฑิตยสถานได้จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมคำที่เปลี่ยนแปลงการใช้ หรือเปลี่ยนแปลงความหมายไปจากเดิม
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงคือสื่อต่างๆ ซึ่งหากมีคำหรือวลีภาษาหนูรัตน์ไหนเป็นที่นิยมมากจนสื่อนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ก็แสดงว่าคำหรือวลีดังกล่าวสามารถทำให้เรามีการสื่อสารไปในทางเดียวกัน และยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะบัญญัติความหมายให้เป็นเรื่องเป็นราว
โดยประเภทที่คิดว่าน่าจะเป็นไปได้ที่สุดคือการย่อคำให้สั้นลงด้วยการตัดคำ ซึ่งมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง และไม่ได้ทำให้เสียงหรือความหมายเพี้ยนไปเท่าไร ตัวอย่างเช่น
เหลส
น. สร้อยคอหรือสร้อยข้อมือ ทําด้วยโลหะสีขาวหรือทอง ส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆ เช่น ผู้ชายหลายคนนิยม ใส่เหลส. (ตัดมาจาก อ. stainless).
จากตัวอย่างจะเห็นว่าการตัดคำให้สั้นลงเช่นนี้ เป็นสิ่งที่คนไทยนิยมทำกันอยู่แล้ว ดังนั้นหากมีการใช้คำว่า ‘ส่งโลชั่น’ แทน ‘ส่งโลเคชั่น’ บ่อยเข้า คำว่า ‘โลชั่น’ ที่ตัดมาจาก location อาจจะได้รับการบัญญัติลงพจนานุกรมคำใหม่ก็ได้
รัตนศาสตร์ บทที่ 4
คืนความสุข
การที่มีคนหันมาทำความรู้จักภาษาหนูรัตน์ นัยหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าผู้คนพยายามเข้าใจในสิ่งที่เธอพูด แม้ว่าเธอจะพูดไม่ชัดหรือเสียงเพี้ยนไป
ความบกพร่องไม่ใช่อุปสรรคหากเราเปิดใจสื่อสารกันจริงๆ และเป็นเรื่องน่าดีใจที่หนูรัตน์สามารถสร้างความสุขให้ผู้คน ในขณะที่ผู้คนก็รับฟังและทำความเข้าใจเธอเป็นการมอบความสุขกลับไป หวังว่าทุกคนจะใช้ความบกพร่องให้เกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่ายเช่นนี้ไปเรื่อยๆ และไม่ล้อเลียนเธอเสียๆ หายๆ
ท้ายที่สุด สิ่งสำคัญอาจไม่ใช่ข้อสรุปที่ว่าภาษาหนูรัตน์เป็นภาษาวิบัติหรือไม่ แต่คือความจริงที่ว่า ความเปลี่ยนแปลงและความเพี้ยนแพลงของภาษานี้ ได้บำบัดความทุกข์ของคนไทยจากความตึงเครียดที่กดทับมานักต่อนัก
และตราบใดที่ภาษายังไม่ตาย การเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ ‘วันที่ดือ’ จบลง เราก็จะเข้าสู่วันใหม่ และบำบัดความทุกข์กันต่อไป
ก่อนจากกันวันนี้ เราขอฝากโควตดีๆ จากหนูรัตน์ที่ทรงพลังไม่แพ้ไลฟ์โค้ชคนใด
“คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะทำดือได้”
อ้างอิง:
- เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ. ภาษาดิ้นได้. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/653777
- ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม ๑ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. http://www.e4thai.com/e4e/images/pdf/new_words_royal_dict_1.pdf?fbclid=IwAR2uuC4hjckJoc-HlfbrVtLTLSulMvW4kPbUVVOwFM4wPBn_OqGjx2nINz4
- ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมคำใหม่ เล่ม ๓ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. http://www.e4thai.com/e4e/images/pdf/new_words_royal_dict_3.pdf?fbclid=IwAR2mA26Q6KAGVcqERHu4lsmNnZsnz-vEL074oddRXYxjAtJCHXxd164gsfw
- สื่อการเรียนการสอนไทย. การเปลี่ยนแปลงของภาษา. https://sites.google.com/site/thai2studies/kar-peliynpaelng-khxng-phasa
- Chatchai Nokdee. ปัญหาการใช้ภาษาไทยของวัยรุ่น. https://www.thaihealth.or.th/Content/25193-ปัญหาการใช้ภาษาไทยของวัยรุ่น.html