คารา เดเลอวีน แหก Dress Code ในงานเสกสมรสเจ้าหญิงยูจีนีที่เป็นประเด็นร้อนในโลกแฟชั่น และกลายเป็นประเด็นเผ็ดร้อนในเมืองไทย หลังนิตยสารไฮแฟชั่นเล่มหนึ่งออกมา ‘สับแหลก’
ในมุมมองส่วนตัว ผมไม่เห็นว่าต้องด่าทอกันจะเป็นจะตายขนาดนั้น และหลายๆ คนมัวไปยึดติดขนบของราชสำนักอังกฤษ ซึ่งราชสำนักกำลังจะทิ้งขว้าง
จริงอยู่ราชสำนักอังกฤษเคร่งครัดกับมารยาทมาก แต่ถ้าใครตามข่าวจะรู้ว่า ราชวงศ์อังกฤษไม่ได้นั่งกอดธรรมเนียมโบราณเหมือนก่อนแล้ว ถ้ามัวแต่หัวโบราณต้านค่านิยมร่วมสมัย มีหวังถูกสังคมตั้งคำถามเรื่องความจำเป็นของราชวงศ์มากขึ้นไปอีก
ตั้งแต่ตอนเจ้าหญิงไดอานาจากไป ราชสำนักก็แหกโปรโตคอล (กระบวนพิธี) ของตัวเองมาแล้วเพื่อที่จะสนองกระแสสังคม หลังจากนั้นก็แหกแบบแนบเนียนมาโดยตลอด โดยเฉพาะงานเสกสมรสของรุ่นหลาน คืองานเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียมกับแคเธอริน มิดเดิลตัน ที่ Dress Code ผ่อนปรนมาก คือไม่ได้ระบุว่าระดับนี้ เพศนี้ต้องแต่งแบบไหน แต่บอกรวมๆ เท่านั้น
ต่อมาในงานของเจ้าชายแฮร์รี่กับเมแกน มาร์เคิล ต้นปีนี้ ก็ยิ่งหลวม โดยในการ์ดเชิญบอกว่า ‘ใส่เครื่องแบบ (สำหรับคนที่มี) แต่งชุดมอร์นิ่ง โค้ต (สูทหางยาวสำหรับผู้ชาย ที่อังกฤษนิยมใส่กันในงานแต่งงาน) หรือเลานจ์ สูท คือสูทธรรมดาที่สุภาพ และเดย์เดรส หรือชุดเดรสของผู้หญิงแบบสุภาพ พร้อมกับหมวก’
ล่าสุดในงานของเจ้าหญิงยูจีนีกับแจ็ค บรูกส์แบงค์ ในการ์ดเขียนสั้นกว่าอีก โดยบอกแค่ว่า ‘มอร์นิ่ง โค้ต, เดย์เดรสกับหมวก’
ในการ์ดบอกกว้างๆ แบบนี้ คล้ายกับงานแต่งงานหรืองานบอลรูมทั่วไป ถ้าเป็นคนทั่วไปก็ต้องแต่งกันตามสภาพตัวเอง แต่คารา เดเลอวีน ธรรมดาซะที่ไหน เพราะเธอมีภาพลักษณ์ทอมบอยมาแต่ไหนแต่ไร และรสนิยมทางเพศก็ไปทางนั้น
ตกลงแล้ว คารา ควรจะแต่งแบบไหนดี?
ในโลกที่ความหลากหลายทางเพศกำลังได้รับการยอมรับ ราชสำนักมีอำนาจห้ามคาราไม่ให้แต่งแบบทอมบอยได้ แต่ถ้าเป็นข่าวขึ้นมา ราชสำนักจะสูญเสียการสนับสนุนทันที ผมคิดว่าการปล่อยให้คารามาในชุดที่แหวกขนบ เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ราชวงศ์ด้วยซ้ำ
มันเป็นการแหวกที่มีรสนิยม และจะว่ากันตามตรงแล้วไม่เห็นจะขัด Dress Code เพราะในการ์ดไม่ได้บอกว่า ชายต้องแต่งแบบนี้ หญิงต้องแบบนี้ เพียงแต่บอกคร่าวๆ เพราะในยุคนี้การกำหนดเพศสภาพยากแล้ว
นี่เองคือสาระที่ทำให้การ์ดเชิญไม่กำหนดตายตัวเหมือนก่อน นี่ยังไม่นับข้อเท็จจริงที่ว่า คารา เดเลอวีน เป็นเพื่อนสนิทของเจ้าหญิงยูจีนี ซึ่งอาจจะคุยกันมาแล้วว่า “ถ้าแต่งแบบนี้ จะเวิร์กไหม?”
แน่นอน ถึงอย่างไรก็ยังเป็นการ ‘แหก’ อยู่ดี เพียงแต่คาราแต่งออกมา ‘ดูดี’ อยู่ในสไตล์เดิมของตัวเอง ดู smart (ซึ่งเป็นคำแนะนำการแต่งตัวที่สุภาพอย่างกว้างๆ ) สำหรับ ‘สถานะแบบคารา’ มากกว่าการไม่มีมารยาท
และถ้าจะว่าแหกแล้ว ผมนึกขึ้นได้ว่าเจ้าหญิงยูจีนี เจ้าของงานทรงแหกขนบด้วยซ้ำ ด้วยการใส่ชุดเจ้าสาวที่เปิดไหล่ ตามปกติแล้วเจ้าสาวหลวงต้องแต่งชุดปิดไหล่ และสุภาพสตรีในงานทำนองนี้จะต้องแต่งชุดปิดไหล่ และสวมหมวก (ซึ่งคารา ปิดทั้งไหล่ ใส่ทั้งหมวก) ปรากฎว่าเมแกนใส่ชุดเปิดไหล่ก่อน ตามด้วยเจ้าหญิงยูจีนี ส่วนดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ใส่ชุดคว้านหน้าอกเล็กน้อย ซึ่งจะว่าไปก็ขัดกับธรรมเนียมห้ามเจ้าสาวหลวงโชว์หน้าอกหน้าใจพอสมควร
ผมคิดว่า Dress Code ในงานยุคหลังผ่อนปรนมากขึ้นตามโปรโตคอล เช่น ในงานของเจ้าชายแฮร์รี่ก็ใช้บิชอปผิวดำมาเทศน์ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน และสะท้อนถึงการยอมรับเชื้อชาติที่หลากหลายตามค่านิยมสมัยนี้
บางทีการเขียน Dress Code ในพระราชพิธีเสกสมรสที่ผ่อนปรนขึ้น อาจจะเป็นการเตรียมรับค่านิยมใหม่ของราชวงศ์อังกฤษก็เป็นได้.