สำหรับคนทำงาน การไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ที่เปิด-ปิดตามเวลาราชการ ดูจะเป็นเรื่องยาก
การไปเดินเล่นในพิพิธภัณฑ์ที่ต้อนรับให้เข้าชมช่วงเย็นจนถึงค่ำคืน จึงเป็นความฝันของหลายคน
แต่วันนี้ความฝันที่ว่าเป็นเรื่องไม่ไกลเกินเอื้อม เมื่องาน Museum Night เทศกาลชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน กลับมาอีกครั้งในปลายปี 2019 วันที่ 21-23 ธันวาคม พร้อมเปิดพิพิธภัณฑ์ 10 แห่งทั่วกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ให้คนทั่วไปเข้าชมฟรี ในช่วงหลังพระอาทิตย์ตกดิน
โดยหนึ่งในไฮไลต์ของเทศกาลนี้คือ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งปกติจะเปิดช่วงวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9:00-16:00 น. และปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์
common มีโอกาสได้ไปเยือนพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยาแห่งแรกของเมืองไทย ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และยังเป็นหนึ่งในมิวเซียมเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2530
ในมิวเซียมแห่งนี้จึงคึกคักเป็นพิเศษและแน่นขนัดไปด้วยคุณพ่อคุณแม่ที่พาเด็กๆ มาเรียนรู้โลกของสัตว์ผ่านกระดูกและโครงสร้างสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ กว่าหมื่นชนิด
ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำ สัตว์ปีก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน แมลง ที่จัดแสดงไว้ในตู้เก่าแก่สุดคลาสสิก ซึ่งหลายใบมีอายุตั้งแต่รัชกาลที่ 4-5
หากเด็กๆ หรือผู้เข้าชมคนใดสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่และน้องๆ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คอยให้ข้อมูลที่เข้าใจง่ายตามจุดต่างๆ ได้
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้สวมบทบาทเป็นนักธรรมชาติวิทยาวาดรูปสัตว์ในพิพิธภัณฑ์ เพื่อเรียนรู้เรื่องและสังเกตความแตกต่างของสัตว์สายพันธุ์สัตว์ต่างๆ และบันทึกเป็นภาพวาดลงในกระดาษที่จัดเตรียมไว้
ในขณะที่เด็กและผู้ปกครองหลายคนที่หลงใหลการวาดรูป พากันไปนั่งสเก็ตช์ภาพในกิจกรรม Artist on the Night @Museum 2019 ที่ชวนเปิดมุมมองใหม่ พร้อมเรียนรู้สุนทรียภาพและความงามของเหล่าสัตว์ป่าหายากในเมืองไทย
นำสอนการวาดภาพโดย โอ๊ต มณเฑียร ศิลปินและนักพิพิธภัณฑ์ชื่อดังของเมืองไทย ที่มาแสดงฝีมือวาดภาพสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์จากชิ้นส่วนสัตว์ที่ถูกจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ เช่น กระจง แร้ง เลียงผา ด้วง ตัวนิ่ม พร้อมแจกจ่ายกระดาษและดินสอให้เด็กและผู้ใหญ่ได้วาดตาม
“วัตถุเหล่านี้ถือเป็นขุมทรัพย์และสิ่งมหัศจรรย์ การดูรูปถ่ายอาจจะทำให้ไม่เห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของสัตว์ใกล้สูญพันธ์เหล่านี้”
คุณโอ๊ตสเก็ตช์ภาพด้วยลีลาเข้าจังหวะกับเสียงบรรยากาศป่าที่เต็มไปด้วยจิ้งหรีดและเสียงสัมภาษณ์ของ สืบ นาคะเสถียร นักอนุรักษ์และนักวิชาการด้านทรัพยากรธรรมชาติชาวไทย ผู้พยายามปกป้องแก่งเชี่ยวหลานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง โดยเอาชีวิตเข้าแลก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินสร้างสรรค์กิจกรรมวาดรูปในครั้งนี้
สถานที่จัดโปรเจกต์นี้ไม่ธรรมดา เพราะจัดขึ้นท่ามกลางแสงสลัวของห้องบรรยายแบบ theatre lecture ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ในตึกเดียวกัน
แม้ว่า Museum Night หมุนเวียนมาปีละครั้ง และจัดเพียงสามวันเท่านั้น แต่น่าดีใจว่า เทศกาลนี้ไม่เงียบเหงา
แถมยังคึกคักไปด้วยคนรักมิวเซียม ทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่ ตั้งแต่เย็นย่ำไปถึงมืดค่ำ.