ม่านสีเทาที่บดบังทัศนียภาพของกรุงเทพฯ อาจดูคล้ายหมอก แต่ความจริงคือ PM2.5 หรือฝุ่นขนาดเล็กอันตราย
.
“เมื่อ พ.ศ.2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอย่างเป็นทางการ ให้ฝุ่นพิษ PM 2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง”
.
บางส่วนจากคำแถลงของกลุ่ม NGOs ด้านสิ่งแวดล้อม ที่เรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในรัฐบาลเร่งแก้ปัญหามลพิษทางอากาศโดยเร่งด่วน ณ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา
.
“ฝุ่น PM 2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรในประเทศไทย ประมาณ 37,500 คนต่อปี”
กลุ่ม NGOs อ้างอิงรายงานขององค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2558 ในคำแถลงการณ์ เพื่อตอกย้ำถึงปัญหา
.
“วันนี้ ปัญหา PM 2.5 …เกิดจากการจราจร 72% เผาวัชพืช 15% อุตสาหกรรม 5%” คือถ้อยคำที่นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงที่มาของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพมหานคร ก่อนทิ้งท้ายว่า “ถ้าใครรู้ว่าเสี่ยง ก็ปิดจมูก ใส่หน้ากากไป”
.
ใครบางคนบอกว่า นายกรัฐมนตรีควรเสนอทางออกที่เข้าท่ากว่านี้ ผ่านมาตรการที่เป็นรูปธรรม มากกว่าจะโยนภาระมาที่ประชาชน
.
มองในแง่ดี บางทีภาครัฐอาจมีมาตรการ เพียงแต่อาจขยับตัวช้า และกำลังตั้งท่า เพื่อจะจัดการปัญหาอย่างจริงจัง
.
โลกสวยไปหรือเปล่า อาจใช่ แต่ท่ามกลางวิกฤต การมีความหวังคือพลังสำคัญ แม้ว่าสิ่งรอบด้านโดยเฉพาะภาครัฐจะทำให้หลายคนรู้สึกสิ้นหวัง
แต่การจะเดินออกจากวิกฤตได้ เราทุกคนต้องหันหน้าเข้าหากัน แล้วจับมือให้มั่น ร่วมกันหาทางออก
.
เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน และป้องกันไม่ให้วิกฤตนั้นเกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ฤดูฝุ่นมาเยือนในประเทศที่รัฐบาลไม่มีบริการหลังการขาย