มั่นใจนักท่องเที่ยวแบ็กแพ็คเกอร์ร้อยละ 90 ที่เดินทางไปยังกรุงเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย ต้องไปตั้งต้นปรับจูนสติกันที่ย่าน Paharganj (ปาฮาร์กันจ์) แห่งนิวเดลี
ถนนสายฮิปปี้แห่งนี้อ้าแขนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมานานกว่า 50 ปี
เหตุผลที่ปาฮาร์กันจ์เป็นขวัญใจนักเดินทางกระเป๋า (เป้) หนัก แต่มีสตางค์จำกัด เพราะเป็นย่านที่เต็มไปด้วยโรงแรมที่พักราคาประหยัดให้เลือกมากมาย แถมยังเดินทางสะดวก เพราะสามารถนั่งรถไฟฟ้าจากสนามบินตรงดิ่งมาสู่ New Delhi Railway Station แล้วแบกกระเป๋าเดินมายังปาฮาร์กันจ์ได้แบบไม่ต้องเสียเวลาต่อราคาแท็กซี่ให้เปลืองอารมณ์ และถ้าจะเดินทางไปเที่ยวตามย่านต่างๆ ในกรุงเดลี ก็สามารถเดินไปขึ้นเมโทรได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ต่างอะไรกับการสัญจรในกรุงลอนดอนหรือฮ่องกง
นับตั้งแต่ปาฮาร์กันจ์เป็นที่รู้จักปากต่อปากในหมู่นักเดินทางทั่วโลกมาตั้งแต่ ค.ศ. 1970 ไม่เพียงแค่จำนวนโรงแรมที่พักจะเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงร้านค้า ร้านอาหาร บริษัททัวร์ ฯลฯ ที่เริ่มกระจุกตัวในปาฮาร์กันจ์อย่างแน่นขนัด ไม่แปลกที่นักท่องเที่ยวที่เพิ่งหัดเดินถนนข้าวสารอินเดียครั้งแรกจะเกิดอาการ Culture Shock เพราะต้องฝ่าด่านทั้งคนขับ พ่อค้า เอเยนต์ทัวร์ พุ่งเข้ามาประชิดตัวและฟุดฟิดฟอไฟขายของแบบไม่ทันให้ตั้งตัว
และหลังจากตั้งสติรู้เท่าทันพ่อค้าแขกแล้ว บรรดาทัวร์ริสต์ทั้งหลาย – โดยเฉพาะสาวๆ – ก็ยังต้องระงับกิเลสกันอีกรอบ จากบรรดาสรรพสินค้าในร้านรวงตลอดเส้นทางกว่า 1.5 กิโลเมตรบนถนนสาย Main Bazaar (อีกชื่อเรียกของปาฮาร์กันจ์) ที่มีของขายเกือบทุกชนิด ตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า กำไล เครื่องสำอาง กระทะ กุญแจ ปิ่นโต หม้อ ไห ฯลฯ นึกอยากจะซื้ออะไร มั่นใจปาฮาร์กันจ์มีให้แน่นอน!
ว่าแต่ ท่ามกลางร้านรองเท้าที่หน้าตาเหมือนกันเป็นสิบ ร้านเสื้อผ้าอีกเป็นร้อย ร้านขายกระเป๋าแบบเดียวกันที่ตั้งติดกันคูหาเว้นคูหา ร้านไหนล่ะที่ขายของคุณภาพดี คุ้มราคา และพ่อค้าพูดจารู้เรื่อง ไม่โก่งราคาให้ต้องปวดหัวกับการต่อแล้วต่ออีก
ในฐานะที่เดินท่องจนทั่วปาฮาร์กันจ์มาแล้ว 4-5 รอบ ขอแนะนำ 2 ร้านดีที่อยู่คู่ปาฮาร์กันจ์มานานหลายทศวรรษ หนึ่งคือ ร้านรองเท้าอายุเกือบ 40 ปี และสองคือ ร้านหนังสือหนึ่งเดียวใน Main Bazaar
Vishal Footwear
ความเหมือนที่แตกต่างของร้านรองเท้าเก่าแก่คู่ปาฮาร์กันจ์แห่งนี้ คือ ความเอาใจใส่ลูกค้าโดยรักษาระยะห่างอย่างพอดี เพราะท่ามกลางดงรองเท้าหลากแบบละลานตาที่แขวนอยู่ทั่วผืนผนังร้าน นักท่องเที่ยวอย่างเราคงมัวแต่ตื่นตาตื่นใจจนเลือกผิดเลือกถูก คู่ที่สีโดนใจ ทรงที่คิดว่าใช่ อาจจะไม่ได้เหมาะกับรูปเท้าหรือบุคลิกของเราเสียทีเดียว จึงเป็นหน้าที่ของชาววิชาลผู้รับอาสามองหารองเท้าคู่ที่ใช่ให้กับคุณ
สมาชิกของร้านวิชาล ฟุทแวร์ ประกอบด้วยคู่พี่ชายน้องชาย 2 เจเนอเรชั่นแห่งตระกูล Gambhir คือ ลุงกับพ่อของจาตินและโมหิต ที่ประจำการเปิดร้านทุกวันไม่เว้นวันหยุดมานานกว่า 30 ปี จึงไม่แปลกที่ทั้ง 4 คนจะมีความเข้าใจในรองเท้าทุกแบบเป็นอย่างดี โดยเฉพาะรองเท้าสัญชาติอินเดียอย่าง Kolhapuri (รองเท้าแตะหูคีบทำจากหนัง) และ Juttis (รองเท้าคัทชูส์สำหรับผู้หญิง ที่มีเอกลักษณ์ตรงการไม่มีซ้าย-ขวา สวมข้างไหนก็ได้ ไม่ต่างกัน) ซึ่งที่นี่คัดสรรผู้ผลิตที่มีฝีมือประณีตเป็นพิเศษ โดยทางร้านจะคัดเลือกผ้าหรือหนังด้วยตัวเอง ก่อนออเดอร์ไปยังโรงงานผลิตในปัญจาบ และคุมคุณภาพอย่างใกล้ชิด รองเท้าที่เหมือนจะเหมือนร้านอื่นจึงแตกต่างด้วยคุณภาพที่เหนือชั้นกว่า เพียงสังเกตตราประทับ Vishal Footwear เป็นเครื่องหมายรับประกันคุณภาพบนรองเท้าทุกคู่
รองเท้าอีกแบบที่เราชอบเป็นพิเศษ คือ Ladies Roman Sandals เป็นรองเท้าแตะแบบสาน พร้อมสายรัดข้อเท้า ที่นอกจากจะมีสีสดๆ สวยๆ ให้เลือกครบทุกเฉดแล้ว ขณะที่ลองไซส์ ทางร้านจะปรับสายรัดให้พอดีกับเท้า ด้วยการจับ-ปรับ-ขยับ สายหนังให้เข้าที่ เพื่อการสวมใส่ที่ง่ายขึ้น ทำให้เราทึ่งกับกลไกออกแบบรองเท้าของชาวอินเดียที่ยืดหยุ่นต่อการใช้งาน และทนทานเมื่อใช้จริง! กล้าการันตี เพราะซื้อจริง ใส่จริงมาแล้ว 3 คู่ สวยทนนานข้ามปีจริงๆ ที่สำคัญคือ ราคาย่อมเยามาก สตาร์ทที่คู่ละ 150 บาทเป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับดีไซน์และวัตถุดิบที่ใช้
ที่ตั้ง: เลขที่ 5082-83 Main Bazaar
IG: @vishalfootwear_
Jackson’s Books
ถัดจาก Vishal Footwear ไปไม่กี่ก้าว เรามักไปหยุดเลือกหนังสือที่ร้านแจ็คสันบุ๊กส์อยู่เสมอ โดยรักแรกพบที่สะดุดตาเข้าอย่างจังเป็นหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับประวัติองค์เทพต่างๆ ของอินเดีย ที่มาในรูปแบบลายเส้นเดียวกับการ์ตูนทางฝั่งมาร์เวลเป๊ะ เราจึงไม่ลังเลที่จะคว้าประวัติหนุมาน พระพิฆเนศวร พระวิษณุ แม่กาลี รวมถึงพระพุทธเจ้าของเรา ติดมือกลับมาเติมพื้นที่ในชั้นหนังสือให้เต็ม รวมถึงเป็นของฝากชั้นดีที่ไม่ซ้ำใคร
จากนั้นจึงกลายเป็นธรรมเนียมทุกครั้งในการไปเยือนปาฮาร์กันจ์ ที่เราจะต้องแวะเลือกหนังสือจากร้านแจ็คสันติดมือกลับมาเสมอ เพราะภายในพื้นที่ขนาดไม่กี่ตารางเมตรกลับอัดแน่นด้วยหนังสือทั้งมือหนึ่งและมือสองหลายประเภท ที่มีมากกว่า 10 ภาษาทั่วโลก ทั้งยังติดใจอัธยาศัยไมตรีของคุณลุงดีปัค เจ้าของร้านรุ่นที่ 2 ผู้สืบทอดร้านต่อจากคุณพ่อ Jai Kishen ที่อพยพมาจากกรุงการาจี ประเทศปากีสถาน และปักหลักขายหนังสืออยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 1947 จนเป็นที่รู้จักของแบ็กแพ็คเกอร์ทั่วโลก ที่ก่อนจะร่ำลาประเทศอินเดีย ต่างก็พากันเทขายหนังสือที่พกอ่านเป็นเพื่อนเดินทางตลอดทริป ส่งต่อให้มิสเตอร์ไจ คิเชน หรือที่ชาวต่างชาติออกเสียงเป็น “แจ็คสัน” ได้นำมาขายต่อในราคาย่อมเยาแก่เพื่อนนักเดินทางรุ่นต่อไป
ลุงดีปัคบอกกับเราว่า เมื่อก่อนมีร้านขายหนังสือในปาฮาร์กันจ์มากกว่า 3 ร้าน แต่ปัจจุบันเหลือแค่แจ็คสันบุ๊กส์ร้านเดียวที่ยังยืนหยัดท่ามกลางโลกที่หมุนเปลี่ยนไวไปตามกระแสดิจิทัล และก็ดูเหมือนว่ากาลเวลาไม่สามารถทำอะไรร้านขายหนังสือเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ร้านนี้ได้จริงๆ คุณลุงแนะนำให้เราลองเดินเข้าไปด้านในตรอกติดกัน ซึ่งมีอีกร้านของเขาตั้งอยู่ ที่นั่นเองที่เป็นเหมือนอีกหนึ่งขุมทรัพย์ ที่หนอนหนังสือห้ามพลาดเมื่อไปเยือนปาฮาร์กันจ์
ที่ตั้ง: เลขที่ 5106 Main Bazaar