แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่รายงานผ่านสื่อต่างๆ จะสูงขึ้นทุกวัน ชวนให้ตกใจมากพอแล้ว แต่เราก็ไม่อาจปักใจเชื่อได้ว่า นั่นเป็นตัวเลขที่แท้จริง
เพราะตัวเลขที่รับรู้อาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเล็กๆ ที่โผล่พ้นมหาสมุทร ข้างใต้อาจยังมีน้ำแข็งก้อนยักษ์ซ่อนอยู่ ซึ่งหมายถึงผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ไม่แสดงอาการปะปนอยู่กับคนทั่วไป
ติดเชื้อนะ แต่ไม่แสดงออก
ผู้ติด COVID-19 แต่ไม่แสดงอาการ มีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด
รายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization)
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในแต่ละประเทศไม่เท่ากัน นอกจากเรื่องความรุนแรงของการระบาดแล้ว อาจหมายความว่ายังมี ‘ผู้ติดเชื้อแต่ไม่แสดงออก’ จำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ
ในบรรดาผู้ป่วยทั้งหมดของประเทศจีน คนที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการใดๆ มีมากถึง 43,000 คน ทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกนำไปรวมกับยอดผู้ป่วยรวมของประเทศ เพียงแต่ให้กักตัวอยู่ในบ้าน และเฝ้าสังเกตอาการจนกว่าจะหายขาดเท่านั้น
บนเรือสำราญ Diamond Princess ซึ่งถูกกักกันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ผลการตรวจผู้โดยสารและลูกเรือปรากฏว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อทั้งหมด 712 คน มี 334 คน ที่ไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา
ที่เกาหลีใต้เองก็เช่นกัน พวกเขาพบว่าแทบทุกรายที่แสดงอาการเพียงน้อยนิด ไม่ร้ายแรงจนถึงชีวิต ก็จะหายขาดจากโรคนี้ได้เอง อย่างไรก็ตาม เคสเหล่านี้จะยังถูกรวมอยู่กับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด อีกทั้งเทคโนโลยีการตรวจโรคที่เข้าถึงประชาชนทุกคน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรวมของประเทศดูพุ่งสูงจนน่าตกใจ
ต่างจากอเมริกาและอิตาลีที่จะตรวจเฉพาะผู้ที่แสดงอาการป่วยอย่างชัดเจน และบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงาน หรือสัมผัสกับไวรัสโดยตรงเท่านั้น
แต่ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หรือคนที่แสดงอาการป่วยชัดเจนก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจในเรื่องนี้คือ เราไม่อาจประเมินว่าใครคือคนที่ติดเชื้อไวรัสได้ด้วยตาเปล่า
เพราะมีหลายเคสที่ไม่แสดงอาการ อีกทั้งบางรายอาจดูเป็นปกติไม่ต่างจากคนทั่วไป
แอบแพร่เชื้ออยู่เงียบๆ
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้ติดเชื้อบางราย มีภูมิคุ้มกันในร่างกายแข็งแรงจนไม่แสดงอาการใดๆ ออกมา แต่ที่น่าเป็นห่วงคือแม้ไม่อันตรายต่อตัวเอง แต่พวกเขายังเป็นภัยกับผู้อื่น เพราะพวกเขาคือพาหะที่ยังแพร่เชื้อได้เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือคนรอบข้างอาจไม่ทันได้ระแวดระวังตัว
งานวิจัยเรื่องระยะของโรค COVID-19 ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ medRxiv พบว่า ในกลุ่มผู้ติดเชื้อจำนวน 91 รายในสิงคโปร์ มี 48% ที่ได้รับเชื้อมาจากคนที่เพิ่งเริ่มป่วยหรือกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ
แม้จะไม่ได้รับผลกระทบจากอาการป่วย แต่ปริมาณของไวรัสที่อยู่ในร่างกายของผู้ติดเชื้อเหล่านั้นจะมีเท่ากับผู้ป่วยทั่วไปทุกประการ
ยิ่งไปกว่านั้นคนเราสามารถแพร่เชื้อได้แม้กระทั่งในระยะที่ไวรัสกำลังฟักตัว ผลการศึกษาพบว่าช่วงก่อนจะมีไข้ หรือในช่วงปกติของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ เชื้อไวรัสจะไปรวมตัวอยู่ในบริเวณลำคอเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเผลอจามหรือไอก็ทำให้เชื้อฟุ้งกระจายได้อย่างง่ายดาย และกว่าอาการของโรคจะปรากฏชัดเจน ถึงตอนนั้นตัวผู้ป่วยก็แพร่เชื้อกระจายเป็นวงกว้างเสียแล้ว
เด็กๆ คือแหล่งเพาะเชื้อชั้นดี
ไวรัสนั้นใจดีกับเด็กๆ เพราะเมื่อพวกมันกระโดดเข้าไปอยู่ในร่างกายของคุณหนูๆ แล้วแทบจะไม่ส่งผลอะไรกับร่างกายของพวกเขาเลย
งานวิจัยของ Hiroshi Nishiura นักระบาดวิทยา จากมหาวิทยาลัยฮอกไกโด ระบุว่า อัตราส่วนของผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการนั้น มักจะเกิดขึ้นในคนอายุน้อยๆ มากกว่าผู้สูงอายุ
จากเหตุการณ์แพร่ระบาดอันร้ายแรงที่อู่ฮั่น เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงถึง 44,000 ราย แต่มีผู้ป่วยที่อายุ 10-19 ปี เพียง 1% และมีผู้เสียชีวิตเพียง 1 คนเท่านั้น ยิ่งน่ายินดีที่ยังไม่มีรายงานว่าผู้ติดเชื้อที่อายุต่ำกว่า 10 ขวบเสียชีวิตด้วย COVID-19
ทำไมเด็กๆ จึงทนต่อไวรัส ?
“เด็กๆ จะพบกับอาการป่วยในช่วงแรกๆ ของชีวิตเป็นปกติ และในช่วงอายุนั้นเอง ร่างกายของพวกเขาจะรับมือได้อย่างเก่งกาจ และพร้อมจะพัฒนาภูมิคุ้มกันมาต่อสู้กับโรคใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี” Sharon Nachman หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อในเด็ก โรงพยาบาล Stony Brook ในนิวยอร์ก กล่าว
แม้ไวรัสจะเข้าไปฟักตัวอยู่ในร่างกาย แต่พวกเขาจะหายขาดได้ด้วยตัวเอง
เด็กๆ และผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการยังคงมีสถานะเป็นพาหะชั้นดีที่จะพาไวรัสไปติดกับคนในบ้านได้อย่างง่ายดาย เหตุนี้ทุกประเทศจึงจำเป็นต้องประกาศให้ปิดโรงเรียนและสถานที่สาธารณะ ตามนโยบาย Social Distancing หรือ เว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งยังคงเป็นวิธีป้องกันที่ใช้ได้ผลดีที่สุด ณ ขณะนี้
คนที่ดูไม่เป็นอะไรอาจกำลังมีไวรัสฟักตัวอยู่เงียบๆ ดูเหมือนว่าอาการติดเชื้อแต่ไม่แสดงออก จะทำให้เราต้องระแวดระวังตัว ไม่ไปใกล้ใคร และไม่ให้ใครมาใกล้เรา
เว้นระยะห่างทางสังคมให้รัดกุมมากขึ้นเป็นอีกเท่าตัว
อ้างอิง
- Josephine Ma, Linda Lew and Lee Jeong-ho.A third of coronavirus cases may be ‘silent carriers’, classified Chinese data suggests.https://www.scmp.com/news/china/society/article/3076323/third-coronavirus-cases-may-be-silent-carriers-classified
- MELISSA HEALY.How ‘silent spreaders’ are fueling the coronavirus pandemic.https://www.latimes.com/science/story/2020-03-17/how-silent-spreaders-are-fueling-the-coronavirus-pandemic
- AFP.Children less sick from COVID-19, but still spread the virus.https://www.bangkokpost.com/world/1878695/children-less-sick-from-covid-19-but-still-spread-the-virus
- Tapiwa Ganyani.Estimating the generation interval for COVID-19 based on symptom onset data.https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2020.03.05.20031815v1