‘ซาน ฟรานซิสโก’ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่เปิดกว้างต้อนรับความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ-Friendly Cities) อันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะในย่านคาสโตร (Castro District)
ทั่วย่านคาสโตร ตั้งแต่ริมถนน ร้านค้า สถานที่สำคัญ เรื่อยไปจนถึงบ้านพักอาศัย จึงประดับธงสีรุ้ง (Rainbow Flag) ด้วยความตั้งใจร่วมกันว่า ให้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงการยอมรับความหลากหลาย และพร้อมสนับสนุนการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเสมอ
แต่จุดสำคัญที่เป็นแลนด์มาร์คของที่แห่งนี้ คือ Rainbow Honor Walk
บนทางเท้าสองฝั่งถนนโดยรอบ ปรากฏแผ่นทองเหลืองขนาดใหญ่ฝังอยู่บนพื้นคอนกรีตรวม 44 แผ่น แทนบุคคลสำคัญผู้ล่วงลับทั้ง 44 คน ผู้เปิดเผยตัวตนอย่างชัดเจนว่า พวกเขาเป็น LGBTQ ซึ่งแต่ละแผ่นสลักภาพและข้อความยกย่อง เพื่อเป็นเกียรติประวัติถึงความกล้าหาญที่พวกเขามุ่งมั่นยืนหยัดในตัวตนที่เป็น บนเส้นทางที่เลือกเดิน
becommon ร่วมเฉลิมฉลอง Pride Month ในเดือนมิถุนายน โดยคัดเลือกเรื่องราวของนักประพันธ์และนักเขียนจาก Rainbow Honor Walk เพื่อระลึกถึงความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศ ผ่านผลงานเขียนที่สะท้อนให้เห็นแง่มุมชีวิต ความสัมพันธ์ และตัวตนของ LGBTQ
1
“The heart was made to be broken.”
หัวใจถูกสร้างมาเพื่อให้แตกสลาย
ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) เป็นนักประพันธ์ชาวไอริช ผู้รุ่งโรจน์และปราดเปรื่องในอาชีพจากผลงานเขียนอันโดดเด่น ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่นักอ่านทั่วกรุงลอนดอนช่วงต้นทศวรรษ 1890 ทำให้เขากลายเป็นบุคคลมีชื่อเสียงที่น้อยคนนักจะไม่รู้จัก
แต่ชีวิตของเขากลับต้องพลิกผันและถูกตราหน้าให้เป็นบุคคลมีชื่อเสีย หลังถูกจับได้ว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ อัลเฟรด ดักลาส (Alfred Douglas) ชายหนุ่มวัยเยาว์ ผู้มีอายุอ่อนกว่าเขาถึง 16 ปี เพราะสังคมในสมัยวิกตอเรียน มองว่าความรักของคนเพศเดียวกันเป็นเรื่องต้องห้าม หากใครฝ่าฝืนเท่ากับทำผิดกฎหมาย และต้องถูกลงโทษ
ศาลจึงพิพากษาให้จองจำเขาไว้ในคุกเป็นเวลา 2 ปี โดยหลักฐานชิ้นสำคัญที่มัดตัวเขาไม่ให้หลุดรอด คือ นวนิยายเรื่อง The Picture of Dorian Gray (1891) เพราะมีเนื้อหาบรรยายถึงความรักและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชาย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากความสัมพันธ์ในชีวิตจริงของเขา
ตลอดเวลาที่ถูกจองจำ เขาได้เขียนจดหมายไว้จำนวนหนึ่ง ซึ่งพรรณนาถึงความโศกเศร้าและความทุกข์ระทมของชีวิตในคุก เป็นความตั้งใจที่ต้องการเปิดเผยความรู้สึกเบื้องลึกในใจ ถึงแม้จะไม่สามารถเอ่ยถึงความรักและชื่อคนรักอย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะจดหมายทุกฉบับจะถูกตรวจดูอย่างละเอียด แต่ถ้าหากอ่านด้วยใจที่เปิดกว้าง ย่อมสัมผัสถึงคุณค่าของชีวิตและความเจ็บปวดที่งดงามเกินกว่าจะมีใครหรือสิ่งใดมาหักห้ามไม่ให้รู้สึกได้
หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว 5 ปี จดหมายทั้งหมดถูกนำมาเรียบเรียงและตีพิมพ์เป็นหนังสือ โดยใช้ชื่อเป็นภาษาละตินว่า De Profundis (1905) หมายถึง From the Depths อาจเป็นส่วนลึกในหัวใจของเขาที่ยังรู้สึกและรักเสมอ
2
“It is very easy to love alone.”
เป็นเรื่องง่ายดาย ที่เราจะรักใครฝ่ายเดียว
เกอร์ทรูด สไตน์ (Gertrude Stein) เป็นกวีและนักเขียนนวนิยายชาวอเมริกัน เชื้อสายเยอรมัน-ยิว เขาใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และที่นั่นทำให้เขามีโอกาสได้รู้จักความงามของศิลปะผ่านภาพเขียนโดยศิลปินเอกชาวฝรั่งเศส ทั้งอ็องรี มาติส (Henri Matisse) ปอล เซซาน (Paul Cézanne) ปอล โกแก็ง (Paul Gauguin) และเรอนัวร์ (Renoir) ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงบันดาลให้เขาสร้างสรรค์ผลงานเขียนและเริ่มต้นสะสมภาพวาด
เขาสนิทกับบุคคลมีชื่อเสียงในสมัยนั้น ทั้งปาโบล ปิกาโซ (Pablo Picasso) และนักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมอย่าง เออร์เนส เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ซึ่งยกย่องให้เขาเป็นบุคคลระดับอาจารย์ ผู้บุกเบิกแนวทางการเขียนวรรณกรรมสมัยใหม่ เพราะเขาชอบทดลองงานเขียนด้วยเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ
นวนิยายของเขามักบอกเล่าความรักระหว่างผู้หญิง โดยใช้คำว่า gay สื่อความหมายเชิงความสัมพันธ์ของบุคคลเพศเดียวกันในงานเขียนอย่างเปิดเผย รวมถึงนำคำทั่วไปมาใช้เปรียบเทียบเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเพศสัมพันธ์ด้วย อย่างเช่น คำว่า cow ในหนังสือ A Book Concluding With As a Wife Has a Cow: A Love Story (1962) หมายถึง orgasm หรือ การบรรลุจุดสุดยอด ซึ่งเป็นภาวะอันพึงปรารถนาของคู่รักที่มีเพศสัมพันธ์ร่วมกัน
3
“Love, the poet said, is woman’s whole existence.”
บทกวีกล่าวไว้ว่า ความรัก คือ ทั้งหมดของชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง
เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) เป็นนักประพันธ์และผู้สนับสนุนสิทธิสตรี (Feminist) ชาวอังกฤษ เธอมีบทบาทสำคัญอย่างมากในโลกของวรรณกรรมสมัยใหม่นิยม (Modernism) ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20
ถึงแม้ในยุคนั้นผู้หญิงทุกคนมีสถานะเป็นรองผู้ชาย ถูกจำกัดสิทธิ์และกีดกันในหลายๆ ด้าน ต้องทำงานบ้านและคอยปรนนิบัติสามี แต่ความคิดของเธอก้าวหน้าและนำสมัยกว่านั้นมาก เธอจึงเลือกใช้การเขียนเป็นวิธีแสดงจุดยืนและความเชื่อที่ว่าทุกคนเท่าเทียมกัน อย่างในหนังสือ A Room of One’s Own (1929) เธอได้ถ่ายทอดความพยายามของตัวเองที่ยืนกรานในเรื่องนี้ ผ่านประโยคหนึ่งว่า ถ้าจะเขียนนวนิยาย ผู้หญิงต้องมีเงินและห้องที่เป็นของตนเอง (A woman must have money and a room of her own if she is to write fiction.)
ช่วงหนึ่งของชีวิต เธอตกหลุมรัก วิตา แซควิลล์-เวสต์ (Vita Sackville-West) นักเขียนหญิงที่เธอรู้จัก แต่ทั้งคู่ต่างมีครอบครัวแล้ว และความรักของคนเพศเดียวกันก็เป็นเรื่องต้องห้ามร้ายแรงในเวลานั้น เธอจึงเลือกใช้วิธีการเดิมที่เธอถนัด นั่นคือ เขียนบันทึกและนวนิยายถึงหญิงที่เธอรัก โดยเคลือบแฝงด้วยความเสน่หาระหว่างผู้หญิงไว้ใน Orlando (1928) หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเสมือนอนุสรณ์แห่งความรักระหว่างเธอกับหญิงสาวผู้เป็นที่รักสุดหัวใจ
เธอยอมรับกับตัวเองว่าเป็นเลสเบี้ยน และรู้สึกถึงอิสระของชีวิตอย่างแท้จริง แต่ก็ไม่เคยลืมความรู้สึกผิดต่ออดีตสามีที่เธอเคยรักเช่นกัน
4
“The name of a person you love is more than language.”
ชื่อของคนรักนั้นเป็นมากกว่าภาษา
เทนเนสซี วิลเลียมส์ (Tennessee Williams) เป็นนักเขียนบทละครชาวอเมริกัน เจ้าของบทประพันธ์ยอดเยี่ยมมากกว่า 30 เรื่อง บทละครของเขายังได้รับรางวัลเกียรติยศพูลิตเซอร์ถึง 2 เรื่อง คือ A Streetcar Named Desire (1947) ในปี 1948 และ Cat on a Hot Tin Roof (1955) ในปี 1955
เขารู้ตัวว่าเป็นโฮโมเซ็กชวลตั้งแต่ยังเด็ก แต่จำเป็นต้องปกปิดไว้ เพราะเขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความลำบาก และความขัดแย้งในครอบครัว พ่อและแม่ของเขามักจะมีปัญหากันบ่อยครั้ง ทำให้ชีวิตช่วงแรกเริ่มเต็มไปด้วยความทุกข์ระทม จนกระทั่งพบรักกับคู่ชีวิตในช่วงวัยสามสิบ เขาจึงเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเอง
ตลอดเวลาที่เขาทำงานเขียนบทละคร เขามักใช้ประสบการณ์ชีวิตเป็นวัตถุดิบร้อยเรื่องราวและสร้างตัวละครเสมอ ผลงานของเขาจึงเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ ข้อค้นพบในชีวิต และเข้าถึงแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ปุถุชน
ถึงแม้ว่าบทละครหลายเรื่องของเขาจะต้องจบลงด้วยโศกนาฏกรรม แต่เขาก็เลือกให้ฉากชีวิตของตัวละครจบลงในแบบนั้นอย่างเต็มใจ ครั้งหนึ่งเขายอมรับว่า “ผมไม่อาจเปิดเผยความอ่อนแอของมนุษย์บนเวทีได้ หากตัวผมเองไม่ได้รู้ซึ้งถึงความอ่อนแอเหล่านั้น” (I can’t expose a weakness on the stage unless I know it through having it myself.) เพราะมันคือส่วนหนึ่งของชีวิตจริงที่เขาต้องการให้ทุกคนสัมผัสและร่วมรู้สึก เพื่อสะท้อนให้เห็นความจริงของชีวิตที่หลากหลาย
5
“Love takes off masks that we fear we cannot live without
and know we cannot live within.”
ความรักถอดหน้ากากที่เรากลัวว่า หากไม่ได้ใส่จะอยู่ไม่ได้
และความรักก็ทำให้รู้ด้วยว่า เราไม่สามารถมีชีวิตอยู่แต่ภายใต้หน้ากากนั้น
เจมส์ บอลด์วิน (James Baldwin) เป็นนักเขียนและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกัน ผู้อุทิศตนทำงานด้วยอุดมการณ์แน่วแน่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เพราะเขามีความเชื่อว่า หากไม่ยอมเผชิญหน้าท้าทาย ก็จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย
เนื้อหาหลักในงานที่เขาเขียน จึงเกี่ยวข้องกับการดิ้นรนและความพยายามต่อสู้กับแรงกดดันจากสังคม โดยเขาเลือกนำเสนอประเด็นรักร่วมเพศและความแตกต่างของผิวสีในแง่มุมทางการเมืองและวัฒนธรรม ด้วยความตั้งใจว่า อยากให้เรื่องราวเหล่านี้ สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดและการกระทำของคนในสังคมได้
นอกเหนือจากผลงานเขียนด้านการเมือง เขายังแต่งนวนิยายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงเรื่อง Giovanni’s Room (1956) ซึ่งเป็นวรรณกรรมเล่มสำคัญที่บอกเล่าชีวิตและความรักของเกย์ได้อย่างละเมียดละไม และแตกต่างจากนวนิยายเล่มอื่นๆ เพราะเขาเลือกใช้ภาษาสื่ออารมณ์และความปรารถนาของตัวละครไว้อย่างมีชั้นเชิง รวมถึงดำเนินเรื่องโดยใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคู่ขนานกัน จนทำให้นวนิยายเล่มนี้เป็นหนึ่งในวรรณกรรม LGBTQ ระดับคลาสสิก
6
“Love is only a recognition of our own guilt and imperfection,
and a supplication for forgiveness to the perfect beloved.”
ความรักเป็นเพียงการยอมรับต่อความรู้สึกผิดและความไม่สมบูรณ์ของตัวเรา
และเป็นการวิงวอนขอเพื่อให้อภัยผู้เป็นที่รักยิ่ง
อัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg) เป็นนักเขียนชาวอเมริกันที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดวัตถุนิยม (Materialism) ต่อต้านการกดขี่ทางเพศทุกรูปแบบ รวมทั้งอำนาจชายเป็นใหญ่ โดยเฉพาะในบริบททหารและกองทัพ
ช่วงปลายของยุค 1950 ตัวเขาคือภาพแทนของผู้นำในกลุ่ม Beat Generation ร่วมกับเพื่อนนักเขียนคนอื่นๆ อย่างแจ็ก เครูแอ็ก (Jack Kerouac) และ วิลเลียม เอส. เบอร์โรหส์ (William S. Burroughs) ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่กลุ่มนักเขียนเริ่มต้นใช้นิยามวิธีเขียน เพื่อสร้างความเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมที่สามารถปลดปล่อยชีวิตสู่เสรีภาพจากระบบระบอบสังคมในยุคเก่า
ในปี 1956 หลังจากบทกวี Howl ของเขาได้รับการตีพิมพ์ได้ไม่นาน ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง มีทั้งผู้ชื่นชมในความหาญกล้า และผู้ที่เกลียดชัง ถึงแม้ว่าความเกลียดเหล่านั้น จะทำให้หนังสือถูกทำลาย และตัวเขาเองก็ถูกจับ เพราะเนื้อหาในบทกวีถูกกล่าวหาว่าหยาบคายและเข้าข่ายอนาจาร แต่ท้ายที่สุด ศาลตัดสินให้เขาไม่มีความผิดใดๆ เพราะถือว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงออกที่ต้องให้การคุ้มครอง
เขายังเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าเป็นรักร่วมเพศ เคยมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเพื่อนนักเขียน ก่อนจะเลิกราและพบกับ ปีเตอร์ ออลอฟสกี้ (Peter Orlovsky) แล้วเขาทั้งคู่ก็ตกลงใช้ชีวิตร่วมกันบนความเชื่อมั่นในเสรีภาพ
สิ่งที่เขาได้ทำมาทั้งหมด กลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อมาก้าวเดินตาม จนนำไปสู่จุดเริ่มต้นของกลุ่มชนที่เรียกตัวเองว่าบุปผาชน (Hippie)
อ้างอิง
- Mark Judge. The Beat Generation and The Decline of the West. https://bit.ly/3dcCYiZ
- Naropa University Audio Archive. As a Wife Has a Cow A Love Story: Gertrude Stein and the Ways Words. https://bit.ly/2UXNxjL
- Poetry Foundation. Tennessee Williams. https://bit.ly/2Bt5AYh
- Rainbow Honor Walk. Bay Times Profiles. http://rainbowhonorwalk.org/?page_id=560