©ulture

รู้หรือไม่ ก่อนที่คนทั่วโลกจะเข้าใจตรงกันว่า VIP หมายถึง คนที่มีความสำคัญมากๆ เดิมทีคำว่า VIP มีต้นกำเนิดมาจากปลายปากกาของนักเขียน เคยข้องเกี่ยวกับความเป็นความตายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเพิ่งจะกลายเป็นคำย่อยอดฮิตที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ เพราะหัวคิดธุรกิจของเจ้าสัวกาสิโนในช่วงยุค 1960s

นักเขียน: หมอภาษาผู้ทำคลอดคำว่า VIP

การจดบันทึกหรือสิ่งตีพิมพ์ในอดีต คือ หลักฐานสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาใช้ยืนยันการมีอยู่ของคำศัพท์ แม้ว่าข้อมูลที่พบอาจไม่สามารถชี้ชัดถึงความเป็นมา หรือจุดเริ่มต้นของคำได้อย่างแม่นยำ แต่ก็นับเป็นเอกสารที่น่าเชื่อถือและมีน้ำหนักเพียงพอสำหรับใช้อ้างอิงได้

เช่นเดียวกับคำว่า VIP จากการสืบค้นย้อนกลับไปในอดีต พบการใช้คำนี้ครั้งแรกในปี 1933 จากนวนิยายตลกขบขันเรื่อง Water on the Brain ของนักเขียนชาวอังกฤษผู้มีชื่อว่า คอมพ์ตัน แม็คเคนซี (Compton Mackenzie)

Photo: National Portrait Gallery, London

ข้อความนั้น คือ “At the moment he has a V.I.P. with him.” … Miss Glidden seemed to divine his perplexity, … She turned round and whispered through a pursed up mouth, ‘Very Important Personage’

โดยแม็คเคนซีตั้งใจเขียนไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า V.I.P. เป็นคำย่อของ Very Important Personage สำหรับใช้เรียกคนที่มีความสำคัญมากๆ ดังนั้น คำว่า V.I.P. ที่เขาต้องการสื่อในนวนิยาย จึงหมายถึง คุณคนสำคัญ

Photo: https://www.daisyrootsbooks.co.uk/

ต่อมาในปี 1934 พบการใช้คำว่า V.I.P. ในนิตยสารเป็นครั้งแรก ผ่านผลงานเขียนประเภทเรื่องสั้นของ เอช.ที.ดับบลิว บอสฟีลด์ (H.T.W. Bousfield) ซึ่งตีพิมพ์ลง The Windsor Magazine ในชื่อ The Only Girl Who Wasn’t a Bore โดยบอสฟีลด์คงความหมายและวิธีใช้เหมือนกับแม็คเคนซี

Photo: https://www.abebooks.co.uk/

ข้อความนั้น คือ “Therefore when a Very Important Personage visited India he was much more awe-inspiring than he would have been if Europe were still scintillating with crowns. … “You can’t surprise me,” said the V.I.P., splashing noisily.

จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1939-1945 คำว่า V.I.P. กลายเป็นคำสำคัญสำหรับรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดให้กับผู้นำทางทหาร

นายทหาร: นักปฏิวัติผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้คำว่า VIP

ในภาวะสงคราม แต่ละฝ่ายต้องแข่งขันกันวางแผนกำลังพลและสร้างยุทธวิธีที่เหนือชั้นกว่า เพื่อหลอกล่อฝ่ายตรงข้ามให้สับสน ก่อนจะหาจังหวะซุ่มโจมตีศัตรูให้พ่ายแพ้อย่างราบคาบ แล้วคว้าชัยชนะมาครอบครอง ความเป็นความตายในสนามรบจึงตัดสินได้เพียงแค่เสี้ยววินาที

Photo: Royal Air Force Museum via https://www.caribbeanaircrew-ww2.com/?p=14

บรรดานักบินในสังกัดกองทัพอากาศของสหราชอาณาจักร (Royal Air Force) ต่างเข้าใจความจริงข้อนี้มากกว่าใคร เพราะทุกครั้งที่พวกเขาออกบินปฏิบัติภารกิจ เท่ากับการตกเป็นเป้าโจมตีทางอากาศตลอดเวลา ทำให้นักบินบางคนไม่ได้บินกลับมาอีกเลย

และปัญหาก็อยู่ที่ว่า ต่อให้สุ่มเสี่ยงมากแค่ไหน แต่นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาจำเป็นต้องใช้เครื่องบินโดยสาร เพราะเป็นวิธีเดินทางแบบเดียวที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด

Photo: https://www.history.com/news/world-war-ii-allied-bombings-shockwaves-space

ทหารในกองทัพอากาศฯ จึงตกลงกันว่า การเปลี่ยนมาใช้รหัสสื่อสารกันอย่างลับๆ แทน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด อย่างน้อยก็เป็นวิธีปกปิดข้อมูลการเดินทางของนายทหารได้อย่างแยบยล ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้สายลับฝ่ายศัตรูที่อาจแทรกซึมเข้ามาล่วงรู้ หรือต่อให้ถูกลักลอบดักฟังสัญญาณวิทยุสื่อสารก็มั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า ไม่น่าจะมีใครถอดความหมายได้

คำว่า V.I.P. ในหมู่นักบินของกองทัพอากาศฯ จึงกลายเป็นรหัสลับ สำหรับเรียกเครื่องบินที่นายทหารใช้โดยสาร

Photo: Royal Air Force via www.raf.mod.uk

ต่อมาทางการทหารของสหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต เริ่มนำคำนี้ไปใช้ในทำนองเดียวกัน แต่สหภาพโซเวียตเปลี่ยนคำย่อใหม่ให้เข้ากับตัวอักษรในภาษารัสเซีย กลายเป็นคำว่า В.И.П. ย่อมาจาก Вecмa Имeнитaя Пepcoнa หมายถึง บุคคลสำคัญ

Photo: U.S. Signal Corps photo / Edward N. Jackson (US Army Signal Corps)

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง คำว่า V.I.P. จึงไม่ได้ถูกจำกัดขอบเขตการใช้งานให้อยู่แต่ในแวดวงทหารอีกต่อไป เพราะเริ่มแผ่ขยายไปยังชนชั้นนำของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศมหาอำนาจใหม่ที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งมีชื่อเรียกรวมกันว่า Big Fours ประกอบไปด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต สหราชอาณาจักร และจีน

แต่คนสำคัญที่ทำให้ V.I.P. เป็นคำทั่วไปที่ใช้กันแพร่หลายอย่างทุกวันนี้ คือ เจ้าของกาสิโน 

เจ้าสัว: นักธุรกิจผู้มองเห็นโอกาสและความพิเศษจากคำว่า VIP

ช่วงทศวรรษที่ 60 ระหว่างปี 1960-1969 คือ ยุคทองของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ในขณะนั้นเอง สแตนลีย์ โฮ (Stanley Ho) เจ้าสัวชาวฮ่องกง และนักธุรกิจระดับมหาเศรษฐี ผู้มั่งคั่งจากกิจการกาสิโนยักษ์ใหญ่ในมาเก๊า เริ่มตั้งคำถามจากสิ่งที่เขาสังเกตเห็นว่า ทุกๆ วัน คนจำนวนมากต่างเข้ามาเล่นการพนันไม่ขาดสาย ภายในกาสิโนจึงมีแต่เสียงดังและความวุ่นวาย ในแง่ธุรกิจยังคงทำกำไรและเติบโตได้ดี แต่ในแง่การบริการ หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เขาอาจเสียกลุ่มลูกค้าคนสำคัญที่ชอบความเป็นส่วนตัวมากกว่า

Photo: Anthony Buckley and Constantine Royal Portrait Photographers via https://hk.asiatatler.com/

โฮจึงตัดสินใจสร้างห้องขนาดเล็ก ซึ่งแบ่งแยกพื้นที่ให้บริการจากลูกค้าทั่วไปอย่างชัดเจน เพื่อเอาไว้รับรองลูกค้ากลุ่มคนชั้นสูงที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากๆ โดยเขาตั้งชื่อห้องนี้ว่า VIP เพราะมองเห็นโอกาสที่ซุกซ่อนอยู่ในคำว่า V.I.P. ซึ่งนิยมใช้กับชนชั้นนำของประเทศเท่านั้น

โฮตัดจุดทิ้ง และเปลี่ยนความหมายของตัวย่อ P จาก Personage เป็น Person เพื่อทำให้คำกระชับและสื่อความหมายชัดเจนมากขึ้น ลูกค้าในห้อง VIP จึงได้รับการบริการแบบพิเศษระดับดีเยี่ยมที่เหนือชั้นกว่าลูกค้าธรรมดา เพราะถือว่าเป็นคนสำคัญตามชื่อห้อง

ความพิเศษของห้อง VIP ที่โฮกำหนดมาตรฐานบริการไว้ กลายเป็นจุดสนใจใหม่ที่ดึงดูดลูกค้าคนสำคัญทั่วเอเชียให้เข้ามาเล่นการพนันได้อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจกาสิโนของเขาจึงประสบความสำเร็จสูงสุด จนสามารถขยายกิจให้ใหญ่โตเป็นอาณาจักรกาสิโนระดับโลก ทำให้โฮได้รับการยกย่องเป็น King of Gambling หรือ ราชาแห่งการเสี่ยงโชค

Photo: https://www.prestigeonline.com/hk/people-events/people/commemorating-casino-magnate-stanley-hos-extraordinary-life/

จากสายตาที่มองหาโอกาสเพื่อสร้างช่องทางเติบโตทางธุรกิจของโฮ นำไปสู่การเป็นผู้บุกเบิกใช้คำว่า VIP ในงานบริการที่ได้รับผลตอบรับเกินคาด หลังจากนั้น วงการอื่นๆ จึงนำแนวคิดของโฮไปปรับใช้ เพื่อบ่งบอกการเป็นคนพิเศษที่ต้องได้รับการปฏิบัติเป็นกรณีพิเศษ

ดังนั้น หากตีความจากความหมายและวิธีใช้ของคำว่า VIP จะพบความจริงที่สะท้อนให้เห็นวิธีคิดแบ่งแยกคนด้วยผลประโยชน์บางอย่างเสมอ เช่น ตำแหน่งในหน้าที่การงาน อำนาจบารมี หรือสิ่งอื่นใดที่มีคุณค่าและมูลค่ามากพอสำหรับแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงบริการ เพื่อเป็นคนพิเศษที่มีความสำคัญมากกว่าคนอื่นๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมักจบลงด้วยสิ่งที่เรียกว่า เงิน

อ้างอิง

Did you know?

  • VIP ยังเป็นคำเฉพาะ สำหรับใช้เรียกแฟนคลับของกลุ่มศิลปินบอยแบนด์ชื่อดังจากประเทศเกาหลีใต้อย่าง Big Bang
  • เพื่อบ่งบอกถึงการเป็นคนสำคัญยิ่งกว่า VIP จึงเกิดเป็นคำใหม่ว่า VVIP ย่อมาจาก Very Very Important Person