©ulture

มีหนังสือเก่ามากมายเรียงรายอยู่บนชั้นหนังสือของร้าน ‘นัตสึกิ’ ร้านหนังสือมือสองจากวรรณกรรมเรื่อง ‘ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ’

วรรณกรรมจากปลายปากกาของ นัตสึคาวะ โซสุเกะ เล่มนี้ ว่าด้วยเรื่องราวของเด็กชาย ‘รินทาโร่’ ผู้ต้องดูแลร้านหนังสือเก่าๆ ของคุณปู่ที่เพิ่งเสียไป วันหนึ่งเขาได้พบกับแมวลายส้ม ซึ่งมาขอร้องให้เขาช่วยทำภารกิจเพื่อพิทักษ์หนังสือทั้งหลายบนโลก 

โซสุเกะชวนให้เหล่านักอ่านตั้งคำถามอีกครั้งว่า คนเรานั้นจะอ่านหนังสือไปเพื่ออะไรกัน ระหว่างทางที่พวกเราเข้าไปหาคำตอบกันนั้น ก็มีชื่อหนังสือเก่าๆ อันเป็นวรรณกรรมคลาสสิกปรากฏขึ้นมามากมาย

becommon ขอชวนไปทำความรู้จักกับหนังสือ 7 เล่มจากวรรณกรรมเล่มนี้ ที่ยังคงเป็นเล่มที่ตราตรึงอยู่ในใจผู้อ่านทั่วโลกเสมอมา

เชื่อว่าหลายคนที่อ่าน ‘ปาฏิหาริย์แมวส้มผู้พิทักษ์หนังสือ’ จำนวนไม่น้อย คงอยากจะไปตามอ่านวรรณกรรมคลาสสิกที่ตัวละครพูดถึง และคงแอบนึกอิจฉา ‘รินทาโร่’ ตัวเอกของเรื่องแน่ๆ ที่มีโอกาสได้อ่านหนังสือหายากเหล่านั้นในร้านนัตสึกิที่เขารัก

Candide

โดย วอลแตร์
(1759)

“คนโง่เขลามักจะเชื่อทุกอย่างที่นักเขียนชื่อดังเขียน 

แต่สำหรับฉัน ฉันอ่านเพียงเพื่อเติมเต็มตัวเอง และจะชอบในสิ่งที่ตรงกับรสนิยมส่วนตัวเท่านั้น”

ก็องดิด เป็นงานเขียนเชิงปรัชญาที่ชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ในโลกใบนี้ วอลแตร์ ประพันธ์เรื่องนี้ในปี 1758 ด้วยภาษาเสียดสี ออกรสออกชาติ และร้อยเรียงลงในวรรณกรรมของเขา ในตอนนั้นเขามีอายุ 64 ปี ถือเป็นช่วงวัยที่สั่งสมความเข้าใจโลกมาอย่างสุกงอมแล้ว

ก็องดิดเป็นชายหนุ่มที่ต้องร่อนเร่ไปยังสถานที่ต่างๆ และได้พบกับเหตุการที่ทำให้เขาต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อในพระและนักบวช ความเชื่อมั่นในสถาบันต่างๆ ของประเทศ และชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของมนุษย์ ลบล้างความเชื่อในแนวคิดที่สอนให้ผู้คนมองโลกในแง่ดี และชี้นำให้หันกลับมามองโลกตามความเป็นจริง และเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์

วรรณกรรมเล่มนี้ถือเป็นหนังสือในตำนาน ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่เนื้อหาข้างในยังคงสดใหม่อยู่เสมอ เพราะชี้ชวนให้เราตั้งคำถามกับความเชื่อชุดเดิมๆ ที่ถูกผลิตซ้ำในสังคม

‘ก็องดิด’ อาจเป็นหนังสือที่เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อโลกของใครคนหนึ่งไปเลยก็ว่าได้

 

The Brothers Karamazov

โดย ฟีดอร์ ตอสโตเยฟสกี
(1880)

“ความลับในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ไม่ใช่การดำรงชีวิตไปเพียงอย่างเดียว 

แต่ยังหมายถึงการค้นหาบางสิ่งที่เราจะมีชีวิตอยู่เพื่อมันด้วย”

พี่น้องตระกูลคารามาซอฟทั้ง 3 คน เติบโตมาโดยลำพังในต่างสังคม ต่างสถานที่กัน เพราะพ่อของพวกเขาถูกทอดทิ้ง ทำให้แต่ละคนมีนิสัยของตัวเองอย่างชัดเจน จนกระทั่งวันหนึ่ง พ่อของเขาถูกฆาตกรรม เรื่องราวทั้งหลายจึงค่อยๆ ปรากฏขึ้นทีละน้อย

พี่น้องทั้ง 3 คนเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่แตกต่างกัน มีทั้งคนที่เป็นตัวแทนของความดี ความชั่วร้าย ทำให้ผู้อ่านล้วนตั้งคำถามต่อพวกเขา และตั้งคำถามถึงปมความบาปที่ดูจะรุนแรงที่สุดอย่างการ ‘ปิตุฆาต’ หรือการฆ่าพ่อแม่

ในหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่เรื่องราวของสามพี่น้องเพียงอย่างเดียว หากรูปแบบของการเล่าเรื่องยังทำให้เราตั้งคำถามต่ออำนาจในการเป็นเจ้าของชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองประเทศ หรือพระเจ้า 

นี่เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของ ฟีดอร์ ตอสโตเยฟสกี ที่ได้ชื่อว่าเป็นวรรณกรรมที่ดีที่สุดของเขา และได้รับการยกย่องจากทั้งผู้อ่านและนักวิจารณ์วรรณกรรม 

แม้ปมท้ายเรื่องจะยังไม่ได้รับการสรุปที่แน่ชัด ทิ้งเอาไว้เพียงคำถามที่รอให้ผู้อ่านหาคำตอบเอง แต่ก็ถือว่าวรรณกรรมเรื่องนี้สั่นสะเทือนความเชื่อเดิมๆ ของมนุษย์มิใช่น้อย 

 

Run Melos Run  (Hashire Merosu)

โดย ดาไซ โอซามุ
(1946)

“การเป็นคนรอนั้นแสนเจ็บปวด การเป็นคนที่ทำให้ใครต้องรอนั้นก็เจ็บปวดเช่นกัน

แต่การรอทั้งสองแบบก็ยังไม่เจ็บปวดแสนสาหัสเท่า การไม่ได้อยู่เพื่อรออะไรเลย” 

หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวตอนสั้นๆ ที่ดัดแปลงมาจาก บทกวีเรื่อง Die Bürgschaft ของ ฟรีดริช ชิลเลอร์ และกลายมาเป็นหนังสือยอดนิยมเล่มหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น

เหตุผลที่หนังสือเล่มนี้เป็นที่จดจำของผู้คนได้ไม่ยาก คงเป็นเพราะเรื่องราวที่กินใจและข้อคิดจากเรื่องที่สอนให้คนเราไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวงที่เข้ามาในชีวิต ทั้งยังบอกให้มนุษย์ทุกคนเชื่อมั่นในความซื่อสัตย์ ที่จะนำพาชีวิตให้พานพบแต่สิ่งดีๆ

เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้มีอยู่ว่า ในเมืองที่กษัตริย์ปกครองอย่างโหดเหี้ยม ทำให้ ‘เมโลส์’ เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มักจะต่อต้านระบอบ ต้องถูกลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต แม้จะถูกจับไปแล้ว แต่วันหนึ่งเขากลับขอร้องให้กษัตริย์ปล่อยตัว เพื่อไปร่วมพิธีแต่งงานของน้องสาว โดยเพื่อนรักของเขาอาสาเข้าไปเป็นตัวประกันแทน เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแต่งงาน เมโลส์ก็รีบกลับมาตามสัญญาเพื่อเปลี่ยนตัว ปล่อยเพื่อนของเขาและให้ตัวเองกลับเข้าคุกดังเดิม ทว่าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น มีอุปสรรคต่างๆ มากมายทั้งภัยธรรมชาติ ภัยจากมนุษย์เกิดขึ้นตลอดทาง จนทำให้เขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด และไปช่วยเพื่อนไม่ทัน แต่ในท้ายที่สุด เมโลส์ก็พยายามฮึดสู้ และฝ่าไปช่วยเพื่อนเขาไว้ทันจนได้

ความซื่อสัตย์ของเมโลส์ นอกจากจะทำให้เพื่อนของเขาไม่ถูกประหารแล้ว ตัวเขาเองที่เปี่ยมไปด้วยความพยายามก็ได้รับอภัยโทษด้วยเช่นกัน และเรื่องราวนี้ก็สอนให้กษัตริย์องค์นั้นมองเห็นความจริงหลายๆ อย่าง และเปลี่ยนไปในที่สุด

 

Pride and Prejudice

โดย เจน ออสติน
(1813)

“จินตนาการของหญิงสาวนั้นแสนจะไวว่อง 

เพียงชั่วครู่เดียว ความชื่นชมแปรเปลี่ยนเป็นความรัก จากความรักก็วาดฝันถึงวันแต่งงาน”

วรรณกรรมเกี่ยวกับความรัก ความสัมพันธ์ ที่ชัดเจนและจริงใจที่สุดในยุคนั้น จากปลายปากกาของ เจน ออสติน นักเขียนหญิงที่เขียนแบบสมจริง ไม่ใช่แค่เพื่อความเพลิดเพลิน สะเทือนอารมณ์ แต่เธอยังฝากข้อความของผู้หญิงในยุคสมัยที่ชายเป็นใหญ่ ลงไปในวรรณกรรมเรื่องนี้ด้วย

Pride and Prejudice เป็นเรื่องราวของเอลิซาเบธ ลูกสาวหนึ่งในห้าของตระกูลเบ็นเน็ธ ที่ได้พบเจอกับมิสเตอร์ดาร์ซี่ในงานเลี้ยงเต้นรำ แต่เธอกลับได้ยินคำสบประมาทตัวเธอจากปากของเขา ทำให้เอลิซาเบธเอาแต่ตั้งแง่กับดาร์ซีตลอด แต่แล้วเรื่องราวต่างๆ ก็กลับพลิกผัน ทำให้ทั้งสองคนได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และแก้ไขความเข้าใจผิดต่างๆ ในท้ายที่สุด

เอลิซาเบธเป็นตัวแทนของผู้หญิงในยุคนั้น ที่มีความขบถในตัวสูงและเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ นอกจากจะพูดถึงเรื่องความรักอย่างตรงไปตรงมาแล้ว แต่ละความสัมพันธ์ในเรื่องยังได้ฝากข้อคิดไว้อีกด้วย

เรื่องราวอันสลับซับซ้อน ความสัมพันธ์ที่หลากหลาย เป็นเสน่ห์ที่ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นทั้งภาพยนตร์และซีรี่ส์ ที่ยังคงเรียกความสนใจของผู้คนได้ในทุกทศวรรษ

 

Night Flight  

โดย อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี
(1931)

“แม้แต่ ‘โชคร้าย’ ก็ยังถือว่าเป็นหนึ่งในสมบัติของเรา”

การเป็นนักบินที่เผชิญหน้ากับผืนนภาอยู่เสมอ ทำให้ อองตวน เดอ แซ็งเตกซูว์เปรี เป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องได้อย่างมีเอกลักษณ์ในแบบฉบับนักบินได้อย่างไม่มีใครเหมือน 

Night Flight หรือ เที่ยวบินกลางคืน เป็นอีกเล่มที่อองตวนเล่าเรื่องผ่านสายตานักบินได้อย่างงดงาม ตัวละครหลายๆ ตัวในเรื่องถูกอ้างอิงมาจากผู้คนที่รายล้อมอยู่รอบตัวเขาทั้งสิ้น 

เรื่องราวในหนังสือเป็นเรื่องของนักบินหนุ่มชื่อ ฟาเบียน ซึ่งทำงานในสายการบินไปรษณีย์ คืนหนึ่งเขาต้องทำการบินท่ามกลางพายุไซโคลนโหมกระหน่ำ และต้องพยายามพาทั้งเครื่องบินและตัวเขารอดจากวิกฤติครั้งนั้นให้ได้ 

เหตุการณ์ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของ รีวิแอร์ ผู้อำนวยการสายการบินแห่งนี้ จากเดิมที่เขาให้ความสำคัญกับระเบียบวินัยในการทำงานอย่างเคร่งครัดมาตลอด การหายสาบสูญไปของฟาเบียน ทำให้เขาต้องฉุกคิดอีกครั้ง 

วรรณกรรมเชิงปรัชญาเล่มนี้ชวนให้มองเห็นคุณค่าของชีวิตการเป็นนักบิน ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่บนน่านฟ้า ทั้งพายุโหมกระหน่ำ และความมืดมิดที่ปกคลุมอย่างไม่รู้ทิศทาง การต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ในฐานะนักบินนั้นมีความหมายอย่างไรบ้าง 

 

Thus Spoke Zarathustra 

โดย ฟรีดริค นิตเช่
(1885)

“ฉันคือป่าทึบในคืนที่แสนมืดมิด

มีเพียงคนที่ไม่เกรงกลัวความมืดเท่านั้น 

ที่จะมองเห็นดอกกุหลาบบานสะพรั่งเป็นทิวแถวใต้ต้นไซเปรสของฉัน”

หนังสือเล่มนี้เป็นบทกวีที่รวมเอาความคิดของ นิตเช่ มาร้อยเรียงกันเป็นเรื่องราว เริ่มด้วยซาราธุสตรา ที่ต้องการจะละทิ้งทุกอย่างในชีวิตเพื่อพบเจอกับความสันโดษ เมื่อเขาได้พบกับชาวเมืองก็ได้ช่วยชี้แนะทางสว่างให้กับผู้คนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชีวิตหลังความตาย ความสงสาร ความสุข และคุณธรรม เพื่อให้ก้าวผ่านความสงสัย ความเขลาเหล่านั้นไปได้ตามเส้นทางที่เขาแนะ ไม่งมงายกับไสยศาสตร์อันไม่ใช่ความจริงของมนุษย์

ชื่อของ ซาราธุสตรา มาจากศาสดาของศาสนาโซโรอัสเตอร์ ที่ชาวเปอร์เซียโบราณนับถือมานานกว่าสามพันปี (600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) 

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่บ่งบอกความเป็นนิตเช่ ผู้ซึ่งฉีกตำราเดิมๆ ของนักปรัชญาออกอย่างไม่มีชิ้นดี เขาเป็นนักคิดเจ้าของมโนทัศน์ “พระเจ้าตายแล้ว” ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนควรนับถือตัวเองเป็นพระเจ้า ซึ่งเป็นความคิดที่ท้าทายกรอบทางสังคมในยุคนั้นเป็นอย่างมาก 

 

Madame Bovary

โดย กุสตาฟ โฟลแบรต์
(1856)

“เธออยากตาย แต่ก็ยังอยากใช้ชีวิตอยู่ในปารีส”

ก่อนที่จะมาเป็นมาดามโบวารี เธอชื่อว่า ‘อ็องมา’ เป็นลูกสาวชาวไร่ที่มีฐานะยากจน จนกระทั่งได้แต่งงานกับ ชาลส์ โบวารี ซึ่งเป็นนายแพทย์ แต่ด้วยความช่างจินตนาการของอ็องมา ทำให้เธอยังคงเฝ้าฝันถึงชีวิตที่สวยงาม จนท้ายที่สุดก็เริ่มคบชู้ ปรนเปรอชีวิตด้วยข้าวของหรูหรา จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมอันเศร้าสลด 

วรรณกรรมเรื่องนี้นำเสนอเรื่องราวหนักๆ ของอ็องมา มีเนื้อหาที่ค่อนข้างล่อแหลม เป็นเรื่องราวที่ขัดต่อศีลธรรมในสมัยนั้น ทำให้ โฟลแบรต์ ผู้เป็นนักเขียนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จนเรื่องราวเลยเถิดถึงขั้นถูกฟ้องร้อง แต่เขาก็เอาชนะคดีมาได้ในท้ายที่สุด

แต่ด้วยความที่ฉีกขนบนิยายแบบเดิมๆ ไปอย่างสิ้นซาก กล้านำเสนอเรื่องราวอันแสบสันของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งห่างไกลจากคำว่าศีลธรรมเป็นอย่างมาก ทำให้หนังสือเล่มนี้ได้รับการพูดถึงอยู่เสมอ ทั้งยังได้ยอมการยอมรับจากเหล่านักวิจารณ์ว่าเป็นวรรณกรรมที่ดีอีกเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์

 

หนังสือเล่มอื่นๆ ที่ปรากฏใน ‘ปาฏิหาริย์แมวส้มผู้พิทักษ์หนังสือ’

  • Jean Christophe – โรแมง โรลองด์ (1904)
  • Courrier Sud  – อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี (1925)
  • The Life of Samuel Johnson – เจมส์ บอสเวลล์ (1791)
  • Ode to joy – ฟรีดริช ชิลเลอร์ (1824)
  • The Brothers Karamazov – ฟีดอร์ ตอสโตเยฟสกี (1880)
  • The Count of Monte Cristo – อาแล็กซ็องดร์ ดูว์มา
  • Lolita – วลาดีมีร์ นาโบคอฟ (1955)
  • Gulliver’s Travels – โจนาทาน สวิฟต์ (1726)
  • The Chronicles of Narnia – ซี.เอส. ลิวอิส (1950)
  • One Hundred Years of Solitude – กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (1927)
  • The Little Prince  – อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี (1943)
  • Adolphe – เบนจามิน คอนสแตน (1816)
  • The Enchanted Soul – โรแมง โรลองด์ (1922)
  • D’Artagnan – อเล็กซองดร์ ดูมาส์ (1802)
  • The Grapes of Wrath – จอห์น สไตน์เบ็ก (1939)

FACT BOX

  • วรรณกรรมเรื่อง 'ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสื่อ' เขียนโดย นัตสึคาวะ โซสุเกะ แปลภาษาไทยโดย ฉัตรขวัญ อดิศัย จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Blibli
  • หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ญี่ปุ่นในปี 2017