life

The Writer’s Room
No. 07

ห้องที่ต้องหันโต๊ะเข้าผนังของสตีเฟน คิง (Stephen King)
นักเขียนผู้สร้างความกลัวด้วยเรื่องราวระทึกขวัญจากแรงบันดาลใจในชีวิตจริง      

Photo: Eric Feferberg (2013) / AFP

หาก สตีเฟน คิง ยอมแพ้ต่อตัวเองในคืนนั้น เขาจะไม่ได้รับการยกย่องและไม่ถูกจดจำในฐานะนักเขียนนิยายสยองขวัญคนสำคัญของโลก ส่วนเราในฐานะผู้อ่าน ก็จะไม่มีโอกาสได้สัมผัสความน่ากลัวผ่านตัวหนังสือที่เขาใช้สื่อประสบการณ์ชวนขนลุกชันอย่างทุกวันนี้

อาจเรียกว่าเป็นความโชคดีด้วยซ้ำที่คิงไม่ถอดใจไปเสียก่อน ถึงแม้ว่าช่วงหนึ่งของชีวิต เขาเคยปล่อยให้ตัวเองตกอยู่ในความพ่ายแพ้ จนเกือบสิ้นชื่อ แต่ด้วยสองมือของผู้หญิงสองคนที่ไม่เคยปล่อยให้คิงอยู่อย่างโดดเดี่ยว ได้ฉุดดึงเขาให้โผล่พ้นขึ้นมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง และกลายเป็นผู้ชนะต่อตัวเองนับตั้งแต่นั้น นั่นคือมือของแม่ และภรรยา 

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก คิงจำได้ไม่ลืมว่า เขารู้จักกับความกลัวครั้งแรกตอนอายุ ขวบ เพราะพี่เลี้ยงที่แม่จ้างมาให้ช่วยดูแลเขา มักจะจับคิงไปขังไว้ในตู้เสื้อผ้า เขาต้องทนอยู่ในที่แคบๆ ท่ามกลางความมืดและกลิ่นอับให้ได้ มันกลายเป็นประสบการณ์เลวร้ายที่สุดในวัยเด็กของคิง

Photo: Stephen King (1952)

แม่เป็นคนแรกที่มองเห็นพรสวรรค์ในตัวคิง และสนับสนุนให้เขาก้าวเดินบนเส้นทางนักเขียนเสมอ หลังเห็นคิงนำเรื่องราวที่เขาอ่านจากการ์ตูนและนิยายมาเขียนใหม่จนน่าสนใจ โดยเธอเสนอว่าจะจ่ายค่าต้นฉบับให้เรื่องละ 25 เซนต์ ทำให้คิงเขียนนิยายสำเร็จเป็นเรื่องแรกตอนอายุ ขวบ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ยืนยันความตั้งใจในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี คือเครื่องพิมพ์ดีดที่เธอตั้งใจซื้อเป็นของขวัญให้คิงในวันคริสต์มาส

ในปี 1966 ช่วงที่คิงเรียนจบชั้นมัธยม ตรงกับเหตุการณ์สงครามในเวียดนามพอดี เขาคุยกับแม่ถึงแผนในอนาคต คิงคิดว่าจะไปเกณฑ์ทหารและเข้าร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ เพราะเป็นโอกาสน่าตื่นเต้นที่จะทำให้เขาพบเรื่องราวน่าสนใจเพื่อนำมาเขียนเป็นหนังสือสักเล่ม 

เดชะบุญที่คิงบอกให้แม่รู้ก่อน แม่ของเขาจึงห้ามไว้ทัน เพราะการเป็นทหาร นอกจากจะไม่ใช่เส้นทางที่นำคิงไปสู่อาชีพนักเขียนแล้ว ยังน่าจะเป็นหนทางที่ปลิดชีพเขามากกว่า คิงเชื่อคำแนะนำของแม่ และเรียนต่อคณะศึกษาศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ เปิดโอกาสให้คิงได้เจอคนรัก จนทั้งคู่แต่งงานและมีลูกด้วยกัน 

Photo: David King (1967)

คิงและภรรยาช่วยกันทำงานหาเงินเพื่อส่งตัวเองเรียนและเลี้ยงลูก เขาทำงานทุกอย่างที่ได้เงิน ตั้งแต่ภารโรง เด็กปั๊ม ไปจนถึงพนักงานร้านซักผ้า และใช้เวลากลางคืนหลังเลิกงานนั่งเขียนเรื่องสั้นเพื่อส่งไปตีพิมพ์ลงนิตยสารต่างๆ The Glass Floor (1967) คือ เรื่องสั้นสยองขวัญเรื่องแรกที่คิงได้รับเงินตอบแทนในฐานะนักเขียน

Photo: Heritage Auction Archives (2013)
Photo: https://www.worthpoint.com/worthopedia/stephen-kings-first-pro-appearance-1810000759

หลังจากเรียนจบ คิงยังคงใช้ชีวิตเช่นนี้อยู่พักใหญ่ จนรายได้เริ่มไม่เพียงพอ เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนงานมาเป็นคุณครูสอนภาษาอังกฤษ ทำให้ครอบครัวต้องย้ายตามมาอยู่ในรถบ้านแทน ภรรยาของเขาตัดสินใจออกจากงานประจำ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของทุกคน ส่วนคิงก็ไม่เคยละทิ้งความฝัน เขายังใช้เวลาว่างช่วงกลางคืนสร้างสรรค์งานเขียนต่อไป

Photo: Haleigh Foutch (2017) https://twitter.com/HaleighFoutch/status/892449416933724160/photo/1
Photo: https://nerdist.com/article/what-its-like-to-take-a-stephen-king-tour-of-maine/

คืนหนึ่ง คิงนึกย้อนกลับไปถึงสมัยทำงานเป็นภารโรง ขณะขัดพื้นที่เลอะคราบเลือดในห้องน้ำหญิง เขาพลางมองไปรอบๆ ราวกับกำลังสำรวจโลกใหม่ที่ไม่รู้จักมาก่อน คิงจินตนาการถึงฉากเปิดเรื่องของนิยาย

นักเรียนหญิงคนหนึ่งกรีดร้องด้วยความตกใจ เพราะเห็นเลือดมากมายไหลอาบท่อนขาทั้งสองข้าง เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเลือดเหล่านี้คืออะไร เธอกลายเป็นตัวประหลาดในสายตาเพื่อน ทุกคนล้อเลียนเธออย่างสนุกสนาน นับเป็นประสบการณ์ที่โหดร้ายที่สุดของเธอ คิงรู้ว่าหญิงสาวผู้นี้จะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบโต้เพื่อนๆ แต่เขายังคิดไม่ออกว่าเรื่องควรจบลงอย่างไร 

ไม่นาน คิงจำได้ว่าเคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับปรากฏการณ์เคลื่อนย้ายวัตถุ เขาจึงเชื่อมโยงและร้อยเรียงเรื่องราวจากสิ่งที่นึกขึ้นได้ ทว่าหลังจากเริ่มพิมพ์ได้เพียง หน้า เขาก็ขยำกระดาษทิ้ง และล้มเลิกเขียนการนิยายเรื่องนี้ไปอย่างไม่ไยดี 

คืนต่อมา คิงกลับมาจากทำงานเห็นภรรยานั่งอ่านแผ่นกระดาษที่เขาทิ้งไปเมื่อคืนก่อน เธอบอกคิงว่าอยากอ่านตอนจบ แต่คิงปฏิเสธ เพราะเขาไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงวัยมัธยมเลย ภรรยาจึงยื่นมือเข้ามาช่วย โดยเสนอว่าจะคอยให้คำแนะนำและบอกเล่าข้อมูลทุกอย่างที่คิงต้องการเพื่อทำให้เขาเขียนนิยายเรื่องนี้จนจบ คิงจึงลุกขึ้นสู้อีกครั้ง 

เดือนผ่านไป คิงเขียนนิยายเรื่องแรกเสร็จ และตั้งชื่อว่า Carrie (1974) แต่ผลงานแรของเขากลับถูกสำนักพิมพ์ต่างๆ ปฏิเสธถึง 30 ครั้ง ก่อนจะมีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งสนใจตีพิมพ์นิยายของคิง โดยจ่ายเงินให้ก่อน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ชีวิตของคิงและครอบครัวที่ต้องดิ้นรนตลอดหลายปีที่ผ่านมาจึงพลิกผันทันที เขาย้ายออกจากรถบ้านมาอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ และมีรถคันใหม่ มากไปกว่านั้น สำนักพิมพ์ยังบอกอีกว่า นิยายของคิงขายลิขสิทธิ์ได้เงินถึง 400,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เขาแทบไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง 

Photo: Uncorrected Proof (1974) / Doubleday & Company, Inc.

เวลาเดียวกัน คิงสูญเสียแม่ที่ล้มป่วยมานาน ความทุกข์และความเศร้าเสียใจทำให้เขาหันหน้าไปพึ่งพาเหล้า บุหรี่ และสารเสพติด แต่ภรรยาไม่อาจทนเห็นคิงในสภาพนั้นได้ จึงตัดสินใจส่งเขาไปบำบัด 

หลังจากหายดีแล้ว คิงกลับมาจริงจังกับงานเขียนอีกครั้ง โดยหยิบยกประสบการณ์ส่วนตัวระหว่างพักฟื้นจากอาการพิษสุราเรื้อรังมาเขียนเป็นนิยายสยองขวัญเพิ่มอีก เล่ม คือ Salem’s Lot (1975) และ The Shining (1977) ทำให้คิงได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากผู้อ่าน และเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนอาชีพตามที่เขาเคยใฝ่ฝันไว้ตั้งแต่ยังเด็ก ในปี 1977 คิงจึงตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู เพื่อเขียนนิยายเป็นอาชีพหลักอย่างเต็มตัว 

รายได้มหาศาลจากงานเขียน ทำให้คิงมีเงินมากพอสำหรับซื้อบ้านหลังใหญ่เป็นของตัวเอง ไม่สิ เรียกว่าคฤหาสน์น่าจะถูกต้องมากกว่า ที่แปลกไปกว่านั้น คิงจงใจซื้อคฤหาสน์สไตล์วิกตอเรียนอายุกว่า 200 ปี หลังนี้เพราะผนังทั้งหมดทาสีแดงดั่งเลือด ล้อมด้วยรั้วเหล็กรูปทรงประหลาดซึ่งดัดเป็นใยแมงมุม และมีเสาเป็นค้าวคาวหางปีก ซึ่งสามารถบ่งบอกได้ทั้งตัวตนและสิ่งที่เขาสนใจ นั่นคือ ความรู้สึกลึกลับและน่าเกรงกลัว แต่ก็ปลุกเร้าชวนให้อยากรู้ว่ามีอะไรในเวลาเดียวกัน 

Photo: Danse Macabre (1981) / Stephen King
Photo: Nagel Photography (2018) / Shutterstock.com

ก่อนหน้านี้ ชีวิตคิงไม่มีทางเลือกมากนัก เขาจึงคุ้นชินกับการนั่งเขียนงานด้วยเครื่องพิมพ์ดีดอยู่ภายในห้องแคบๆ ของรถบ้านและอะพาร์ตเมนต์ แต่ในใจลึกๆ คิงเคยวาดฝันไว้ว่า สักวันหนึ่งเขาจะต้องมีห้องขนาดใหญ่ พร้อมโต๊ะไม้ตัวกว้างตั้งอยู่ตรงกลางห้องให้เขาได้นั่งเขียนงานอย่างสบายใจ เมื่อโอกาสมาถึงคิงจึงทำความฝันของเขาให้เป็นจริง 

ในคฤหาสน์ คิงเลือกห้องที่มีหน้าต่างบานใหญ่เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ เมื่อมองออกไปแล้วจะเห็นสวนสวยงาม และได้ยินเสียงคนงานที่กำลังง่วนอยู่กับการจัดสวน ตลอดทั้งวันยังมีลมพัดเข้ามากระทบกับผ้าม่านจนปลิวอยู่เรื่อยๆ แต่กลับกลายเป็นว่าผิดคาด ห้องในฝันที่คิงอยากมีทำให้เขาเสียสมาธิจนเขียนงานไม่ได้เลย 

Photo: Dick Loek (1980) / Toronto Star
Photo: Stephen King (1983)

คิงทิ้งโต๊ะไม้ตัวใหญ่ เปลี่ยนมาใช้โต๊ะตัวใหม่ที่มีขนาดเล็กกว่ามาก แล้วขยับโต๊ะเข้ามุมผนัง โดยนั่งหันหน้าเข้ากำแพง เพื่อไม่ให้สายตาวอกแวกไปกับสิ่งอื่นๆ เขายังปิดหน้าต่างและประตูให้สนิททุกครั้งก่อนเริ่มเขียนงานเพื่อป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก ส่วนพื้นที่ของห้องที่เหลือ คิงปรับให้เป็นที่นั่งเล่นและพักผ่อนสำหรับครอบครัว มีโซฟาตัวยาวให้ทุกคนนั่งดูโทรทัศน์ด้วยกัน 

Photo: David King (1983)

คิงพบว่า หากต้องการสร้างสรรค์งานเขียน ห้องหรือสถานที่สวยหรูอาจไม่สำคัญเท่าการสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการใช้ความคิดเพื่อเขียนงาน 

แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันความจริงในข้อนี้ได้อย่างชัดเจน แต่คิงอาจเป็นนักเขียนคนแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์และโปรแกรมประมวลผลคำเขียนนิยายและเรื่องสั้นตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา โดยคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่เขาซื้อมาใช้มีราคาสูงถึง 11,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ 

Photo: Stephen King (1983)

คิงยังขึ้นชื่อมากเรื่องเป็นนักเขียนที่มีวินัยสูง สำหรับเขาการเขียนเป็นทักษะที่ต้องทำต่อเนื่องทุกวัน คิงจึงใช้เวลาเขียนหนังสือวันละ 4-6 ชั่วโมง 

แต่กว่าคนคนหนึ่งจะเป็นนักเขียนได้ คิงมองว่าต้องมีกล่องเครื่องมือก่อน ซึ่งภายในกล่องต้องบรรจุสิ่งสำคัญเหล่านี้ไว้อย่างครบถ้วนมากที่สุด เริ่มจากสิ่งแรก คือ คลังคำในหัวที่สั่งสมมาจากการอ่านเยอะๆ สิ่งที่สอง คือ ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ นักเขียนที่ดีต้องใช้ภาษาได้ถูกต้องและเหมาะสมกับการเล่าเรื่อง สิ่งที่สาม คือ รูปแบบหรือสไตล์การเขียน เกิดจากการอ่านเช่นเดียวกัน เพราะการอ่านมากๆ และอ่านอย่างหลากหลายจะทำให้เห็นการเขียนรูปแบบต่างๆ นักเขียนควรเรียนรู้และสร้างรูปแบบการเขียนที่น่าสนใจขึ้นมาใหม่ สิ่งสุดท้าย คือ เมจิก หรือความพิเศษที่จะทำให้เกิดความรู้สึกอยากอ่านต่อจนวางไม่ลง

การเป็นนักเขียนอาชีพจึงไม่มีทางลัดอื่นใด นอกจากเขียนและอ่านเท่านั้น 

สำหรับการเขียนนิยายหนึ่งเรื่อง คิงขีดเส้นตายว่าต้องเขียนต้นฉบับแรกให้เสร็จภายใน เดือน นี่คือระยะเวลาที่เหมาะสมในสายตาของเขา เพราะถ้าหากใช้เวลาเกินกว่านี้ แสดงว่าเกิดความผิดพลาดตั้งแต่วางโครงเรื่อง และการใช้เวลามากเกินไปจะทำให้เรื่องออกทะเล 

หลังจากเขียนเสร็จ ให้พัก สัปดาห์ แล้วค่อยกลับมาปรับแก้ต้นฉบับอีกครั้ง คิงจะมองเรื่องเดิมด้วยมุมใหม่ ซึ่งแตกต่างไปจากตอนเริ่มเขียน ทำให้เห็นจุดบกพร่องหรือความไม่สมเหตุสมผลบางอย่าง และแก้ไขเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์ขึ้นได้ 

ส่วนประเด็นเรื่องการสร้างความน่ากลัวให้นิยาย คิงมักจะเลือกใช้เหตุการณ์ทั่วไปที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคนมาเขียนให้น่าสนใจ ด้วยการบรรยายใส่รายละเอียดและความรู้สึกสมจริง แม้จะเป็นเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ แต่เมื่ออ่านแล้วต้องสัมผัสถึงบางอย่างที่ไม่น่าไว้วางใจ กระตุ้นให้เกิดความสงสัยเพื่อตามหาความจริง 

หรืออย่างการสร้างตัวละคร คิงจะให้ความสำคัญกับความเป็นเหตุเป็นผลเสมอ ซึ่งเขามักจะอ้างอิงกับประสบการณ์ส่วนตัว โดยเฉพาะปมปัญหาหรือความกลัวที่เขาเคยเผชิญ 

ตั้งแต่คิงได้ก้าวเดินบนเส้นทางนักเขียนอาชีพ เขาไม่เคยหยุดหรือพักจากงานเขียน คิงยังคงสร้างสรรค์ผลงานน่าตื่นเต้นอยู่ตลอดเวลา จนถึงวันนี้ (กันยายน 2563) คิงตีพิมพ์นิยายไปแล้ว 61 เล่ม สารคดีอีก เล่ม และเรื่องสั้นไม่ต่ำกว่า 200 เรื่อง รวมเป็นหนังสือราว 350 ล้านเล่ม ผลงานของเขายังถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และซีรีส์อีกจำนวนมาก 

Photo: Kenzo Tribouillard (2013) / AFP

คิงคือนักเขียนคนสำคัญที่ทำให้ความน่ากลัวกลายเป็นสิ่งน่าหลงใหลและเป็นความบันเทิงในเวลาเดียวกัน 

แม้ว่าเรื่องราวของคิงจะชวนให้เราใจสั่น และลุ้นระทึกระดับเหงื่อไหล หรือบางคนอาจรู้สึกกลัวจนนอนไม่หลับถึงขนาดเก็บไปฝันร้าย แต่ผลงานเขย่าขวัญของคิงนี่แหละที่เติมเต็มสีสันให้โลกของนักอ่าน ต่อให้เป็นสีช้ำเลือดช้ำหนองเราก็เต็มใจกระโจนเข้าไปอยู่ดี 

ผลงานเขียนเล่มสำคัญของสตีเฟน คิง 

Carrie (1974)
นิยายสยองขวัญเล่มแรกของคิง ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘แคร์รี่ ไวท์’ เด็กหญิงวัยแรกแย้มผู้อ่อนแอจากการเลี้ยงดูของแม่ผู้คลั่งศาสนา เธอจึงตกเป็นเป้านิ่งให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนกลั่นแกล้งทุกครั้ง โดยไม่มีใครล่วงรู้ว่า การถูกกระทำย่ำยีให้อับอายเช่นนี้ ได้ปลดปล่อยพลังดำมืดบางอย่างที่แอบแฝงอยู่ภายในตัวของเธอออกมา เพื่อเปลี่ยนให้เธอเป็นผู้เอาคืน ด้วยการหยิบยื่นความตายที่น่าสยดสยองให้ทุกคนที่คิดร้ายต่อเธอ 

The Shining (1977)
เดอะไชนิ่ง คืนนรก (ฉบับภาษาไทย โดย แพรวสำนักพิมพ์)
หนึ่งในนิยายสร้างชื่อให้คิง บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับครอบครัวทอร์แรนซ์ เมื่อ ‘แจ็ค’ พ่อผู้ติดเหล้า หวังเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยงานดูแลโรงแรมบนเทือกเขาซึ่งปิดให้บริการชั่วคราวนาน เดือนในช่วงหน้าหนาว เขาจึงพาภรรยาและลูกชายวัย ขวบชื่อ ‘แดนนี่’ ผู้มีสัมผัสพิเศษไปอยู่ด้วย แต่บางสิ่งที่สิงสู่อยู่ในโรงแรมนี้กำลังรอครอบงำใครบางคน เพื่อไล่ล่าคนที่เหลือ นิยายเล่มนี้มีเรื่องราวภาคต่อในชื่อ Doctor Sleep (2013)  

Different Seasons (1982)
เรื่องเล่าต่างฤดู (ฉบับภาษาไทย โดย สำนักพิมพ์ Merry-Go-Round Publishing)
รวมนิยายดราม่าขนาดสั้น เรื่อง เริ่มต้นด้วย Rita Hayworth and the Shawshank Redemption ตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิ เรื่องราวแห่งความหวังที่แม้แต่ลูกกรงและห้องขังก็ไม่อาจจองจำได้, Apt Pupil เรื่องเล่าจากฤดูร้อน เมื่อใครบางคนพบว่าหัวใจตนไม่ใสเหมือนท้องฟ้า, The Body แด่ช่วงชีวิตไร้เดียงสาของกลุ่มเด็กชาย ที่ร่วมกันออกตามหาศพ พร้อมกับวัยเยาว์ที่ร่วงหล่นเช่นเดียวกับฤดูใบไม้ร่วงสุดท้าย The Breathing Method จากฤดูหนาว ล้อมวงเล่าเรื่องชีวิตกับความตาย และหัวใจที่ไม่ยอมหยุดหายใจ 

 

อ้างอิง