“เราอยากมีร้านหนังสือที่มีประตูสีแดงมานานแล้ว”
บริษฎ์ พงศ์วัชร์ พูดถึงร้านหนังสือของเขา ร้านหนังสือที่ได้เปิดในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในชีวิต ร้านหนังสือสีแดง สีที่มองดูทุกครั้งแล้วมีพลังและอบอุ่น ร้านหนังสือร้านแรกของเขาที่อยากให้เป็นพื้นที่สบายใจของคนที่ได้เข้ามาเยือน มาหยิบ มาจับหนังสือแค่ไม่กี่นาทีแล้วรู้สึกได้รับพลังงานดีๆ กลับไป
เรารู้จักกับบริษฎ์ ในฐานะนักเขียนเจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ 2 เล่ม คือ Waltz เต้นรำในวอดวาย เรื่องสั้นของความสัมพันธ์อันวอดวาย และ We Should All Go To Hell เราทุกคนควรลงนรก นิยายดิสโทเปียว่าด้วยเรื่องรักสามเส้า กลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างมนุษย์และพระเจ้า
ก่อนเป็นนักเขียน เขาเองก็เป็นนักอ่านตัวยงที่จะหาตัวเจอได้ในร้านหนังสือในฐานะผู้มาเยือน ปัจจุบัน Somewhere bookshop ทำให้เขาได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นเจ้าของร้านหนังสือครั้งแรก จะเรียกว่าร้านหนังสือในฝันก็ได้ เพราะเขาได้เก็บรวบรวมเอามวลพลังงานของความประทับใจในร้านหนังสือที่เคยได้เยือนมารวมเอาไว้ที่นี่ เบื้องหลังประตูสีแดงบานนั้น
Somewhere
“สมัยเด็กๆ เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยเป็นส่วนหนึ่งของที่บ้านหรือสังคมโรงเรียน เรารู้สึกว่าตัวเองแปลกแยก มีบางความรู้สึกที่เราเองก็ไม่รู้จะเอาไปวางไว้ตรงไหน เลยค่อยๆ ค้นหาที่ทางไปเรื่อยๆ ว่าที่ไหนจะรองรับความรู้สึกของเราเอาไว้ได้ เราพบว่าเวลาอ่านหนังสือมันเหมือนได้เข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่ง ได้หนีไปจากปัจจุบันที่เรารู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง โลกของหนังสือมักทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ค่อยมีชื่อเรียก มีความเปราะบาง ความไม่เข้าใจตัวเอง เราเลยชอบโลกในหนังสือ และไปตามหาว่าที่ไหนมีหนังสือเยอะๆ สุดท้ายก็เจอห้องสมุดและร้านหนังสือ”
“วันเสาร์ อาทิตย์ ผมชอบนั่งรถเมล์จากบ้านไปเซ็นทรัลบางนา แต่ก่อนอยู่แถวๆ นั้น เราจะเข้าไปอยู่ในร้านนายอินทร์หรือซีเอ็ด บุ๊คทั้งวันตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ตอนเด็กๆ เราอยากมีห้องสมุดเป็นของตัวเอง พอโตขึ้นมาหน่อยก็คิดได้ว่าถ้ามีห้องสมุด เราจะหาเงินได้อย่างไร เพราะบางอย่างยังต้องหล่อเลี้ยงด้วยเงิน เลยรู้ว่ายังมีสิ่งที่เรียกว่าร้านหนังสืออิสระ ที่ไม่ใช่ร้านใหญ่ในห้าง เลยลองไปร้านหนังสืออิสระในกรุงเทพฯ อย่างร้านหนังสือเดินทาง หรือ Fathom bookspace พบว่าเป็นร้านที่น่ารักมาก”
บริษฎ์อยากมีร้านหนังสืออิสระของตัวเองมาตลอด นอกจากจะเป็นนักอ่านและนักเขียนแล้ว เขาเป็นวิศวกรในบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำงานด้านโลจิสติก ก่อนหน้านี้เขาต้องไปทำงานในอู่ต่อเรือ ไปอยู่ที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน จึงยังไม่มีโอกาสได้ทำร้านหนังสือของตัวเองสักที แต่ความฝันนี้ยังคงคอยมาแวะเวียน ส่งเสียงเพรียกถึงเขาอยู่เสมอ จนเวลาล่วงเลยมาถึงปลายปีก่อน เมื่อทนเสียงเรียกร้องข้างในใจไม่ไหว เขาก็พบว่าถึงเวลาแล้วที่ร้านหนังสือในฝันจะต้องออกมาอยู่บนโลกความจริงเสียที
เขาตระเวนหาพื้นที่ในกรุงเพื่อเนรมิตให้เป็นร้านหนังสือ เขาเล่าอีกว่าวิธีการเลือกอาจดูต่างจากปกตินิดหน่อยตรงที่ครึ่งหนึ่งเขาใช้เหตุผลพิจารณา แต่ส่วนที่เหลือเขาใช้สัญชาตญาณเพื่อมองหาพื้นที่ที่กำลังสื่อสารกับเขา ไม่นานนักเขาก็เจอตึกแถวเล็กๆ สูง 3 ชั้นในซอยเพชรเกษม 12 เดินจาก MRTสถานีท่าพระแป๊บเดียวก็ถึง เดิมทีที่นี่เคยเป็นบ้านคนที่รีโนเวทมาแล้วเสร็จสรรพ บริษฎ์เล่าว่าทั้งตัวตึกและทำเลเหมาะเหม็งที่จะเป็นร้านหนังสือตั้งแต่แรกเห็น ราวกับว่ากำลังรอเขาอยู่อย่างไร อย่างนั้น
“เราอยากมีร้านหนังสือที่มีประตูสีแดงมานานแล้ว เพราะเราเชื่อมโยงกับสีแดง มันเป็นสีที่ให้พลังงาน อาจจะดูร้อนแรงแต่จริงๆ แล้วเป็นสีที่ให้พลังงานชีวิต ถ้าคนอ่านเห็นเราอยู่ในร้าน หรือมาอยู่ในบริเวณพื้นที่นี้เองก็คงจะมีความรู้สึกเหมือนกัน จะสดใส สดชื่น เหมือนได้รีเฟรชตัวเอง ถึงจะเป็นสีแดงแต่ก็เป็นสีแดงที่กำลังดีกับตัวเอง”
“อยากให้คนมาที่นี่แล้วรู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน เป็นพื้นที่ที่มั่นคงและปลอดภัย ไม่ได้ถูกผลักไสแล้วสถานที่นี้พร้อมจะเป็นเพื่อนกับคุณ” บริษฎ์บอกอย่างนั้น
เบื้องหลังหน้าต่างกระจกเผยให้เห็นร้านหนังสือที่ร้องเรียกให้คนผลักบานประตูสีแดงเข้ามาเยี่ยมเยียน โคมไฟห้อยระย้าให้แสงสีส้มอบอุ่น ดูคล้ายกับดวงดาวที่ประดับบนท้องฟ้ายามค่ำคืน โต๊ะไม้สีอ่อนมีหนังสือวางเรียงราย ที่นี่เต็มไปด้วยเศษเสี้ยวของความประทับใจที่เจ้าของร้านเก็บเอาไว้จากการไปเยือนร้านหนังสือในวัยเด็ก หนึ่งในมุมที่เขาโปรดปรานคือมุมหนังสือเล่มโปรดของเขาเอง ที่กำลังบอกกับโลกว่าเขาชอบอ่านหนังสือเรื่องไหน และถ้าเผื่อว่าใครผ่านมาเห็นแล้วสนใจ เขาก็อยากจะชวนมาอ่านด้วยกัน
“ผมอ่านงานหลากหลายตั้งแต่ฮาวทู ธุรกิจ เทคโนโลยี วรรณกรรมคลาสสิก มันดีตรงที่เราได้เปิดโลกเรียนรู้ว่านักเขียนคนอื่นๆ เขากำลังพูดอะไรกันอยู่ หนังสือมันมี space and time เป็นประตูมิติ เป็นช่องทางที่ให้เราได้ไปอยู่ร่วมใน space and time ของคนอื่นได้”
“หนังสือที่ชอบจริงๆ คงเป็นเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ เพราะเป็นเรื่องที่ดูเรียบง่าย แต่ในขณะเดียวกันก็ยากและซับซ้อนที่สุด เราอยากทำงานเกี่ยวกับเรื่องความรักความสัมพันธ์อยู่แล้วด้วยเลยเลือกหนังสือที่พูดเรื่องนี้มา อาจไม่ได้กว้างขนาดเป็นบลูโอเชียน แต่หนังสือที่เราเลือกจะเป็นหนังสือที่เชื่อมเรื่องความสัมพันธ์บริบทของโลกปัจจุบันเอาไว้ด้วยกัน เช่น เรื่องของการเมือง ความหลากหลายทางเพศ ถ้าเป็นหนังสือที่พูดเรื่องการเมืองก็จะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ด้วย”
ของไหล (น.)
สสารซึ่งมีรูปร่างเปลี่ยนไปได้ตามภาชนะที่รองรับ ได้แก่ ของเหลวและแก๊ส
(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน)
บริษฎ์อธิบายคุณสมบัติของสสารชนิดนี้ให้เราฟัง เขาบอกว่าร้านหนังสือแห่งนี้เปรียบเป็นของไหล ที่ลื่นไหลไปได้เรื่อยๆ และสามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปตามภาชนะที่ใส่ ถ้าเป็นคนก็จะเป็นคนที่เป็นตัวของตัวเอง แต่ในความเป็นตัวของตัวเองนั้นหมายความว่าเขาคือคนที่โอบรับทุกคนเอาไว้ และพร้อมจะฟังบทสนทนาของคนใหม่ๆ ที่มาเยือน
“Somewhere bookshop เป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับวัยเด็กของเรา พอเจอห้องสมุด ร้านหนังสือหรือโมเมนต์ตอนอ่านหนังสือแล้วรู้สึกดี เราพยายามตั้งชื่อให้ แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี เลยเรียกว่า Somewhere bookshop มันคือบางแห่งที่ไม่ได้คาดคั้นให้คุณต้องรู้จักกันจริงๆ ไม่ได้คาดคั้นว่าต้องมีชื่อ แต่ให้เป็นที่ทางของความรู้สึกที่ยังไม่มีชื่อเรียก ความรู้สึกที่ยังไม่เข้าใจ หรือกำลังรอการสำรวจผ่านหนังสือ Somewhere bookshopอยากเป็นพื้นที่ทำงานกับคุณแบบนั้น”
“จากประสบการณ์ของผมเอง ก่อนอ่านหนังสือสักเล่ม เราจะเห็นหน้าปก เห็นคำโปรย เห็นการโฆษณา แต่ระหว่างที่อ่านจนอ่านจบ มันให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน มันมีมวลบางอย่างตลอดทางที่สามารถกลายเป็นบทสนทนาต่อได้ ในฐานะของนักอ่านเราอยากให้มีพื้นที่ที่ทำงานกับความรู้สึกนั้น สมมติคุณอ่านหนังสือสักเล่ม บางทีเราอยากพูดกับใครสักคนว่าเราอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเราคิดอย่างไร เลยคิดว่า Somewhere bookshop น่าจะตอบโจทย์ช่องว่างตรงนั้นได้ เป็นพื้นที่สำหรับมวลที่ยังไม่มีที่ทาง เป็น ‘บางแห่ง’ ให้กับมวลเหล่านั้น”
“การอ่านหนังสือเป็นสิ่งคนเรามีประสบการณ์ร่วมกันได้ เราเลยอยากเป็นเพื่อนกับคุณ แล้วชวนคุณมาอ่านหนังสือด้วยกัน เราอยากร่วมเดินทางและมีประสบการณ์ในการอ่านไปกับคนอ่านด้วย”
ความไม่อิสระของ ‘ร้านหนังสืออิสระ’
เมื่อร้านหนังสือต้องอาจไม่ได้มีไว้เพื่อขายหนังสืออย่างเดียวอีกต่อไป แม้เราจะซื้อหนังสือผ่านออนไลน์ได้ ถึงอย่างนั้นเขาก็เชื่อว่ายังมีคนต้องการร้านหนังสืออิสระและร้านแบบนี้จะยังเป็นหมุดหมายของใครสักคนที่จะรอจะมาเยือนในวันสุดสัปดาห์
“เราเคารพพลังของโลกออนไลน์ แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่าร้านหนังสือก็ยังมีเสน่ห์และมีพลังงานบางอย่างที่มันรอให้คุณมาค้นพบ และสนุกด้วยกันแบบที่ออนไลน์อาจยังไม่ตอบโจทย์ได้เต็ม ยกตัวอย่าง Fathom Bookspace ร้านหนังสืออิสระที่ชอบมาก ที่นี่จะมีฟังก์ชันที่น่าสนใจมาก คือจะมีกิจกรรมให้คนอ่านได้ร่วมกับร้านหนังสือ ซึ่งมันทำให้เราเติบโตทางจิตวิญญาณและความรู้สึกมาก อาจมีโน้ตให้คนอ่านได้เขียนหรือแชร์นิดๆ หน่อยๆ คิดว่าสิ่งนี้เป็นเสน่ห์ที่ร้านหนังสืออิสระที่มีพื้นที่ยังสามารถเป็นการสนทนาสองทางได้อยู่”
แม้จะเป็นช่วงโควิด-19 ที่ต้องล็อกดาวน์ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง แต่เขาก็ตัดสินใจเปิดร้านขึ้นจนได้ เขาเล่าว่าการเปลี่ยนบทบาทจากนักเขียน นักอ่าน มาเป็นเจ้าของร้านหนังสือครั้งแรกนั้นไม่ง่ายเลย และยังต้องรับมือกับการพยุงความฝันให้เป็นไปได้ในโลกแห่งความจริง ที่ไม่ได้เป็นอิสระอย่างที่คิดไว้ด้วย
“ภาพของเจ้าของร้านหนังสืออิสระอาจถูกนำเสนอออกไปว่าเก๋ๆ ชิคๆ แต่ความจริงแล้วเรามีงานหลายอย่างที่ต้องจัดการ ธุรกิจหนังสืออิสระไม่ใช่ธุรกิจที่ทำแล้วรวย เราเป็นมือใหม่ก็พยายามอ่านหนังสือ ฟังบทสัมภาษณ์จากร้านหนังสืออิสระร้านอื่นๆ ที่เขามีประสบการณ์มาเยอะกว่า แทบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันไม่ง่ายนะ อาจต้องยืนระยะและคำนวณต้นทุนให้ดีๆ เลยเป็นงานที่เหนื่อย ไม่ได้สวยงามเหมือนภาพที่เห็น”
“สิ่งที่ท้าทายหลักๆ เป็นเรื่องเงินทุน การทำสัญญาเช่าตึกระยะยาวต้องมีเงินก้อน ต้องมีการรีโนเวท ซื้อเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งร้าน ต่อมาเป็นเรื่องของการวางแผนล่วงหน้าว่าเราจำเป็นต้องหาเงินต่อเดือนให้ได้เท่าไหร่จากการขายหนังสือ อีก 6 เดือนข้างหน้าเราจะทำอย่างไร ถ้า 3 เดือนแรกไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดไว้” เขาเล่าให้เราฟัง
Somewhere ของ Someone
เราเห็น Somewhere bookshop ปรากฏอยู่ในสเตตัสเช็คอินของคนในแวดวงหนังสือบ่อยครั้ง บริษฎ์เล่าว่าที่นี่เป็นเหมือนบ้านให้เพื่อนๆ นักเขียนได้มาเยี่ยมเยือน เป็นพื้นที่ที่ได้พบปะกัน แม้ร้านจะเปิดได้อยู่แค่ช่วงสั้นๆ ก่อนล็อกดาวน์รอบที่สอง แต่ถึงอย่างนั้นเพื่อนๆ ก็ยังคงเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อที่จะได้มาเจอกันที่นี่อีกครั้ง และอย่างที่บริษฎ์เล่าให้เราฟังดูเหมือนว่าบรรยากาศของร้านจะเป็นไปอย่างที่เขาตั้งใจเอาไว้ นอกจากจะเป็นเซฟโซนของคนที่มาเยือนแล้ว ร้านหนังสือแห่งนี้ยังมีความหมายสำหรับบริษฎ์ในฐานะ ‘บ้านหลังหนึ่ง’ ด้วย
“พูดกันอย่างตรงไปตรงมา ประเทศนี้มีพื้นที่ที่มั่นคงและปลอดภัยค่อนข้างน้อย แทบไม่มีสถานที่ที่ให้ผู้คนได้เข้าไปวางความรู้สึก สบายใจ ปล่อยวางได้เลย แค่ชั่วขณะที่ว่าวันนี้ฉันเหนื่อย ฉันอยากวางตัวเองลงตรงนี้ เราก็แทบไม่มีที่ให้ทำแบบนั้นเลย ในสภาวะที่สังคมและประเทศเป็นแบบที่เราเห็นในทุกวันนี้ มีข่าวร้าย มีการเมืองที่กำลังกระทบกับตัวเราตลอดเวลาแบบนี้ด้วย”
“ถ้าวันหนึ่งเราตื่นมาแล้วรู้สึกว่าฉันวิตกกังวลกับทุกสิ่งในชีวิต เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ฉันจะตกงานไหม โรคระบาดจะเป็นอย่างไร ถ้าฉันป่วยฉันจะมีเตียงไหม ฉันมีเงินเก็บพอที่จะดูแลตัวเองและดูแลคนอื่นไหม หรือถ้าฉันเป็นอะไรขึ้นมา คนข้างหลังจะเป็นอย่างไร มันเต็มไปด้วยพื้นที่ของความกังวล”
“เราอยู่ในสังคมที่ไม่ค่อยสื่อสารกันด้วยน้ำเสียงเป็นห่วงเป็นใย เธอไม่ต้องห่วงนะ เดี๋ยวฉันดูแลเอง แต่เราอยู่ในสังคมที่โครงสร้างไม่ได้ซัพพอร์ตปัจเจกบุคคล ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญมากถ้าเราจะมีพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกมั่นคงได้ เพื่อให้คนคนหนึ่งออกไปใช้ชีวิตได้ มีลมหายใจอยู่ต่อไปได้ ความมั่นคงและปลอดภัยมันช่วยส่งเสริมเราในมิติอื่นๆ ด้วย พอเราแข็งแรงแล้ว เราก็จะทำงานดีขึ้น มีความสุขขึ้น มีแรงมีพลังไปช่วยคนอื่นๆ ต่อ พื้นที่แบบนี้เลยจำเป็นมากๆ”
“เราเป็นที่พักแค่ช่วงเล็กๆ ช่วงหนึ่งก็ยังดี หลังจากที่ทำงานมาทั้งวัน แค่ 10-15 นาที ขอแค่เป็นที่ที่ได้วางความรู้สึกหรือความเหนื่อยล้า อาจเลือกหนังสือเงียบๆ ในมุมของตัวเอง จะมีบทสนทนาหรือไม่มีก็ได้ ที่นี่ไม่ได้คาดคั้นขนาดนั้น การมาเยือนที่นี่จึงขอแค่ให้ได้มาใช้เวลาสักครู่เพื่อให้รู้สึกว่าชีวิตเรายังมีสถานที่มีมวลดีๆ ให้เรามีกำลังใจออกไปทำอย่างอื่นต่อ”
“ไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าว่า Somewhere Bookshop จะไปอย่างไรต่อไปในแง่ของธุรกิจ แต่ในแง่ของจิตใจ เหมือนเรากำลังสร้างบ้านอยู่หลังหนึ่ง เรากำลังสร้างพื้นที่ที่มั่นคง ปลอดภัยและส่วนตัว สิ่งที่ทำให้เราต้องทำร้านนี้และมีชีวิตอยู่กับมันต่อไปคือ เราอยากมีบางแห่งที่เป็นของตัวเราเองจริงๆ”
Somewhere bookshop & home cafe
158/6 ซ.เพชรเกษม 12 แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ 10600 (MRT วัดท่าพระ ทางออก 3)
เปิด 11.00 – 23.00 น.
โทร. 089 528 1632
Facebook : Somewhere bookshop & home cafe