โลกร้อนกำลังเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง แม้แต่เสียงของเครื่องดนตรีทำมือจากโรงไม้เล็กๆ ในสวิตเซอร์แลนด์
โดยปกติแล้ว หากจะทำเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายอย่างกีตาร์โปร่งและไวโอลินให้เสร็จจนใช้ดีดสีได้สักเครื่อง ช่างฝีมือหนึ่งคนต้องทุ่มเทเวลาไม่ต่ำกว่า 100 ชั่วโมง (หรือราว 12 วัน หากแบ่งทำ วันละ 8 ชั่วโมง) ระยะเวลานี้ยังไม่นับรวมขั้นตอนควานหาไม้เนื้องามในป่ากว้าง ซึ่งยากและใช้เวลาสำรวจนานไม่แพ้กัน
ถึงอย่างนั้น ดูเหมือนว่าจะยิ่งต้องใช้เวลามากขึ้นกว่าเดิม เพราะสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนและปัญหามลพิษจากภาวะโลกร้อน ทำให้คุณภาพอากาศ น้ำ และดิน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ต้นไม้ต้องใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง และดูดซึมแร่ธาตุมาหล่อเลี้ยงทุกส่วนของต้น กลับเสื่อมโทรมลงต่อเนื่อง
จากต้นไม้ที่เคยยืนต้นเติบโตท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ กลายเป็นต้นไม้ที่ป่วยไข้เรื้อรัง ทำให้คุณภาพของเนื้อไม้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทั้งชื้น ขึ้นโครงเครื่องดนตรีได้ยาก และให้เสียงผิดแปลกกว่าแต่ก่อน
ทั้งหมดกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ เพราะความรู้และหลักวิชาเกี่ยวกับการทำกีตาร์โปร่งและไวโอลินที่เคยถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นในหมู่ช่างฝีมือและคนตัดไม้ชาวสวิส คงไม่เพียงพอ
อาจไม่ต้องถึงขนาดคิดและทำใหม่แบบเริ่มนับหนึ่ง แค่ต้องตั้งต้นจากปัญหาแล้วหาวิธีรับมือและแก้ไขให้ถูกที่ เพื่อพวกเขาจะยังคงรักษาเสียงไพเราะของกีตาร์โปร่งและไวโอลินไว้ได้ ไม่ให้เพี้ยน
ฟรองซัวส์ วิลลาร์ด (Francois Villard) นักสำรวจป่าชาวสวิส ใช้มือทั้งสองสัมผัสต้นสปรูซ (Spruce) ซึ่งเป็นต้นสนไม่ผลัดใบจำพวกหนึ่ง ก่อนจะชี้ให้เห็นต้นอ่อนบริเวณโคนไม้ด้วยความหวังลึกๆ ว่า พวกมันจะเติบโตเป็นต้นไม้ที่ยืนต้นแข็งแรงและมั่นคงเหมือนบรรพบุรุษ เพราะโลกร้อนกำลังเปลี่ยนต้นสปรูซให้อ่อนแอลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นไม้ด้อยคุณภาพ
“30 ปีที่แล้ว อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีของที่นี่อยู่ระหว่าง 5-6 องศาเซลเซียส ส่วนตอนนี้มันพุ่งขึ้นไปเป็นความอุ่น ซึ่งไม่ดีต่อต้นไม้แน่ๆ”
นี่ไม่ใช่แค่สิ่งที่วิลลาร์ดกลัว แต่ยังเป็นฝันร้ายของบรรดาช่างฝีมือ เพราะพวกเขาจำเป็นต้องใช้ไม้เหล่านี้ทำเครื่องดนตรี
พื้นที่ที่วิลลาร์ดเดินสำรวจอยู่นั่น คือ กลางป่าริซู (Risoux) บริเวณรอบต่อเทือกเขาจูรา (Jura) ระหว่างชายแดนของเมืองเชนิท (Chenit) ในสวิตเซอร์แลนด์กับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นอาณาเขตที่มีแต่ต้นสปรูซอายุหลายร้อยปีขึ้นหนาแน่น ในวงการค้าไม้ต่างรู้จักกันดีว่า นี่คือแหล่งเนื้อไม้คุณภาพสูงสำหรับทำกีตาร์โปร่งและไวโอลินโดยเฉพาะ
สำหรับช่างตัดไม้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พวกเขาจะเจอต้นสปรูซที่มีคุณภาพเยี่ยมหลังเดินสำรวจไปได้ไม่กี่ก้าว ต้นสปรูซส่วนใหญ่ลำต้นยังไม่ได้ขนาด ส่วนต้นที่ได้ขนาดมักจะแห้งแตกหรือไม่ก็ชื้นเกินไป ความหายากทำให้ไม้สปรูซจากสวิตเซอร์แลนด์มีราคาสูง กว่าจะทำงานนี้ให้สำเร็จแต่ละครั้ง จึงไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทร เพราะต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างหนัก
ธีโอ แม็กนิน (Theo Magnin) คนขวามือ คือ ทายาทรุ่นสามของ Swiss Resonance Wood ธุรกิจโรงไม้เก่าแก่ที่ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 1976 กำลังขะมักเขม้นเดินหาต้นสปรูซร่วมกับ เควนติน ดูรีย์ (Quentin Durey) ช่างไม้ฝีมือฉกาจผู้หาตัวจับยาก
หลายปีหลังมานี้ แม็กนินเข้าใจดีว่า เขาหาต้นสปรูซที่สมบูรณ์แบบได้น้อยลง สิ่งที่เขาคิดได้ก็คือ “เราต้องหาไม้ชนิดอื่นมาให้ทำเครื่องดนตรีแทนไม้สปรูซ” ถ้ายังอยากจะใช้ไม้ทำกีตาร์โปร่งต่อไป
เมื่อเจอต้นสปรูซที่สมบูรณ์แบบ คือ มีอายุประมาณ 200-400 ปี ส่วนลำต้นต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 50 เซนติเมตร และไม่มียางไหลออกมา ทั้งแม็กนินและดูรีย์จะช่วยกันโค้นต้นนั้นด้วยเลื้อยไฟฟ้า แล้วตัดกิ่งก้านออกให้หมด จากนั้นตัดขวางกลางลำเป็นท่อนๆ ให้ได้ขนาดที่พอเหมาะกับรถบรรทุก เพราะต้องขนไปยังโรงไม้เพื่อนำลำต้นแต่ละท่อนมาเข้าขั้นตอนแปรรูปเป็นส่วนต่างๆ ของโครงสร้างกีตาร์โปร่งและไวโอลินต่อ
ก่อนส่งไม้แปรรูปให้ช่างทำเครื่องดนตรี แม็กนินและดูรีย์จะแบ่งหน้าที่กันตรวจสอบคุณภาพอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะเนื้อไม้อาจโก่งงอ บวมผิดรูป หรือเสียทรงระหว่างจัดเก็บ หากนำไปขึ้นโครงกีตาร์โปร่งและไวโอลิน เสียงที่ดีดและสีออกมาจะผิดเพี้ยนตามไปด้วย ไม่คมชัดอย่างที่ควรเป็น
ทันทีที่ไม้ถูกส่งมาถึงมือช่างทำเครื่องดนตรีทั่วทุกมุมโลก ทั้งในสวิตเซอร์แลนด์เอง และหลายประเทศในทวีปยุโรป รวมถึงญี่ปุ่น และเม็กซิโก พวกเขาจะตรวจคุณภาพเนื้อไม้เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนเริ่มลงมือขึ้นโครงเครื่องดนตรี หากไม่ดูให้ถี่ถ้วน ทุกอย่างที่พยายามกันมาตั้งแต่ต้นจะสูญเปล่า เท่ากับเสียทั้งเวลาและแรงงาน
ฟิลิปป์ ราเมล (Philippe Ramel) ช่างทำกีตาร์โปร่งชาวสวิส เป็นอีกหนึ่งคนที่รู้ดีว่าไม้สปรูซมีปัญหาเพราะโลกร้อน ประสบการณ์ช่ำชองที่สั่งสมมาใช่ว่าจะใช้ได้เหมือนเดิม เมื่อวัสดุเปลี่ยนไป วิธีคิดและวิธีทำก็ต้องเปลี่ยนตาม ราเมลต้องใช้เวลาและความใส่ใจมากขึ้น เพื่อสร้างโครงกีตาร์โปร่งที่รับรองการสั่นสะเทือนและสะท้อนเสียงได้ตรงกับโน้ตดนตรี
มือต้องนิ่ง ใจต้องเย็น ตาต้องมองเห็นชัด และหูต้องได้ยินเสียงดี นี่คือคุณสมบัติสำคัญประจำตัวช่างทำกีตาร์โปร่ง ระหว่างประกอบโครง ราเมลจึงต้องค่อยๆ เกลาและไสเนื้อไม้ออกทีละน้อย แล้วใช้มือเคาะตามจุด เพื่อตรวจสอบความแข็งแรงและเสียงของไม้ว่าใช้ได้แล้วหรือยัง ก่อนประกบไม้หน้ากับไม้หลังเข้าด้วยกัน จากนั้นใช้กระดาษทรายขัดผิวไม้ให้เรียบเนียน
ราเมลไม่รู้ว่าอนาคตของกีตาร์โปร่งและเครื่องดนตรีที่ทำจากไม้สปรูซจะเป็นอย่างไร เมื่อวันนั้นมาถึงเขาคงไม่ได้อยู่รอเห็น นี่คือเหตุผลที่ทำให้ราเมลยังคงมุ่งมั่นสร้างกีตาร์โปร่งตัวเก่งให้นักดนตรีได้ดีดบรรเลงด้วยอารมณ์สุนทรีย์
สุดท้าย ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนอะไร แต่สิ่งเดียวที่ราเมลอยากรักษาเอาไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลง คือ เสียงเพราะจากกีตาร์โปร่งทุกตัวที่เขาตั้งใจทำ
อ้างอิง
- Agence France-Presse. Climate’s toll on trees threatens the sound of music. https://bit.ly/3kNzD3x