“Let food be thy medicine and medicine be thy food.”
“จงให้อาหารเป็นยา และยาเป็นอาหาร”
หนึ่งในวาทะอมตะของ ฮิปโปเครตีส (Hippocrates) แพทย์กรีกโบราณ ที่สอดคล้องต้องตามตำราของศาสตร์อายุรเวทในฟากอารยธรรมตะวันออกเช่นกัน
แนวคิดหลักของอายุรเวทเชื่อว่า ในร่างกายมนุษย์ทุกคนถูกหล่อเลี้ยงและดำเนินไปด้วยสมดุลของธาตุทั้งห้า ซึ่งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรคภัยไข้เจ็บ ก็คือคนที่รักษาสมดุลของธาตุต่างๆ ให้อยู่ในสภาวะปกติได้จากการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะธาตุของตนเอง
และหนึ่งในอาหารที่มนุษย์ทุกคนขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะมีสภาวะธาตุแตกต่างกันแค่ไหนก็คือ ‘น้ำ’ ซึ่งตามหลักอายุรเวทแล้ว เพียงแค่การดื่มน้ำที่ถูกวิธีก็สามารถเปลี่ยนของเหลวธรรมดาสามัญชนิดนี้ให้เป็นยาดีต่อร่างกายได้อย่างน่าอัศจรรย์
การดื่มน้ำให้เป็นยาตามหลักอายุรเวทนั้นไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป เพียงปรับพฤติกรรมจากความคุ้นชินเดิมๆ เสียใหม่ น้ำที่เคยสร้างความสดชื่นให้ร่างกายก็จะมีคุณค่าเพิ่มขึ้นจนสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลง
1.
ดื่มน้ำทันทีที่ตื่นนอน
การดื่มน้ำอุณหภูมิห้องในช่วงท้องว่างในตอนเช้าอย่างน้อย 1 – 4 แก้ว (แบบค่อยๆ จิบ) จะช่วยป้องกันอาการเจ็บคอ โรคไขข้อ โรคหอบหืดหลอดลม ลดอาการท้องผูก เพราะน้ำจะช่วยกระตุ้นระบบทางเดินอาหารทำให้การขับถ่ายคล่องและเป็นปกติ ซึ่งจำเป็นต่อการกำจัดสารพิษในร่างกาย ส่วนใครที่มีน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อช่วยเร่งการเผาผลาญอาหาร
ทั้งนี้ หากอิงตามหลักอายุรเวทแบบดั้งเดิม น้ำที่เหมาะจะดื่มที่สุดตอนท้องว่างยามเช้า คือ น้ำที่เก็บไว้ในภาชนะทองแดงค้างคืน เพราะเชื่อกันว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว เนื่องจากภาชนะทองแดงช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ แต่ต้องเป็นน้ำที่เก็บไว้ในภาชนะทองแดงเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกันเท่านั้น จึงเน้นว่าควรเป็นน้ำที่เก็บไว้ในภาชนะทองแดง ‘ค้างคืน’ การพกกระบอกน้ำทองแดงแล้วเติมน้ำดื่มระหว่างวันจึงไม่มีประโยชน์ในทางอายุรเวทแต่อย่างใด
2.
ดื่มน้ำในท่านั่ง
อายุรเวทศาสตร์แนะนำว่าไม่ควรยืนดื่มน้ำ เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดเข่าและข้อต่อได้เนื่องจากน้ำหนักของร่างกายลงไปอยู่ที่เท้า อีกทั้งการนั่งดื่มน้ำจะช่วยให้ดูดซึมได้ดีกว่า
3.
จิบน้ำทีละน้อย
จิบน้ำทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ดีกว่าการดื่มน้ำทีละมากๆ ในครั้งเดียว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการน้ำของร่างกายและช่วยเพิ่มพลังทางเดินอาหาร เพราะน้ำจะทำหน้าที่เสมือนยาหากเกิดอาการอาหารไม่ย่อย
นอกจากนี้ การดื่มน้ำครั้งละมากๆ จะทำให้ไตทำงานหนัก เพราะต้องกรองน้ำส่วนเกินออกจากเลือด อาจส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรัง รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
4.
ไม่ดื่มน้ำก่อนกินข้าว
หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนรับประทานอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่เต็มที่และเกิดการอ่อนเพลีย
นอกจากการดื่มน้ำแล้ว การปัสสาวะก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจและหมั่นสังเกตตัวเอง โดยปกติแล้วคนเราควรปัสสาวะทุก 3-4 ชั่วโมงต่อวัน และสีปัสสาวะควรเป็นสีเหลืองอ่อนๆ หากมีการปัสสาวะน้อยกว่า 3-4 ครั้งต่อวัน และปัสสาวะมีสีเข้ม แสดงว่าร่างกายได้รับน้อยเกินไป ส่วนคนที่ปัสสาวะมากกว่า 6-8 ครั้งต่อวัน และปัสสาวะมีสีใส แสดงว่าร่างกายได้รับน้ำมากเกินไป ควรปรับพฤติกรรมการดื่มน้ำให้เหมาะสมในแต่ละวัน
5.
ไม่ดื่มน้ำทันทีหลังอาหาร
หลังรับประทานอาหารจนอิ่ม ไม่ควรดื่มน้ำตามทันที ควรดื่มน้ำหลังมื้ออาหาร 1 ชั่วโมง เพราะการดื่มน้ำทันทีหลังอาหารเป็นการขัดขวางการดูดซึมของสารอาหารในระหว่างกระบวนการย่อยอาหารและการดูดซึมธาตุต่างๆ
โดยเฉพาะคนที่ต้องใช้เสียงมากกว่าคนปกติ เช่น นักร้อง พิธีกร ครู ฯลฯ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำทันทีหลังอาหาร เพราะน้ำจะไปชะล้างน้ำมันที่ทานเข้าไปพร้อมกับอาหารจนหมด ซึ่งน้ำมันเหล่านี้ช่วยให้ชุ่มคอและผ่อนคลาย หากกำจัดออกไปจะทำให้คอแห้งและเกิดอาการเจ็บคอได้
อ้างอิง
- อัคชาร์ยะ บัลกฤษณะ: เขียน, ณภัคชา ดัฎธา: แปล.ศาสตร์แห่งอายุรเวท.ปัญญาชน,2565.
- โรงพยาบาลเพชรเวช.ดื่มน้ำมากเกินไป.https://bit.ly/3OcHsuC