กราฟิกลวดลายก้นหอย สามเหลี่ยม ข้าวหลามตัด เส้นซิกแซก ไปจนถึงลายคลื่นพริ้วไหว ที่ดูน้อย นิ่ง เรียบง่าย ทว่าทรงพลังอย่างน่าประหลาด
คือมรดกทางวัฒนธรรมของชาวทุตซี (Tutsi) หนึ่งในชนพื้นเมืองแห่งประเทศรวันดา ที่สืบทอดศิลปะการประดับตกแต่งบ้านด้วยการนำมูลวัวมาเพิ่มมูลค่าจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนานกว่า 200 ปี
ศิลปะการวาดลวดลายบนวัสดุที่ทำจากมูลวัวผสมขี้เถ้าในดีไซน์เรียบเท่เหล่านี้ มีชื่อเรียกว่า Imigongo (อิมิกอนโก) ที่เกือบสูญสิ้นไปจากแผ่นดินรวันดา เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994 โดยชาวฮูตู (Hutu) ลุกฮือเข่นฆ่าเพื่อนร่วมชาติอย่างชาวทุตซี (Tutsi) ไปกว่า 800,000 ชีวิต ภายในเวลาเพียง 100 วัน
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ Imigongo ศิลปะที่คิดค้นขึ้นโดยเจ้าชาย Kakira ชาวทุตซี เมื่อศตวรรษที่ 18 แทบจะถูกลบทิ้งไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เพราะช่างฝีมือจำนวนมากถูกเข่นฆ่าในเหตุการณ์ครั้งนั้น โชคดีที่ผู้รอดชีวิตพร้อมจะตั้งหลักใหม่ และร่วมมือกันฟื้นฟูศิลปะประจำชาติให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
สำหรับจุดเริ่มต้นของ Imigongo เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เจ้าชาย Kakira แห่งอาณาจักร Gisaka ทางตะวันออกของรวันดา ทดลองผสมมูลวัว (วัวถือเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับชนชั้นสูงในรวันดา) เข้ากับขี้เถ้าเพื่อนำมาเป็นวัสดุในการเพนต์ลวดลายสามมิติบนกำแพงวัง ศิลปะดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า Umugongo ที่แปลว่า กระดูกสันหลัง ตามเอกลักษณ์ของเส้นโค้งของลวดลายที่คล้ายกระดูกสันหลัง
ศิลปะแขนงใหม่ (ในยุคนั้น) ที่ถูกคิดค้นโดยเจ้าชายแห่งอาณาจักรค่อยๆ ได้รับความนิยมไปสู่นอกรั้วกำแพงวัง หญิงชาวบ้านพากันนำมูลวัวมาผสมกับดิน โคลน หรือว่านหางจระเข้ แล้วบรรจงวาดลวดลายเรขาคณิตโดยใช้เส้นไม่มาก ทว่าทรงพลัง จากนั้นนำมาตกแต่งบ้านเรือนของตน
ปัจจุบัน ศิลปะ Imigongo มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่ Kakira Imigongo Cooperative ในเมือง Nyakarambi ทางตะวันออกของจังหวัด Kirehe ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงของรวันดาอย่าง Kigali ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ในระยะนั่งรถบัสราว 3 ชั่วโมงครึ่งก็ถึงแล้ว
สหกรณ์ที่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแด่เจ้าชายที่พวกเขาเคารพรักก่อตั้งโดย Basirice Uwamariya สตรีชาวทุสซีวัย 53 ปี ผู้เรียนรู้เทคนิคการวาดเส้นสายบนวัสดุทำจากมูลวัวมาตั้งแต่อายุ 15 ปี และในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว สมาชิกของกลุ่มสหกรณ์แห่งนี้ถูกสังหารไป 15 ราย รวมถึงสามีและญาติ ๆ ของยูวามาริยาเช่นกัน เธอจึงต้องดิ้นรนหาทางดูแลตัวเองและลูกชาย 2 คนให้อยู่รอดต่อไปให้ได้บนแผ่นดินเลือดในครั้งนั้น
หลังจากชีวิตตกอยู่ในโมงยามแห่งความมืดหม่นและเงียบงันราว 2 ปี ยูวามาริยาก็ตัดสินใจปลุกชีวิตให้สหกรณ์สร้างงานศิลปะ Imigongo กลับมามีลมหายใจอีกครั้งในปี 1996 ด้วยการชักชวนบรรดาผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่ให้มารวมกลุ่มกับเธอ
จากศิลปะ Imigongo แบบดั้งเดิมที่มีเฉพาะสีขาวดำ การเกิดใหม่ครั้งนี้ส่งผลให้มีการผสมผสานแพทเทิร์นและสีสันใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยยังคงใช้สีที่ได้จากวัสดุธรรมชาติ เช่น สีดำจากถ่าน สีแดงจากดิน สีขาวจากโคลน ฯลฯ ผลลัพธ์ที่ได้คือ เส้นสายของลวดลายที่โมเดิร์น ทันสมัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถูกใจบรรดาสตูดิโอและแฟชั่นดีไซเนอร์ทั้งในรวันดาเองและอีกหลายประเทศทั่วโลก
Imigongo ในปัจจุบันจึงไม่ได้มีสถานะเป็นเพียงของประดับตกแต่งบ้านเท่านั้น แต่ยังไปปรากฏลวดลายบนเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ฯลฯ ลองคลิกเข้าไปดูความเก๋ที่น่าจับจองของบรรดาสินค้า Imigongo ของแบรนด์ต่างๆ อาทิ hautebaso, azizilife, imigongoanywhere ฯลฯ
รวมถึงโรงแรมที่หรูหราที่สุดแห่งหนึ่งของรวันดาอย่าง One&Only Nyungwe House ก็เลือกที่จะประดับตกแต่งล็อบบี้ด้วยศิลปะ Imigongo หลากลวดลาย เพื่ออวดเอกลักษณ์ของชาติให้แขกบ้านแขกเมืองได้ประจักษ์แก่สายตา
นอกจากนี้ยังมีผลลัพธ์ที่ทรงคุณค่ายิ่งกว่านั้น คือ การที่ชาวรวันดาส่วนใหญ่ภาคภูมิใจในศิลปะ Imigongo และยกย่องให้เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ไม่ได้แบ่งแยก กีดกั้น หรือจำกัดว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวทุตซี หากรวมความเป้นชาวรวันดาเข้าไว้ด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น
เพียงแค่เห็นลวดลายกราฟิกเรขาคณิตซิกแซกก็มั่นใจได้ว่า นี่คือความงามฉบับ Made in Rwanda ขนานแท้
นั่นเท่ากับว่า จุดมุ่งหมายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เมื่อสามทศวรรษที่แล้วล้มเหลวไม่เป็นท่า ท้ายที่สุดแล้ว ศิลปะคือภาษาสากลที่สร้างสุนทรีย์และสมดุลให้โลกอย่างแท้จริง
อ้างอิง
- Ammu Kannampilly and Ivan Rush Mugisha.Reviving a traditional art form in Rwanda after genocide.https://bit.ly/444l2TF
- Emerson Easley.Kakira Imigongo Cooperative.https://bit.ly/4aAWswp
- Yulia Denisyuk.From the Ashes: Rwanda’s Traditional Imigongo Art Is on the Rise.https://bit.ly/445HgF8