“ผมรู้สึกโชคดีมาก เพราะการเป็นช่างภาพยุคก่อนทำให้มีโอกาสได้เดินทางไปทั่วโลก”
ธอมัส เฮิปเคอร์ (Thomas Hoepker) ช่างภาพข่าวและสารคดีระดับตำนาน บอกเล่าความรู้สึกเมื่อนึกย้อนถึงการทำงานในโลกแอนะล็อกที่ยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ
เขาเริ่มต้นถ่ายภาพตั้งแต่อายุ 16 ปี ด้วยกล้องที่ได้จากคุณปู่ การตัดสินใจเลือกใช้ชีวิตเป็นช่างภาพข่าวและสารคดี ทำให้เขามีโอกาสได้พบบุคคลระดับตำนานและผ่านเหตุการณ์สำคัญที่กลายเป็นประวัติศาสตร์นับครั้งไม่ถ้วน
วันนี้ ธอมัส เฮิปเคอร์ ในวัย 82 ปี ยังคงสนุกกับการถ่ายรูปสิ่งรอบตัว กล้องดิจิทัล Leica SL ในมือบ่งบอกว่าเขาเป็นช่างภาพที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่
เขากระชับกล้องตัวนั้นแล้วยกมันขึ้นถ่ายภาพผู้คนที่เข้ามาชมนิทรรศการ Wanderlust ซึ่งเป็นนิทรรศการที่คุณลุงธอมัสเลือกสรรผลงานที่สะท้อนการเดินทางในชีวิตช่างภาพของเขามาจัดแสดง ณ ไลก้า แกลเลอรี่ แบงค็อก เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ภาพหลายภาพเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ผู้คนไม่มีวันลืม และเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า “ผมรู้สึกโชคดีมาก” เป็นเรื่องจริง
คุณมักได้อยู่ในสถานการณ์ ช่วงเวลา หรือเหตุการณ์สำคัญของโลกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มีการลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน หรือตอนเหตุการณ์ 9/11 เมื่อนึกย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาเหล่านั้น คุณรู้สึกอย่างไร
เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นผมจึงพกกล้องติดตัวตลอดเวลา แม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น แต่ส่วนใหญ่ผมจะไม่บอกให้ผู้คนโพสต์หรือขอให้เขาหยุดเพื่อให้ผมถ่ายรูป ผมชอบที่จะ ‘รอ’ ถ่ายโมเมนต์ที่แท้จริงของคนมากกว่า
โมเมนต์ที่ดึงดูดให้คุณอยากยกกล้องขึ้นถ่ายเป็นแบบไหน
ผมขอยกตัวอย่างภาพ มูฮัมหมัด อาลี ที่ผมถ่ายในปี 1966 ตอนนั้นผมทำงานเป็นช่างภาพให้นิตยสารเล่มหนึ่งที่เยอรมนี และได้รับมอบหมายจากบรรณาธิการให้ไปถ่ายรูปนักมวยคนหนึ่งที่อเมริกา เขาเป็นคนที่ไม่เหมือนใครจริงๆ เป็นคนที่โอเพ่นมากๆ และพูดคุยด้วยดี ส่วนผมก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการชกมวยเอาเสียเลย ตอนที่ผมขอถ่ายรูปเขา เขาก็ทำท่าชก ฮุคซ้าย ฮุคขวา ผมก็กดชัตเตอร์ และภาพที่ได้มาก็แสดงความเป็นมนุษย์ของเขาได้ดีทีเดียว
คุณใช้สัญชาติญาณหรืออะไรในการถ่ายรูป
ผมว่าเป็นเรื่องของความพร้อมมากกว่า การเป็นช่างภาพที่ดีคุณต้องมี ‘ความพร้อม’ ไม่ใช่มีแค่กล้อง หรืออุปกรณ์ใส่ในกระเป๋ากล้องสวยๆ เพราะถ้ามัวแต่หมกมุ่นกับเรื่องพวกนี้ อาจจะถ่ายภาพโมเมนต์ที่อยากได้ไม่ทัน แล้วเมื่อมันผ่านไป เราก็ไม่สามารถบอกให้แหล่งข่าวอย่างอาลีกลับมาถ่ายภาพใหม่ได้ ซึ่งปกติผมจะไม่บังคับหรือบอกให้คนยิ้ม ผมอยากได้ความสด
“การเป็นช่างภาพที่ดีคุณต้องมี ‘ความพร้อม’ ไม่ใช่มีแค่กล้อง หรืออุปกรณ์ใส่ในกระเป๋ากล้องสวยๆ”
ได้ยินมาว่าคุณพยายามไล่ตามเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการถ่ายรูป รู้สึกอย่างไรที่โลกการถ่ายภาพก็เดินไปอย่างรวดเร็ว
ผมเริ่มต้นถ่ายภาพตั้งแต่ตอนอายุ 16 ปี ด้วยกล้องที่คุณปู่ให้ ก็ไม่ได้ยุ่งยาก กดชัตเตอร์ ถ้าคิดว่าไม่สวยก็ถ่ายใหม่ ผมว่าผมก็ตามเทคโนโลยีได้ทันพอสมควร กล้องสมัยนี้เทคโนโลยีเขาก็ดี อย่างตอนนี้ผมก็ใช้กล้องไลก้า แค่ตัวเดียวก็พอแล้ว ที่ผมทำเหมือนเดิมคือ เดินออกไปตามถนน มองไปรอบๆ เจออะไรสวยๆ ก็ถ่าย แต่ต้องเร็วนะ เพราะคนจะมีเดินผ่านไปผ่านมา โดยเฉพาะคนในยุคนี้ที่เดินเร็วกันมาก
การมาเดินถนนที่กรุงเทพฯ คุณเห็นอะไรที่ทำให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจบ้างไหม
ปกติผมกับภรรยาเดินทางไปทำงานตลอด ไม่ค่อยมีเวลาเที่ยวหรือพักผ่อนต่างประเทศ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้มากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก ผมไปเดินเล่นตามถนนในกรุงเทพฯ ก็เห็นสิ่งของหลายอย่างที่เกี่ยวกับศาสนา ผมเข้าใจดีว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับคนไทย นอกจากนี้ ยังเห็นตึก อาคาร บ้านเรือนสวยๆ ที่ไม่เคยเห็นในประเทศอื่นมาก่อน และเห็นรถเยอะมากบนถนน (หัวเราะ) แถมในรถแต่ละคันก็มีของเยอะจนไม่มีที่นั่งได้ รถก็ขยับไปไหนไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะทุกอย่างถูกบล็อกไว้หมด ผมชอบสถานที่ที่ดูวุ่นวาย หรือสถานที่ที่หลายอย่างดูคอนทราสต์กัน สนุกดี
แล้วเวลาที่คุณยกกล้องขึ้นถ่ายภาพ เห็นอะไรอีกบ้างในกรุงเทพฯ
ปกติเวลาเดินทางไปต่างประเทศ เราไม่รู้เลยว่าคนท้องถิ่นจะมีปฏิกิริยาอย่างไรเวลาโดนถ่ายรูปตามถนน แต่ที่นี่ไม่มีใครบอกว่า “อย่าถ่ายรูปฉันนะ” (หัวเราะ) ทุกคนยิ้มแย้มให้ถ่ายภาพกันดี
ตอนนี้เราอยู่ในยุคดิจิทัล คุณรู้สึกอย่างไรบ้างที่เป็นช่างภาพที่เติบโตขึ้นมาในยุคแอนะล็อก
ผมรู้สึกโชคดีมาก เพราะการเป็นช่างภาพยุคก่อนทำให้มีโอกาสได้เดินทางไปทั่วโลก ผมคิดว่าช่างภาพในสมัยนี้คงไม่ได้เดินทางเยอะขนาดนี้ เพราะสื่ออาจใช้ช่างภาพในท้องถิ่นไปถ่ายงาน แล้วส่งงานกันทางอีเมลก็ได้ ไม่จำเป็นต้องส่งช่างภาพบินไปเหมือนในอดีต
ในมุมของอุปกรณ์ คุณรู้สึกถึงความแตกต่างกันไหม
สำหรับผม จริงๆ มันก็ไม่ต่างกันนะ ต่างกันตรงที่กล้องยุคเก่าแบบแอนะล็อกมีฟิล์ม 36 รูป แต่อย่างเช้านี้ผมถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิทัลไป 80 รูป ผมถ่ายรูปเสียเยอะเหมือนกัน อีกวันต้องมานั่งลบ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วการถ่ายรูปที่มากเกินไปก็ไม่เวิร์ค บางครั้งการถ่ายรูปแค่ครั้งเดียวหรือสองครั้งด้วยความพร้อมมันดีกว่า
“จริงๆ แล้วการถ่ายรูปที่มากเกินไปก็ไม่เวิร์ค บางครั้งการถ่ายรูปแค่ครั้งเดียวหรือสองครั้งด้วยความพร้อมมันดีกว่า”
รูปแบบไหนที่คุณจะเลือกลบหรือเก็บไว้
ผมคิดว่าถึงแม้เราจะถ่ายภาพมาหลายภาพ แต่จะมีภาพเดียวเท่านั้นที่บอกเรื่องราว มันจะเป็นรูปที่น่าสนใจที่สุด และถ้ารูปไม่เล่าเรื่อง ก็ไร้ความน่าสนใจ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมกับภรรยาไปถ่ายภาพแลนด์สเคปกัน ในช่วงที่พระอาทิตย์กำลังตก ภรรยาผมก็ถ่ายรูปบรรยากาศเหมือนคนอื่นๆ ถ่ายรูปท้องฟ้าสวยๆ ต้นไม้สวยๆ แต่ผมยืนถ่ายภาพพระอาทิตย์ตกภาพเดียว ภรรยาผมบอกว่า มันมีอะไรสักอย่างที่ทำให้ภาพของผมไม่สวยเพอร์เฟค แต่ดูน่าสนใจ ผมคิดว่าบางทีความสวยมันก็น่าเบื่อเหมือนกัน
“ผมคิดว่าถึงแม้เราจะถ่ายภาพมาหลายภาพ แต่จะมีภาพเดียวเท่านั้นที่บอกเรื่องราว มันจะเป็นรูปที่น่าสนใจที่สุด และถ้ารูปไม่เล่าเรื่อง ก็ไร้ความน่าสนใจ”
คุณเคยเป็นประธาน Magnum Photos* ประสบการณ์ตรงนี้ทำให้คุณเห็นคุณค่าอะไรในการถ่ายภาพ
ผมเป็นประธานในช่วงปี 2003 ถึง 2006 ตอนนั้นผมรายล้อมไปด้วยช่างภาพที่เก่งมากๆ ในหนึ่งปีพวกเราจะมารวมตัวกันสักครั้ง และพูดคุยกันว่าแต่ละคนทำงานแนวไหน ทำอะไรกันอยู่บ้าง ผมเจอช่างภาพที่ทำงานในสาขาที่หลากหลายมาก เช่น แฟชั่น แลนด์สเคป สารคดี งานของแต่ละคนมีคุณค่าแตกต่างกัน มีความถนัดแตกต่างกัน มีสไตล์ของตัวเอง รูปถ่ายของช่างภาพหลายคนเต็มไปด้วยความสวย บางภาพเต็มไปด้วยความอันตราย ความทุกข์ทรมาน ความบ้า ความสนุก ทุกภาพต้องสื่ออะไรสักอย่าง อย่างน้อยก็ทำให้คุณเห็นว่าโลกความเป็นจริงมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และผมรู้สึกดีเสมอเมื่อเห็นว่าการถ่ายภาพทำให้เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
หลังจากถ่ายรูปมาหลายสิบปี คุณคิดว่าสิ่งสำคัญในการถ่ายรูปคืออะไร
ช่างภาพที่ดีควรมีทั้งสัญชาติญาณและใช้กล้องเป็น แน่นอนคุณต้องจัดวางองค์ประกอบภาพให้ดีด้วย ในยุคนี้คุณสามารถทำการครอปหรือปรับรูปอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ แต่ส่วนใหญ่ผมไม่ครอปรูป ปล่อยให้เป็นแบบที่ถ่ายมาเลย ผมจะชอบการซูมมากกว่า และชอบจับโมเมนต์ตอนนั้นๆ มากกว่าการเอาภาพมาปรับหรือครอปทีหลัง ตอนนี้ตาของผมก็ไม่ค่อยดีแล้วด้วย (หัวเราะ)
Fact Box
- Magnum Photos เป็นสมาคมช่างภาพชั้นนำ ก่อตั้งโดย Robert Capa และ Henri Cartier Bresson ในปี 1947 ซึ่งช่างภาพที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกของ Magnum Photos ต้องได้รับการคัดเลือกอย่างเข้มข้น และมีผลงานที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ธอมัส เฮิปเคอร์เข้าไปเป็นสมาชิก Magnum Photos แบบเต็มตัวเมื่อปี 1989 และได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานของ Magnum Photos ตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2006
- ตลอดชีวิตการทำงานของธอมัส เฮิปเคอร์ มักเลือกใช้กล้องและเลนส์ Leica และปัจจุบันกล้องตัวเก่งที่เขาถือติดตัวตลอดเวลา คือ ‘Leica SL’ พร้อมเลนส์ซูม ไม่แปลกใจที่ลุงธอมัสจะเลือกใช้กล้องสุดเทพตัวนี้ เพราะความเจ๋งตัวบอดี้สุดพรีเมี่ยมที่ทำขึ้นจากอลูมิเนียมเพียงก้อนเดียวนำมาแกะจนเป็นกล้องทั้งตัว ทำให้ Leica SL ตัวนี้แทบจะไร้รอยต่อ แถมยังให้ภาพที่มีความละเอียดสูงมากกว่ากล้องทุกตัวในท้องตลาด แน่นอนว่าราคาย่อมไม่ธรรมดา อยู่ที่ประมาณ 200,000++ บาท ไม่รวมเลนส์
อ้างอิง
- Wikipedia.org.Magnum Photos.https://en.wikipedia.org/wiki/Magnum_Photos
- น้าป๋วย.Camera : Leica SL กล้อง Mirrorless Full Frame 24 ล้านพิกเซลเปิดตัวแล้ว!.https://techxcite.com/topic/23951.html