สิทธิในความงามของ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือเอไอ (AI) กำลังเป็นที่ถกเถียง
เมื่อเอไอที่เป็นผลผลิตจากความฉลาดและจินตนาการของมนุษย์ ถูกนำมาใช้สร้างงานศิลปะเซอร์เรียลประหลาดตา
“Inceptionism Arts” คือคำที่ใช้เรียกภาพที่เอไอเป็นผู้สร้างสรรค์ โดยประมวลผลผ่าน Neural Network System ที่ทำงานคล้ายสมองมนุษย์ จากการวิเคราะห์วัตถุในภาพ แล้วนำมาผลิตซ้ำ ด้วยการคำนวณแบบเนิร์ดๆ
จนได้ภาพที่มีสีสันและรูปร่างแปลกตา…
ศิลปะดังกล่าวมีที่มาจากความบังเอิญ หลังจากทีมวิศวกรคอมพิวเตอร์ของกูเกิ้ลพัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์ภาพ แต่จู่ๆ ก็ได้ภาพแปลกตาที่ดูคล้ายผลงานศิลปะ
ปัจจุบันกูเกิ้ลพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวเป็นซอฟต์แวร์ออนไลน์ชื่อ DeepDream เพื่อให้คนทั่วไปทดลองสร้างงานศิลปะผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์
แต่ด้วยวิธีการสร้างงานที่ง่ายดาย โดยไม่ต้องใช้ทักษะส่วนตัว ทำให้งานศิลปะที่ใครๆ ก็สร้างได้ เกิดข้อถกเถียงเรื่องเครดิตผลงาน
สมมติว่างานที่สร้างมีต้นตอมาจากภาพถ่ายของคนอื่น แต่ศิลปินนำภาพนั้นอัพโหลดให้โปรแกรมเป็นคนสร้าง จนได้ภาพที่ดูคล้ายงานศิลปะ
คำถามคือ ‘ผลงาน’ นั้นเป็นของใคร?
แล้วถ้ามีคนนำผลงานดังกล่าวไปอัพโหลดให้โปรแกรมสร้างงานชิ้นใหม่ คนที่เป็นเจ้าของผลงานก่อนหน้า จะถือว่าเป็นเจ้าของ (ร่วม) ผลงานชิ้นล่าสุดหรือไม่?
ประเด็นข้างต้นฟังดูซับซ้อน แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะเมื่อพฤศจิกายน พ.ศ.2561 เคยเกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับกรณีเรื่องเครดิต เมื่อศิลปินคนหนึ่งออกมาร้องเรียน ว่าภาพศิลปะจากเอไอที่ประมูลได้ 500,000 เหรียญฯ เป็นภาพที่มาจากภาพของเขา
เมื่องานศิลปะไม่ได้ถูกสร้างโดยผู้สร้างคนเดียวอีกต่อไป และงานในรูปของดิจิทัลที่ง่ายต่อการ copy & paste ทำให้พรมแดนของการเป็น ‘เจ้าของ’ ผลงานเปลี่ยนไป
Ganbreeder หนึ่งในเว็บไซต์สร้างสรรค์ศิลปะจากเอไอ จึงสร้างความชัดเจนด้านการให้เครดิตภาพ ด้วยการแสดงต้นตอของภาพนั้นๆ หรือ Lineage ว่ามีวิวัฒนาการมาจากภาพใด และใครเป็นเจ้าของ
ขณะที่ศิลปินชาวอเมริกันอย่าง แดเนียล บัสกิ้น (Danielle Baskin) ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเครดิต โดยเลือกใส่ QR Code ที่เชื่อมไปยังหน้าเว็บแสดง Lineage บนผลงาน แทนการใส่ลายเซ็นต์ของศิลปินแบบเดี่ยวๆ
ด้านบนคือภาพที่ผลิตโดยเอไอจากนิทรรศการ Memories of Passersby I ของศิลปินชาวเยอรมัน Mario Klingemann
เขาสร้างงานชิ้นนี้จากการป้อนภาพวาดสมัยศตวรรษที่ 17-19 หลายพันภาพเข้าไปในโปรแกรม แล้วปล่อยให้อัลกอริทึมสร้างผลงานชิ้นใหม่
ผลลัพธ์ที่ได้คือภาพวาดใบหน้าคนดูแปลกตา ที่พร้อมจะบิดเบี้ยวและปรับเปลี่ยนตัวเองแบบเรียลไทม์ตามการเรียนรู้และสร้างสรรค์ของเอไอ
จากกรณีดังกล่าว คำถามที่น่าสนใจมีอยู่ว่า ผลงานที่เกิดขึ้นนับเป็นการสร้างสรรค์โดย ‘ศิลปิน’ (ที่เป็นมนุษย์) หรือไม่ เพราะภาพที่เห็นล้วนเกิดขึ้นจากการประมวลผลของเอไอ
และวันหนึ่งที่เอไอสามารถเรียนรู้และสร้างสรรค์งานศิลปะได้ด้วยตัวเอง วันนั้นนิยาม ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ที่มนุษย์เคยครอบครอง จะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
นี่คือคำถามเกี่ยวกับอนาคต ที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบ.
อ้างอิง:
- Adele Peters. AI is bringing out the art world’s worst instincts. http://bit.ly/2FlOnyd
- Sotheby’s. Artificial Intelligence and the Art of Mario Klingemann. http://bit.ly/2UORqW9