• 19 สิงหาคม 2564 - 27 กุมภาพันธ์ 2565
  • 11.00 - 18.00 น.
  • มูลนิธิ 100 ต้นสน กรุงเทพฯ

มูลนิธิ 100 ต้นสน ภูมิใจนำเสนอ A Minor History | ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ผลงานวิดีโอจัดวางชุดใหม่ โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ศิลปินและผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ผู้ใช้ศิลปะภาพยนตร์ในการเล่าเรื่องแบบไม่เป็นเส้นตรง (non-linear) และมักเกี่ยวเนื่องกับแสง เวลา ความฝัน ความทรงจำส่วนตัว และความทรงจำทางสังคม สำหรับผลงาน ‘ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย’ อภิชาติพงศ์ยังคงถ่ายทอดเรื่องราวจากภาคอีสาน โดยนิทรรศการแบ่งออกเป็นสองภาค

นิทรรศการภาคแรกนำเสนอในรูปแบบวิดีโอจัดวางสามจอ เป็นผลงานที่เกิดจากการเดินทางเลียบแม่น้ำโขงในช่วงระหว่างการล็อกดาวน์ในสถานการณ์โรคระบาด อภิชาติพงศ์ได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ ภาพถ่าย และมุมมองต่างๆ ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในพื้นที่ ผลงานนี้ได้แรงบันดาลใจจากการได้พบกับชายชาวมุกดาหารผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมกู้ศพที่ลอยมาตามลำน้ำโขง และการได้ค้นพบโรงภาพยนตร์เก่าแห่งหนึ่งที่จังหวัดกาฬสินธุ์

ในงานวิดีโอจัดวาง ภาพโรงภาพยนตร์เก่าที่เหลือแต่โครงผุพังเหมือนซากโครงกระดูก ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่อาศัยของนกพิราบนับร้อยตัว ถูกนำเสนอเทียบเคียงกับภาพลำน้ำโขงยามค่ำคืน และเบื้องหลังของวิดีโอเหล่านี้คือฉากหมอลำภาพท้องพระโรงอันว่างเปล่า สีสันตระการตาของฉากนี้ถูกทำให้เลือนรางด้วยความมืด และบางครั้งก็สว่างไสวด้วยแสงวูบวาบจากวิดีโอ

สำหรับองค์ประกอบด้านเสียง อภิชาติพงศ์ทำงานร่วมกับอัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร ผู้ซึ่งมิกซ์เสียงให้ผลงานของเขาทุกชิ้น และเป็นครั้งแรกที่เขาได้สร้างงานกับเมฆ’ครึ่งฟ้า กวีรุ่นใหม่ชาวอีสาน ซึ่งได้แต่งเรื่องและพากย์เสียงด้วยตัวเอง สวมบทชายหนุ่มและคนรักขณะที่พวกเขาเดินพลอดรักริมโขง เมฆ’ครึ่งฟ้าใช้เทคนิคการพากย์เลียนแบบภาพยนตร์และละครวิทยุในอดีต

ผลงานการเล่าเรื่องแบบลูกผสมนี้ล่องลอยอยู่ระหว่างพื้นที่แห่งความจริงและความฝัน สะท้อนถึงความเสื่อมสลายของความทรงจำและภาพที่ถูกสร้าง สำหรับอภิชาติพงศ์ ผลงานชิ้นนี้เป็นการไว้อาลัยความไร้เดียงสาจากอดีตและเป็นการตื่นขึ้นมาเฝ้ามองความรุนแรงที่ไม่อาจพูดถึงได้ในสังคมไทย ผลงานนี้เขามอบแด่ผู้เห็นต่างทางการเมืองซึ่งการสูญหายของพวกเขายังคงวนเวียนอยู่ดั่งตำนานที่ไม่อาจเลือนหายไปจากความทรงจำ

A Minor History | ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย ณ มูลนิธิ 100 ต้นสน กรุงเทพฯ จัดแสดงในระยะเวลาหกเดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 (ภาคแรก: 19 สิงหาคม – 14 พฤศจิกายน 2564 ภาคสอง: 25 พฤศจิกายน 2564 – 27 กุมภาพันธ์ 2565)

เปิดให้เข้าชมทุกวันศุกร์ และวันเสาร์ ระหว่างเวลา 11:00 – 18:00 น.
*เฉพาะผู้ที่นัดหมายมาล่วงหน้าเท่านั้น*
ติดต่อนัดหมายล่วงหน้าเพื่อเข้าชมนิทรรศการได้ที่ช่องทางต่างๆ ดังต่อไปนี้