• 9 กรกฎาคม - 27 สิงหาคม 2565
  • 10:30 - 19:30 น.
  • WarinLab Contemporary

นิทรรศการโดย 2 ศิลปินที่จะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับวรรณกรรมและโลกจำลอง ผ่านผลงานศิลปะในสไตล์ของพวกเขาเอง เริ่มจาก ‘นักรบ มูลมานัส’ จะพาเราเดินทางย้อนกลับไปในวรรณกรรม “ชีวิตของฉันลูกกระทิง” ของนายแพทย์บุญส่งผ่านงานศิลปะจัดวาง และ ‘แมรี่ ภาคินี’ ที่สร้างโลกจำลองจากห้องสมุดดิจิทัลที่ได้แรงบันดาลใจมาการออกแบบเกมแบบ open world ซึ่งผู้เล่นสามารถท่องเที่ยวได้อย่างอิสระ

วรรณกรรม ชีวิตของฉันลูกกระทิง เป็น 1 ใน 100 หนังสือดีที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน ตามการจัดอันดับของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และหนังสืออ่านนอกเวลาในวัยเยาว์ของใครหลาย ๆ คน นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักธรรมชาติวิทยา คนสำคัญของประเทศไทยได้ประพันธ์ด้วยการใช้วิธีที่ชื่อว่ามานุษยรูปนิยม (Anthropomorphism) ทำให้ลูกกระทิงที่เป็นตัวเอกและสรรพสัตว์ในป่ามีความนึกคิดและสามารถใช้ภาษาแบบมนุษย์ เขาให้ลูกกระทิงนำพาผู้อ่านไปเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ประเภทต่าง ๆ ในป่าเมืองไทย

วรรณกรรมเรื่องดังกล่าวพลิกความเข้าใจเกี่ยวกับป่าดงพงไพรที่ลี้ลับเกินกว่าจะเข้าใจ โดยเปลี่ยนมันเป็นธรรมชาติที่เป็นวิทยาศาสตร์และสามารถเข้าใจได้ หนังสือเล่มนี้ยังแสดงภาพของมนุษย์หรือสัตว์ร้ายสองขาบนหลังของช้างทรยศ สัตว์ร้ายดังกล่าวพรากชีวิตด้วยเสียงราวฟ้าผ่า นายแพทย์บุญส่งใช้วรรณกรรมที่เหมือนกับการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์เพื่อเปิดให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับนิเวศวิทยาและการกระทำของมนุษย์ภายในระบบดังกล่าว ถือว่าหนังสือดังกล่าวก้าวหน้ามากแม้แต่ในเวลาของเรา

ในปัจจุบัน บทสนทนาระหว่างธรรมชาติกับสุนทรียศาสตร์ที่ไปไกลมากกว่าความสวยงามและซับไลม์ กระบวนการทางศิลปะได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งพ้นมนุษย์ ศิลปะช่วยให้คำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติในโลกที่ยากจะมีสิ่งใดไม่ถูกรบกวนโดยมนุษย์ ในการนี้ Waiting You Curator Lab เชิญ นักรบ มูลมานัส และแมรี่ ภาคินี ศิลปินไทยสองคนมาสร้างสรรค์ผลงานด้วยแรงบันดาลจาก ชีวิตของฉันลูกกระทิง ในพื้นที่จัดแสดงของวารินแล็บ คอนเท็มโพรารี ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ทำงานของนายแพทย์บุญส่ง

ในนิทรรศการ “ธรรมชาติประดิษฐ์”นี้ นักรบ มูลมานัส ได้ใช้กระบวนการทางประวัติศาสตร์ เดินทางย้อนกลับไปในวรรณกรรมสัตวาภิธานก่อนเวลาของนายแพทย์บุญส่ง ศิลปินนำเสนอผลงานจัดวางเชิงปฏิสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของปัญญาชนสยามในการทำความเข้าใจ นกการเวก ในวรรณคดีซึ่งมีเสียงไพเราะที่สุด และตั้งคำถามถึงที่ทางของ ความลี้ลับ และความเชื่อในพงไพรผ่านการทำอนุกรมวิธาน หลังจากที่วิทยาศาสตร์เปลี่ยนมุมของที่เรามีกับธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน แมรี่ ก็ได้สร้างโลกจำลองจากห้องสมุดดิจิทัล เธอได้รับแรงบันดาลใจมากจากการสร้างสรรค์เกมส์ด้วยการออกแบบเชิงโอเพ่นเวิล์ด วิธีการสร้างสภาพแวดล้อมในเกมส์เพื่อให้ผู้เล่นสามารถท่องเที่ยวไปได้อย่างอิสระ ผลงานของเธอ นอกจากแสดงให้เห็นถึงความขาดแคลนซึ่งพื้นที่ธรรมชาติในโลกกายภาพแล้วก็แสดงให้เห็นถึงความกระหายความรุนแรงของมนุษย์ที่ข้ามผ่านไปยังธรรมชาติประดิษฐ์ในโลกดิจิทัลอีกด้วย นิทรรศการนี้ทำการสำรวจหน้าที่ของศิลปะในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และตั้งคำถามว่ามีอะไรที่หายไปบ้างจากความเข้าใจสมัยใหม่

นิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “The Tropics” โครงการศิลปะระยะยาว ของ Waiting You Curator Lab ที่มุ่งสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและสิ่งแวดล้อมในโซนเส้นศูนย์สูตร