สืบค้นความหมายที่แฝงอยู่ในลวดลายหลากสีสันตัดกันฉูดฉาดบนผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง ความภูมิใจของชาวแอฟริกัน
ด้วยสีสันฉูดฉาดและลวดลายที่สะกดทุกสายตา ทำให้เสน่ห์ของผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง (Wax Print) กำลังเป็นที่สนใจในระดับโลกอยู่ ณ ขณะนี้
ยิ่งนับตั้งแต่แบรนด์หรูระดับโลกอย่าง Dior หยิบเอาแรงบันดาลใจจากชนพื้นเมืองแอฟริกัน มาออกแบบเสื้อผ้าในหลายคอลเล็กชั่นตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา สปอตไลท์ก็เริ่มจะสาดส่องไปที่ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง เสน่ห์แห่งแอฟริกันมากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าชาวแอฟริกันเองต่างก็ภูมิใจในเอกลักษณ์แห่งลายผ้าพื้นเมือง ที่ถูกใจชาวโลกมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลในบางประเทศอย่างกานาถึงกับออกกฎให้ประชาชนสวมชุดลายผ้าพื้นเมืองไปทำงานทุกวันศุกร์ ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา เพื่ออนุรักษ์และสนับสนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอภายในประเทศ
ทั้งๆ ที่ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งส่วนใหญ่แทบไม่ได้ผลิตในแอฟริกาเลย
“ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง” สัญลักษณ์แห่งยุคล่าอาณานิคม
“ผ้าเหล่านี้ดีไซน์ในยุโรปอย่างนั้นเหรอ ผมไม่เคยรู้มาก่อน คิดว่าผลิตในกานาเสียอีก ในเมื่อเราเองก็สามารถออกแบบลายผ้าได้สบายๆ ทำไมเราไม่ทำกันเองล่ะ” อารมณ์ผิดหวัง เศร้าใจ และน้อยใจ เจืออยู่ในน้ำเสียงของ Nana Kwame Adusei ดีไซเนอร์ชาวกานา ที่แสดงความรู้สึกนี้ต่อผู้สื่อข่าว BBC
และตั้งแต่รู้ความจริงข้อนี้ เขาก็ปฏิเสธที่จะใช้ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งในการตัดเย็นเสื้อผ้า ready-to-wear แบรนด์ Ćharlotte Prive ของตนอีกต่อไป เพราะนี่เป็นสัญลักษณ์ของการล่าอาณานิคมอย่างหนึ่ง
“บริษัทผลิตผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งโกยเงินมานานกว่า 170 ปี โดยที่เงินเหล่านั้นไม่ถึงมือชาวแอฟริกันอย่างเรา”
ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เอง ที่ทำให้ Amaka Osakwe ดีไซเนอร์ชาวไนจีเรีย ปฏิเสธการใช้ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งในการออกแบบเสื้อผ้าแบรนด์ Maki Oh ของเธอ รวมถึงศิลปินย้อมครามชาวมาลีอย่าง Aboubakar Fofona ที่ยืนยันหนักแน่นว่า “ไม่เห็นด้วยที่จะใช้ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง สัญลักษณ์แห่งการล่าอาณานิคม”
การเดินทางของผ้าแอฟริกันในชวา อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์
ยุคล่าอาณานิคมที่เหล่าดีไซเนอร์แอฟริกันหมายถึงคือเมื่อไร คงต้องเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยสงครามนโปเลียน ที่เกิดขึ้นในชวา หรือประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน ดินแดนที่ชนพื้นเมืองนิยมวาดลวดลายผ้าสีสันสดใสที่เรียกว่า ผ้าบาติก
บุคคลสำคัญผู้ทำการจดบันทึกขั้นตอนการทำผ้าบาติกโดยละเอียดในยุคนั้น ก็คือ เซอร์โทมัส สแตมฟอร์ด ราฟเฟิลส์ ผู้ปกครองชวาในปี 1811 หลังจากอังกฤษยึดชวามาจากชาวดัตช์
ราฟเฟิลส์อธิบายขั้นตอนการทำผ้าบาติกเอาไว้ว่า ต้องเทขี้ผึ้งร้อนๆ ผ่านท่อขนาดเล็กเพื่อวาดลวดลายบนผืนผ้า ก่อนนำไปย้อม วาดลายซ้ำอีกรอบ ย้อมอีกครั้ง ก่อนนำไปตากให้แห้งนาน 17 วัน จึงจะใช้ได้
นอกจากนี้ ราฟเฟิลส์ยังได้ส่งผ้าบาติก 22 ผืนไปยังอังกฤษ เพื่อให้คนในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่โน่นถอดแบบกระบวนการผลิต เพื่อลงมือผลิตผ้าบาติกขึ้นเอง
หลังจากที่อังกฤษคืนดินแดนชวาแก่ฮอลแลนด์ และราฟเฟิลส์เองก็เดินทางกลับบ้านเกิดเป็นที่เรียบร้อย ชาวดัตช์ยังคงใช้ตำราที่ราฟเฟิลส์จดบันทึกไว้ในพัฒนาต่อยอดการผลิตผ้าบาติกขึ้นเอง จนสามารถลดต้นทุนได้ต่ำกว่าอังกฤษหลายเท่า
เครื่องพิมพ์ผ้าบาติกหลังแรกถูกส่งจากฮอลแลนด์มายัง Dutch East Indies ราวปี 1850 แต่กลับขาดทุนไม่เป็นท่า เพราะในตอนนั้นช่างฝีมือชาวชวาเองได้หันมาพิมพ์ขี้ผึ้งด้วยตราประทับ เพื่อลดต้นทุน และทำให้เสื้อผ้าจับต้องได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ชาวดัตช์ยังคงดำเนินการส่งออกผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่องนาน 22 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ดัตช์ค่อยๆ แผ่ขยายอาณานิคมไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก
และในระหว่างปี 1831 – 1872 ดัตช์ได้ว่าจ้างทหารจากแอฟริกาตะวันตกจำนวน 3,000 นายในการแผ่ขยายอาณาจักร โดยส่งกองกำลังเหล่านี้ไปสู้รบยังเกาะสุมาตรา
ตำนานว่าไว้ว่า เมื่อสิ้นสุดสงคราม ทหาร 700 นายเดินทางกลับไปยังโกลด์โคสต์ หรือประเทศกานาในปัจจุบัน โดยพกเอาม้วนผ้าบาติกฝีมือชาวดัตช์กลับบ้านเกิดไปด้วย
ที่ต้องระบุว่าเป็นตำนาน ก็เพราะชาวแอฟริกันจำนวนหนึ่งยากที่จะทำใจให้เชื่อได้ว่า กองทหารที่ยากจนเหล่านี้จะมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะซื้อผ้าบาติกหลายม้วนข้ามน้ำข้ามทะเลกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอน นี่ต้องเป็นเรื่องแต่ง ที่บริษัทดัตช์อย่าง Vlisco รวมถึงบริษัทอังกฤษอย่าง ABC ปั้นขึ้น เพื่อใช้บอกเล่าที่มาสวยหรู จะได้อ้างว่าตนเป็นผู้กรุยทางผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งขึ้นมา
นานกว่า 20 ปี หลังการส่งออกผ้าบาติกมายัง Dutch East Indies สิ้นสุดลง นักธุรกิจชาวสก็อตชื่อ Ebenezer Brown Fleming ได้ส่งผ้าบาติกล็อตแรกจากอุตสาหกรรมการผลิตของดัตช์ไปยังโกลด์โคสต์ ในปี 1893
และในปี 1907 บราวน์ เฟลมมิ่ง ก็ได้เริ่มว่าจ้างนักพิมพ์ผ้าชาวอังกฤษให้เริ่มผลิตผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งขึ้นเองดูบ้าง
ในขณะเดียวกัน คณะมิชชินนารีชาวสวิสในแอฟริกาเองก็เริ่มเกิดความรู้สึกท้าทายในการสอนหญิงชาวแอฟริกันพื้นเมืองให้ตัดเย็บ และทำผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งเพื่อหารายได้ โดยปรับแบบให้เป็นชุดที่สวมใส่ง่ายในชีวิตประจำวัน
และด้วยการเดินทางยาวนานระดับล่าข้ามศตวรรษของผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งในทั้ง 3 ทวีป ไม่ว่าจะเป็นยุโรป เอเชีย และแอฟริกานี้เอง ที่ทำให้ไปๆ มาๆ ลายเซ็นที่ชัดเจนตามตำรับแอฟริกัน พลอยทำให้ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งกลาเป็นที่รู้จักและยอมรับในฐานะของดีประจำตำบลแห่งแอฟริกาไปในที่สุด
แม้เม็ดเงินส่วนใหญ่จะไหลเข้ากระเป๋า Vlisco บริษัทดัตช์ผู้เป็นต้นกำเนิดผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งก็ตาม
อนาคตของผ้าแอฟริกันในแอฟริกา
“Vlisco เป็นบริษัทที่ออกแบบและผลิตผ้าแอฟริกันมาตั้งแต่ปี 1846 โดยนำแรงบันดาลใจจากทวีปแอฟริกา มาผสมผสานเข้ากับเทคนิคการพิมพ์ผ้าด้วยขี้ผึ้งของผ้าบาติกจากอินโดนีเซีย และการออกแบบลวดลายในเนเธอร์แลนด์ จนออกมาเป็นเอกลักษณ์แห่งผ้าพิมพ์ลายต้นตำรับ Vlisco”
ลองเข้าไปดู profile ของ Vlisco ผู้ผลิตผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งรายใหญ่ที่สุดของโลก ก็จะพบเรื่องราวความเป็นมาที่ชัดเจนและไม่ปิดบังเช่นนี้
Vlisco เองยังคงทำการผลิตซ้ำผ้าแอฟริกันลายดั้งเดิม เพิ่มเติมด้วยการออกแบบลวดลายร่วมสมัย และผลักดันให้ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งขึ้นไปเฉิดฉายบนงานแฟชั่นโชว์ระดับชาติ และระดับโลกในทุกปี
ดังนั้น จึงไม่ใช่สารัตถะอันใดในการยื้อแย่งผ้าผวยสักผืนมาจับจองเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตน เพราะนี่คือตัวอย่างของการเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมที่เห็นได้ชัดเจน จับต้องได้ และสามารถนำมาห่มคลุมกาย เพิ่มดีกรีความเปรี้ยวเท่ในตัวได้อย่างดีที่สุด
แต่สิ่งที่ชาวแอฟริกันควรตระหนักมากกว่า คือ ทำอย่างไรจึงจะผลิตผ้าแอฟริกันได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ ตามที่รัฐบาลอุตส่าห์สนับสนุนให้ผู้คนสวมผ้าแอฟริกันทุกวันศุกร์ได้จริง
เพราะตอนนี้ มีเพียงบริษัท Uniwax ในไอวอรี่โคสต์เท่านั้น ที่เป็นบริษัทแอฟริกันเพียงแห่งเดียวที่สามารถออกแบบและผลิตผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งเองได้
ในขณะที่ส่วนแบ่งทางการตลาดส่วนใหญ่ตกเป็นของบริษัทจีนอย่าง Hitarget ที่แข่งขันด้วยราคาต้นทุนที่ถูกกว่าหลายเท่า
กับอีกส่วนตกเป็นของ Ghana Textiles Printing (GTP) เจ้าของเดียวกับ Vlisco นั่นเอง
“ผ้าพิมพ์แอฟริกันเป็นสิ่งแรกเลยด้วยซ้ำที่จะสามารถเชื่อมโยงวัฒนธรรมแอฟริกันได้ เพราะผ้าผืนแรกที่ใช้ห่อตัวเราตอนแรกเกิดก็คือ ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง” Belinda Compah-Keyeke ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของแอฟริกาอย่าง Zoharous เล่าถึงความผูกพันอย่างลึกซึ้งที่ชาวแอฟริกันมีต่อผ้าพิมพ์ขี้ผึ้ง
“ผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งคือมรดกชิ้นสำคัญของชาวแอฟริกัน ที่บ่งบอกเรื่องราวเฉพาะตัวของพวกเรา”
และด้วยความที่ความต้องการบริโภคผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งในตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการออกแบบผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งด้วยลวดลายร่วมสมัยเพิ่มขึ้นอีกมากมาย จนยากจะบอกได้ว่า ลายไหนคือลายดั้งเดิม
Becommon จึงไปคัดสรรผ้าแอฟริกันลายดั้งเดิมมาเล่าสู่กันฟังถึงที่มาและความหมายที่ซ่อนอยู่ เพื่อเอาไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจในวันที่คุณเกิดนึกสนุก อยากเลือกซื้อเสื้อผ้าสไตล์แอฟริกันมาใส่ท้าแสงแดดกับเขาบ้าง เพราะในไทยเองตอนนี้ก็มีแม่ค้านำเข้าผ้าแอฟริกันสีเจ็บๆ มาขายอย่างแพร่หลายมากขึ้นทุกที
Good Living
หน้าตาคุ้นๆ เหมือนลายโสร่งหรือผ้าปาเต๊ะบ้านเรา แน่นอน เพราะนี่ถือเป็นผ้าพิมพ์ขี้ผึ้งลายต้นแบบ ซึ่งมีที่มาจากผ้าบาติกท้องถิ่นในหมู่บ้าน Pekalongan ในชวา (หรือประเทศอินโดนีเซีย) ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลลวดลายดอกไม้มาจากจีนอีกทอดหนึ่ง ก่อนจะถูกส่งผ่านทางวัฒนธรรมจากชาวดัตช์มาสู่แผ่นดินแอฟริกาในท้ายที่สุด
The Household Gravel
แม้จะมีอีกชื่อเรียกว่า หนังเสือดาว แต่จริงๆ แล้ว ผ้าลายแรกๆ ที่ บราวน์ เฟลมมิง ออกแบบและจดสิทธิบัตรมาตั้งแต่ปี 1895 ลายนี้ เป็นภาพก้อนกรวดเล็กๆ ที่ชาวแอฟริกันมักโรยไว้เป็นทางเดินรอบบ้าน สะท้อนความหมายของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ที่ต้องเจอการกระทบกระทั่งกันบ้าง ผ่านคำพูดหรือการกระทำที่เชือดเฉือนจิตใจ ไม่ต่างอะไรกับก้อนกรวดอันแหลมคม
ยังมีอีกหนึ่งความหมายที่ตีความผ่านก้อนกรวดเหล่านี้ โดยแปลตรงตัวตามภาษาแอฟริกันว่า คนจนไม่กินก้อนหิน หมายถึง แม้จะยากจน แต่คนยากไร้ก็ยังต้องกินอาหารไม่ต่างกับชนชั้นอื่นในสังคม
พอถึงทศวรรษ 1990 ที่เชื้อ HIV แพร่ระบาดอย่างหนัก ผ้าลายเม็ดกรวดแบบดั้งเดิมที่ให้บังเอิญมีสัญลักษณ์คล้ายอักษร V, I และ H อยู่ในเม็ดกรวดแต่ละก้อน ก็เพิ่มความหมายให้ตัวเองโดยไม่ได้ตั้งใจ
แถมเป็นความหมายในแง่ลบ เพราะกลายเป็นว่าใครที่สวมใส่ผ้าลายก้อนกรวดถูกเหมารวมว่าเป็นพาหะในการแพร่เชื้อ HIV ไปเสียอย่างนั้น ทำให้ยอดขายผ้าลายนี้ในไนจีเรียตกลงฮวบฮาบ ทำให้บริษัท ABC แห่งอังกฤษ ผู้เป็นเจ้าของงานออกแบบต้องปรับโฉมลายนี้ใหม่ในที่สุด
Gramaphone Apawa
Gramaphone Apawa เป็นภาษาแอฟริกัน หมายถึง แผ่นเสียง ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อความบันเทิงยอดนิยมแห่งยุค 60 แต่ด้วยราคาที่สูงและเป็นของหายาก จึงไม่ได้เป็นที่นิยมในวงกว้าง ดังนั้น ผืนผ้าลายแผ่นเสียงจึงสะท้อนให้เห็นถึงนึกถึงยุครุ่งเรืองของการฟังเพลงในอดีต ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ที่จำกัดเฉพาะคนรวยเท่านั้น
จริงๆ แล้วผ้าลายนี้มีอีกหลายชื่อเรียกและหลากความหมาย ตามแต่ละพื้นที่ในแอฟริกา อย่างในโทโก กลับมองเห็นวงกลมนี้เป็นรูปหมวกปีกกว้างที่เอาไว้ใส่กันแดด โดยมีชื่อเรียกว่า Consulaire, Gbédjégan และ Gbedze
ในขณะที่กานาเรียกลายกลมๆ นี้ว่า Plaque-Plaque, Target หรือ Nsu Bura ที่มีความหมายว่า บ่อน้ำ เพราะมีลักษณะเหมือนคลื่นน้ำที่กระจายออกวงแล้ววงเล่า หลังจากโยนก้อนหินลงน้ำ
ดังนั้น ลวดลายนี้จึงมีอีกความหมายแฝงว่า ทุกการกระทำของเรา ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างเสมอ
Nkrumah Pencil
ลวดลายที่ได้แรงบันดาลใจจากดินสอของ Dr. Kwame Nkrumah ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศกานา ผู้เป็นเจ้าของสุนทรพจน์เนื้อหาหนักแน่น เข้มข้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในประเทศกานาเองและระดับโลก โดยก่อนที่ประธานาธิบดี Nkrumah จะเอ่ยวจีใดออกไปนั้น ท่านจะใช้ความคิดตรึกตรองอย่างหนัก และร่างในกระดาษก่อนเสมอ ดินสอของท่านจึงต้องเหลาให้แหลมพร้อมใช้งานทุกครั้ง ดังนั้น ทุกถ้อยความที่ถูกเขียนขึ้นจึงเปรียบดังอาวุธในการฟันฝ่าทุกอุปสรรคบนเส้นทางการเมืองได้เป็นอย่างดี
Nkrumah Pencil ถือเป็นลายผ้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในทศวรรษ 60 และสื่อถึงความมีอำนาจไปในตัว
ABC
หรือในอีกชื่อคือ Alphabet ตรงตามเนื้อผ้า ผู้ที่เลือกสวมใส่ผ้าลายตัวอักษรก็เหมือนจะสื่อกลายๆ ว่าตนเป็นผู้รู้หนังสือ ผ่านการเรียน เขียน อ่านมาแล้ว ทั้งยังเป็นการบ่งบอกถึงการให้ความสำคัญในการให้การศึกษาแก่ลูกๆ ซึ่งก็หมายความว่า เขาต้องกันเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าเล่าเรียนของบุตรหลานนั่นเอง
Advice
ในไอวอรี่โคสต์ ผ้าลายนี้มีชื่อเรียกว่า Conseille แปลว่า คำแนะนำ ซึ่งมักเป็นลายผ้าที่บรรดาคุณแม่เลือกสวมใส่ เพราะกิจวัตรหลักของแม่ชาวไอวอเรียน ก็คือ การให้คำแนะนำแก่ลูกสาวอย่างใกล้ชิดสนิทสนม ต่างจากในประเทศเบนิน ที่เรียกลายนี้ว่า มักกะโรนี ตามรูปร่างที่เหมือนเส้นมักกะโรนี
Hibiscus
ดอกชบาเป็นดอกไม้ที่มีความหมายมากต่อชาวแอฟริกัน ผ้าพิมพ์ลายชบาผืนนี้จึงได้รับความนิยมมากในประเทศกินีและไอวอรี่โคสต์ ที่นิยมใช้ผ้าพิมพ์ลายชบายาว 12 หลาเป็นสินสอดในการแต่งงาน
ผ้าพิมพ์ลายชบามีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่น Topizo ในประเทศโตโก และ Tohozin ในประเทศเบนิน ที่ต่างก็ไม่ได้แปลว่า ดอกชบา แต่มีความหมายเดียวกันว่า rush ซึ่งมีที่มาจากการที่ผ้าลายนี้ขายได้ ขายดี ขายหมดทุกล็อต จนลูกค้าต้องรีบมาแย่งกันซื้อเสมอ
และด้วยความเป็นลายมงคล สายการบินประจำชาติคองโกอย่าง Air Zaire จึงเลือกผ้าลายชบามาตัดเย็บเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ตั้งแต่ ค.ศ. 1970 เป็นต้นมา
อ้างอิง
- Zaina Adamu.The Complex Future of African Fabric (Which Isn’t African).https://edition.cnn.com/style/article/african-textiles-dutch-future/index.html
- Clare Spencer.Wax Print: Africa’s Pride Or Colonial Legacy?.https://www.bbc.co.uk/news/extra/4fq4hrgxvn/wax-print
- www.vlisco.com