©ulture

Bangkok Art Biennale 2018 กำลังทำให้ “ศิลปะ” เติบโตในหัวใจของผู้คน

เมื่อผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ของศิลปินไทยและเทศกว่า 70 ชีวิต ถูกเตะให้ไปไกลจากกรอบของมิวเซียม แต่จัดแสดงผลงานให้ออกเพ่นพ่านตามสถานที่สำคัญต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ

ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรือแม้กระทั่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างวัด

พื้นที่และบริบทที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่แค่ความหวือหวา แต่เมื่อจัดวางอย่างถูกจุด กลับยิ่งทำให้งานศิลปะสื่อสารกับผู้คนได้อย่างมีชีวิตชีวา

อาทิ หัวกะโหลกชิ้นเล็กๆ ที่ทำจากเซรามิกแสนกว่าชิ้น บนทางเดินรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ณ วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

รูปปั้นคู่แฝดยักษ์ไทยและจีนที่ตัวติดกันคล้ายแฝดสยาม ‘อิน-จัน’ ที่ตีความได้ถึงสองวัฒนธรรมที่รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ณ วัดอรุณฯ

งานสเตนเลสรูปทรงสระว่ายน้ำขนาดใหญ่อันว่างเปล่าของศิลปินชาวเดนมาร์ก ที่มองทะลุผ่านจะเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่เบื้องหลัง เพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการเชื่อมต่อของแม่น้ำเจ้าพระยากับทะเลนอร์ดิก

“ศิลปะเป็นเรื่องของการสื่อสาร เป็นเรื่องของการถ่ายทอดอารมณ์” — พี่มาดี อาจารย์สอนศิลปะที่พบโดยบังเอิญในวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารเมื่อหลายวันก่อน บอกกับผมเช่นนั้น

คำพูดของพี่มาดีเหมือนค้อนที่ช่วยทุบกำแพงศิลปะในใจ ทำให้ผมดูงานศิลปะได้สนุกขึ้น หลังจากหงุดหงิดกับผลงานบางชิ้นที่ดูไม่รู้เรื่อง เข้าไม่ถึง นึกไม่ออกว่า ท่านศิลปินต้องการจะพูดอะไร

เพราะศิลปะ ‘เป็นเรื่องของการถ่ายทอดอารมณ์’ บางครั้งการมีหรือไม่มีเหตุผลจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เท่ากับดูแล้ว ‘รู้สึก’ หรือไม่

คงเหมือน ชเว จอง ฮวา ศิลปินชาวเกาหลีใต้ ที่นำงานมาจัดแสดงในเทศกาลนี้ และเลือกที่จะไม่จำกัดความใดๆ ให้กับงานของตัวเอง

โดย ชเว จอง ฮวา บอกเพียงประโยคสั้นๆ แต่แหลมคมลุ่มลึกว่า

“Your HEART is My ART”.

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Animal Kingdom” ผู้คนที่มาร่วมชมงาน Bangkok Art Biennale 2018 ขณะกำลังถ่ายภาพร่วมกับผลงานของจานัน ศิลปินชาวตุรกี ซึ่งเป็นตุ๊กตาสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในเทพนิยาย อย่าง นกฟินิกซ์ งู สิงโต เป็นต้น โดยสัตว์เหล่านี้ก็ดูน่ารักและน่าประหลาดในคราวเดียว โดยศิลปินชาวตุรกี จานัน , BAB Box One Bangkok

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Zero” สระว่ายน้ำรูปทรงนามธรรมตั้งฉากสูง 8 เมตร ที่เหมือนกับเลขศูนย์นี้ ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อเชิงสัญลักษณ์ระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับทะเลนอร์ดิก โดยศิลปินคู่หูชาวเยอรมนี เอ็มกรีน แอนด์ แดรกเซท , อาคาร บริษัท อีสต์ เอเชียทีก

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“หมาหลง” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโปสเตอร์ติดประกาศตามหาสุนัขหายในนิวยอร์ก โดยเปรียบสุนัขหลงตัวนี้ เป็นเหมือนตัวแทนของมนุษย์ที่หลงอยู่ในความวุ่นวายของโลกในปัจจุบัน โดยศิลปินชาวฝรั่งเศส ออเรล ริชาร์ด , โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Nothing is led comparable” ผลงานศิลปะที่ถูกทำขึ้นจากไม้ท้องถิ่น อย่าง ไม้เต็งและไม้กันเกรา ได้ถูกจัดวางภายในพื้นที่อาคารแบบอาณานิคม จนเกิดเป็นบทสนทนาระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออก โดยศิลปินชาวฝรั่งเศส ซาร่า ฟาวริโอ, อาคาร บริษัท อีสต์ เอเชียทีก

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“อนุเสาวรีย์แห่งความทรงจำ” จิตรกรรมสีทองที่ปราศจากเนื้อหาภายในซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ ความทรงจำ รวมถึงการสวดมนต์ภาวนาของทั้ง 2 ศาสนา ระหว่าง พุทธและคริสต์ โดยศิลปินชาวอิตาลี เปาโล คานีวาริ , วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“What will we leave behind ?” เซรามิกรูปหัวกะโหลกกว่า 125,000 ชิ้น ที่ถูกจัดวางไว้รอบเจดีย์องค์พระประธานของวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่ทิ้งคำถามไว้ให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมว่า ” ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต คุณจะทำความดีอะไรทิ้งไว้บนโลกใบนี้บ้าง ”  โดยศิลปินชาวไทย นีโน่ สาระบุตร , วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Sweet Boundary” ผลงานศิลปะจัดวาง ที่มาจากการวิจัยศึกษาประวัติศาสตร์ของวัดและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีรูปธนู หอกและดาบ ติดอยู่บนกระจกใสคั่นกลางระหว่างห้องทั้ง 2 สี โดยอาวุธทั้ง 3 สิ่งนี้เป็นสินค้านำเข้าจากอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ทางวัดแลกมาด้วยน้ำตาลในจำนวนน้ำหนักที่เท่ากัน ผลงานชิ้นนี้พูดถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีนในอดีต โดยศิลปินชาวไทย กมล เผ่าสวัสดิ์ , วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Turtle religion” ผลงานประติมากรรมเต่าเหล็ก ที่แบกวัตถุต่างๆ ไว้บนหลัง สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมในพื้นที่ย่านคลองสาน โดยศิลปินชาวไทย กฤช งามสม , วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Giant Twins” งานศิลปะที่มีส่วนผสมระหว่างจีนและไทย โดยการนำยักษ์และนักรบจีนโบราณ ซึ่งผ่านการดัดแปลงตำนานของแฝดสยามอินจันเพื่อสะท้อนให้เห็นคุณค่าของวัตถุโบราณ โดยศิลปินชาวไทย คมกฤษ เทพเทียน , วัดอรุณราชวราราม

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Asian workers covered” ภาพถ่ายที่สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากในการทำงานของผู้ที่ใช้แรงงานซึ่งถึงแม้จะมีผ้าคลุมหน้า แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงมลภาวะจากฝุ่นและเสียงได้ และอีกหนึ่งสิ่งที่ศิลปินอยากจะสื่อก็คือ ผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ต่างก็มีเกียรติและศักดิ์ศรี เพราะพวกเขาคือ คนที่ได้สร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นอย่างที่เราเห็นดังเช่นในทุกวันนี้ โดยศิลปินชาวเยอรมัน ราฟ ทูเทน , BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Limbo” งานหลอดไฟนีออนที่ศิลปินวิพากษ์ถึงวัฒนธรรมบริโภคนิยม ที่ส่งผลต่อรสนิยมและพฤติกรรมของมนุษย์ โดยศิลปินชาวเยอรมนี มาร์ก ชมิทซ์ , BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“National road number 5” ชุดภาพถ่ายที่บันทึกเหตุการณ์การรื้อบ้านพักในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่สนับสนุนโดยบริษัทก่อสร้างสัญชาติญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยศิลปินมักจะนำเสนอปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา โดยศิลปินชาวกัมพูชา ลิม โศกจันลินา , BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Shot gun” หนึ่งในผลงาน Happy happy project ของ ชเว จอง ฮวา ที่ว่าด้วยโลกแห่งความสุขแต่ฉาบฉวย โดยศิลปินชาวเกาหลีใต้ ชเว จอง ฮวา , สยามดิสคัฟเวอรี

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Love me pink pig” วัตถุเป่าลมที่แฝงไปด้วยความขี้เล่น ซึ่งได้นำรอยยิ้มและความสุขให้แก่ผู้ที่พบเห็นได้เสมอ โดยศิลปินชาวเกาหลีใต้ ชเว จอง ฮวา , สยามเซ็นเตอร์

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“I carry on living with the pumpkins” งานศิลปะของศิลปินในวัย 89 ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาการป่วยทางจิต ครั้งเมื่อเธอมีอายุได้ 10 ขวบ ได้ถูกจัดแสดงขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น คุณยาย ยาโยอิ คุซามะ , สยามพารากอน

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Inflatable pumpkins balloons” เหตุผลที่เธอชอบฟักทองก็เพราะด้วยรูปทรงที่ตลก อีกทั้งยังให้ความรู้สึกอบอุ่นและมีลักษณะคล้ายกับมนุษย์ และสิ่งสำคัญที่ทำให้เธอยังอยากทำงานชุดฟักทองต่อไปก็เพราะมันทำให้เธอกระตือรือร้นคล้ายกับว่าเธอนั้นยังเป็นเด็กน้อยอยู่เสมอ โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น คุณยาย ยาโยอิ คุซามะ , เซ็นทรัลเวิลด์

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Your dog” ศิลปิน pop art ชาวญี่ปุ่น ที่นำเสนอคาแร็คเตอร์ของสุนัข โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากสภาพแวดล้อมและการเติบโตมาอย่างโดดเดี่ยวในวัยเด็ก โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น โยชิโตโมะ นาระ , วัน แบงค็อค

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Ma mere” การใช้สี Monochrome และการตวัดพู่กันและแปรงขนาดใหญ่จนเป็นเอกลักษณ์ของ หยาน เพ่ย หมิง ศิลปินที่วาดภาพซึ่งเกิดจากความทรงจำและความคิดถึงแม่ของเขาที่เพิ่งจะจากไป โดยศิลปินชาวจีน หยาน เพ่ย หมิง , สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Embroyo” ผลงานที่สะท้อนความคิดที่ว่า มนุษย์คือบุตรแห่งธรรมชาติ…การเคลื่อนตัวผ่านสายน้ำดุจสภาวะเมื่อยามถือกำเนิดในถุงน้ำคร่ำของมารดา เป็นสภาวะที่อบอุ่น นุ่มนวลและเปี่ยมสุข โดยศิลปินชาวไทย ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ , เธียเตอร์ ออฟ อินดัลเจนซ์

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Teen spirit island” ผลงานภาพถ่ายชิ้นนี้ศิลปินได้บันทึกพฤติกรรมของผู้ที่เล่นเกมออนไลน์มืออาชีพที่คลิกเมาส์ไม่หยุด เพื่อสะท้อนให้เห็นมุมมองด้านการใช้แรงงานในเกม โดยศิลปินชาวเยอรมนี จอสชา สติฟเฟ่น , โอ.พี.เพลส

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Standing structures for human use” มารีนา ศิลปินที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเวลานี้ ที่พูดถึงเรื่องขีดจำกัดของร่างกาย โดยผ่านประติมากรรมเรืองแสงที่จะช่วยเยียวยาและรักษาบาดแผลของจิตใจ โดยศิลปินชาวเซอร์เบีย มารีนา อบราโมวิช , วัน แบงค็อค

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Sediments of migration” งานจิตรกรรมลอยตัวที่ถูกจัดวางภายในวัดโพธิ์ชิ้นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนฝาผนังภายในวัด บนแนวคิดที่สะท้อนความเชื่องโยงระหว่างพุทธปรัชญาและประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยศิลปินชาวไทย ปานพรรณ ยอดมณี , วัดโพธิ์

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Miss forest” ประติมากรรมสัมฤทธิ์ ที่รับแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่ว่าด้วยวิญญาณและนางไม้ที่คอยปกปักษ์รักษาป่าไม้ ซึ่งเป็นความเชื่อในภูมิภาคเอเชีย โดยศิลปินชาวญี่ปุ่น โยชิโตโมะ นาระ , ปาร์ค นายเลิศ

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Mamuang for BAB 2018” วิศุทธิ์ พรนิมิตร ศิลปินชาวไทยที่เป็น 1 ใน 250 บุคคลที่น่าจับตามองระดับโลก โดยนิตยสาร Elle magazine จากญี่ปุ่น โดยวิศุทธิ์ ได้วาดน้องมะม่วงทั้งแบบแอนิเมชันและโปสเตอร์ คล้ายกับเป็นคนนำทางในการเที่ยวชมงาน BAB 2018 ในครั้งนี้ โดยศิลปินชาวไทย วิศุทธิ์ พรนิมิตร , โรงแรมเพนนินซูล่า

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Memory house” ศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอที่พูดถึงปัญหาของชุมชนกรุงเทพฯ ในหลายๆ จุด โดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา  โดยหวังที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม โดยศิลปินชาวไทย อเล็ก เฟซ , ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

#bangkokartbiennale2018 #bangkok

“Joker” ศิลปะจัดวางของ ชเว จอง ฮวา ที่เป็นหนึ่งในผลงาน Happy happy project ที่ทำงานด้วยแรงบันดาลใจจากสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน วัสดุรีไซเคิล ตลาดและร้านขายเศษขยะ เป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่ทำให้ความคิดของเขาจุดประกาย ดูเหมือนว่าผลงานของเขาได้ส่งต่อความสุขไปยังผู้อื่นเช่นกัน โดยศิลปินชาวเกาหลีใต้ ชเว จอง ฮวา , เซ็นทรัล เอมบาสซี

 

 

FACT BOX

  • Bangkok Art Biennale 2018 เทศกาลศิลปะนานาชาติ จัดภายใต้ธีม “Beyond Bliss" หรือ "สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต” จะจัดแสดงผลงานศิลปะต่างๆ เรื่อยไป ตั้งแต่วันนี้จนถึง 3 กุมภาพันธ์ 2562