©ulture

“เมืองที่มีเสน่ห์ด้วยตรอกซอกซอยแคบ ๆ เรียงรายด้วยบ้านเรือนสีน้ำเงินฟ้า ทะเลสาบ เนินเขา ตลาดสด และวัดที่สามารถพบเจอได้ทุกหัวมุมถนน”

Lonely Planet ไกด์บุ๊กฉบับอินเดียเล่มหนาเตอะเกริ่นถึง บุนดี (Bundi) ไว้เช่นนั้น ตามด้วยข้อมูลของเมืองเล็กแห่งนี้สิริรวม 4 หน้าถ้วน ถือว่าน้อยนิดกระจิริดเมื่อเทียบกับข้อมูลนำเที่ยวในเมืองร่วมรัฐราชสถานอย่างชัยปุระ โยธปุระ อุทัยปุระ และจัยแซลแมร์ – ก๊วนเมืองสีชมพู เมืองสีฟ้า เมืองสีขาว และเมืองสีทอง ซึ่งเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่หมายตาที่จะไปเยือน ทิ้งให้ ‘บุนดี’ เมืองที่อุดมด้วยของดีกลายเป็นม้านอกสายตาอย่างน่าเสียดาย

Bundi
Bundi Palace เป็นทั้งแลนด์มาร์กและฉากหลังอันยิ่งใหญ่แห่งเมืองบุนดี

บุนดีมีดีอะไรบ้าง ? บุนดีมีทุกอย่างที่หลายเมืองเด่นๆ ในรัฐราชสถานมี ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังและป้อมปราการบนเนินเขาที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ Amber Fort แห่งชัยปุระ บ้านเรือนสีฟ้าครามก็หนาแน่นเป็นกลุ่มก้อนไม่ต่างจากเมืองสีฟ้าโยธปุระ ทะเลสาบใจกลางเมืองก็ยิ่งใหญ่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอุทัยปุระ โดยเฉพาะใครที่หลงใหลเสน่ห์น่าพิศวงของสถาปัตยกรรมแห่งบ่อน้ำขั้นบันได หรือ Baori (บาวรี) ยิ่งไม่ควรพลาดการมาเยือนบุนดี สถานที่ตั้งของบ่อน้ำราชินีแสนงามสง่า รวมถึงบ่อน้ำขั้นบันไดอีกหลายแห่งที่แทรกอยู่ทั่วมุมเมือง สมศักดิ์ศรีหนึ่งในเมืองโบราณที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 12   

“มีเพียงไม่กี่แห่งในรัฐราชสถานที่ยังคงเต็มเปี่ยมด้วยบรรยากาศอัศจรรย์ของศตวรรษที่ผ่านมา” 

ไกด์บุ๊กเล่มเดิมย้ำถึงอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของบุนดีที่ไม่มีเมืองไหนในราชสถานสามารถลอกเลียนแบบได้

ใครกำลังมองหาจุดหมายที่สามารถเดินเล่นชมแดนภารตะแบบสบายๆ ไม่คลาคล่ำด้วยทัวร์ริสต์จากทั่วโลก แถมยังรวมทุกของดีสไตล์ราชปุตไว้ในที่เดียว เราเชื่อว่า ‘บุนดี’ คือคำตอบที่คุณกำลังมองหา

Bundi
Bundi Palace
Photo: mowgli1854

 

สำรวจพระราชวังโบราณที่เร้นกายในเทือกเขาอราวัลลี

ถึงจะเกริ่นว่าเป็นม้านอกสายตา ทว่าการเดินทางไปเมืองบุนดีไม่ได้ยากลำบากจนเกินไป ด้วยระยะทางที่ห่างจากเมืองชัยปุระไปทางใต้ราว 210 กิโลเมตร จึงสามารถนั่งรถโดยสารท้องถิ่นใช้เวลาราว 5 ชั่วโมงก็เดินทางถึงบุนดี เมืองขนาดย่อมที่สามารถใช้สองเท้าเดินท่อมๆ ทัวร์เมืองได้ทั่วด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องเช่ารถหรือพึ่งคนขับรถรับจ้างให้เปลืองรูปี เพราะท่ารถโดยสารห่างจากเขตเมืองเก่าซึ่งเป็นเป้าหมายในการเดินทางครั้งนี้เพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น 

Bundi

Bundi

อีกทั้งเขตเมืองเก่าเองก็กินพื้นที่ไม่กี่ตารางกิโลเมตร ตรอกซอกซอยเดินสะดวก ไม่ซับซ้อน สองข้างทางคึกคักด้วยตลาดร้านค้าและบ้านเรือนเพนต์สีสันลวดลายสดสวยแปลกตา ถูกใจคนชอบถ่ายภาพแนวสตรีทอาร์ตแน่นอน

Bundi

Bundi
บ้านเรือนในบุนดีนิยมทาสีเพนต์ลวดลายสดใส

จุดหมายแรกที่ควรค่าในการไปเยือนกันตั้งแต่หัววัน ได้แก่ พระราชวังบุนดี (Bundi Palace หรือ Garh Palace) พระราชวังเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของ Rao Raja Ratan Singh ผู้ปกครองบุนดีระหว่าง ค.ศ.1607 – 1631 และมีการก่อสร้างต่อเติมพระราชวังส่วนอื่นๆ ขึ้นในแต่ละรัชสมัยของผู้ปกครองแต่ละองค์ จนก่อร่างสร้างขึ้นเสร็จสมบูรณ์เป็นราชวังสีทรายตั้งตระหง่านบนเนินเขาลูกเดียวกับ ป้อมธาราการห์ (Taragarh Fort) แนวกำแพงที่พาดลดเลี้ยวเลื้อยไปตามแนวเทือกเขาอราวัลลีที่สามารถมองเห็นได้แต่ไกล

Bundi

Bundi
บัตรเข้าชมโบราณสถาน ซื้อทีเดียวเข้าชมได้ 3 สถานที่ ได้แก่ Bundi Palace, Taragarh Fort และ Kshar Bagh (บน) ทางเดินไปสู่ Hathi Gate (ล่าง)

เช่นเดียวกับพระราชวังบนเนินเขาทั้งหลายในรัฐราชสถาน ที่หลังจากซื้อบัตรผ่านประตู (บัตรเข้าชมโบราณสถานในบุนดีซื้อทีเดียวสามารถเข้าชมได้ 3 แห่ง ได้แก่ Bundi Palace, Taragarh Fort และ Kshar Bagh) ผู้เยี่ยมชมจำเป็นต้องออกแรงเดินไต่เนินขึ้นไปเรื่อยๆ กว่าจะถึง Hathi Gate ประตูวังที่โดดเด่นด้วยรูปสลักช้างงดงามอลังการ

Bundi
Hathi Gate
Photo: mowgli1854

‘ประตูช้าง’ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสัมผัสบรรยากาศของวังโบราณที่ครั้งหนึ่ง รัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) นักเขียนชาวอังกฤษเจ้าของงานประพันธ์อมตะ The Jungle Book หรือเมาคลีลูกหมาป่า ผู้เคยพำนักที่เมืองบุนดี เคยพรรณนาถึงความงามวิจิตรของพระราชวังบุนดีเอาไว้ว่า สถานที่แห่งนี้หาใช่ฝีมือมนุษย์สร้างไม่ หากเป็นบรรดาภูตวิเศษต่างหากที่ช่วยกันรังสรรค์ราชวังแห่งนี้ขึ้นมา

Bundi
บัลลังก์พิธีราชาภิเษก

เมื่อเดินผ่านประตูช้างเข้าไปจะพบกับสนามหญ้าเขียวขจีในเขตวัง เริ่มต้นสำรวจความรุ่งเรืองในอดีตโดยเลี้ยวขวาแล้วเดินขึ้นบันไดสู่ชั้นสอง เพื่อชมความงามของ Ratan Daulat หรือ Diwan-e-Aam ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีสถานะเป็นท้องพระโรงที่ตั้งของบัลลังก์พิธีราชาภิเษกทำจากหินอ่อนสีขาวทั้งหลังที่ยังคงความงามอย่างสมบูรณ์

Bundi
ประติมากรรมรูปช้างประดับอยู่ตามหัวเสาในพระราชวังบุนดี
Photo: mowgli1854

จากนั้นจะเข้าสู่พื้นที่ของ Chhatra Mahal วังที่สร้างขึ้นเพิ่มเติมในรัชสมัยของ Rao Raja Shatrushal Singh ในปี ค.ศ. 1644 บริเวณนี้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามหลายแห่ง แต่น่าเสียดายที่หลุดลอกไปตามกาลเวลาหลายจุด เช่นเดียวกับภาพวาดบนฝาผนังใน Phool Mahal หรือพระราชวังดอกไม้ ที่มีระเบียงหน้าต่างฉลุลายโปร่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์ทะเลสาบ Phool Sagar ได้อย่างชัดเจน

Bundi

Bundi
จิตรกรรมใน Badal Mahal

อีกหนึ่งไฮไลท์ห้ามพลาด ได้แก่ Badal Mahal หรือพระราชวังก้อนเมฆ ที่โดดเด่นด้วยภาพเขียนฝาผนังซึ่งยังคงความงดงามและค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อแหงนคอตั้งบ่าขึ้นมองบนเพดานจะพบศิลปะแบบจีนผสมผสานอย่างลงตัว

Bundi
สวนสวยในบริเวณ Chitra Sala
Photo: mowgli1854

ปิดท้ายกันที่ Chitra Sala พระราชวังที่มีสวนสวยช่วยเพิ่มสีสันให้ฉากหลังของพระราชวังสีทรายดูมีชีวิตชีวาขึ้น จิตรศาลาโดดเด่นด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังรอบทิศที่เลือกใช้สีเทอร์ควอยส์ แดง และดำ บันทึกเรื่องราวต่างๆ ทั้งจากตำนานของเทพยดาและวิถีชีวิตในรั้วในวังไว้อย่างละเอียด 

Bundi

Bundi
จิตรกรรมฝาผนังใน Chitra Sala

อย่างที่เกริ่นไว้ว่าควรเผื่อเวลามาชมพระราชวังบุนดีตั้งแต่หัววัน เพราะเต็มไปด้วยรายละเอียดให้คนชอบประวัติศาสตร์ได้ละเลียดเวลาศึกษาร่องรอยอดีตได้นานๆ และคนที่ชอบถ่ายภาพก็เพลินกับการรัวชัตเตอร์แบบไม่หยุดกับฉากหลังแสนมลังเมลืองของวังเก่าแก่ ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนไม่มาก จึงแทบจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวทำให้ไม่ต้องเร่งรีบแต่อย่างใด

Bundi

Bundi
เสาชิงช้าโบราณในเขตวัดภายในพระราชวังบุนดี (บน)
ป้ายห้ามเข้าพบเห็นได้บ่อยในหลายโซนของวัง (ล่าง)

เสร็จสิ้นการชมพระราชวังบุนดีแล้ว ใครชอบเดินไฮกิ้งเบาๆ แนะนำให้ลัดเลาะไปตามแนวกำแพงวังเพื่อเยี่ยมชม ป้อมธาราการห์ (Taragarh Fort) ที่อยู่เหนือพระราชวังไปอีกราว 2 กิโลเมตร เส้นทางไม่ลำบาก แค่ต้องระมัดระวังฝูงลิงเจ้าถิ่น แนะนำว่าไม่ควรถือของกินหรือข้าวของไว้ในมือ และอาจหาไม้มาถือติดมือไว้ขณะเดิน พร้อมส่งเสียงดังเป็นพักๆ กำราบลิงไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย

ฺBundi
Rani Mahal
Photo: mowgli1854

ป้อมธาราการห์ เป็นป้อมปราการเก่าแก่ที่สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 14 เมื่อขึ้นมาถึงบนนี้แน่นอนว่าจะได้เห็นทิวทัศน์เมืองบุนดีกว้างไกลสุดสายตา และบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของ Rani Mahal หรือพระราชวังราณี ลักษณะคล้ายแมนชั่นสองชั้นขนาดกว้างขวางที่แต่ละโถงแต่ละห้องเชื่อมต่อกันไปเรื่อยๆ ราวกับไม่มีจุดสิ้นสุด บวกกับการที่ถูกทิ้งไว้ให้รกร้างจึงแนะนำว่าไม่ควรไปเที่ยวที่นี่ตามลำพัง เพราะบรรยาศค่อนข้างเปลี่ยว วังเวง และอาจเสี่ยงอันตรายได้ แต่ถ้าไปกันหลายคนก็ไม่อยากให้พลาดการได้เยี่ยมชมบรรยากาศที่อยู่อาศัยของหญิงสาวชาววังในครั้งโบราณ ที่แอบซ่อนอยู่ในอ้อมกอดของป้อมปราการแห่งนี้

Bundi

Bundi
วัดพระศิวะ
Photo: mowgli1854

ไม่ไกลจากป้อมธาราการห์มีบ่อน้ำขั้นบันไดร้างขนาดเล็กหนึ่งแห่งที่หากใครสนใจสามารถถ่ายภาพสวยๆ เก็บไว้ได้ และในเส้นทางเดียวกันนี้ยังมี วัดพระศิวะ ให้แวะไปชมอีกหนึ่งความสวยงามของศิลปะแห่งเมืองบุนดี ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงวิหารแห่งนี้ก็น่าจะใกล้ถึงเวลาอาทิตย์อัสดงลับเหลี่ยมเขาอราวัลลี เหมาะแก่การบันทึกภาพความงามเก็บไว้เป็นความทรงจำ (แต่ควรเผื่อเวลาเดินกลับลงไปให้ทันก่อนปิดประตูวังเวลา 18.00 น. ขากลับจะใช้เวลาเดินไม่เกินครึ่งชั่วโมง)

Bundi

Bundi
บ่อน้ำขั้นบันไดบริเวณป้อมธาราการ์ (บน)
อาทิตย์อัสดงเหนือเทือกเขาอราวัลลี (ล่าง)

 

ตระเวนชม ‘บ่อน้ำขั้นบันได’ ที่แทรกตัวอยู่ทั่วเมือง

ชิมลางกันที่บ่อน้ำขั้นบันไดร้างในเขตวังกันไปแล้ว ถึงเวลาสัมผัสความงามของ ‘บาวรี’ ทั่วเมืองบุนดีกันต่อ เพราะใน Lonely Planet บันทึกไว้ว่าเมืองเล็กแห่งนี้เคยมีบ่อน้ำขั้นบันไดไว้ใช้งานมากถึง 60 แห่ง! 

แต่น่าเสียดายที่ในปัจจุบัน บาวรีทุกแห่งไม่สามารถใช้งานตามฟังก์ชั่นเดิมอย่างการนำน้ำใต้ดินมาใช้งานได้อีกต่อไป เพราะทุกบาวรีเต็มไปด้วยขยะอุดตันและน้ำเน่าเสีย บ่อน้ำขั้นบันไดจึงเปลี่ยนสถานะมาเป็นโบราณสถานสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้แวะมาเยี่ยมชมภูมิปัญญาของชาวอินเดียโบราณแทน 

Bundi
ซุ้มประตู Toran Gate แห่ง Raniji-Ki-Baori
Photo: mowgli1854

พิกัดแรก มุ่งหน้าเดินออกนอกเขตกำแพงเมืองไปทางใต้ สัมผัสความงดงามของราชินีแห่งบ่อน้ำขั้นบันไดในเมืองบุนดีอย่าง Raniji-Ki-Baori ที่มีความหมายตรงตัวว่า บาวรีของราณี (หรือราชินี) เพราะถูกสร้างขึ้นตามบัญชาของ Rani Nathawat มเหสีของ Rao Raja Anirudh Singh โดยบาวรีแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยที่ลูกชายของพระนางปกครองเมืองในปี ค.ศ. 1757

ฺีืBundi
บรรยากาศภายใน Raniji-Ki-Baori
Photo: mowgli1854

ความงดงามราณีบาวรีคือนิยามของคำว่า สวยชวนตะลึง ขนานแท้ เพราะบาวรีแห่งนี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่ยักษ์อลังการอย่าง Chand Baori (จันทบาวรี) บ่อน้ำขั้นบันไดชื่อดังในหมู่บ้านอภาเนรีของราชสถาน แต่ราณีบาวรีเป็นบ่อน้ำไซส์กำลังดีที่แทรกตัวอย่างกลมกลืน เป็นส่วนหนึ่งของตลาด ร้านค้า และบ้านเรือนของชาวเมืองบุนดี ด้านนอกของบาวรีล้อมรอบด้วยสวนขนาดเล็กร่มรื่น ราวกับเป็นอินโทรเบาๆ ก่อนจะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ด้วยซุ้มประตู Toran Gate ประติมากรรมของช่างฝีมือโบราณที่สลักเสลาศิลาให้มีลวดลายอ่อนช้อย หรูหรา และประณีตงดงาม ประทับด้วยรูปสลักช้าง ซิกเนเจอร์ของเมืองบุนดีที่มักพบเห็นในทุกโบราณสถานสำคัญๆ 

Bundi
มองจากภายใน Raniji-Ki-Baori ไปยังซุ้มประตูทางเข้า
Photo: mowgli1854

หายตะลึงแล้วก็ค่อยๆ เดินลงบันไดนับร้อยขั้นลงไปอย่างไม่เร่งร้อน ไล่สายตาสำรวจฝีมือของช่างสลักในยุคเก่าก่อนที่ใช้ศรัทธาในการประดิดประดอยรูปสลักของเทพและเทวีฮินดูหลายองค์ ทั้งพระพิฆเนศวร พระแม่สรัสวตี พระศิวะ ฯลฯ ให้ปรากฏอยู่บนผืนกำแพงที่ทอดลงไปสู่บ่อน้ำความลึกกว่า 46 เมตร

Bundi
รูปสลักภายใน Raniji-Ki-Baori
Photo: mowgli1854

ความสวยลึกลับชวนค้นหาและงดงามในแบบที่ต้องพิศชมนานๆ ของราณีบาวรี น่าจะสะกดให้ใครหลายคนใช้เวลาอยู่ที่บ่อน้ำโบราณแห่งนี้นานเป็นพิเศษ พลางจินตนาการถึงวิถีชีวิตของผู้คนเมื่อสองศตวรรษที่แล้วว่าพวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร และมีศักดิ์ศรีเป็นถึงขั้นบ่อน้ำราชินี ฉะนั้นแล้วสามัญชนมีสิทธิ์หาบน้ำไปใช้ได้หรือไม่ หรือแท้จริงแล้วมีระบบทดน้ำที่อำนวยความสะดวกมากกว่าที่ดวงตาของมนุษย์ยุคปัจจุบันมองเห็น ประติมากรรมเทพเทวีมากมายพลอยทำให้ที่นี่มีสถานะเป็นวัดสำหรับประกอบพิธีทางศาสนาด้วยรึเปล่า ฯลฯ

หลากหลายคำถามย่อมเกิดขึ้นมากมาย เมื่อบรรยากาศแห่งความขรึมขลังเป็นใจ

Bundi

Bundi
Dhabhai Kund
Photo: mowgli1854

จากราณีบาวรีสามารถเดินเท้าไปสู่อีกหนึ่งบ่อน้ำขั้นบันไดขึ้นชื่อของเมืองบุนดีอย่าง Dhabhai Kund บ่อน้ำขั้นบันไดที่ใหญ่ที่สุดของเมือง มีลักษณะคล้ายพีระมิดกลับหัว ด้วยองศาของบันไดที่ทอดลงไปสู่ก้นบ่อซึ่งออกแบบตามหลักเรขาคณิตอย่างลงตัว Dhabhai Kund มีอีกสมญาว่า บ่อเสือคำราม เพราะในอดีตเคยมีเสือตกลงไปในบ่อน้ำแห่งนี้และเอาแต่ส่งเสียงร้องคำรามกึกก้อง เพราะไม่มีใครสามารถช่วยมันขึ้นมาได้

Bundi
Nagar Sagar Kund

ความเก๋อีกประการของบุนดี คือ มีบ่อน้ำขั้นบันไดแฝด ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่าใกล้ประตูเมือง Chauhan คู่แฝดนี้มีชื่อว่า Nagar Sagar Kund แทรกตัวอยู่ท่ามกลางตลาดอันขวักไขว่ นาการ์กับซาการ์ถูกแยกจากกันด้วยถนนเส้นเล็กๆ ดีกรีความลึกของบ่อชวนให้หวาดเสียวเช่นเดียวกับทุกบาวรี อดนึกไม่ได้ว่าคนโบราณต้องลำบากลำบนแค่ไหนกว่าจะมีน้ำไว้กินใช้บริโภค โดยเฉพาะในรัฐราชสถานที่ตั้งอยู่ในเขตทะเลทรายอันร้อนแล้ง บาวรีจึงแทบจะเป็นหัวใจของวิถีชีวิตผู้คนที่นี่ก็ว่าได้

Bundi
Nahar Dhuns Ki Baori
Photo: mowgli1854

ถ้ายังอยากสำรวจพิกัดอื่น ๆ ของบาวรี สามารถเดินซอกแซกไปตามถนนหนทางในเมืองเพื่อตามหาบ่อน้ำขั้นบันไดลับได้อีกหลายแห่ง เช่น Nahar Dhuns Ki Baori ที่อยู่ไม่ไกลจากบ่อเสือคำราม บริเวณปากทางเข้าทำหน้าที่เป็นศาสนสถานไปในตัว มีรูปเคารพพระศิวะ พระพรหมณ์ พระพิฆเนศวร ฯลฯ ให้ผู้ที่ศรัทธาได้บูชา บาวรีบางแห่งที่แทรกตัวอยู่ในชุมชนมักล้อมด้วยลูกกรงและล็อกกุญแจไว้ ถ้าสนใจเข้าไปเยี่ยมชมจริง ๆ สามารถเมียงมองไปตามร้านขายของชำละแวกนั้น อาจมีคุณลุงผู้คุมกุญแจใจดีอาสาเปิดประตูให้เข้าไปถ่ายรูปได้แบบไม่หวง

เก็บตกที่กิน ที่เที่ยว และช้อปของฝากที่มีชิ้นเดียวในโลก

บุนดียังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าไปเยี่ยมชมอีกหลายแห่ง อาทิ 84 Pillared Cenotaph อนุสรณ์สถานเก่าแก่ที่มหาราชาอนิรุธ (Anurudh) ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1683 เพื่อรำลึกถึงน้องชายบุญธรรม มีลักษณะเด่นเป็นหลังคาทรงฉัตร โครงสร้างหลังประกอบด้วยเสา 84 ต้นสมชื่อ ตรงกลางอาคารเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์สำหรับเคารพบูชา สามารถเดินขึ้นไปชมทิวทัศน์เมืองบุนดีได้กว้างไกลตา

Bundi
84 Pillared Cenotaph
Photo: mowgli1854

ใครที่ชอบเสพงานศิลปะน่าจะต้องใช้เวลาอยู่ที่อนุสรณ์สถาน 84 เสานานเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมที่สลักเสลาประดับประดาในทุกรายละเอียด และภาพเขียนสีบนเพดานที่โดดเด่นด้วยลวดลายปลาและหญิงสาว รายล้อมด้วยกิจวัตรต่าง ๆ ของผู้คนในสมัยนั้น เช่น ภาพคนเล่นมวยปล้ำ นักดนตรีชายและหญิงกำลังดีดวีณา (เครื่องดนตรีอินเดีย) ฯลฯ หากเพ่งมองในรายละเอียดจะรู้สึกอิ่มเอมกับอนุสรณ์สถานแห่งนี้ดียิ่งขึ้น

Bundi

Bundi
ประติมากรรมและภาพเขียนใน 84 Pillared Cenotaph

ในวันที่อากาศดีเหมาะแก่การเดินชมนกชมไม้ บุนดีมีทะเลสาบ 2 แห่งให้เลือกชิลตามอัธยาศัย แห่งแรกคือ Nawal Sagar ที่อยู่ใจกลางย่านเมืองเก่า สามารถเดินเล่นรอบ ๆ ทะเลสาบที่สะท้อนภาพของบ้านเรือนและพระราชวังบุนดีไว้บนผืนน้ำที่มีบรรดานกน้ำบินหากินอยู่โดยรอบ 

Bundi
พระราชวังฤดูร้อน Sukh Mahal
Photo: mowgli1854

จุดหมายอีกแห่ง ได้แก่ พระราชวังฤดูร้อน Sukh Mahal ริมทะเลสาบ Jait Sagar สถานที่ซึ่งรัดยาร์ด คิปลิง เคยมาพักที่พระราชวังแห่งนี้และเขียนบางส่วนของวรรณกรรมเรื่อง Kim ขึ้นที่นี่ ซึ่งในอดีตเคยรายล้อมด้วยแมกไม้ดอกไม้เขียวขจี มีฉากหลังเป็นภูเขาและทะเลสาบที่อุดมไปด้วยบัวนานาชนิด ในขณะที่ปัจจุบัน ‘พระราชวังแห่งความสุข’ ถูกทิ้งให้รกร้าง ห้องหับถูกล็อกกุญแจ เยี่ยมชมได้เฉพาะบริเวณระเบียงโดยรอบ บัวในทะเลสาบก็เน่าตายเปลี่ยนผืนน้ำเป็นสีดำ การไปเยี่ยมเยือนที่นี่อาจจะไม่ได้สร้างความประทับใจมากนัก เพียงแค่ไปดูให้รู้ให้เห็นว่าหากขาดการดูแลใส่ใจ สถานที่แห่งความสุขก็มิอาจสร้างความสุขใจได้สมดังชื่อที่ตั้งไว้

Bundi
ภาพวาด Miniature ของฝากจากบุนดี

เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของเมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะทุกอณูอย่างบุนดีจนครบ ถึงเวลาหาซื้อของฝากติดไม้ติดมือกลับไทย ซึ่งตัวแทนที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของบุนดีได้เป็นอย่างดี ก็คือ ภาพวาด Miniature เป็นภาพเขียนสีที่ถอดแบบมาจากจิตรกรรมฝาผนังที่เราเห็นในวัง โดยบรรดาศิลปินในบุนดีนำเอกลักษณ์ของภาพเขียนสีดังกล่าวมาบันทึกไว้บนโปสการ์ดมือสอง ที่เมื่อนำมาวาดรูปทวยเทพ สรรพสัตว์ สารพัดเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นแล้วระบายสีทับลงไป เท่านี้ก็เป็นของฝากที่ผู้รับต้องตาลุกวาว

Bundi
ยุกกำลังวาดเขียนภาพเหมือนในสไตล์ Miniature

และยิ่งพิเศษกว่านั้นหากคุณอยากมีภาพเหมือนของตัวเอง คนที่คุณรัก รวมถึงสัตว์เลี้ยงแสนรักในรูปแบบ Miniature สามารถใช้บริการได้ที่ Yug Art สตูดิโอของ ยุก ปราสาท นักวาดเขียนยืนหนึ่งแห่งบุนดีที่เป็นต้นตำรับงานวาดภาพเหมือนตามสั่งเจ้าแรกที่ให้บริการมานานกว่า 20 ปี คุณสามารถเจรจากับยุกได้ว่าอยากให้ภาพเหมือนในจินตนาการออกมามีฉากหลังแบบไหน ทำท่าทางอะไร แต่งตัวอย่างไร ฯลฯ หรือจะให้ยุกเติมแต่งองค์ประกอบในสไตล์ภารตะลงในภาพวาดก็ได้ รับประกันความประทับใจ

Yug Art : ตั้งอยู่ใกล้กับ Surang Gate ไม่ไกลจากทางเข้าชมพระราชวังบุนดี

IG : yugartist

Bundi

Bundi
กฤษณะ เจ้าของร้านชามาซาลาเจ้าอร่อยแห่งบุนดี (บน) สารพัดเครื่องเทศที่เป็นส่วนผสมเข้มข้นในมาซาลาจัย (ล่าง)

มาถึงบุนดีทั้งที ถ้าไม่ได้ดื่มชามาซาลาที่ Krishna’s Chai ก็เหมือนมาไม่ถึง สำหรับร้านชาขวัญใจนักท่องเที่ยวเจ้านี้ ไม่จำเป็นต้องระบุพิกัดก็รับรองว่าต้องหาเจอ เพราะร้านตั้งอยู่ระหว่างทางเดินไปยังพระราชวังบุนดี และมีลูกค้านั่งจิบชาอยู่ในร้านทั้งวันทั้งคืน หม้อต้มชาของคุณลุงกฤษณะจึงวนเวียนอยู่บนเตาไฟมาตั้งแต่ ค.ศ. 1999 และยังเข้มข้นด้วยสารพันเครื่องเทศทั้งขิง กระวาน กานพลู พริกไทย และอบเชยในปริมาณถึงเครื่อง ชาทุกแก้วต้มใหม่หม้อต่อหม้อ พิถิพิถันเสียจนสัมผัสได้ถึงรสชาติเข้มข้นเผ็ดร้อน แตกต่างจากชามาซาลาเจ้าอื่นจนสัมผัสได้

Bundi
ผนังที่เต็มไปด้วยความทรงจำของนักเดินทางภายในร้าน Krishna’s Chai

ปิดท้ายด้วยพิกัดสำหรับฝากท้องให้อิ่มในทุกมื้อ แนะนำห้องอาหาร The Blue Door บนชั้นดาดฟ้าของ Zostel Bundi ซึ่งเสิร์ฟทั้งอาหารอินเดียและอาหารนานาชาติในราคาย่อมเยา รสชาติถูกปากคนไทยแน่นอน เหมาะสำหรับคนที่อยากเปิดใจทำความรู้จักอาหารอินเดีย หรือถ้ากินอาหารอินเดียจนเบื่อแล้วอยากเบรกรสชาติด้วยแซนด์วิช พิซซ่า หรือจะลองม็อกเทลรสหมาก! มาลองได้ที่อีกหนึ่งของดีประจำบุนดีแห่งนี้ได้เลย

FB : TBD – The Blue Door

Bundi
เมนูอร่อยสไตล์ภารตะที่ The Blue Door

* สนับสนุนการเดินทางโดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย บินตรงสู่ชัยปุระ ตรวจสอบเที่ยวบินและจองตั๋วเครื่องบินได้ที่ www.airasia.com

เตรียมตัวก่อนไปบุนดี

  • ช่วงที่เหมาะที่สุดในการไปเที่ยวบุนดี คือ ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวที่อากาศเย็นสบาย อุณหภูมิราว 10-25 องศาเซลเซียส
  • หลีกเลี่ยงการไปบุนดีในฤดูร้อน (เมษายน - มิถุนายน) เพราะอากาศร้อนจัด อุณหภูมิอาจพุ่งสูงแตะ 50 องศาเซลเซียส
  • จากชัยปุระสามารถเดินทางต่อไปยังบุนดีได้ทั้งทางรถไฟและรถโดยสาร ระยะทางราว 210 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง
  • ลองหาโอกาสเข้าพักในโรงแรมที่ดัดแปลงจากฮาเวลีเก่า เพื่อเข้าถึงอารมณ์ของเมืองได้ดียิ่งขึ้น
  • กิจกรรมยามว่างของชาวเมือง คือ การเล่นว่าว มีร้านขายว่าวอยู่ทุกหัวมุมเมือง สามารถซื้อหาและฝึกเล่นว่าวได้ตามชอบใจ
  • การเดินทางไปอินเดียสามารถทำ VISA ออนไลน์ได้ภายใน 72 ชั่วโมงในราคาหลักร้อย (ประมาณ 800 กว่าบาท)
  • เดินทางสะดวกที่สุดด้วยสายการบินแอร์เอเชียที่บินตรงสู่อินเดียมากที่สุดถึง 9 เมือง ถึงที่หมายตรงเวลาในราคาสุดคุ้ม