“ในช่วงชีวิตของฉันเจออุบัติเหตุร้ายแรงอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือการต้องอยู่บนรถเข็น สองคือดิเอโก และดิเอโกนั้นเลวร้ายที่สุด”
– ฟรีด้า คาห์โล
เป็นประโยคแสนร้ายกาจที่ฟรีด้าพูดถึงดิเอโกผู้เป็นสามีของเธอ ในตอนที่เธอจับได้ว่าเขามีสัมพันธ์ลับๆ กับ ‘คริสตินา’ น้องสาวในไส้ของเธอ
ความเจ็บปวดที่ถูกหักหลังได้เป็นแรงบันดาลใจให้ฟรีด้าวาดภาพที่มีชื่อเสียงงานหนึ่งของเธออย่าง Memory, the Heart (1937) รูปวาด Self Portrait ที่ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกแต่กลับเต็มไปด้วยหยาดน้ำตา แท่งเหล็กทะลุอกข้างซ้ายที่กลวงโบ๋และที่ปลายแท่งเหล็กนั้นมีกามเทพคล้ายกำลังเล่นไม้กระดก
หัวใจขนาดใหญ่เลือดอาบสีแดงข้างแม่น้ำที่แสดงถึงความสิ้นหวังมหาศาลของเธอถูกวางทิ้งไว้บนพื้น พื้นหลังที่มีชุดนักเรียนและชุดพื้นเมือง ‘ตีฮัวนา’ (Tehuana) ที่มีแขนเพียงข้างเดียว โดยตัวเธอที่ไร้แขนเป็นตัวแทนของความรู้สึกหมดหนทาง
ความรู้สึกแตกสลาย เสียใจ และผิดหวังอย่างมหาศาลของเธอต่อดิเอโกอัดแน่นรวมกันอยู่ในภาพนี้
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสามีที่มีต่อเธอ
ฟรีด้า คาห์โลได้ชื่อว่าเป็นจิตรกรสาวชาวเม็กซิกันผู้อาภัพ ตั้งแต่เกิดจนช่วงเวลาที่มีอยู่ชีวิตเธอประสบทั้งโรคภัยอย่างโรคไขสันหลังอักเสบและโปลิโอที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยง และประสบอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ทำให้เธอต้องใช้ชีวิตอย่างทรมานบนรถเข็นและเตียงนอน รวมทั้งชีวิตรักของเธอที่ไม่ได้สวยงามอย่างภาพวาด
ความเจ็บปวดที่เธอเผชิญเหล่านั้นเป็นแรงขับเคลื่อนให้เธอรังสรรค์งานศิลปะที่แปลกใหม่ แฝงไปด้วยความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นภายใน
งานของเธอโดดเด่นด้วยสีสันที่ฉูดฉาด การวาดภาพเหนือจริง (Surrealism) ที่เธอบอกทุกอย่างมันคือความจริง (Reality) ที่เผชิญ ทำให้เธอกลายเป็นจิตรกรแถวหน้าของเม็กซิโก
ต่อมาเธอได้แต่งงานกับจิตรกรวาดจิตรกรรมฝาผนังที่โดดเด่นอย่าง ดิเอโก ริเวรา(Diego Rivera) ผู้ชื่นชมและหลงรักในภาพวาดของเธอ ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัว ทั้งเรื่องอายุที่ห่างกันมาก และความแตกต่างของขนาดตัวที่ดูไม่สมส่วน
ทว่าในห้วงแห่งรัก มิอาจมีสิ่งใดต้านทานความรักที่ทั้งคู่มีให้กันได้
แต่ความรักที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะมีแรงดึงดูดในช่วงแรกเท่านั้น เพราะหลังจากเข้าสู่ประตูวิวาห์ชีวิตแต่งงานของเธอกลับเต็มไปด้วยหนามมากกว่าจะเป็นกลีบกุหลาบ
แทบจะตลอดชีวิตคู่ฟรีด้าต้องเผชิญกับความขัดแย้งความเจ็บปวด การโกหกหักหลัง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีบางช่วงเวลาที่มิตรภาพของทั้งคู่ผลิบานและเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานของกันและกัน
ในนิทรรศการภาพถ่าย Diego & Frida: A Smile in the Middle of the Way ได้รวบรวมภาพถ่ายขาว-ดำที่ถ่ายโดยครอบครัว เพื่อน ช่างภาพ ไม่ต่ำกว่า 50 ภาพ เล่าช่วงเวลาชีวิตรักของคู่รักจิตรกร ดิเอโกและฟรีด้า
ไม่ว่าจะในช่วงเวลาที่เจ็บปวดจากโรคภัยของฟรีด้าที่มีสามีอย่างดิเอโกอยู่เคียงข้าง
ช่วงการสร้างสรรค์ผลงานของเขาและเธอที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของกันและกัน
เวลาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดที่ทั้งคู่ได้เดินทางไปแสดงงานศิลปะไกลถึงอเมริกา
ภาพแสดงความรักอันหวานชื่นให้แก่กัน หรือแม้แต่ช่วงเวลาที่เลิกราแล้วกลับอยู่ด้วยกันอีกครั้ง
ภาพเหล่านั้น ไม่ได้มีเพียงแต่ความเจ็บปวด ความขัดแย้ง ความผิดหวัง แต่ยังมีความสุข รอยยิ้ม และความรักที่ทั้งคู่มีต่อกันจนตราบลมหายใจสุดท้าย
งานนิทรรศการภาพถ่ายขาว-ดำ Diego & Frida: A Smile in the Middle of the Way จัดขึ้นโดยสถานทูตเม็กซิโกประจำประเทศไทยร่วมกับ สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ BJC/BIG ที่ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 1 อาคารพิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 8-28 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา
อ้างอิง:
- Fridakahol.org. Frida Kahlo and her paintings.https://www.fridakahlo.org/
- Brit Dawson. Frida Kahlo in her own words. https://www.dazeddigital.com/art-photography/article/38331/1/frida-kahlo-in-her-own-word