©ulture

เบื้องหลังทรงผมที่เป็นได้ทั้งกฎระเบียบที่เคร่งครัด และแฟชั่นที่อยู่เหนือทุกกฎเกณฑ์

เมื่อนึกถึงผมเกรียน เครื่องแบบแรกที่หลายคนนึกถึงคือ ทหาร และด้วยความที่ทรงผมของทหารคือหนึ่งในกฎระเบียบข้อบังคับ จึงไม่สามารถมีดีไซน์หรือลูกเล่นอะไรได้มากไปกว่าการตัดผมให้สั้นทั้งศีรษะ โดยด้านข้างต้องไถให้สั้นจนขาว และความยาวด้านบนต้องไม่เกิน 2-3 ซม. ซึ่งชายไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับผมทรงนี้ดี แม้จะไม่ได้เป็นทหาร เพราะกฎระเบียบเดียวกันนี้ถูกนำมาบังคับใช้ในผมทรงนักเรียนเช่นกัน

crew cut

แต่ถ้าเราบิดคำ โดยไม่พูดว่าผมทรงทหารหรือผมทรงนักเรียน ความเกรียนของเส้นผมที่สั้นจนแทบจะติดหนังศีรษะยังมีอีกหลายชื่อเรียกและดีไซน์ที่เปลี่ยนความรู้สึกที่มีต่อการไถผมจนสั้นกุด ให้กลายแฟชั่นที่น่าสนใจได้ทันที

ชื่อของผมทรงต่างๆ ดังกล่าวก็อย่างเช่น Crew Cut, Buzz Cut, Flat Top, Ivy League, Skinhead ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นทรงผมที่ต้องอาศัยปัตตาเลียนไถเส้นผมเกือบทั้งศีรษะออกจนสั้นเตียน แล้วโฟกัสไปที่ศิลปะของการเหลือความยาวของผมด้านบนเอาไว้ ว่าเหลือแค่ไหน และเซตอย่างไรให้ออกมาสมาร์ทและดูดี จนทำให้ผมเกรียนกลายเป็นเครื่องแบบที่บ่งบอกบุคลิกและทัศนคติของชายหนุ่มเจ้าของผมทรงนั้นๆ ไปในตัว

crew cut
Photo: https://www.pinterest.com/pin/357332551666255153/

ทรงผมของนักศึกษาหัวกะทิ หรือนักแหกกฎเกณฑ์ ?

รู้หรือไม่ว่า ที่จริงแล้วผมทรงทหารไม่ได้มีจุดกำเนิดในกองทัพ แต่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาของนักเรียนระดับหัวกะทิ โดยทีมนักพายเรือของกลุ่มมหาวิทยาลัยแถวหน้าของสหรัฐอเมริกาอย่างไอวี ลีก (Ivy Leaque) อาทิ Harvard University, Princeton University, Yale ฯลฯ ได้ดัดแปลงทรงผมให้แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1900 เพื่อความทะมัดทะแมงในการพายเรือ จนกลายเป็นชื่อทรงผมที่ได้รับความนิยมจนถึงทุกวันนี้

crew cut
Photo: https://envisioningtheamericandream.com/2012/07/26/how-to-look-butch-in-your-crew-cut/

 

ลักษณะของผมทรงไอวี ลีก จะเน้นการเลี้ยงผมด้านบนไว้ให้มากพอที่จะจัดทรงหรือแสกข้างได้ ส่วนผมด้านข้างก็ไม่ได้ไถให้สั้นเตียนจนเกินไป ผมทรงนี้จึงแลดูเรียบร้อย ภูมิฐาน คงแก่เรียน และเรียบเท่อย่างมีชั้นเชิงไปในตัว

 

crew cut

ในขณะที่ทรงครูว์ คัท (Crew Cut) หรือที่หลายคนเรียกกันว่าผมทรง G.I. ก็มีความคล้ายทรงไอวี ลีก และถือเป็นผมเกรียนในแบบฉบับชายชาติทหาร โดยมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 จุดประสงค์ดั้งเดิมของการกร้อนผมให้เกรียนก็เพื่อสุขอนามัยที่ดีของทหารเรือ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่จำกัดระหว่างสงคราม

crew cut
ทหารอเมริกันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังตัดผมกลางแจ้งในเขตโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส กลางเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1918

 

ผมทรงครูว์คัทมีลักษณะไถด้านข้างออกจนสั้นเตียน โดยสามารถเฟดไล่ระดับจากผมด้านบนลงมาด้านล่าง และไว้ผมด้านบนให้ยาวได้พอสมควร

crew cut
Photo: https://menshaircutstyle.com/mens-flat-top-haircut/

 

ส่วน แฟล็ท ท็อป (Flat Top) ก็เป็นแฟชั่นเก็บตกมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เช่นกัน โดยเป็นการเพิ่มลูกเล่นของผมด้านบนที่ไว้ให้สั้นหนา แล้วปาดเป็นแนวตรง หรือตัดให้สั้นรับกับผมด้านข้างและด้านหลัง จนดูเหมือนกับลานบิน

crew cut
เกรซ โจนส์ ผู้ทำให้ผมทรงลานบินเป็นที่รู้จักในยุค 80 Photo: http://www.howretro.com/2011/09/crew-cut.html

และเมื่อทหารอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2509 คนไทยในยุคนั้นจึงเรียกขานทรงผมของทหารจีไอทั้งหลาย ที่ไม่ได้ตัดผมสั้นเกรียนเหมือนทหารไทยในยุคนั้นว่า ทรงอเมริกันลานบิน 

ในช่วงเวลาไม่กี่ปีหลังจากนีี้ ประเทศไทยเองก็ได้รับเอาอิทธิพลของทรงผมและเครื่องแบบของทหารญี่ปุ่นที่ยาตราทัพเข้ามาเหยียบแผ่นดินไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเป็นเครื่องแบบของนักเรียนไทย โดยกระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2515) ให้นักเรียนชายตัดผมสั้นเกรียน และนักเรียนหญิงตัดผมสั้นในช่วงติ่งหูถึงปกเสื้อนักเรียนที่เราคุ้นตาจนถึงปัจจุบัน

มาถึงทำเนียบความสั้นของเส้นผมที่เกรียนเท่ากันทั่วทั้งศีรษะอย่าง สกินเฮด (Skinhead) กันบ้าง ที่คนไทยเรารู้จักคำนี้โดยทั่วกันจากการปรากฏกายของ คีอานู รีฟส์ ในภาพยนตร์เรื่อง Speed (1994) ที่ปฏิบัติการเท่ทะลุจอของเขาทำเอาหนุ่มไทยพากันตบเท้าเข้าบาร์เบอร์ ให้ช่างไถผมออกทั้งหัวเลียนแบบพระเอกดังกันทั้งเมือง

skinhead
คีอานู รีฟส์ ผู้นำเทรนด์ผมทรงสกินเฮดแห่งยุค 90
Photo: https://www.reddit.com/r/KeanuReeves/

ที่มาของผมเกรียนรับกับใบหน้าเรียวๆ ของคีอานูในภาพยนตร์เรื่องนี้ บัญชาการโดย ยาน เดอ บองต์ (Jan de Bont) ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่ยืนยันว่า ทรงผมเกรียนจะเสริมบุคลิกให้นายตำรวจบนรถบัสติดระเบิดคันนี้ดูเป็นคนที่กรำงานหนักสมบทบาทยิ่งขึ้น ซึ่งขัดใจสตูดิโอต้นสังกัดอย่าง 20th Century Fox ที่กังวลกับผมสั้นกุดของพระเอก จนถึงกับสั่งให้เลื่อนการถ่ายทำออกไปก่อน เพื่อรอให้ผมของคีอานูยาวขึ้น ส่วนผลลัพธ์ที่เราประจักษ์กันทางภาพยนตร์คงแทนคำตอบได้ดีว่างานนี้ใครชนะ

เหตุผลที่สตูดิโอใหญ่ไม่อยากให้พระเอกปรากฏตัวด้วยผมเกรียนในทุกฉาก เพราะประวัติศาสตร์ของสกินเฮดปักธงดีกรีความเป็นขบถเต็มขั้นมาแต่ไหนแต่ไร ใครเลยจะอยากเอาหนังทั้งเรื่องไปเสี่ยง

skinhead

สกินเฮดมีต้นกำเนิดในปี 1950 และเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพของสหราชอาณาจักรในทศวรรษที่ 1960 ก่อนที่จะแพร่ความนิยมไปทั่วยุโรป อเมริกาเหนือ และทวีปอื่นๆ ในทศวรรษถัดมา

พอเข้าสู่ยุค 80 เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาวสกินเฮดบางพวกเริ่มเกลียดชังชาวต่างชาติที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากและสร้างเนื้อสร้างตัวจนมั่งคั่ง ลามไปสู่การเหยียดผิวและนิยมความรุนแรง เช่น นีโอนาซี ที่เมื่อพ่วงด้วยการเพิ่มรอยสักตามแขนหรือลำตัว สวมรองเท้าหุ้มข้อ เข้ากับบอมบ์เบอร์แจ็คเก็ตแบบนักบิน ภาพจำของชาวสกินเฮดจึงมีนัยยะของการต่อต้านสังคมสุดขั้วแฝงเอาไว้จนแทบแยกไม่ออก

skinhead

กาลเวลาล่วงเลยเข้าสู่ทศวรรษที่ 1990 การแบ่งชนชั้นด้วยทรงผมจึงค่อยๆ เลือนหายไป ผมสั้นเกรียนกลับมาเป็นที่นิยมใหม่อีกครั้ง โดยถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความห้าวหาญและตัวแทนแห่งสไตล์ที่ไม่ประนีประนอม ซึ่งส่วนหนึ่งย่อมมาจากอิทธิพลของนายตำรวจหนุ่มแจ็ค ทราเวน จากหนังดังอย่าง Speed ที่พลิกภาพลักษณ์ของทรงผมขบถสุดขั้วให้กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นที่ไม่ต้องแขวนพ่วงมากับนิยามใดๆ อีกต่อไป

crew cut
ผมทรง Chelsea ของสตรีสายพั้งก์
Photo: https://www.dazeddigital.com/beauty/head/article/49134/1/reverse-mullet-80s-hair-trend-perfect-isolation-look-derek-ridgers-chelsea-cut

สำหรับผู้หญิงนั้นมีไม่มากนักที่จะลุกขึ้นมาตัดผมทรงสกินเฮด แต่มีอีกมากที่เลือกผสมผสานการกร้อนผมและไว้ผมยาวเอาไว้ในศีรษะเดียวกัน เกิดเป็นผมทรง Chelsea สกินเฮดของสาวพั้งก์ ที่ไถผมออกเกือบทั่วทั้งศีรษะ เหลือผมม้าข้างหน้าและไว้ผมยาวด้านข้างตรงส่วนหน้าของบริเวณใบหู ที่จะมาพร้อมการแต่งตัวแบบจัดเต็มด้วยแจ็กเก็ตหนัง สกินนี่ยีนส์ เจาะหู เจาะจมูก เขียนขอบตา และร่างพร้อยไปด้วยรอยสักหรือไม่ ก็แล้วแต่สไตล์เฉพาะบุคคล

ปัจจุบัน การไว้ผมเกรียนไม่ว่าจะด้วยชื่อทรงอะไรก็ตาม จึงกลายเป็นเพียงหนึ่งในวัฒนธรรมย่อยที่ถูกพูดถึงในฐานะแฟชั่นทรงผมและแรงบันดาลใจที่หลายคนหยิบยกไปต่อยอด โดยไม่ต้องพะวงว่าต้องตกอยู่ในฐานะขบถเสมอไป

crew cut

Outfit Guide: ไล่ระดับความเกรียนจากเบอร์ 0 ถึง 8

คำแนะนำจากช่างผมยืนยันว่า ระยะปลอดภัยของมือใหม่หัดไว้ผมเกรียน ควรเลือกใช้ฟันรองตัดเบอร์ 3 ที่จะเหลือความยาวของเส้นผมไว้ที่ 6-10 มิลลิเมตร พอให้เจ้าตัวลูบๆ แล้วยังสัมผัสได้ถึงเส้นผมบนหนังศีรษะ และยังสะดวกต่อการแก้ไขเพิ่มเติมได้ง่ายกว่าการใช้หวีรองตัดเบอร์ 1 ที่จะได้ผมทรงสกินเฮด ผลลัพธ์ที่ถูกใจคนที่อยากได้ผมทรงสบายหัว และไม่ต้องคอยจัดทรงให้เสียเวลา แต่คุณต้องมั่นใจว่ามีรูปทรงศีรษะที่ทุยสวยได้รูปและรับกับใบหน้า

ส่วนใครอยากรู้เพิ่มเติมว่า เกรียนเท่าไหนถึงจะเรียกว่าพอดี พิจารณาได้จากคู่มือทรงผมเกรียนที่ไล่ระดับตามเบอร์ของฟันรองปัตตาเลียน ดังต่อไปนี้

crew cut
Buzz Cut ของ จัสติน ทิมเบอร์เลค
Photo: https://www.theglobeandmail.com/life/fashion-and-beauty/fashion/in-photos-justin-timberlakes-hair-then-and-now/article10059671/

ไม่ใช้ฟันรองปัตตาเลียน

จะได้ทรง Buzz Cut ความสั้นระดับทหารที่เพิ่งเข้ากรม เลยเรียกอีกชื่อว่า The Induction Buzz Cut ที่สามารถเสริมลุคให้สุดไปในทางสะอาดเอี่ยมยิ่งขึ้นด้วยการโกนหนวดให้เกลี้ยงเกลา หรือถ้าไม่อยากให้หน้าดูโล้นเกินไป จะเลี้ยงหนวดเคราให้ขึ้นแนวเขียวครึ้มก็เป็นการเพิ่มมิติบนใบหน้าได้อย่างเข้าลุค

ฟันรองตัดเบอร์ 0

จะได้ทรง Fade Cut หัวใจหลักอยู่ที่การซอยผมด้านข้างให้สั้นด้วยฟันรองตัดเบอร์ 0 หรือโกนเลยก็ได้ แล้วค่อยๆ เพิ่มความหนาขึ้นเรื่อยๆ จากล่างขึ้นบน โดยผมด้านบนศีรษะจะมีความยาว 1/2-¼ นิ้ว ทำให้ต้องหมั่นดูแลด้วยการซอยผมทุก 2 สัปดาห์

crew cut
ไรอัน เรโนลด์ กับผมทรง High and Tight
Photo:
https://www.gq-magazine.co.uk/article/how-to-get-ryan-reynolds-short-buzz-haircut

ฟันรองตัดเบอร์ 1- 2

จะได้ทรง Burr Cut ตัดเสร็จแล้วเอามืือลูบๆ ผมจะให้สัมผัสคล้ายกระดาษทราย เบอร์คัทเป็นเหมือนทรงซ้อมใหญ่สำหรับคนที่กำลังตัดสินใจว่าจะตัดทรง Induction Buzz Cut ดีไหม ข้อพึงระวังคือ ทั้ง 2 ทรงนี้เป็นทรงที่โชว์รอยแผลเป็นบนหนังศีรษะ ถ้าเลือกแล้วที่จะโชว์ความเก๋า ก็ต้องกล้าๆ หน่อย

ฟันรองตัดเบอร์ 3-4

จะได้ทรง Butch Cut ที่จะเหลือความยาวของเส้นผมให้หนาอยู่ที่ ¼ นิ้ว เสริมลุคได้ด้วยการ taper ผมด้านข้างและรอบๆ เส้นคอ (Neckline) ให้สั้นลง หรือถ้าเลี้ยงผมด้านบนให้ยาวประมาณ ¼ – ½ นิ้ว แล้วไถด้านหลังและด้านข้างออกให้หมด ก็จะได้ทรง High and Tight Cut หรือรองทรงสูง ทรงผมยอดนิยมของผู้ชายส่วนใหญ่

crew cut
ทรง Caesar Buzz Cut
Photo: https://www.thetrendspotter.net/7-cool-buzz-cuts-that-will-change-your-look-up/

ฟันรองตัดเบอร์ 5-6

จะได้ทรง Caesar Buzz Cut เหมาะสำหรับคนที่อยากไว้บัซคัทแบบยาว แต่ไม่อยากจัดทรงให้ยุ่งยาก ให้บอกช่างว่าขอทรงซีซาร์ ที่จะได้ความยาวของเส้นผมกำลังดีพอที่จะหวีให้ปรกลงมาบนหน้าผากขณะเปียก เป่าให้แห้ง แล้วเซตให้อยู่ทรงด้วยโพเมด (pomade) ก็จะได้ทรงซีซาร์ที่เนี้ยบอยู่ทรงตลอดวัน

crew cut
เจค จิลเลนฮาล กับผมทรง Ivy League
Photo: https://menhairstylesworld.com/ivy-league-haircut/

ฟันรองตัดเบอร์ 7- 8

จะได้ทรง Ivy League Cut แค่เลี้ยงผมด้านบนให้ยาวพอที่จะแสกข้างจัดทรงได้มากกว่า ก็ดูเป็นหนุ่มหล่อมาตรฐานไอวีลีกที่ออกนอกกฎเกรียนได้มากกว่าทหารเกณฑ์

อ้างอิง