©ulture

“อยู่ที่บ้านเป็นอย่างไรบ้างคะ ฉันน่ะเล่นเกม Animal Crossing ตลอดเวลาที่กักตัวเลย” 

ชาช่า (Chacha) เกอิชาวัย 32 ปี พูดคุยถามไถ่คนอีกฝั่งจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ 

(Photo : Philip FONG / AFP)

นี่เป็นบทสนทนาอันเรียบง่าย แต่กลับดูแปลกไป เพราะอันที่จริงแล้วทั้งสองควรจะกำลังพูดคุยกันอยู่ในร้านสวยๆ สักแห่งในญี่ปุ่น ไม่ใช่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์เช่นนี้ 

หลังจากที่คลื่นโควิด-19 ซัดสาดเข้าไปยังวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก ก็ทำให้หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไป หนึ่งในนั้นคือ เวทีของเกอิชาที่เคยครึกครื้นและเต็มไปด้วยสีสันที่ถูกปิดฉากลงทันที หลังจากญี่ปุ่นประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ทุกอย่างก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ สถานบันเทิงปิดลง การแสดงของเหล่าเกอิชาจึงต้องยุติลงไปด้วยเช่นกัน เวทีไม้กลับดูใหญ่และโล่งกว่าที่เคย ความเงียบเหงาเข้าปกคลุมทันที เมื่อไร้ซึ่งพวกเธอร่ายรำอยู่บนนั้น 

(Photo : Philip FONG / AFP)

‘เกอิชา’ คือนักแสดงศิลปะมากความสามารถ โดยพวกเธอจะทำการแสดงศิลปะหลากหลายแขนง เช่น การขับร้อง เต้นรำ เล่นดนตรี อ่านบทกวีและวรรณคดี ปัจจุบัน เกอิชาจะรับงานแสดงตามงานเลี้ยงสังสรรค์ โรงน้ำชา หรือร้านอาหารดั้งเดิมของญีุ่่ปุ่น กลุ่มผู้ชมมักจะเป็นผู้สูงอายุที่ร่ำรวย ซึ่งเรามักจะเห็นพวกเขานั่งชมการแสดงบนเสื่อทาทามิแบบดั้งเดิม 

การก้าวเข้ามาเป็นเกอิชานั้นต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างเชี่ยวชาญ ต้องทำการแสดงให้อ่อนช้อย งดงาม ฝึกทักษะพูดคุยอย่างสนุกสนาน เพื่อชวนให้ลูกค้าเพลิดเพลิน แต่ถึงอย่างนั้น เกอิชาก็ยังถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโสเภณีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทั้งๆ ที่สองอาชีพนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

(Photo : Philip FONG / AFP)
(Photo : Philip FONG / AFP)
(Photo : Philip FONG / AFP)

‘เกอิชา’ กับโรคระบาดที่ทำให้เวทีของพวกเธอเงียบเหงา

“ปกติแล้วในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของทุกปี พวกเราจะยุ่งมาก แต่ปีนี้เราแทบไม่มีงานเลย” ชาช่าเล่า

หลังจากที่เกิดโรคระบาดหนักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทำให้ร้านอาหารที่เคยคึกคักพลันเงียบเหงา รายได้ของเกอิชาจึงหดหายไปอย่างไม่ต้องสงสัย ก่อนที่จะรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นนั้น พวกเธอจึงพยายามหาทางให้อาชีพยังดำเนินต่อไปได้ ‘เกอิชา ออนไลน์’ จึงถือกำเนิดขึ้น 

(Photo : Philip FONG / AFP)
(Photo : Philip FONG / AFP)

นั่นจึงทำให้เราเห็นภาพของชาช่า เกอิชาจากในเมืองฮาโกเนะ กำลังนั่งพูดคุยกับแขกผู้มาเยือนผ่านโปรแกรม Zoom อยู่ด้านหน้าจอคอมพิวเตอร์ 

บริการนี้ต่อยอดมาจากโครงการ ‘Meet Geisha’ ซึ่งจัดตั้งเมื่อปีที่แล้ว เพื่อหวังจะรองรับการหลั่งไหลเข้ามาเยือนของบรรดานักท่องเที่ยวที่เดินทางมาชมกีฬาโอลิมปิก 2020 โดยโครงการนี้จะช่วยให้นักท่องเที่ยวทุกคนได้ทำความรู้จักกับเกอิชามากขึ้น และมีโอกาสได้สัมผัสการแสดงอันงดงามในบรรยากาศที่เป็นกันเองมากขึ้น

(Photo : Philip FONG / AFP)

เมืองฮาโกเน่ มีชุมชนเกอิชาที่มีสมาชิกอยู่ราวๆ 150 คน ที่นี่จึงเป็นหมุดหมายแรกอันเหมาะแก่การสานต่อโครงการดังกล่าวแบบออนไลน์ หลังจากเกิดโรคระบาด เพื่อชุบชูหัวใจรักการแสดงของเหล่าเกอิชาให้กลับมาชุ่มชื่นอีกครั้ง 

(Photo : Philip FONG / AFP)
(Photo : Philip FONG / AFP)

หลังจากฝึกฝนทักษะการไลฟ์ผ่านไอแพดและคอมพิวเตอร์อยู่ไม่นาน เกอิชาทุกคนก็สามารถแสดงโชว์ของพวกเธอผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างคล่องแคล่ว และยังค้นพบอีกว่าการแสดงแต่ละครั้งนั้น ไม่ได้แค่ช่วยสร้างรายได้ให้กับพวกเธอในช่วงวิกฤติเช่นนี้ แต่ยังเป็นการขยายฐานผู้ชมให้กว้างขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย 

ผู้ชมเกอิชาไม่ใช่แค่กลุ่มเดิมๆ อีกต่อไป แต่กลับเป็นได้ตั้งแต่หญิงสาวผู้มาพร้อมกับแก้วไวน์ใบโปรด ไปจนถึงครอบครัวที่เต็มไปด้วยเด็กๆ ที่คอยเฝ้าหน้าจอเพื่อทำความรู้จักกับเกอิชาอย่างใจจดใจจ่อ เมื่อไม่นานมานี้ยังมีหนุ่มสาวชาวเกาหลีที่ซื้อการแสดงของเกอิชา เพื่อเป็นของขวัญวันเกิดให้กับเพื่อนอีกด้วย 

(Photo : Philip FONG / AFP)
(Photo : Philip FONG / AFP)

ชาช่าเชื่อว่าออนไลน์เปิดโอกาสให้การแสดงของพวกเธอเข้าถึงผู้คนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เธอคาดหวังอย่างแท้จริงในเวลานี้คือ วันที่โรคระบาดหมดไป และพวกเขาที่รู้จักเธอผ่านหน้าจอเหล่านั้น จะมีโอกาสได้มาสัมผัสการแสดงสดเคล้าบทสนทนาดีๆ ท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ ของฮาโกเน่แห่งนี้ด้วยตัวเองสักครั้ง 

(Photo : Philip FONG / AFP)
(Photo : Philip FONG / AFP)

อ้างอิง