©ulture

หลังจากชุดนักเรียนหญิงญี่ปุ่นถือกำเนิดในปี 1872 และพัฒนามาสู่ชุดกะลาสีแบบที่เราคุ้นตา ไม่นานต่อมา ชุดนักเรียนหญิงก็เดินมาสู่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้ง

เมื่อแฟชั่นแบบสึปปาริที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี 1970-1980 เริ่มเสื่อมลง โรงเรียนต่างๆ จึงเริ่มหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบของชุดนักเรียน เพื่อสร้างอัตลักษณ์ และดึงดูดนักเรียนให้เข้ามาเรียนที่สถาบันของตนมากขึ้น

และต่อไปนี้คือเรื่องราวแฟชั่นชุดนักเรียนหญิงญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงยุค 80s เป็นต้นไป

ค.ศ.1982

เบลเซอร์ กระโปรงลายสก็อต ชุดนักเรียนหญิงในภาพจำ

ในปี 1982 วิทยาลัยสตรีโชเอ (頌栄女子学院) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตมินาโตะของโตเกียว ได้ถือโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ปรับเปลี่ยนชุดนักเรียนใหม่ให้นักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 สวมเสื้อเบลเซอร์ซึ่งปักตราของโรงเรียนไว้ คู่กับกระโปรงลายสก็อตยาวประมาณเข่า และถุงเท้าทรงสูง

ชุดนักเรียนญี่ปุ่น ชุดนักเรียนวิทยาลัยสตรีโชเอ
ชุดนักเรียนวิทยาลัยสตรีโชเอ (Photo: koukouseishinbun.jp)

อีกสองปีต่อมา โรงเรียนสตรีคาเอ็ทสึ (嘉悦女子) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชิโยดะของโตเกียวก็ได้เปลี่ยนเครื่องแบบเป็นกระโปรงลายสก็อตเช่นกัน สองโรงเรียนนี้ถือเป็นแนวหน้าของโรงเรียนทั้งหลายในการปรับเปลี่ยนชุดนักเรียนที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน

ชุดนักเรียนโรงเรียนสตรีคาเอ็ทสึ
ชุดนักเรียนโรงเรียนสตรีคาเอ็ทสึ (Photo: twitter.com)

จากการสำรวจพบว่า หลังจากนั้นโรงเรียนกว่า 80% ก็เริ่มรีโมเดลชุดนักเรียนของตนมาใช้เสื้อเบลเซอร์ คู่กับกระโปรงลายสก็อต ซึ่งสีเสื้อเบลเซอร์ที่นิยมในช่วงนี้ นอกจากสีดั้งเดิมอย่างกรมท่าแล้ว ก็มีสีน้ำตาล สีส้มแดง หรือสีเขียวเข้ม

ชุดนักเรียนแบบนี้น่าจะเป็นสิ่งที่คุ้นตาคนไทยมากที่สุด เพราะตั้งแต่ยุค 80s เป็นต้นมา ก็เริ่มมีละครญี่ปุ่น การ์ตูนทั้งที่เป็นเล่มและฉายทางทีวีช่องต่างๆ เข้ามาให้เด็กๆ และวัยรุ่นยุคนั้นเสพกัน เราเลยมักมีภาพในหัวว่า ชุดนักเรียนญี่ปุ่นต้องเป็นกระโปรงกับชุดกะลาสี ไม่ก็เสื้อเบลเซอร์ หรือเสื้อกั๊ก

เซลเลอร์ มูน
เซลเลอร์ มูน มังงะที่ทำให้ชุดนักเรียนญี่ปุ่นเป็นที่รู้จัก (Photo: pinterest.com)

ค.ศ.1990

ปุริคุระ นิตยสารวัยรุ่น ไอดอลชุดนักเรียน

ด้วยการที่ความเชื่อที่ว่า ‘ผู้หญิงอย่าหยุดสวย’ นั้นใช้ได้กับทุกวัย และทุกประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งญี่ปุ่น 

เมื่อถึงยุค 1990 นวัตกรรมอย่างเพจเจอร์และปุริคุระ (ตู้ถ่ายรูปสติกเกอร์) จึงผลักดันแฟชั่นชุดนักเรียนให้ก้าวเข้าสู่พัฒนาการอีกช่วงหนึ่ง กล่าวคือ การสวมถุงเท้าอย่างหลวมๆ หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่า ‘ลูสซ็อค’ (Loose Sock) ซึ่งเริ่มพัฒนาขึ้นในปลายยุค 80s ก็ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด

ชุดนักเรียนญี่ปุ่น
ชุดนักเรียนญี่ปุ่นแบบ ‘ลูสซ็อค’ (Photo: wallpapercave.com)

ต้นกำเนิดของลูสซ็อคนั้นมีหลายทฤษฎี ที่แต่นักวิจัยด้านเสื้อผ้ายอมรับกันในปัจจุบันคือ ถุงเท้าแบบนี้มีต้นกำเนิดมาจากโรงเรียนอาโอยามะกักคุอิน

ในช่วงนี้ผู้หญิงจะนิยมทำผิวสีแทน ย้อมผม ใส่กระโปรงสั้น และคาดเสื้อกันหนาวไว้ที่เอว เพื่อปกปิดร่องรอยการตัดกระโปรงหรือการพับช่วงเอวสามสี่ทบเพื่อให้กระโปรงสั้นขึ้น (ความยาวของกระโปรงจะถูกกำหนดมาตั้งแต่ตอนวัดตัวตัดชุดในวันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ของ ม.4 แล้ว ดังนั้น ถ้าจะใส่กระโปรงสั้น ก็ต้องตัดให้สั้นลงเองซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกจับได้ในวันตรวจเครื่องแต่งกาย เด็กสาวหลายคนจึงเลือกวิธีพับเอวขึ้นไปเมื่อออกจากโรงเรียนมากกว่า)

ช่วงนี้ศูนย์กลางของแฟชั่นชุดนักเรียนจะอยู่ที่ชิบูยะ ด้วยนวัตกรรมอย่างเพจเจอร์ เด็กสาวจึงสามารถติดต่อสื่อสารและนัดกันได้สะดวกขึ้น ส่วนปุจิคุระซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงนี้ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เนื่องจากเด็กสาวสามารถถ่ายรูปกันเป็นกลุ่ม แล้วแบ่งกันคนละรูปได้

purikura
(Photo: adores.jp)

ซึ่งช่วงนี้เด็กสาวทุกคนมักพกอัลบั้มสำหรับแปะรูปปุริคุระ ที่ได้จากการนัดกันไปถ่ายรูปใหม่ หรือแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่เพิ่งรู้จัก

เครือข่ายของเด็กสาวขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการเกิดของไอดอลนักเรียน ทุกเย็นช่างกล้องของวารสารวัยรุ่นจะเดินท่องไปตามชิบูยะ เพื่อหาเด็กสาวใหม่ๆ มาเป็นโมเดล เมื่อรูปเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ เด็กสาวจากทั่วประเทศก็เกิดอิมเมจที่ว่าเมื่อมาโตเกียว ต้องแต่งตัวแบบนี้ แฟชั่นแบบนี้มีชื่อเรียกว่า ‘โคแกล’ ซึ่งมาจากคำว่า โคโคเซ (นักเรียน.ม.ปลาย ) + Gal

ชุดนักเรียนญี่ปุ่น
ชุดนักเรียนญี่ปุ่นแบบ ‘โคแกล’ (Photo: en.wikipedia.org)

ส่วนหนึ่งที่แฟชั่นแบบนี้เป็นที่นิยม สันนิษฐานว่ามาจากการที่ นามิเอะ อามุโระ (安室奈美恵) นักร้องชื่อดังในสมัยนั้น แต่งตัวแบบนี้ 

และจากการถือกำเนิดของนิตยสารเฉพาะวัยรุ่นที่มีเด็กสาวในชุดนักเรียน ม.ปลาย เป็นโมเดลอย่าง egg หรือ Cawaii! ทำให้เราพอเห็นภาพการเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของวัยรุ่นในสมัยนั้นของชิบูยะได้เป็นอย่างดี

นามิเอะ อามุโระ
นามิเอะ อามุโระ

แฟชั่นนี้ดำรงอยู่จนถึงช่วงปี 2000 เมื่ออินเตอร์เน็ตสามารถทำให้ใครๆ เป็นไอดอลได้ ศูนย์กลางของแฟชั่นจึงย้ายจากโลกจริงเข้าสู่โลกเสมือน

ค.ศ.2019

แฟชั่นสนีกเกอร์และผลสำรวจปัจจุบัน 

หลังจากแฟชั่นโคแกลเสื่อมความนิยม ความยาวของกระโปรงกับความยาวของถุงเท้าที่สัมพันธ์กัน กับแฟชั่นเสื้อเบลเซอร์จึงกลับมาอีกครั้ง

ในปัจจุบัน การแต่งกายของนักเรียนหญิง ม.ปลาย ผ่อนคลายลง หลายคนเลือกที่จะเน้นความคล่องตัวมากขึ้นด้วยการใส่เสื้อปาร์คเกอร์แทนเสื้อเชิ้ตขาว หรือสวมรองเท้าสนีกเกอร์แทนรองเท้าส้นเตี้ยที่เรียกว่า Loafer แบบเดิม

ชุดนักเรียนญี่ปุ่น
(Photo: seifuku.tumblr.com)

ขอปิดท้ายบทความด้วย ผลสำรวจเกี่ยวกับชุดนักเรียนหญิงของบริษัท Furyu เมื่อวันที่ 1-15 ม.ค. 2562 

ซึ่งสำรวจจากเหล่า JK ใน 3 ช่วงอายุ ได้แก่

ปี 1989 จำนวน 129 คน

ปี 1996 134 คน

และ ปี 2018 140 คน

พบว่า เสื้อเบลเซอร์ได้รับความนิยมที่สุด ส่วนอันดับสอง สำหรับ JK ในช่วงปี 1989 และ 1996 จะนิยมชุดกะลาสี แต่ JK ในยุคปัจจุบันจะนิยมชุดไพรเวท

สำหรับความยาวของกระโปรงที่เหมาะสม JK ยุค 1989 จะนิยมที่เลยเข่าประมาณ 5-10 ซม. ในขณะที่ JK ยุค 1996 จะนิยมสูงกว่าเข่า 5-10 ซม. ส่วน JK ยุคปัจจุบันจะนิยมเสมอเข่า ซึ่งผู้สำรวจให้ความเห็นว่ากระแสกระโปรงยาวกำลังจะกลับมา

ในส่วนของถุงเท้า วัยรุ่นที่ผ่านยุคโคแกลมาอย่าง JK ในช่วง 1996 ยังคงชื่นชอบลูสซ็อคอยู่ ในขณะที่ JK ในช่วงเวลาที่เหลือกลับชอบถุงเท้าสั้น

สุดท้ายในเรื่องของรองเท้า JK สองช่วงแรกจะชอบ Loafer แต่ปัจจุบันจะเทใจให้สนีกเกอร์มากกว่า ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นแนวโน้มของการแต่งกายที่อิสระมากขึ้น

(Photo: seifuku.tumblr.com)

จะเห็นว่าเครื่องแบบของนักเรียนหญิงญี่ปุ่นได้ผ่านการพัฒนา และปรับปรุงมาหลายต่อหลายครั้ง ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องความเหมาะสม แฟชั่น จนถึงปัจจุบันที่เน้นความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น

หวังว่าบทความนี้จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับเครื่องแบบของนักเรียนหญิง ทำให้เรามองเห็นตัวตนของสาวๆ ญี่ปุ่นมากขึ้น

และลึกไปกว่าการแต่งกายที่เห็นแต่เพียงภายนอก.

(Photo: seifuku.tumblr.com)

ทำความรู้จักต้นกำเนิดชุดนักเรียนญี่ปุ่นต่อได้ที่ เลาะตะเข็บ ‘ชุดนักเรียนญี่ปุ่น’ (1/2) : จากจุดเริ่มต้นถึง ‘ชุดกะลาสี’ อันเร้าใจ

 

อ้างอิง:

  • Tomoko Nanba (2016) “Kindai Nihon Gakkou Seifuku Zuroku (Record of Japanese Contemporary School Uniforms)” Sogensha.
  • Nobuyuki Mori and Shizue Uchida (2019) “Nihon Seifuku Hyakunenshi : Jogakusei Fuku ga Popu  Karucha ni natta (100 Years History of Japanese Uniforms : when Girl Students Uniform become Popculture)” Kawade Shobou Shinsha.