©ulture

ขอต้อนรับสู่ Taiyuan Road ถนนสายเก่าแก่แห่งหนึ่งในมหานครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai) ที่ยังคงรักษากลิ่นอายแห่งอดีตให้เข้ากับความทันสมัยของเมืองได้อย่างกลมกลืน

ถนน Taiyuan ตั้งอยู่ในเขตสวีฮุ่ย (Xuhui) เป็นถนนสายสั้นที่มีความยาวไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างถนน Fenyang ในทิศเหนือและถนน Zhaohui ที่อยู่ทางใต้ ช่วงกลางมีถนน Yongjia ตัดผ่าน เกิดเป็นพิกัดของหนึ่งในจุดเช็กอินสำหรับถ่ายรูปขวัญใจมหาชน อย่าง Ivy Building อาคารเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกพอดิบพอดีและมีเถาไอวี่เลื้อยปกคลุมทั่วทั้งอาคารจนเขียวขจี เป็นที่มาที่ทำให้ถนน Taiyuan เสมือนมีชื่อเล่นๆ ว่า Ivy Road

ด้วยความที่ถนน Taiyuan อยู่ในย่าน French Concession (ย่านเขตเช่าฝรั่งเศสในเซี่ยงไฮ้) บรรยากาศตลอดสองข้างทางจึงเรียงรายด้วยอาคารเก่าแก่ปะปนอยู่กับอาคารใหม่ และร่มรื่นด้วยทิวแถวของต้นเมเปิ้ลตลอดสองข้างทาง จึงถือเป็นย่านที่เดินเพลินที่สุดแห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้

และไม่เฉพาะ Ivy Building เท่านั้นที่เป็นไฮไลท์ของถนนสายนี้ Taiyuan Road เต็มไปด้วยจุดเช็กอินเก๋ๆ ซ่อนตัวอยู่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านเสื้อผ้าทั้งแบรนด์ไฮเอนด์และแบรนด์โลคัลของเซี่ยงไฮ้ ร้านอาหาร คาเฟ่ พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ แนะนำว่าใครมาเซี่ยงไฮ้แล้วอยากหามุมสงบที่ ‘มีอะไร’ ถนนสายนี้เหมาะแก่การเดินซอกแซกเป็นที่สุด

โดยเฉพาะคนรักการแฮงเอาท์ตามคาเฟ่ becommon มีพิกัดของ 3 คาเฟ่เล็กที่กำลังมาแรงในตอนนี้มาแนะนำให้ไปตามรอยกิน-ดื่ม โดยคาเฟ่ทั้งสามมาพร้อมเรื่องเล่าในกระดาษแผ่นจิ๋วที่แนบมากับเครื่องดื่มแต่ละแก้ว ถือเป็นกิมมิคน่ารักๆ ที่เหมาะแก่การเก็บกลับไปเป็นความทรงจำให้นึกถึงกลิ่นและรสของเซี่ยงไฮ้ได้ทุกเมื่อที่คิดถึง 

O.P.S. Cafe 

โอมากาเสะคาเฟ่ที่เสิร์ฟรสแท้แห่งฤดูกาล

“คาเฟ่ที่ก่อตั้งในวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 2017 และยังคงเป็นคาเฟ่เล็กๆ ที่ใหม่ สด เสมอ เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น”

ข้อความเสมือนแนะนำตัวของ O.P.S. Cafe บน Profile ทาง Instagram บอกเล่าที่มาและตัวตนของร้านไว้เช่นนั้น

เรามีโอกาสได้ไปเยือนคาเฟ่เล็กริมถนน Taiyuan แห่งนี้ในวันที่ร้านมีอายุ 8 ปี คะเนว่าความเล็กน่าจะเท่าเดิม เพิ่มเติมคือปริมาณของผู้คนที่มาเยือน O.P.S. Cafe ที่น่าจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ว่าจะเช็กรีวิวจากช่องทางไหนก็พบว่ามีคิวต่อแถวหน้าร้านทอดยาวไปบนฟุตบาทไม่เว้นแต่ละวัน

shanghai cafe

ดังนั้น แม้ตัวร้านจะแฝงกายอยู่ในอาคารหน้าตาธรรมดาๆ หน้าร้านเป็นเพียงผนังสีขาวเรียบกลืนไปกับกำแพงตามท้องถนน มีแค่ป้ายชื่อร้านเล็กๆ กำกับอยู่ และไม่มีที่ให้นั่ง แต่รับรองว่าหาไม่ยาก เพราะแถวของผู้คนหลายสิบชีวิตที่ต่อคิวอย่างเป็นระเบียบคือภาพจำของ O.P.S. Cafe ที่คนในละแวกนั้นคุ้นเคยเป็นอย่างดี

shanghai cafe

และไม่รู้ว่าบังเอิญหรือเป็นค่าเฉลี่ยที่แท้จริงที่ระยะเวลาในการต่อคิวก่อนจะได้เข้าไปชิมกาแฟรสชาติดีมักจะอยู่ที่ราวๆ 40 นาที วัดจากประสบการณ์ตรงและจากรีวิวประกอบของหลายๆ คน

ขณะกำลังยืนต่อแถว พนักงานร้านจะนำเมนูมาให้ลูกค้าทยอยสั่งและจ่ายเงินล่วงหน้า โดยรายการเครื่องดื่มที่นี่มีให้เลือกแค่ 5 เมนู และมีเมนูตามฤดูกาล อย่างในเดือนพฤษภาคมที่เราไปเยือนมีตัวเลือกของ Recompose: Purple Muscat, Burnt Green, Pipe Deram, Ruby Diamond และ The Season: Velvet สิ่งที่น่าประทับใจของที่นี่ คือ มีเมนู 2 ภาษา คือ ภาษาจีนสำหรับลูกค้าคนจีน และภาษาอังกฤษสำหรับลูกค้าชาวต่างชาติ ทำให้ไม่ต้องงัดวุ้นแปลภาษาออกมาทำความเข้าใจให้เสียเวลา

shanghai cafe

สั่งกาแฟและจ่ายเงินเสร็จเรียบร้อย (ราคาเครื่องดื่มแก้วละ 50 หยวน หรือประมาณ 230 บาท) ก็ตั้งอกตั้งใจยืนรอคิวต่อไป ใครใคร่เล่นมือถือก็ก้มหน้าก้มตาไถฟีดส์ฆ่าเวลา ใครอยากเงยหน้าชมความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองเซี่ยงไฮ้ก็จะได้รับความเพลิดเพลินจากทิวแถวของต้นเมเปิ้ลปลูกให้ร่มเงาอยู่ริมฟุตบาท ไล่สายตามองยวดยานขวักไขว่ที่ล้วนเป็นรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแล่นเงียบไร้เสียงรบกวน ฤดูที่เราไปเยือนอยู่ในช่วงรอยต่อของฤดูใบไม้ผลิเข้าสู่ฤดูร้อน จึงเห็นภาพไม่คุ้นตาอย่างคนขี่มอเตอร์ไซค์จำนวนหนึ่งที่ยังคงสวมผ้านวมขับขี่กันลมหนาวบ้างประปราย

shanghai cafe

40 นาทีผ่านไป ได้เวลาเข้าไปสัมผัสบรรยากาศที่แท้จริงของ O.P.S. Cafe ทางร้านจะเปิดประตูให้ลูกค้าเข้าไปทีละคน ทีละคู่ หรือทีละกลุ่มที่มาพร้อมกัน เมื่อเข้าไปแล้วจะเจอกับเคาท์เตอร์ปรุงกาแฟที่มีบาริสต้าประจำการพร้อมชง และพร้อมอธิบายเรื่องราวของเครื่องดื่มแต่ละแก้วที่เราสั่ง โดยทั้งให้ดมกลิ่นแต่ละแก้ว และชมกรรมวิธีการปรุงเครื่องดื่มทุกขั้นตอน ความเก๋าเกมของคาเฟ่แห่งนี้คือ พนักงานสื่อสารภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว (ซึ่งหาได้ค่อนข้างยากในเซี่ยงไฮ้) เราจึงได้ทำความรู้จักเรื่องราวในแต่ละแก้วอย่างสนุกสนานได้อารมณ์เหมือนไปร้านโอมากาเสะไม่มีผิด

เราเลือกสั่ง Purple Muscat และ Velvet แก้วแรกเป็นเมล็ด Ethiopia และ Colombia เบลนด์เข้าด้วยกัน ผสมผสานเข้ากับน้ำมะพร้าว เติมรสชาติเปรี้ยวอมหวานด้วยแอปเปิ้ลเขียว พริกหยวก และองุ่นมัสแคท ส่วน Velvet เป็นเมนูตามฤดูกาลที่ใช้เมล็ดกาแฟ Ethiopia Shantawene ผสมผสานกับผลไม้ป่าอย่างมะหลอด ส้มสีเลือด และแยมกุหลาบยูนนาน เสิร์ฟกับคุกกี้ที่ทางร้านทำเองและออกแบบมาแล้วเสร็จสรรพว่าเหมาะกับรสชาติของ Velvet ในแก้ว

shanghai cafe

ว่าแต่ทำไมต้องเป็นองุ่นมัสแคท พริกหยวก แอปเปิ้ลเขียว มะหลอด ส้มสีเลือด และแยมกุหลาบยูนนาน ? คำตอบอยู่ในกระดาษใบน้อยที่แนบมาพร้อมเครื่องดื่มแต่ละแก้ว ด้านหน้าระบุชื่อเมนูและส่วนผสม พลิกด้านหลังบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจและกระบวนการนำวัตถุดิบแต่ละอย่างมาผ่านขั้นตอนต่างๆ เช่น การล้างองุ่นมัสแคทแล้วนำมาคั้นเอาน้ำ ใส่น้ำแอปเปิ้ลเขียวเข้าไปเล็กน้อยเพื่อให้องุ่นปล่อยกลิ่นหอมคล้ายดอกไม้ออกมา จากนั้นนำพริกหยวกมาอบแล้วบีบน้ำออกมาใช้เป็นส่วนผสมเพียงนิดเดียว เพื่อให้ได้รสหวานเหมือนข้าวโพด แต่ยังคงมีกลิ่นหอมเผ็ดจางๆ สุดท้ายคือการทำให้เครื่องดื่มแก้วนี้มีเนื้อสัมผัสคล้ายแชมเปญ จึงนำมา swirl กับน้ำแข็งแห้งเพื่อดึงกลิ่นหอมออกมาและเพิ่มความละเมียดให้กับฟองเครื่องดื่ม

อีกแก้วว่าด้วยการนำผลไม้ป่าอย่างมะหลอด ซึ่งปกติจะใช้เป็นวัตถุดิบในเมนูคาวอย่างบะหมี่พริกของจีนมาพลิกแพลงเป็นพระเอกของเครื่องดื่ม ทางร้านจะนำมะหลอดมาปอกเปลือก นำเมล็ดออก เคี่ยวจนกลายเป็นซุปข้น แล้วค่อยนำแยมกุหลาบยูนนานและส้มสีเลือดมาปั่นเข้าด้วยกันด้วยความเร็วสูง จนได้ส่วนผสมของกลิ่นและรสชาติที่สื่อถึงดอกไม้แห่งฤดูใบไม้ผลิตามความตั้งใจของทีม O.P.S.

สำหรับคอกาแฟที่ต้องการดื่มด่ำกำซาบกับรสแท้ของกาแฟ O.P.S. Cafe อาจจะไม่เหมาะกับคุณ เพราะเครื่องดื่มของที่นี่ให้อารมณ์เหมือนจิบม็อกเทล (และบางแก้วอย่าง Burnt Green ที่มีส่วนผสมของโซจูจึงเรียกว่าค็อกเทลก็ยังได้) ทุกแก้วเต็มไปด้วยความซับซ้อนในรสชาติที่เน้นความหลากหลายของวัตถุดิบต่างๆ ที่ผสมกลมกลืนกับกาแฟได้อย่างพอดิบพอดี 

ใครชอบสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ และสนุกกับการชิมรสชาติที่สร้างความประหลาดใจ โดยไม่อิดออดกับการรอคอย – O.P.S. Cafe คือจุดหมายที่คุณจะต้องประทับใจ

O.P.S. Cafe

ที่ตั้ง : 177 Taiyuan Road, Xuhui District, Shanghai

Instagram : opscafe

วิธีเดินทาง

  • didi ไปลง O.P.S. CAFE
  • Metro Line 9 : Jiashan Road ทางออก 5 เดินต่ออีกประมาณ 900 เมตร

Captain George

พิพิธภัณฑ์หอมกลิ่นกาแฟ

เดินจาก O.P.S. Cafe มาตามถนนเส้นเดียวกันไม่ไกล จะเห็นร้าน Captain George โดดเด่นอยู่บริเวณสี่แยก มองหาไม่ยาก ด้วยความที่หน้าร้านตกแต่งสไตล์ย้อนยุคเรียบหรูสะดุดตา และมีผู้คนแวะเวียนมาถ่ายรูปไม่ขาดสาย 

shanghai cafe

Captain George ไม่ได้เป็นแค่ร้านกาแฟหน้าตาสวยเก๋ แต่พกดีกรีความเก๋าติดมือมาจากถิ่นกำเนิดอย่างกุ้ยหยาง (Guiyang) เมืองหลวงของมณฑลกุ้ยโจว ในฐานะกาแฟโลคัลแบรนด์ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2013 เจ้าของแชมป์ World Brewers Cup จนทำให้กุ้ยหยาง ซึ่งไม่ได้เป็นถิ่นผลิตกาแฟ ค่อยๆ หนาแน่นด้วยร้านกาแฟที่นับได้มากกว่า 3,000 แห่ง และหลายแห่งก็ขึ้นแท่นแชมป์ในการแข่งกาแฟระดับชาติ จนปัจจุบัน กุ้ยหยางได้รับสมญาว่า ‘เมืองแห่งแชมเปี้ยนกาแฟ’ 

shanghai cafe

ด้วยเหตุผลนี้เอง เมื่อ Captain George ขยายสาขามาเปิดที่เซี่ยงไฮ้จึงดึงดูดทั้งคอกาแฟและคาเฟ่ฮอปเปอร์ทั้งหลายให้ทยอยมาเช็กอินที่นี่ ที่มีสไตล์การตกแต่งคล้ายพิพิธภัณฑ์เหมือนกับที่สาขา Taiping Road ในกุ้ยหยาง โดยธีมของที่นี่คือ Flavor Museum จัดสรรพื้นที่ในร้านออกเป็น 3 ส่วน โดยเมื่อเข้าร้านมาจะเจอกับ Daily Lab เป็นอันดับแรก โซนนี้เรียงรายด้วยขวดบรรจุเม็ดกาแฟ Single – Origin หลายสายพันธุ์จากทั่วโลกสำหรับให้คอกาแฟได้ตื่นตาตื่นใจ

Brew Lab เป็นพื้นที่ในเคาท์เตอร์บาร์วินเทจที่มีบาริสต้าประจำการคอยปรุงกาแฟตามสั่ง และ Blend Lab โซนพิเศษที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าที่สนใจได้เบลนด์กาแฟที่มีกลิ่นและรสชาติเฉพาะสำหรับแต่ละบุคคล

shanghai cafe

สำหรับนักเดินทางเวลาน้อยและไม่ใช่สายลึกด้านกาแฟอย่างเรา ไม่ขอเบลนด์กาแฟใดๆ แค่โฉบเฉี่ยวเข้าไปสัมผัสกลิ่นหอมของกาแฟ และบรรยากาศของร้านที่คึกคักด้วยพลังงานเต็มเปี่ยมของชาวเซี่ยงไฮ้ ที่ไม่ว่าจะไปร้านอาหารหรือคาเฟ่ไหนๆ ก็เต็มไปด้วยผู้คนมาพักผ่อนกินดื่มกันอย่างสำราญใจ 

ในเล่มเมนูมีกาแฟให้เลือกดื่มทั้งแบบแก้วเดี่ยวและเป็นเซต เราเลือกลอง Carmine Alchemy เพียงเพราะคำอธิบายเบื้องต้นที่ระบุถึงกลิ่นและรสชาติที่ออกไปทางเบอร์รีหอมหวาน น่าจะลงตัวพอดีกับรสชาติกาแฟ

shanghai cafe

เมื่อแก้วนี้ลงเสิร์ฟก็สามารถเรียกคะแนนได้ตั้งแต่หน้าตาเรียบหรูด้วยน้ำแข็งทรงเหลี่ยมก้อนโตราวกับภูเขาน้ำแข็งกำลังลอยเท้งเต้งในมหาสมุทรคาเฟอีน แน่นอนว่ามาพร้อมกระดาษแผ่นน้อยที่บอกเล่าเรื่องราวของกระบวนการรังสรรค์กาแฟแก้วนี้ที่ทำจากเมล็ด Catarra Minas Gerais Brazil ซึ่งเจ้าของร้านระบุถึงความประหลาดใจในเทกส์เจอร์ที่มีความครีมมี่เป็นพิเศษ เขาจึงนึกถึงเนยเป็นวัตถุดิบแรกที่จะนำมาผสมผสานกับกาแฟให้ออกมาเป็นเครื่องดื่มสักแก้ว 

shanghai cafe

ด้วยเทคนิคกระบวนการหลายขั้นตอนที่อาศัยเหล้าจินมาเป็นส่วนประกอบหลัก ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เมล็ดกาแฟมีกลิ่นคล้ายท็อฟฟี่ ที่เมื่อเพิ่มสตรอเบอร์รี่เข้าไปในขั้นตอนสุดท้าย จึงเกิดเป็นเครื่องดื่มที่รสชาติหอมหวานคล้ายท็อฟฟี่รสสตรอเบอร์รี่ ที่มีกลิ่นหอมของกาแฟเป็นตัวชูโรงสมศักดิ์ศรีร้านกาแฟระดับแชมป์

Captain George

ที่ตั้ง : 236 Taiyuan Road, Xuhui District, Shanghai

Te Tea

ล้อมวงจิบชาในห้องแห่งโน้ตดนตรี

บนถนนเส้นเดิม เดินจาก Captain George ไม่ถึง 5 นาที ก็จะเจอกับพิกัดร้านชา (เกือบ) ลับอย่าง Te Tea สังเกตได้จากบริเวณประตูทางเข้าที่ขึงป้ายผ้าด้านบนเป็นตัวอักษรจีน 1 คำ นำไปสู่ทางเดินหินกรวดให้อารมณ์เหมือนสวนญี่ปุ่น แต่ไม่ต้องเดินตรงเข้าไป เพราะประตูทางเข้าห้องจิบชานั้นอยู่ทางขวามือ

shanghai cafe

shanghai cafe

บรรยากาศภายในห้องชาตัดขาดจากโลกภายนอกได้อย่างน่าอัศจรรย์ราวกับไม่ได้ตั้งอยู่ติดถนน ภายในห้องสี่เหลี่ยมสีทึบ มีเพียงหน้าต่างบานโตทำหน้าที่เปิดรับแสงแดดอ่อนๆ จากภายนอก ริมหน้าต่างมีโน้ตดนตรีกางไว้หนึ่งคู่ ราวกับเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงหัวใจของที่นี่ เพราะ Tea Master เองก็ต้อนรับเราหลังจากนั่งบริเวณเคาท์เตอร์บาร์เป็นที่เรียบร้อย ด้วยเมนูของร้านที่เป็นอักษรจีนล้วนบนกระดาษสีน้ำตาลแลดูเก่าคร่ำคร่าราวหลุดมาจากคำภีร์ พร้อมกับบรรจงวางแผ่นเสียงย่อส่วนทับเอาไว้

shanghai cafe

เราไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับห้องชาแห่งนี้มากนัก เพราะทุกอย่างเป็นภาษาจีนล้วนๆ และ Tea Master เองก็อธิบายรายละเอียดต่างๆ ได้เพียงเล็กน้อยด้วยภาษาอังกฤษที่มีขีดจำกัด จากคำอธิบายคร่าวๆ เราเลือกสั่งเครื่องดื่ม 2 แก้ว แก้วแรกเป็นมัทฉะลาเต้ บรรจงเสิร์ฟในแก้วทรงสูงหรูหรา คู่กับช็อกโกแลตแท่งรูปกุญแจซอลสำหรับบิกินคู่กัน ได้รสชาติกลมกล่อมนวลเนียน

shanghai cafe

มัทฉะลาเต้แก้วนี้เสิร์ฟพร้อมกระดาษเรื่องราวหนึ่งแผ่น ลองใช้โปรแกรม Translate ดูแล้ว ได้ใจความกะพร่องกะแพร่ง จั่วหัวว่า ‘เพลงเต้นสาวเปลือย’ ที่น่าจะมีมาตั้งแต่ปี 1888 และเกี่ยวข้องกับความสุขจากเสียงเปียโน (ซึ่งในร้านก็มีเปียโนหลังเล็กตั้งอยู่) เอาเป็นว่าคนไทยอย่างเรายังไม่ต้องเข้าถึงคอนเซ็ปต์อะไรมากมาย เต็มที่กับการดื่มด่ำรสชาตินวลๆ ของมัทฉะลาเต้เป็นใช้ได้ 

shanghai cafe

shanghai cafe

อีกแก้วเป็นชาร้อนที่ขอมอบตำแหน่งเพชรมงกุฎให้ในบรรดาเครื่องดื่มทุกแก้วที่ได้ลองในสามร้านนี้ เดาว่าน่าจะเป็นเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ เพราะใช้ชื่อเดียวกับชื่อร้านเป๊ะ ก่อนจะเริ่มชงชา Tea Master จะให้เราเลือกแก้วใบที่ชอบซึ่งวางเรียงอยู่บนผนัง เลือกได้แล้วจึงค่อยๆ บรรจงชงชาร้อนเข้ากับนม ท็อปด้ยวฟองนม แล้วโรยผงโกโก้เป็นตัวอักษร Te ปิดท้าย

shanghai cafe

เหตุผลที่ชอบก็ด้วยรสชาติล้วนๆ เป็นชานมที่ได้รสชาติคล้ายชาอินเดียผสมชาไทยในสัดส่วนที่กลมกล่อมพอดี กลิ่นหอมของชาเข้ากันกับนมแบบที่ไม่มากหรือน้อยเกินไป แล้วไม่ต้องมีคำอธิบายอะไรมากมาย กระดาษแผ่นน้อยที่เสิร์ฟมาด้วยประทับตรา Te จบ เป็นอันรู้กันว่าแก้วนี้คือพระเอกตัวจริง

Te Tea

ที่ตั้ง : 317 Taiyuan Road, Xuhui District, Shanghai

Instagram : tetea_shanghai