ถ้าคุณเป็นคนชอบท่องเที่ยว ชอบอ่านหนังสือ หรือติดตามเพจท่องเที่ยวต่างๆ เป็นประจำ จะสังเกตได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ม้ามืดอย่าง “อินเดีย” ได้รับความสนใจจากคนชอบอ่านชอบเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ
สังเกตได้จากฟีดแบ็คของเพจท่องเที่ยวอินเดียหลายเจ้าที่หลังจากทยอยเล่าประสบการณ์เที่ยวอินเดียจนสะสมยอดวิวจากนักอ่านได้หลักพันหรือเรือนหมื่น จนรวมบทความออกมาเป็นเล่ม และตีพิมพ์วางขายในรูปแบบพ็อกเก็ตบุ๊ก – สื่อสิ่งพิมพ์อมตะที่ไม่มีทีท่าว่าจะหมดลมหายใจลงง่ายๆ
แต่สำหรับ I Draw & Travel นั้นแตกต่างออกไป
แทนที่จะใช้ภาพถ่าย I Draw & Travel เลือกเล่าเรื่องผ่านภาพวาดสีน้ำบนไอแพด และยังไม่ทันได้แบ่งปันประสบการณ์อะไรมากมาย แถมยังมียอด Like แค่หลักร้อย แต่ I Draw & Travel ก็เลือกที่จะให้ผู้อ่านทำความรู้จัก ‘อินเดียในทรรศนะของข้าพเจ้า’ ผ่านอีบุ๊กส์ I Draw & Travel Vol.1 แบบม้วนเดียวจบ
ถ้าเป็นนักร้อง I Draw & Travel ก็ไม่มัวมาปล่อยเพลงทีละซิงเกิ้ล เพื่อหยั่งเสียงคนฟัง แต่เลือกจะเปิดตัวด้วยอัลบั้มเต็มตูมเดียวไปเลย
อีกทั้งภายในไม่กี่เดือนให้หลัง ปุ๊ก – รงรอง หัสรังค์ เจ้าของเรื่องเล่าอินเดียฉบับกระชับ ควบตำแหน่งนักวาดภาพสีน้ำประจำเล่ม ก็ตีพิมพ์ I Draw & Travel Vol.1 วางขายจำนวน 200 เล่ม และขายหมดภายในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้เกิดการพิมพ์ซ้ำขึ้นอีกเป็นจำนวน 4 ครั้งด้วยตัวเลขจำนวนพิมพ์ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับจำนวนยอด Like ของเพจ ที่ทะลุหลัก 4,000 ภายในไตรมาสเดียว
นอกจากจะเริ่มต้นด้วยต้นทุนแฟนคลับเท่ากับศูนย์ รงรองยังเพิ่งหัดวาดภาพสีน้ำอย่างจริงจัง ถือพาสปอร์ตไปเที่ยวอินเดียคนเดียวเกือบสิบครั้ง หัดวางเลย์เอาท์เองทุกหน้า และควักกระเป๋าสตางค์ซุ่มผลิตหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวคนเดียวอย่างไม่เร่งร้อน แล้วปล่อยให้ผลงานของตนทำงานขับเคลื่อนเสน่ห์ในตัวเองไปอย่างช้าๆ
เอกลักษณ์ในเรื่องเล่าถึงอินเดียของรงรองแตกต่างไปจากภาพลักษณ์ของอินเดียที่คนไทยเคยรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ที่ปกติแล้วเมื่อพูดถึงประเทศนี้ หลายคนพากันร้องยี้ (แม้บางคนอาจจะยังไม่เคยไปด้วยซ้ำ) พลางพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อินเดียทั้งเหม็น สกปรก มีแต่ขอทาน อาหารก็กินยาก พ่อค้าโก่งราคา และอันตราย อย่าไปคนเดียว!
แน่นอนว่าเป็นเรื่องจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
ยังมีอีกชุดความจริงที่รงรองประสบพบเจอและอยากเล่าให้ฟัง ผ่านวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองร้างที่ยังมีลมหายใจแห่งทมิฬนาฑู ความสงบร่มเย็นของโรงเรียนใต้ร่มไม้ของรพินทรนาถ ฐากูร การผจญภัยในสลัมที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มุมไบ หรือฝ่าความจอแจวุ่นวายในพาราณสีไปให้ได้ ฯลฯ ที่เมื่อเล่าด้วยน้ำเสียงของรงรองแล้ว ทุกอย่างกลับดูงดงามและละมุนตาไม่ต่างจากสีน้ำที่เธอระบาย
มากกว่าเนื้อหาที่แตกต่าง เธอยังให้ความสำคัญกับผู้อ่านที่อุดหนุนเธอทุกคน ด้วยการบรรจงเลือกกระดาษห่อหนังสือที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละครั้งของการตีพิมพ์ ลงมือห่อหนังสือแต่ละเล่มด้วยตัวเอง และเขียนชื่อผู้รับแต่ละคนผ่านศิลปะ Calligraphy ทีละเล่ม… ทีละเล่ม
บวกกับความขยันในการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนกับผู้อ่าน ผ่านของขวัญชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่แถมไปกับหนังสือ เช่น ชาอินเดีย หน้ากากผ้า หรืออย่างการนำธนบัตรฉบับละ 1,000 รูปี ที่รัฐบาลอินเดียประกาศเลิกใช้ไปพักใหญ่ มาแจกเป็นของชิงรางวัลสนุกๆ ที่มีส่วนกระตุ้นให้นักอ่านหน้าใหม่อยากสั่งซื้อหนังสือของเธอมากขึ้น
กันยายนนี้เป็นอีกครั้งที่ I Draw & Travel ตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 5 ด้วยจำนวนพิมพ์ 1,500 เล่ม เผื่อใครยังไม่เคยอ่าน รวมถึงคนที่อ่านแล้ว และกำลังรอคอยผลงานชิ้นใหม่ของเธอ จะได้รู้ถึงแต่ละขั้นตอนการผลิตหนังสือทำมือในยุคที่ไม่ต้องจับกระดาษอ่านแล้วก็ยังได้ ทำไมเธอถึงยังตั้งใจทำสิ่งเหล่านี้ออกมา
ทำธุรกิจจนสนิทกับอินเดีย
รงรองแนะนำตัวกับเราว่าปัจจุบันประกอบอาชีพนักธุรกิจมาได้สัก 3-4 ปี และด้วยเนื้องานส่วนหนึ่งที่เหมือนเป็น “ประตูสู่อินเดีย” เปิดโอกาสให้เธอได้รู้จักมักจี่กับแดนภารตะมากกว่าการเป็นเพียงนักท่องเที่ยวที่ไปแตะอินเดียแบบผิวเผิน
“จริงๆ ตอนแรกไปเที่ยวเองก่อน อย่างที่เล่าใน I Draw & Travel ว่า ได้อ่านหนังสือชื่อ ยังเฟื้อ ซึ่งเป็นประวัติชีวิตและผลงานของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ (ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม ปี 2528) แล้วอยากไปเที่ยวศานตินิเกตันที่ท่านเคยไปเรียนต่อ ซึ่งอยู่ไม่ไกลเมืองโกลกัตตา ส่วนรอบหลังๆ ที่ได้ไปอินเดียเพราะไปทำงาน เนื่องจากกรมส่งเสริมการส่งออกเชิญไปออกบูธจัดแสดงสินค้าตามเมืองต่างๆ ในอินเดีย พอไปบ่อยเข้าก็เริ่มรู้สึกสนุก ได้รู้จัก ได้พูดคุยกับคนอินเดียมากขึ้น ได้รู้ว่ามีคนนิสัยแบบนี้อยู่ในโลกด้วยเหรอ” เธอคั่นเรื่องเล่าด้วยเสียงหัวเราะสดใส “คนประเภทที่พูดว่า โอเค แต่ไม่ใช่โอเค เยสก็ไม่ใช่เยส ทำงานด้วยยาก แต่สนุก เพราะคนอินเดียฉลาดมากๆ มากๆๆๆ ขอย้ำ”
แม้จะไปเยือนอินเดียด้วยเรื่องงานบ่อยขึ้นเรื่อยๆ แต่เธอก็ยังไม่มีความคิดที่จะเขียนหนังสือขาย จนมาเริ่มรู้สึก ‘อยาก’ จริงๆ ก็ตอนเปิดอ่านบันทึกของตัวเอง
“ปุ๊กเป็นคนที่เขียนบันทึกตั้งแต่อายุ 11 ขวบ แต่ไม่ได้เขียนทุกวัน เขียนเฉพาะเวลาที่อยากเขียน เพราะปุ๊กอยู่โรงเรียนประจำตั้งแต่เด็ก นานๆ ทีถึงจะได้กลับบ้านสักครั้ง เลยชอบเขียนบันทึก พอโตมาก็ยังเขียนอยู่ แต่ปีหนึ่งจะเขียนสัก 4-5 ครั้ง แต่ทุกครั้งที่เขียนคือ บ่มจนสุกถึงจะเขียน”
ด้วยความที่ผันตัวมาเป็นนักธุรกิจได้ไม่นานเท่ากับการเป็นโปรดิวเซอร์รายการสารคดีทางโทรทัศน์ที่ทำมาก่อนหน้านี้เป็นสิบปี ทำให้เมื่อรงรองหยิบบันทึกของตัวเองมาอ่าน ก็เหมือนได้ตกตะกอนความคิดอีกครั้ง
“พอทำธุรกิจแล้วเริ่มจะมีเวลาว่าง เลยหยิบบันทึกเก่าๆ มาอ่าน ถึงเหตุผลต่างๆ หรือความตั้งใจในการประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตของตัวเองในแต่ละปี แล้วปุ๊กชอบในสิ่งที่ตัวเองเขียน ไม่รู้ว่าถ้าคนอื่นมาอ่านบันทึกที่เราเขียนแล้วเขาจะชอบหรือเปล่า”
และแล้วส่วนผสมของบันทึกที่จบ 1 เรื่องต่อ 1 หน้า กับการได้รู้จักเสน่ห์เฉพาะตัวของอินเดียบ่อยครั้งเข้า จึงรวมกันเกิดเป็นอาการอยากเขียนหนังสือขึ้นมา
หัดวาดรูปสีน้ำเพื่อทำหนังสือ
การเขียนคงไม่ยาก การออกเดินทางก็ไม่ใช่ปัญหา แต่รูปภาพที่จะมาประกอบเรื่องราวต่างหาก ที่รงรองตรึกตรองอยู่พักใหญ่ว่าควรออกมาในรูปแบบไหนถึงจะดี
“พออยากเขียนหนังสือ ก็นึกขึ้นมาได้ว่า เฮ้ย หนังสือก็ต้องมีรูปสิ ให้ถ่ายรูปเองเหรอ มีคนบอกว่าปุ๊กถ่ายรูปสวยนะ แต่ตัวเองคิดว่ายังสวยไม่พอ และไม่น่าสนใจ” เธอเล่าถึงลำดับความคิดที่เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน
“ประกอบกับความที่ตัวเองชอบหนังสือที่มีลักษณะเป็นโน้ตที่มีภาพวาดประกอบ ดังนั้นมีทางเดียวคือ ต้องฝึกวาดรูปใหม่ จากพื้นฐานเดิมที่มีนิดหน่อยตอนเรียน Life Drawing ที่ออสเตรเลีย ก็คิดง่ายๆ ว่า สมมติในหนังสือของเราต้องมีรูปประกอบ 100 รูป ก็ใช้เวลาวาดแค่ 100 วัน หรืออย่างนานที่สุดใช้เวลาวาดรูปละ 2 วัน ก็แค่ 200 วัน ก็ประมาณ 3-4 เดือนเอง พอคิดได้แบบนี้แล้วก็ฝึกวาดทันที”
และภาพหญิงสาวนัยน์ตาสีฟ้าสวมส่าหรีที่ชัยปุระก็เป็นภาพแรกๆ ที่เธอหัดวาดเพื่อประกอบเรื่องราวใน I Draw & Travel
“ปุ๊กไม่ใช่คนวาดรูปเก่ง แต่ตอนนั้นมันอยากทำจริงๆ” เธอย้ำถึงความตั้งใจในการวาดภาพประกอบหนังสือด้วยตัวเองนาน 2 ปี
และ 2 ปีผ่านไป ไม่ได้ไวเหมือนโกหก แต่รงรองผ่านการพูดคุยกับตัวเองหลายครั้งว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ เหมือนอย่างที่เธอเคยใช้พื้นที่บนหน้าเพจเล่าถึงความรู้สึกต่างๆ ที่ต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ เอาไว้เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563
‘มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำหนังสือออกมาสักเล่มโดยลำพัง แต่ในเมื่อปฏิเสธตัวเองไม่ได้ว่าต้องการทำจริงๆ ไม่ใช่แค่อยากทำ แต่ไม่ทำไม่ได้…
‘ผู้เขียนรู้จักอินเดียแบบบังเอิญผ่านการอ่าน พูดคุย และการค้า รู้สึกเริ่มชอบอินเดียมากขึ้นๆ เริ่มหัดวาดภาพคนอินเดีย เริ่มเดินทางมาอินเดียรอบแรก ต่อมามีรอบที่สอง รอบที่สาม รอบที่สี่ รอบที่ห้า หลายคนถามถึงสาเหตุอะไรที่ไปอินเดียบ่อย… ผู้เขียนไม่กล้าตอบว่า มาเพื่อทำหนังสือ เพราะมันฟังดูเลื่อนลอย อะไรที่ยังไม่สำเร็จก็ไม่ควรจะพูดออกมา
‘หลังจากนั้นก็มีรอบที่หก และรอบที่เจ็ด หลังจากรอบที่เจ็ดผู้เขียนเริ่มรู้สึกท้อ คิดจะเลิกทำหนังสือ แต่พอเวลาผ่านมาหลายเดือน ผู้เขียนไปอินเดียรอบที่แปด ณ เวลานั้น ผู้เขียนเขียนหนังสือได้ 20 บทแล้ว วาดภาพมามากกว่าร้อยภาพแล้ว และแล้วก็ตัดสินใจนำมารวมเล่มเป็น I Draw & Travel Vol.1 อินเดีย เล่มนี้’
จริงๆ แล้วความสำเร็จส่วนหนึ่งต้องยกให้ฝาผนังของบ้านที่เตือนใจให้รงรองไม่หยุดที่จะทำ
“นิสัยส่วนตัวเป็นคนที่ถ้าโฟกัสว่าจะทำสิ่งนี้ คือ ต้องทำให้เสร็จ ต้องทำให้สมบูรณ์ ต้องทำให้ออกมาดี ไม่เฉพาะเรื่องหนังสือ เรื่องงานอื่นๆ ก็ด้วย ปุ๊กจึงต้องทำ I Draw & Travel ออกมาให้สำเร็จ เพราะเราตั้งใจแล้วว่าจะทำ แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่มานั่งคำนวณว่าจะคุ้มค่าไหม จะลำบากไหม มันก็คงเป็นความคิดอีกชุดนึง
“สำหรับปุ๊กใช้วิธีปริ้นท์งานแต่ละหน้าๆ ติดบนฝาบ้านเอาไว้เลย ซึ่งการติดไว้บนข้างฝามันศักดิ์สิทธิ์มากเลย ปุ๊กยังบอกสามีเลยว่า โปรเจคท์อะไรที่ติดข้างฝามักจะเป็นจริงเสมอ เพราะเมื่อเราเกิดความลังเล ไม่มั่นใจว่าเขียนดีแล้วหรือยัง ทำดีพอแล้วรึเปล่า โดยที่ก็ไม่มีใครมาบอกเรา และเราก็ไม่กล้าเอาให้คนอื่นอ่าน แต่ตาก็จะเหลือบไปเห็นข้างฝาที่เราติดเอาไว้ แค่นี้ก็คิดได้ทันทีว่า เออ ทำต่อ!”
พิมพ์ครั้งที่ 1
เชื่อว่าคนที่บอกตัวเองได้อย่างชัดเจนว่าอยากทำหนังสือ ก็ต้องอยากเห็นหนังสือออกมาเป็นรูปเล่มแบบจับต้องได้ แต่ในเมื่อยุคสมัยบอกกับเราว่า สิ่งพิมพ์ตายแล้ว ใครๆ ก็ย้ายไปอ่านหนังสือออนไลน์กันหมดแล้ว รงรองก็ไม่ต้านกระแสนั้นแต่อย่างใด เธอจึงประเดิมขาย I Draw & Travel ทาง Ookbee ก่อนเป็นลำดับแรก
หลังจาก I Draw & Travel ฉบับอีบุ๊กส์ขายได้และขายดี มีเสียงเรียกร้องมาว่า อยากให้พิมพ์แบบเป็นเล่ม ก็เหมือนเป็นการยืนยันว่าฝันที่เธออยากจะทำ ไม่ใช่แค่ฝันอีกต่อไป
“พิมพ์ครั้งแรกแค่ 200 เล่ม ขายหมดด้วย เฉพาะเพื่อนตัวเองก็ปาไปแล้วร้อยเล่มแล้ว งั้นลองอีกครั้ง พิมพ์ครั้งที่สองอีก 200 เล่ม และเป็นช่วงที่โควิดกำลังระบาด ตลาดศิษย์เก่าในเฟสบุ๊กกำลังคึกคัก พอขายในนั้นก็มีศิษย์เก่าช่วยซื้ออีก 50 เล่ม ทำให้ปุ๊กไม่รู้ตัวเลขที่แท้จริงของนักอ่านเสียที
“พิมพ์ครั้งที่สามจึงลองอีก 200 เล่ม คราวนี้ไม่มีคนรู้จักมาซื้อแล้ว ขายหมดเร็วด้วย แต่ปุ๊กก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดี โรงพิมพ์เลยแนะนำให้พิมพ์อีก 400 เล่ม จะได้มีกำไรบ้าง และรอบนี้ไม่มีคนรู้จักมาซื้อแล้ว ซึ่งก็ขายหมด สรุปยอดแล้วก็ประมาณหนึ่งพันคน แสดงว่าหนังสือเราก็พอจะขายได้” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงสดใสเช่นเคย พร้อมย้ำว่า “ทำแล้วมีความสุขมากกก” เสียงแห่งความสุขลากยาวต่อท้ายประโยค
และสัดส่วนของความสุขที่เธอบอกว่า สุขเสียยิ่งกว่าตอนเขียนหนังสือ ก็คือ ตอนห่อหนังสือและจ่าชื่อผู้รับด้วยลายมือตัวเอง
“ในการนั่งเขียนชื่อแต่ละคนแบบคอริกราฟ ทำให้ปุ๊กมีสมาธิมากขึ้น สมมติวันนึงเราเขียนสัก 20 ชื่อ ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หรือเต็มที่ก็ 40 นาที แต่มันเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เรารู้สึกนิ่งมาก เหมือนกับตอนวาดรูป ซึ่งเป็นผลพลอยได้อีกอย่าง ถึงได้บอกว่าชอบตอนห่อหนังสือมากกว่าตอนเขียน เพราะอยู่ดีๆ เราคงไม่มานั่งเขียนชื่อใครก็ไม่รู้เพื่อฝึกสมาธิหรือฝึกลายมือ แต่นี่เรารู้ว่าเรากำลังจะส่งไปให้คนที่สนับสนุนเรา”
สร้างเสริมทัศนคติด้วยสองโลกที่แตกต่าง
“จริงๆ ไม่อยากทำธุรกิจเลยนะ แต่กลัวจน” นักเขียนในคราบนักธุรกิจสารภาพความในใจ
แต่นอกเหนือไปจากกลัวยากจน รงรองตกตะกอนทางความคิดเพิ่มเติมได้ว่า ถ้าไม่ได้เป็นนักธุรกิจ หนังสือเล่มนี้คงยังไม่สำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่างแบบนี้
และส่วนหนึ่งของโลกธุรกิจก็ได้เปิดมุมมองและขยายทัศนคติของเธอให้กว้างไกล จนสามารถนำมาใช้เป็นทุนในการเขียนหนังสือที่ดีได้อีกทางหนึ่ง
“การทำธุรกิจทำเราได้เห็นคนทุกระดับ ซึ่งก่อนหน้านี้สมัยทำรายการสารคดี ปุ๊กได้สัมภาษณ์คนมาเยอะมาก ซึ่งคนเหล่านั้นเป็นคนที่มีองค์ความรู้ และเป็นการพูดคุยกันอย่างมีประเด็น แต่ในการทำธุรกิจ เราได้เจอคนที่บางครั้งเขาอาจจะพูดจาไม่รู้เรื่องบ้าง หรือเห็นแก่ตัวบ้าง บางคนก็จ้องแต่จะโกง ทำให้ได้รู้จักแง่มุมของคนมากขึ้น
“4 ปีที่ปุ๊กทำธุรกิจค้าขายช่วยปรับมุมมองของตัวเองมาก ได้เห็นความลำบากจริงๆ ซึ่งความลำบากเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะทำให้เราไม่มองอะไรตื้นเขินแค่มุมเดียว และบางครั้งเราก็ต้องเลวบ้าง บางครั้งเราก็ต้องดี” รายละเอียดที่เธอพบเจอในแต่ละวันของการทำงานเหล่านี้เองที่เป็นแรงขับเคลื่อนในการลงมือทำหนังสือ ซึ่งเป็นงานที่ตัวเองสามารถพูดคำว่า “รัก” ได้เต็มปาก
“ปุ๊กรู้สึกว่าทุกประสบการณ์ที่เราเจอมันส่งไปถึงการเขียนโดยอัตโนมัติ ปุ๊กจะไม่ใช่คนที่พยายามอ่านหนังสือทุกวัน หรือนั่งกับโต๊ะแล้วเขียนหนังสือทุกวัน เพื่อที่จะเป็นนักเขียน ปุ๊กคิดว่าเราต้องไปสัมผัสมุมอื่นๆ แล้วถึงจะตกตะกอนทางความคิดหรือสะสมบางอย่างไว้ในตัวเรา คราวนี้เมื่อจะลงมือเขียนอะไร ความคิดนั้นก็จะเป็นของเราจริงๆ”
นั่นทำให้งานเขียนท่องเที่ยวเชิงสารคดีชิ้นแรกในชีวิต เป็นเรื่องเล่าจากมุมมองของรงรอง 80-90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นข้อมูลเสริมที่ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
“ความตั้งใจคือ อยากทำสารคดีที่ไม่ได้มีคำคม หรือแม้แต่ไม่จำเป็นว่าอ่านแล้วจะต้องได้แง่คิดทุกบท ทำได้แค่บอกความจริงให้มากที่สุด โดยไม่ตัดสินว่าดีหรือไม่ดี หน้าที่นักเขียนแบบปุ๊กคือ เล่าให้คนอ่านเห็นหลายๆ มิติแค่นั้นเอง
“ปุ๊กไม่ได้เขียนอวยอินเดีย แต่คิดแบบนี้อยู่แล้วกับทุกคนและทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนจน คนโกงกิน หรือแม้แต่ฆาตกร จริงๆ เราก็ไม่ต้องไปตัดสินใคร แม้แต่กับหมา กับต้นไม้ ถ้ามันจะไม่น่ารัก หรือไม่สวย มันก็เป็นของมันแบบนั้น ดังนั้น ในหนังสือของปุ๊กจะไม่มีการต่อว่า แต่อาจจะมีบ้างที่เล่าถึงความจริงที่ไม่ดี เพราะนั่นคือความจริง”
รงรองปิดท้ายบทสนทนาด้วยการขยายความถึงความแตกต่างในเนื้อแท้ของอินเดียที่เธอเลือกเล่าผ่านน้ำหนักของสีสันที่รงรองเลือกแต้มลงไปในแต่ละภาพ ซึ่งก็ไม่ต่างกับทัศนคติหนัก-เบาที่เธอมีต่อแต่ละเรื่องราวใน I Draw & Travel บันทึกการเดินทางที่ไม่จ้องจะตัดสินใครๆ
ติดตามเรื่องเล่าการเดินทางผ่านสีน้ำได้ที่ facebook.com/Idrawandtravelpage