“กาแฟเกิดขึ้นพร้อมกับร้าน ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ในร้านหนังสือต้องมีกาแฟ”
วิทยา ก๋าคำ หรือ กา เจ้าของร้านหนังสือไร้ชื่อ ที่ได้ไอเดียมาจาก A Horse with No Name เพลงโฟล์กร็อคของวง America เล่าถึงความตั้งใจในการเสิร์ฟเครื่องดื่มควบคู่ไปกับการขายหนังสือ สมกับที่เขากำกับคำว่า Bookshop& Cafe ต่อท้ายชื่อร้าน A Book with No Name
หลังจากตามหาทำเลในการทำร้าน จนมาถูกใจตึกแถว 2 คูหา ปากซอยสามเสน 17 วิทยาผู้ร่ำเรียนมาทางด้านศิลปะโดยตรงจึงเดินหน้าตกแต่งร้านด้วยตัวเองทั้งหมด พ่วงด้วยหน้าที่คัดเลือกหนังสือที่ถูกจริตเจ้าตัวมาขาย
ส่วนความรับผิดชอบในการคัดเลือกเมล็ดกาแฟและประจำการอยู่หลังบาร์เครื่องดื่ม อยู่ในความดูแลของ โดนัท – งามแสนหลวง สิงห์เฉลิม หญิงสาวผู้เคยผ่านประสบการณ์ทำงานในร้านกาแฟเชนใหญ่ของโลกและคลุกคลีในวงการกาแฟมานานปี
ร้านหนังสือแห่งนี้จึงไม่ได้จริงจังแค่การคัดสรรวรรณกรรมมานำเสนอแด่หนอนหนังสือเท่านั้น แต่ยังใส่ใจในการคัดสรรเมล็ดกาแฟรสชาติแปลกใหม่มานำเสนอแด่คอกาแฟ ทำให้วันดีคืนดี นอกจากจะเสิร์ฟ house blend ประจำร้าน ยังมีเมล็ดกาแฟจากฮอนดูรัส หรือจากรัฐฉานในเมียนมาร์ มาดริปเสิร์ฟเพิ่มความประทับใจ
“หลักๆ ที่ร้านจะเสิร์ฟเป็น Filter Coffee, Single Origin และ Cold Brew หรือถ้าลูกค้าบางคนอยากกินเมล็ดอื่นๆ ที่ไม่ใช่ house blend ของร้านก็พอจะมีให้ แต่อาจจะไม่เยอะเท่าร้านกาแฟ specialty เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มาเพราะอยากกินกาแฟ แต่มาเพราะเราเป็นร้านหนังสือ ที่พอมาแล้วพบว่ามีกาแฟดริปก็สั่งมาดื่มเสียหน่อย” วิทยาเล่าถึงบุคลิกของร้านหนังสือกึ่งคาเฟ่แห่งนี้
“ส่วนเมนูนักเขียนนั้นงอกมาที หลังตอนที่ร้านเราไปร่วมงาน LIT Fest ที่จัดขึ้นที่มิวเซียมสยาม เมื่อต้นปี 2562 เจ้าของโครงการชวนให้ร้านเราทำเมนูนักเขียน ผมกับโดนัทเลยช่วยกันคิดสูตรเครื่องดื่มจากเมนูที่นักเขียนระดับโลกชอบดื่ม”
Espresso Mojito ที่วิวัฒน์มาจากเครื่องดื่มแก้วโปรดของ เออร์เนสต์ เฮมิ่งเวย์ (Ernest Hemingway) อย่าง โมฮีโต้ โดยใส่กาแฟแทนเหล่ารัม ผสมให้เข้ากับน้ำตาลทรายแดง โซดา และมะนาว คือหนึ่งในเมนูแจ้งเกิดจากเทศกาลเล็กๆ ในครั้งนั้น ที่กลายเป็นเมนูประจำร้าน A Book with No Name จนถึงปัจจุบัน
“หรืออย่าง ทรูแมน คาโปเต้ (Truman Capote) ชอบดื่ม Screwdriver ที่มีส่วนผสมหลักเป็นน้ำส้มกับวอดก้า เราก็เปลี่ยนจากวอดก้าเป็นกาแฟผสมน้ำส้ม ที่ช่วงหลังๆ ก็มีหลายร้านทำกาแฟผสมน้ำส้มขายกันมากขึ้น
“แก้วโปรดของ จอห์น สไตน์เบ็ค (John Steinbeck) ชื่อ Jack Rose ทำจากบรั่นดี Applejack ผสมน้ำเชื่อมกลิ่นทับทิมและน้ำมะนาว เราก็เปลี่ยนมาเป็นกาแฟผสมน้ำแอปเปิ้ล เพื่อให้ได้กลิ่นอายของ Applejack แล้วตั้งชื่อแก้วนี้ตามผลงานเด่นของเขาว่า Tortilla Flat (ตอร์ติญา แฟลต)” งามแสนหลวงเล่ายาวถึงเมนูนักเขียนแต่ละแก้ว
“T.S.Coffee ได้แรงบันดาลใจจากบทกวีของ ที. เอส. เอเลียต (T. S. Eliot) ที่เปรียบเปรยลูกพีชเป็นสัญลักษณ์ทางเพศที่หอมเย้ายวน เราก็เอามาทำเป็นเครื่องดื่มกาแฟผสมชาพีช ซึ่งเหมาะกับคนที่เบื่อรสชาติเดิมๆ ของอเมริกาโน แต่ก็ไม่ชอบกินกาแฟใส่นม ที่พอได้ลองกินแก้วนี้แล้วมักจะถูกใจ”
นอกจากเมนูกาแฟที่บันดาลใจจากค็อกเทลแก้วโปรดของนักเขียนแล้ว ยังมีเครื่องดื่มไร้คาเฟอีนที่สร้างสรรค์ขึ้นจากวรรณกรรมเด็กขึ้นชื่อ อาทิ Tom& Jerry นมปั่นใส่แคร็กเกอร์ชีส รสชาติหอมหวาน เค็มๆ มันๆ เพื่อให้ได้กลิ่นอายของเจอร์รี หนูจอมป่วนที่แค่อยากกินชีสจนกลายเป็นมหากาพย์แห่งการแกล้งแมวสุดอมตะ
อีกแก้วเป็น Butterbeer เครื่องดื่มที่นักอ่านคุ้นหูและต่างก็อยากชิมจากเรื่อง Harry Potter ที่ในหนังสือระบุว่าทำจากบัตเตอร์สก็อตช์ น้ำตาล และน้ำ เมื่อมาอยู่ในมือนักปรุงเครื่องดื่มอย่างงามแสนหลวง เธอจัดแจงปรับสูตรโดยเอานมคาราเมลมาปั่น แล้วท็อปปิ้งด้วยฟองนมราดคาราเมลข้นๆ ดูแล้วคล้ายเบียร์ (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มขายดีจากตู้แช่ประจำร้านหนังสือแห่งนี้)
นอกจากเครื่องดื่มแล้ว บาริสต้าสาวยังขยันอบเบเกอรี่ขายทุกวัน เมนูเด็ดต้องยกให้คุกกี้งาขี้ม้อนและช็อกโกแลตชิป ที่หอมหวานเข้มข้นแบบไม่หวงเครื่อง สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้เช่นกัน
“บางคนก็มาที่นี่เพราะแมว” วิทยาเล่าถึงอีกหนึ่งแม่เหล็กดึงดูดลูกค้าประจำร้าน ได้แก่ แมว 4 ตัว ที่ขยันเดินเข้าเดินออกระหว่างหน้าร้านกับหลังร้านเป็นว่าเล่น ไม่รู้ว่าเพราะสนุกกับการได้ต้อนรับแขก หรือเดินคุมเชิงเพราะหวงอาณาเขตส่วนตัว แต่ที่แน่ๆ ลูกค้าจำนวนหนึ่งเรียกร้านหนังสือแห่งนี้ว่า ‘ร้านแมว’ ไปแล้ว
“แมวก็เหมือนกาแฟครับ เราเริ่มต้นร้านนี้โดยมีทั้งหนังสือ แมว และกาแฟเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้”
แต่มากไปกว่าสารตั้งต้นอย่างหนังสือ แมว และเครื่องดื่ม ร้านหนังสืออิสระต้องหาวิธีขับเคลื่อนตัวเองโดยห้ามหยุดนิ่ง ร้านไหนถนัดขายหนังสือออนไลน์ก็ขายไป ส่วนร้านหนังสือไร้นามแห่งนี้สนุกกับการจัดกิจกรรม Bookclub, เล่นดนตรี, ปาร์ตี้วันเกิดร้าน, จัดงานฉายหนังข้ามปี ฯลฯ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ได้สร้างนิเวศน์เฉพาะตัวของ A Book with No Name ให้เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อย
“สนุกครับ” วิทยาตอบทันทีเมื่อถามถึงความรู้สึกของการทำร้านหนังสือมานาน 3 ปี “ผมอยากทำนั่นโน่นนี่เยอะแยะไปหมด ปีแรกมีดนตรี มีบุ๊คคลับชวนคุยถึงหนังสือเรื่อง สิทธารถะ เชิญศิลปินมาเล่นดนตรีสดในร้าน แต่พอขึ้นปีที่สองก็แจ็คพ็อต เจอกับโควิดเข้าให้
“แต่ร้านเราก็เปิดตลอด ไม่เคยปิด ถึงจะห้ามนั่งในร้าน เราก็เปิดขายอยู่ดี เพราะไม่รู้จะทำยังไง มีขายหนังสือออนไลน์บ้าง แต่ก็ไม่ได้ขายเต็มตัว ถึงยังไงการขายหน้าร้านก็มีเสน่ห์กว่า ซึ่งเราก็ปรับตัวไปตามสถานการณ์ อย่างตอนเจอโควิดรอบแรก เราเอาโต๊ะเก้าอี้ออกหมดเลย เพราะยังไม่รู้ว่าต้องจัดการยังไง
“พอโควิดรอบสองยกแค่เก้าอี้ออก แต่เหลือโต๊ะไว้วางหนังสือกับต้นไม้ พร้อมกับจัดมุมให้ถ่ายรูปได้ อย่างน้อยเราอยู่เองก็สบายตาและไม่เหงา หาต้นไม้มาแต่งร้านจนมีโครงการจะขายต้นไม้แล้ว (หัวเราะ) อย่างน้อยก็หาอะไรทำไปเรื่อย จะได้ไม่เบื่อ ไม่ต้องนึกถึงว่าจะขายได้หรือไม่ได้ มีให้ขายก่อนดีกว่าค่อยว่ากัน เพราะเราเองก็ไม่มีอะไรจะเสีย เราเริ่มจากศูนย์”
วิทยาเองก็เหมือนนักอ่านอีกมากมายที่ความหลงใหลในโลกวรรณกรรมทำให้เขาฝันอยากมีร้านหนังสือเป็นของตัวเอง และจากการเทียวเข้าเทียวออกร้านหนังสืออิสระยืนหนึ่งของวงการอย่าง ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ เป็นประจำ ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจว่าตนก็น่าจะเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ได้เหมือนกัน
“ผมแค่อยากเปิดร้านหนังสือ และคาดหวังให้ร้านอยู่ได้ เลี้ยงตัวเราได้ ผมเอาต้นแบบจากร้านหนังสือเดินทางในแง่ที่ว่า ร้านเขาอยู่ได้จริงๆ มานานเกือบ 20 ปี ดังนั้น ถ้าเราทำจริงจัง เราก็ต้องอยู่ได้ เส้นทางอาจจะไม่ปูด้วยกลีบกุหลาบแน่นอน ผมรู้หมดว่าข้อจำกัดคืออะไร แต่ก็ยังอยากทำอยู่ดี ไม่อยากให้เกิดความรู้สึกว่า อยากทำอะไรมากๆ แล้วไม่ได้ทำ
“สุดท้ายแล้ว ผมไม่ได้กลัวว่าทำแล้วจะเจ๊ง แต่กลัวไม่ได้ทำมากกว่า” เขาย้ำในความเจตนารมณ์ที่ยังมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง
“ผลตอบรับที่ผ่านมาก็ถือว่าดี แค่ยังไม่มีกำไร แต่เปิดร้านมาสามปี คงยังบอกอะไรไม่ได้ พี่หนุ่ม (เจ้าของร้านหนังสือเดินทาง) เคยบอกผมว่า กาจะทำร้านแค่ห้าปีสิบปีไม่ได้หรอก ต้องทำไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต ซึ่งผมก็รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ พอได้ทำแล้วเลิกยากเหมือนกัน ผมเชื่อว่าต่อให้ตัวเองเลิกทำร้านนี้ สุดท้ายก็ต้องลุกมาทำร้านใหม่อยู่ดี ซึ่งร้านนี้มันเลยจุดศูนย์มาแล้ว เรามีลูกค้า มีสังคมของตัวเองแล้ว จึงยากที่จะปล่อยไป นอกเสียจากว่าร้านนี้จะทำให้เราสิ้นเนื้อประดาตัวจริงๆ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะรายได้หลักของผมมาจากงานสอน และงานอื่นๆ ส่วนรายได้จากร้านหนังสือเป็นแค่เงินหมุนเวียน” ยินเสียงงามแสนหลวงแว่วมาว่า เงินที่ได้จากการทำร้านเอาไว้รักษาแมวป่วย
“ทำร้านได้มากกว่าเงิน ได้เพื่อน ได้สังคม” หญิงสาวร่วมแบ่งปันความรู้สึกของการนับหนึ่งด้วยกันมาตั้งแต่แรก
“แต่ถ้าโควิดยังไม่จบ คิดว่าต้องหันมาขายต้นไม้เพิ่มจริงๆ” วิทยายิ้มทีเล่นทีจริงปิดท้ายบทสนทนา ที่เขาย้ำผ่านสเตตัสบนหน้าเพจของร้าน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ไว้ดังนี้
‘ร้านเราจะมีต้นไม้ขายในราคาน่ารักจับต้องได้แวะมาซื้อหนังสือพูดคุยถ่ายรูปหยอกกับแมวแล้วอาจจะได้ต้นไม้สักต้นกลับบ้านไปด้วย
เราจะอยู่ต่อไปและจะอยู่ให้ได้เพื่อสักวันหนึ่งเราจะได้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลง
เราทำร้านหนังสือเพราะเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและสังคมที่มันดีขึ้นจริงๆ’
ที่ตั้ง: 721-723 ซอยสามเสน 17 ถนนสามเสน ดุสิต กรุงเทพฯ โทร 080-816-2955
เปิดบริการวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 11.00 – 22.00 น. ปิดวันจันทร์