เช้าแรกที่ตื่นขึ้นในกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศศรีลังกา
ชาวสิงหลต้อนรับอาคันตุกะด้วยน้ำผลไม้ที่ไม่เคยคุ้นอย่าง Soursop และ Wood Apple ที่มีให้เลือกลองลิ้มชิมรสในไลน์บุฟเฟต์อาหารเช้า
น้ำ Soursop มีเทกส์เจอร์ข้นๆ สีขาว ลองชิมดู รสชาติออกไปทางหวานนวลๆ คล้ายน้อยหน่า ลองถาม Google ดูว่า Soursop คืออะไร คำตอบคือ ทุเรียนเทศ หรือทุเรียนน้ำ พืชในวงศ์เดียวกับน้อยหน่า จึงคล้ายกันทั้งหน้าตาของผล เนื้อ และรสชาติ
ส่วนน้ำ Wood Apple ออกสีน้ำตาลตุ่น สีสันไม่ชวนลิ้มลอง แต่ก็ต้องขอลองลิ้มดูสักครั้ง ผลลัพธ์ที่ได้ยากจะบรรยายรสชาติเฉพาะนี้ออกมาเป็นตัวอักษรที่ตรงเป๊ะได้ เพราะแม้ออกจะไปทางเปรี้ยวซ่อนหวานคล้ายแอปเปิ้ล แต่ก็มีกลิ่นเฉพาะตัวบางอย่าง ที่จะมีก็แต่คนเคยกินผลไม้ชนิดนี้มาก่อนเท่านั้นถึงจะรู้ว่านี่คือ ‘น้ำมะขวิด’ นั่นเอง

ในเมื่อศรีลังกาต้อนรับเราด้วยรสชาติเฉพาะตัวอันน่าประทับใจ คณะเดินทางชาวไทยอย่างเราจึงมาพร้อมภารกิจพิเศษ ในการนำอาหารเฉพาะถิ่นอย่าง ‘ปลาร้า’ มาให้ชาวศรีลังกาได้เปิดประสบการณ์ใหม่แห่งรสชาติสุดนัวผ่านกิจกรรม ISAN to Sri Lanka – Chef Table
ISAN to Sri Lanka – Chef Table จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยความร่วมมือของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ และการบินไทย โดยเป็นกิจกรรมที่ต่อยอดจากงาน PlaraMorlam Isan to the World’ 24 ที่ตั้งใจทำให้ปลาร้ากลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญที่ถูกจดจำในระดับโลก โดยได้เชฟคำนาง – ณัฏฐภรณ์ คมจิต ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารอีสาน เจ้าของ ‘เฮือนคำนาง’ Chef Table เจ้าดังประจำจังหวัดขอนแก่น และเจ้าของผลิตภัณฑ์ซอสปลาร้าสูตรเข้มข้นแบรนด์คำนาง เป็นผู้จัดเตรียมสำรับคาว -หวานที่ hint ปลาร้าไว้ในทุกเมนูให้แขกผู้มาร่วมงานประหลาดใจ

มื้อพิเศษในครั้งนี้จัดขึ้น ณ สยามนิวาส บ้านแห่งวัฒนธรรมไทยในศรีลังกา ที่ประวัติของตัวบ้านน่าสนใจไม่แพ้สารพันกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้มาตลอด 3 ปี
สยามนิวาส : ศูนย์วัฒนธรรมไทยในศรีลังกา
สยามนิวาส ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 43 ถนน Dr. C.W.W. Kannangara Mawatha ใจกลางกรุงโคลัมโบ ตัวบ้านเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุค 50 ที่แลดูสวย เรียบ และเท่ โดยดั้งเดิมเคยเป็นบ้านพักและคลินิกของคุณหมอชาวทมิฬ ก่อนจะถูกถ่ายโอนมาเป็นที่ทำการสถานทูตไทยในปี 1971
จนกระทั่งในปี 2001 สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างชาวสิงหลและชาวทมิฬเริ่มลุกลามมายังพื้นที่ใจกลางเมืองหลวง สถานทูตไทยจึงจำเป็นต้องย้ายที่ทำการออกจากอาคารหลังนี้ ทำให้บ้านหลังงามถูกปิดไว้ไม่ได้ใช้งานนานกว่า 20 ปี

ล่วงมาจนถึงปี 2022 ท่านทูตพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูตไทยในเวลานั้น และคณะนักการทูตไทยในศรีลังกา เห็นพ้องตรงกันว่าอาคารเก่าแก่สมบัติของชาติไทยหลังนี้้ควรค่าแก่การถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง การรีโนเวทครั้งใหญ่จึงได้เริ่มต้นขึ้น พร้อมกับบทบาทใหม่ในบ้านหลังเดิมนั่นคือ การเป็นบ้านแห่งวัฒนธรรมไทยในศรีลังกา โดยท่านทูตพจน์ได้ตั้งชื่อให้อาคารหลังนี้ว่า ‘สยามนิวาส’ หรือ Siam Nivasa ที่มีความหมายตรงตัวว่า House of Siam ให้สมกับหลากหลายกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในบ้านหลังนี้

กิจกรรมแรกที่จัดขึ้นในงานเปิดตัวสยามนิวาส ได้แก่ การแสดงหุ่นกระบอก เวิร์กชอปทำหุ่นกระบอก การแสดงดนตรีเครื่องสายของไทย และเวิร์กชอปทำขนมไทยจากวัตถุดิบศรีลังกา ซึ่งทุกกิจกรรมสร้างความสนุกสนานและประทับใจให้กับทั้งชาวศรีลังกาและแขกทุกคนที่มาร่วมงาน
หลังจากนั้น สยามนิวาสก็เปิดบ้านจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงนาฏศิลป์ไทยโดยกรมศิลปากร การแสดงดนตรีไทยโดยวงวิเศษดนตรี กิจกรรมดนตรีบำบัด กิจกรรมสอนจับจีบผ้า มีการจัดตลาดนัดไทยในบ่ายวันอาทิตย์ และล่าสุดเพิ่งมีการเปิดสอนภาษาไทยให้แก่ชาวศรีลังกาที่สนใจและรักในวัฒนธรรมไทย

นอกจากจะเป็นพื้นที่ในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยแล้ว สยามนิวาสยังเปิดโอกาสให้ศิลปินชาวศรีลังกามาจัดแสดงนิทรรศการศิลปะที่นี่อย่างต่อเนื่อง บ้านหลังนี้จึงเต็มไปด้วยชีพจรแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทย – ศรีลังกาที่นับวันจะยิ่งเต้นแรงขึ้นเรื่อยๆ สมกับการเป็นมิตรประเทศที่มีสายสัมพันธ์อันดีต่อกันมานานกว่า 700 ปี
พาข้าว พาปลาร้าไทยขึ้นโต๊ะเสิร์ฟชาวลังกา
ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสยามและลังกาก่อกำเนิดขึ้นโดยมีศาสนาพุทธเป็นจุดเชื่อมโยงหลัก นับตั้งแต่ครั้งที่สยามรับเอาพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาจากพระสงฆ์ชาวลังกาที่จาริกมาตั้งนิกายลังกาวงศ์ขึ้นที่นครศรีธรรมราช เมื่อ 700 กว่าปีที่แล้ว
ต่อมาในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา เมื่อคราวที่เกาะลังกาถูกชาติตะวันตกรุกรานอย่างหนักจนพุทธศาสนาเสื่อมถอย ก็ได้มิ่งมิตรอย่างสยามในการฟื้นฟูพุทธศาสนาในลังกาด้วยการส่งคณะสงฆ์เดินทางไปบรรพชาอุปสมบทพระภิกษุและสามเณร เกิดเป็นคณะสงฆ์นิกายสยามวงศ์ที่สถิตอยู่ในศรีลังกาตราบจนปัจจุบัน

เป็นที่น่าสังเกตว่านอกเหนือไปจากศาสนาพุทธแล้ว สื่อกลางในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างไทยและศรีลังกาแทบจะไม่ปรากฏเพิ่มเติม ดังนั้น การพาปลาร้าไทยไปขึ้นโต๊ะอาหารที่ศรีลังกาจึงเป็นหมุดหมายใหม่ที่น่าจับตามอง โดยถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมประเดิมปีแห่งความพิเศษ ในวาระครบรอบ 70 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างไทยและศรีลังกาที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 1955
ISAN to Sri Lanka – Chef Table บรรจงสอดแทรกรสนัวของปลาร้าไทยให้แนบเนียนเป็นเนื้อเดียวกับอาหารทุกจานในสำรับ ‘พาข้าว’ ที่ไล่เรียงจากอาหารคาวแล้วไปจบที่ของหวานอย่างลงตัว โดย พาข้าว หมายถึง สำรับอาหารที่จัดเตรียมมาเพื่อรับประทานร่วมกันในงานบุญ งานประเพณี หรือมื้ออาหารของครอบครัว
ก่อนจะเริ่มต้นพาข้าว ISAN to Sri Lanka – Chef Table ต้อนรับแขกผู้มาร่วมงานทุกท่านด้วยเครื่องดื่มสูตรพิเศษ Rose of the Royal Voyage ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก ซึ่งเกาะลังกาก็เป็นหนึ่งในนั้น

เครื่องดื่มรสละมุนแก้วนี้ผสานความหอมของไซรัปกุหลาบจุฬาลงกรณ์ (Silpin Chulalongkorn Rose Premium Syrup) กับสัมผัสซ่าเบาๆ ของสปาร์คกลิ้งสปริตซ์ เกิดเป็นรสชาติละเมียดละไม ทำหน้าที่เปิด palette ก่อนเริ่มต้นรับประทานอาหารได้เป็นอย่างดี

Rose of the Royal Voyage ไม่ได้เสิร์ฟเฉพาะในงาน Chef Table ครั้งนี้เท่านั้น ใครที่ต้องการออกแบบทริปไปเยือนศรีลังกาให้พิเศษกว่าใคร แนะนำให้เลือกจับจองที่นั่ง Royal First Class หรือ Royal Silk Class ของการบินไทย เพราะเสิร์ฟ Rose of the Royal Voyage ให้อิ่มเอมกับสปาร์คกลิ้งไซรัปรสละเมียดขณะเดินทางด้วยความสะดวกสบายเหนือระดับ ผ่านการปรับปรุงที่นั่งชั้นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่มีความกว้างมากขึ้น บนเครื่องบิน A320 ในเส้นทางบินสู่ศรีลังกา รวมถึง 8 เส้นทางภายในประเทศ และ 22 จุดหมายปลายทางในเอเชีย เพื่อยกระดับประสบการณ์เดินทางของผู้โดยสารให้ได้รับความสะดวกสบายสมบูรณ์แบบที่สุด

ดื่มด่ำกับรสชาติหอมหวานซาบซ่าเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้เวลาลิ้มรสชาติ ‘พาแฮก’ หรือ Appetizer อันได้แก่ ตำหมากไม้ และ เมี่ยงกลีบบัวคั่วปลา ซึ่งสร้างความประหลาดใจแก่ผู้มาร่วมงานชาวศรีลังกาไม่น้อย เพราะวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนลังกาไม่ปรากฏการทานดอกไม้กับอาหาร เมี่ยงปลารสนัวด้วยส่วนผสมลับอย่างปลาร้าที่เสิร์ฟมาแบบพอดีคำในกลีบบัวหลวงสีชมพูสวย จึงถือเป็นรสสัมผัสที่แปลกใหม่ เริ่มต้นดินเนอร์มื้อนี้ได้อย่างน่าประทับใจ

จากนั้นจึงเข้าสู่จานหลักของสำรับ ‘พาข้าว’ ไล่เรียงมาตั้งแต่ หลามไก่ป่า ซุปร้อนๆ ที่ได้จากการนำไก่ป่าไปปรุงในกระบอกไม้ไผ่ด้วยสารพัดสมุนไพรแล้วกลั่นจนได้น้ำซุปไก่เข้มข้น ต่อด้วย ส้มตำ ไก่ย่าง ลาบทอด และ อ๋อปลา (Traditional Isan Fish Soup) ทานพร้อมกับข้าวเหนียวสามสีที่หุงจนหอมกรุ่นเป็นเอกลักษณ์ของข้าวไทยที่สร้างความประทับใจให้กับทุกคนในงาน

ร่วมรับประทานอาหารในมื้อพิเศษ ISAN to Sri Lanka – Chef Table
ปิดท้ายที่ ‘พาหวาน’ อย่างไอศกรีมวานิลลาทานคู่กับข้าวตูและมะม่วง ซึ่งมีปลาร้าเป็นส่วนผสมลับในข้าวตูที่ผสานรสนัวให้ข้าวตูหอมเนียนขึ้นกว่าเดิม เสริมความอร่อยที่เข้ากันให้ทุกคำที่ตัดกินคู่กับไอศกรีมวานิลลาและมะม่วงได้รสชาติหวานๆ เย็นๆ เป็นการจบมื้อ ISAN to Sri Lanka – Chef Table อย่างสมบูรณ์แบบ
นอกจากการได้ลิ้มรสชาติปลาร้าของไทย ภายในงานยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทยอีสานในเปลี่ยนโฉมโถงอเนกประสงค์ภายในสยามนิวาสให้เป็นเหมือนนิทรรศการศิลปะย่อยๆ โดยมีทั้งผลงานศิลปะจากเศษผ้าฝีมือ อริสรา แดงประไพ ศิลปินผ้าเจ้าของ Arisara Studio และ ภาณุมาศ ทาศิลา อีกหนึ่งศิลปินลูกอีสานที่โชว์ลีลาวาดลายเส้นด้วยชาร์โคลแบบสดๆ เพื่อสร้างศิลปะประดับในงาน

การพาปลาร้าไทยไปทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและศรีลังกาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
ติดตามความเคลื่อนไหวของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่จะมีขึ้นอย่างต่อเนื่องที่สยามนิวาสได้ทาง IG : @siamnivasa.colombo