©ulture

“กิมย้ง” เป็นนามปากกาของ จาเหลียงยง

นักเขียนผู้ลือนามในยุคสมัยของเรา ผู้จากไปอย่างสงบในวัย 94 ปี โดยทิ้งผลงานอันลือลั่น และคุณูปการในวงวรรณกรรมไว้เบื้องหลัง

จาเหลียงยง มีชีวิตคาบเกี่ยวกับยุคโบราณและยุคโมเดิร์น เขาเกิดในบ้านสกุล จา (查) สกุลบัณฑิตแห่งกังนั้มที่มีชื่อเสียงเลื่องลือมาตั้งแต่ราชวงศ์หมิงตราบจนราชวงศ์ชิง ปู่ของเขาคือ จาเหวินชิง ถือเป็นหนึ่งในบัณฑิตชั้น ‘จิ้นซื่อ’ คนสุดท้ายของราชวงศ์ชิงและคนสุดท้ายของยุคศักดินา

กิมย้ง จาเหลียงยง
“กิมย้ง” ในวัยหนุ่ม

แต่เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ด้วยสถานะบัณฑิตจิ้นซื่อตกยุค ปู่ของเขาถูกตราหน้าว่าเป็นพวกขวาจัด ชื่อเสียงถูกเหยียบย่ำป่นปี้ในฐานะศัตรูการปฏิวัติ

หลานของท่านจิ้นซื่อรอดพ้นจากหายนะในแผ่นดินใหญ่ เพราะโยกย้ายตัวเองไปปักหลักที่ฮ่องกง แต่ความชิงชังในระบอบอันบ้าคลั่ง ถูกถ่ายทอดเอาไว้ในนิยายบางเรื่อง

การปฏิวัติซินไฮ่
การปฏิวัติซินไฮ่ กองทัพราชวงศ์ชิงออกจากประตูเมืองเข้าสู้กับฝ่ายปฏิวัติ (Photo: Wikimedia Commons)

ความที่เกิดในบรรยากาศของ ‘หญู’ (วิญญูชนสายขงจื๊อ) จาเหลียงยงผู้เป็นหลานจึงอาจได้รับการถ่ายทอดขนบการเรียนแบบบัณฑิตมาจากปู่และพ่อของเขา ขณะเดียวกันผู้หลานก็ผ่านการศึกษาสมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยซูโจว ศูนย์กลางวัฒนธรรมแห่งแดนกังนั้ม

จาเหลียงยงเกิดที่กังนั้ม จึงชมชอบกังนั้มเป็นพิเศษ หลายฉากหลายตอนในนิยายของเขาพรรณนาความงดงามของดินแดนภาคใต้ของจงหยวนไว้อย่างเพริดแพร้ว ซูโจวมีฉายาว่า ‘สวรรค์บนดิน’ เคยเป็นเมืองหลวงสมัยซ่ง มีทิวทัศน์งามตาน่าเพลิดเพลินเสียจนฮ่องเต้หนานซ่งไม่คิดจะรุกขึ้นเหนือตีแผ่นดินที่ถูกพวกกิมก๊กยึดคืนไป เอาแต่เสพสุขในกังนั้มจนกระทั่งสิ้นชาติ

จาเหลียงยง สะท้อนความเหลวแหลกนี้ไว้ในนิยายบางเรื่องของเขา

นวนิยาย กระบี่เย้ยยุทธจักร ยิ้มเย้ยยุทธจักร
หนังสือนิยาย ‘กระบี่เย้ยยุทธจักร’ ฉบับภาษาจีน (Photo: hkbookcity.com)

ซูโจว หัวโจว และแดนกังนั้มทั้งปวง งดงามตราตรึงจึงเป็นที่ชุมนุมเซียนกระบี่พู่กัน แหล่งประชันกวี ที่เมืองไห่หนิงบ้านเกิดของเขาเป็นดินแดนของกวี มาแต่ครั้งราชวงศ์ถัง ใครเลยจะคาดคิดว่าไห่หนิงจะให้กำเนิดประพันธกรไว้คนหนึ่งด้วย ประพันธกรผู้นี้ชมชอบในกวีนิพนธ์จนต้องแทรกไว้ในหลายบทตอนของผลงาน ทำให้นิยายของเขาโดดเด่นไม่เหมือนใคร เพราะเขียนเล่าเรื่องคนในยุทธจักร (อู่เสีย) มีโครงเรื่องแบบตะวันตกอันหวือหวาและซับซ้อน แต่มีองค์ประกอบและรายละเอียดแบบนิยายจีนยุคโบราณ

ผมคิดว่า งานของเขาเปรียบได้กับ ความฝันในหอแดง เพียงแต่มีตัวละครจับกระบี่ ฝึกวิทยายุทธ มีโครงเรื่องกระตุ้นเร้าความรักบ้านเมือง แบบนิยายอิงประวัติศาสตร์ยุคโรแมนติก ความแตกต่างเหล่านี้ลงตัวได้ด้วยอัจฉริยะภาพของกิมย้ง

ซูโจว Suzhou
ซูโจว (Photo: myfoggylens.files.wordpress.com)
ซูโจว Suzhou
ภาพวาดสวนในซูโจว (Photo: Wikimedia Commons)

อัจฉริยภาพในนามปากกา “กิมย้ง”

นามปากกา “กิมย้ง” ของจาเหลียงยง มีความหมายที่น่าฉงน แต่มันมีความนัยที่น่าทึ่ง

กิมย้ง (金庸) หรือจินยง แปลว่า ธรรมดาดั่งทอง

แต่ ทอง (金) ที่ไหนธรรมดา?

ทองคำแม้เท่าฝุ่นผงก็ไม่นับว่าธรรมดา คุณค่าของมันอาจทำให้ชีวิตของคนนับล้านผันแปรได้ ทองจึงไม่ธรรมดา

ยง (庸) แปลว่า ธรรมดาสามัญ เป็นสถานะชั้นรอง ไม่ควรค่าแก่การกล่าวถึง เมื่อรวมคำนี้กับคำว่าทอง จึงกลายเป็นนามปากกาที่สะท้อนความถ่อมตน แต่แฝงความภาคภูมิเอาไว้ เพราะเขาคือทองคำที่แท้จริง แต่เป็นทองคำที่งำประกาย

กิมย้ง จาเหลียงยง Jinyong

งำประกาย เป็นปรัชญาเต๋า เป็นวิถีของผู้สามารถที่แท้จริง อยู่เหนือชื่อเสียง และคำเยินยอ แต่รักษาตัวตนที่แท้จริงดั่งทองเอาไว้ไม่ให้คนล่วงรู้ เพราะทองอย่างไรก็คงเป็นทองวันยังค่ำ

แต่นามปากกาของเขาไม่ได้มีความนัยเพียงเท่านี้

อักษรตัวสุดท้ายในชื่อของ จาเหลียงยง คือ ยง (鏞) แปลว่า ระฆังโลหะขนาดใหญ่ เป็นเครื่องให้จังหวะในวงมโหรีสมัยโบราณ เป็นคำโบราณที่ปรากฎในคัมภีร์ซ่างซู (尚書) หรือสรรนิพนธ์วาทะโบราณ และในคัมภีร์กวีนิพนธ์ หรือ ซือจิง (詩經) ที่เรียบเรียงขึ้นในยุคสมัยของขงจื๊อ และเป็นตำราสำคัญของบัณฑิตสำนักหญู

คำว่า 鏞 ประกอบด้วยอักษรจีน 2 ตัว คือ จิน (金) ที่แปลว่าทองหรือโลหะ และ ยง (庸) ที่แปลว่าธรรมดา แต่ในที่นี้เป็นอักษรตัวแทนการออกเสียง คือระฆัง อ่านว่า ยง แต่ ยง ทำจากโลหะจึงต้องกำกับด้วยอักษรจิน เพื่อป้องกันความสับสนกับ ยง ในความอื่น

เห็นหรือไม่ว่า ชื่อนั้นมีความนัยลึกซึ้งเพียงใด สะท้อนความสามารถด้านอักษรศาสตร์ของกิมย้งเป็นอย่างมาก

หลักปรัชญาที่แฝงนิยายกำลังภายใน

กังนั้มเป็นแหล่งบ่มเพาะสุนทรียะเรียบง่ายแต่ลึกซึ้งในทำนอง Minimalism เพราะที่แห่งนี้คือจุดกำเนิดของสุนทรียะแบบฉานหรือเซน เมื่อญี่ปุ่นรับเอาพุทธศาสนานิกายเซนไปจากจีน ก็รับเอามาจากแดนกังนั้ม สุนทรียะแบบเซนในญี่ปุ่นจึงเป็นสุนทรียะแบบกังนั้ม ภาพเขียนในวัดเซนที่ญี่ปุ่นก็ล้วนมาจากกังนั้ม และวาดเลียนแบบกังนั้ม

อารามเรียบง่าย ผนังสีขาวหมดจด หลังคามุงกระเบื้องเทา ท่ามกลางป่าไผ่เขียวสด มอสชุ่มฉ่ำ และสวนหินที่จัดอย่างสอดคล้องกับพลังธรรมชาติแต่มีหลักการ สิ่งที่เราเห็นในญี่ปุ่น ล้วนลอกแบบมาจากบ้านเกิดเมืองนอนของกิมย้ง

วัดเคนนินจิ Kennin Ji Temple วัดเซน ญี่ปุ่น
วัดเซนชื่อ เคนนินจิ (Kennin-ji Temple) จังหวัดเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น (Photo: 500px.com)

(เมื่อกังนั้มฉิบหายวายวอดจากเหตุการณ์ กบฎไท่ผิง* พวกผีบุญคริสเตียนสมัยราชวงศ์ชิง วัดวาอารามถูกทำลาย คัมภีร์ถูกเผาเป็นจุณ ชาวญี่ปุ่นที่รักษาวัฒนธรรมกังนั้มและคัมภีร์ของจีนเอาไว้ มีส่วนอย่างมากในการฟื้นฟูพุทธศาสนาในดินแดนจีนอีกครั้ง)

แต่ในผลงานยุคต้นๆ กิมย้งหาได้ใส่ใจกับพุทธศาสนามากนัก ตัวละครที่เป็นชาวพุทธเป็นเพียงตัวประกอบในเรื่องเล่าอันมโหฬารของวีรบุรุษผู้ถือจริยะและปรัชญาโลกียะ

ในบทความไว้อาลัยของผมหลังจากทราบข่าวการเสียชีวิตของกิมย้ง (‘กิมย้ง’ นักเขียนผู้เผยความจริงของยุทธจักร และวิญญูชนจอมปลอม) เขียนเปรียบเทียบผลงานของกิมย้งกับแนวคิดทางปรัชญาเบื้องหลังนิยายเอาไว้  แต่จะขอเรียงลำดับใหม่ตามปีที่เขียน

มังกรหยก ภาคก๊วยเจ๋ง
มังกรหยก ภาคก๊วยเจ๋ง (Photo: tupian.baiki.com)

เรื่องที่สะท้อนหลักจารีตขงจื๊อและความรักบ้านเมืองที่สุดคือ มังกรหยก ภาคก๊วยเจ๋ง

เรื่องที่สะท้อนปรัชญาหยางจื่อ สุขนิยมไร้กรอบกฎเกณฑ์ที่สุดคือ มังกรหยก ภาคเอี้ยก้วย

เรื่องที่สะท้อนหลักพุทธธรรมที่สุดคือ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า

เรื่องที่สะท้อนสันดานดิบของมนุษย์ที่สุดคือ ยิ้มเย้ยยุทธจักร หรือกระบี่เย้ยยุทธจักร

เรื่องที่สะท้อนหลักอี้จิง พลิกแพลงไร้ที่สุดสิ้นสุดคือ อุ้ยเสี่ยวป้อ จอมยุทธ์ที่ไร้เพลงยุทธ์

พุทธธรรมใน อุ้ยเสี่ยวป้อ

แต่ที่จริงแล้ว อุ้ยเสี่ยวป้อที่เป็นผลงานขนาดยาวเรื่องสุดท้ายของเขา เต็มไปด้วยองค์ประกอบเกี่ยวกับพุทธศาสนาเต็มไปหมด ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะฉากหลังของเรื่อง คือยุคราชวงศ์ชิง พุทธศาสนาทั้งแบบวัชรยานที่ราชสำนักอุปถัมภ์ และพุทธศาสนาแบบฮั่นเฟื่องฟูอีกครั้ง หลังจากซบเซาไปสมัยราชวงศ์หมิง

อุ้ยเสี่ยวป้อ โจวชิงฉือ
“อุ้ยเสี่ยวป้อ” ฉบับภาพยนตร์ นำแสดงโดย โจวชิงฉือ ฉายครั้งแรกปี 1992 (Photo: themoviedb.org)

แกนหลักของเรื่องวนเวียนอยู่ที่ลายแทงมหาสมบัติที่ซ่อนอยู่ใน พระสูตรสี่สิบสองบท** (四十二章經) ลายแทงนี้นำไปสู่สมบัติล้ำค่าที่กองทัพแมนจูชิงมาได้ตอนที่รุกรานจงหยวนแล้วก่อตั้งราชวงศ์ชิงขึ้น ตัวละครน้อยใหญ่ในเรื่องล้วนแต่แสวงหาลายแทงในพระสูตรแต่หาได้มีใครใส่ใจเนื้อความในพระสูตร จะว่าไปแล้วเปรียบดังวานรได้แก้วฉะนั้น

ขณะที่พวกฮั่นก็ต้องการสมบัติมากู้ชาติ ส่วนพวกชิงก็ต้องการปกป้องทรัพย์ของพวกตนเอาไว้ กลายเป็นศึกชิงพระสูตรสี่สิบสองบทในบษนะลายแทง แต่มีคนผู้หนึ่งที่หาได้ใส่ใจ “แก้วจอมปลอม” คือสมบัตินอกกายไม่ เขาสละทรัพย์ศฤงคารทั้งสิ้น ตัดขาดทางโลก ออกบวชอย่างเดียวดาย แล้วเข้าถึงรัตนะอันล้ำค่าที่ประกาศไว้ในพระสูตรสี่สิบสองบทและพระสูตรอื่นๆ

บุคคลผู้นี้คือ พระเจ้าซุ่นจื้อ พระราชบิดาของคังซี สหายรักต่างชนชั้นของอุ้ยเสี่ยวป้อ

กิมย้งผสานตำนานเรื่องซุ่นจื้อออกบวชกับความนัยของพระสูตรสี่สิบสองบทเอาไว้อย่างแนบเนียน สมกับภาษิตว่า ‘ภูษิตฟ้าไร้ตะเข็บ’ ท่ามกลางความสนุกสนานเฮฮา กะล่อนปลิ้นปล้อนของอุ้ยเสี่ยวป้อ คือสาระที่ผู้เขียนพยายามจะบอกว่า สูงสุดล้วนคืนสู่สามัญ สมบัติล้ำค่าที่สุด แท้จริงคือถ้อยคำที่ง่ายที่สุดในพระสูตร

พระสูตรสี่สิบสอง 42 บท
พระสูตรสี่สิบสองบท ต้นฉบับที่คัดขึ้นใหม่ในยุคจักรพรรดิเฉียนหลง จักรพรรดิองค์ที่ 6 ของราชวงศ์ชิง ปีรัชสมัย 1736-1799 (Photo: dpm.org.cn)

พระสูตรสี่สิบสองบท รวบรวมจากพระสูตรหมวดหีนยาน ถือเป็นพุทธธรรมชุดแรกที่เดินทางมายังแผ่นดินจีน ในรัชสมัยพระเจ้าฮั่นหมิงตี้ ล้วนแต่เป็นข้อธรรมสั้นๆ กระชับ อ่านเข้าใจง่าย เป็นแกนหลักของจริยแบบพุทธในแผ่นดินจีนมาเกือบ 2,000 ปี

หากเลือกได้เหมาะสมตามภูมิธรรมของสรรพสัตว์ พุทธธรรมนั้นเป็นเรื่องง่าย ที่ยากนั้นไม่ใช่พุทธธรรม พระสูตรสี่สิบสองบทแท้จริงคือเคล็ดวิชาบรรลุนิพพานนั่นเอง เพียงแต่ตัวละครนับร้อยในเรื่อง มีที่ปรารถนานิพพานเพียงผู้เดียว และคนผู้นั้นยัง “เคย” เป็นผู้ที่มีอำนาจล้นฟ้ามาก่อน ไม่ให้น่าเย้ยหยันแล้วจะเรียกว่าอะไร?

แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ความคิดจากหลักจักรวาลวิทยาในพุทธศาสนา

แปดเทพอสูรมังกรฟ้าเกิดขึ้นในยุคราชวงศ์เหลียวทางภาคเหนือ และอาณาจักรต้าหลี่ทางภาคใต้ ทั้ง 2 อาณาจักรคาบเกี่ยวกับราชวงศ์ซ่งของชาวฮั่น ในยุคนี้ พุทธศาสนารุ่งเรืองอย่างมาก พุทธศาสนาแบบที่สืบทอดมาจากราชวงศ์ถังรุ่งเรืองในต้าเหลียว พุทธศาสนาแบบเซนรุ่งเรืองในต้าซ่ง และพุทธศาสนาแบบตันตระยาน รุ่งเรืองในต้าหลี่

แปดเทพอสูรมังกรฟ้า 天龍八部
ละครโทรทัศน์ “แปดเทพอสูรมังกรฟ้า” โดย TVB ออกอากาศครั้งแรกปี 1997 (Photo: v.qq.com)

ตัวเอกของเรื่องคือ ต้วนอวี้ เป็นคุณชายเชื้อพระวงศ์จากต้าหลี่ พระบิดา พระอัยกา และบรรพชนล้วนเป็นผู้ปกครอง หากเมื่อถึงจุดหนึ่งจะสละราชสมบัติ ออกบวชกันหมด แสดงถึงความศรัทธาในศาสนาของชาวต้าหลี่ ที่ทิ้งได้กระทั่งตำแหน่งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ซึ่งนี่เป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ ที่กิมย้งหยิบขึ้นมาเรียบเรียงให้เป็นส่วนหนึ่งของนิยาย

ต้วนอวี้เป็นคนเหยาะแหยะเกินไป แม้นได้รับการปลูกฝังพุทธธรรม แต่หลงไหลในรูปลักษณ์ทางโลก จิตใจจึงสับสน ด้านหนึ่งคิดว่าไม่ควร อีกด้านหนึ่งเรียกร้องให้ลุ่มหลง เป็นบุคคลที่สะท้อนความขัดแย้งทางจริยะได้เป็นอย่างดี บุคลิกนี้ยังสะท้อนออกมาในตัว ซีจุ๊ อดีตหลวงจีนน้อยที่จับพลัดจับผลูเป็นราชบุตรเขยแห่งซีเซี่ย สหายรักของเขาอีกด้วย

อนึ่งชื่อเรื่อง แปดเทพอสูรมังกรฟ้า ก็สะท้อนไตรภูมิ (จักรวาลวิทยา) ของพุทธศาสนา ที่แบ่งอมนุษย์ออกเป็น 8 ประเภท มีบุคลิกผิดแผกกันตามอินทรีย์ แต่ล้วนเป็นผู้ปวารณารักษาพระธรรม ตัวละครในนิยายถูกเขียนแต่งขึ้นให้สะท้อนบุคลิกของอมนุษย์ทั้ง 8 จำพวกนี่เอง

โปรดสังเกตว่า ทั้ง อุ้ยเสี่ยวป้อ และ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า มีฉากหลังเกี่ยวพันกับราชวงศ์ที่มิใช่ชาวฮั่น ในความจริงทางประวัติศาสตร์ ราชวงศ์สายฮั่นไม่นิยมส่งเสริมพุทธศาสนานัก

พุทธปรัชญาและศิลปะได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักอย่างมากในยุคราชวงศ์ ‘คนเถื่อนนอกด่าน’ เช่น ยุคหนานเป่ย อาณาจักรจิน อาณาจักรเหลียว อาณาจักรซีเซี่ย อาณาจักรหนานจ้าว อาณาจักรต้าหลี่ ยุคหยวน และยุคชิง

การฆ่าตัวตายของลูกชาย จุดเปลี่ยนสู่การหันหน้าศึกษาพุทธธรรม

ชีวิตของกิมย้งโผเข้าหาพุทธธรรมเมื่อเขาประสบกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เมื่อครั้งที่บุตรชายของเขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย ขณะกำลังศึกษาที่มหาวิทยาโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐ เขาบอกกับอาจารย์ ไดซากุ อิเคดะ ประธานของสมาคมสร้างคุณค่าสากล (องค์กรพุทธศาสนานิกายนิชิเรน) ในหนังสือ Compassionate Light in Asia: A Dialogue ว่าเขาถูกหลอกหลอนจากแรงปรารถนาที่จะรู้ให้ได้ว่าทำไมลูกชายเขาถึงฆ่าตัวตาย

“ผมอยากจะรู้ว่าอะไรทำให้เขาทิ้งขว้างชีวิตตัวเอง ผมอยากจะตามเขาไปถึงโลกหน้าและบังคับให้เขาตอบคำถามผมให้ได้”

กิมย้ง จาเหลียงยง Jinyong
กิมย้ง (Photo: sina.com.cn)

กิมย้งใช้เวลาเป็นปีตรึกตรองเรื่องความเป็นความตายในชีวิต ตะเกียกตะกายอ่านตำรานับไม่ถ้วนเล่ม รวมถึงคัมภีร์ไบเบิล แต่พบว่าไม่ใช่คำตอบ เขาจึงหันมาศึกษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเพื่อค้นหาคำตอบให้ได้ เขาเล่าว่า

“พระไตรปิฎกภาษาจีนเป็นสดมภ์ปกรณ์นับหมื่นเล่ม ผมอ่านหนังสือแนะนำหลายเล่ม แต่ล้วนแต่เจือปนด้วยเรื่องลี้ลับและความคลุมเครืออย่างมาก จึงไร้ประโยชน์ที่จะทำความเข้าใจธรรมชาติแท้จริงของโลก ทว่าต่อมา ผมเริ่มอ่านสังยุตนิกาย มัชฌิมนิกาย และทีฆนิกาย (หมวดพระสูตรหีนยานที่ส่วนหนึ่งปรากฎในพระสูตรสี่สิบสองบท) เป็นเวลาหลายเดือน ผมมีใจจดจ่อจมดิ่งในการตรึกตรองและการศึกษาจนลืมเลือนความเมื่อยล้าและความหิวโหย ท้ายที่สุดผมเกิดปัญญาหยั่งรู้ขึ้นมา แล้วบอกกับตัวเองว่า ‘เราสามารถพบความจริงในพุทธศาสนา เราเชื่อมั่นอย่างนี้จริงๆ’ “

เมื่อมั่นใจในพุทธธรรมแล้ว กิมย้งจึงเดินทางบนมรรคานี้ด้วยความมั่นใจ และมุ่งสู่หลักธรรมที่วิจิตรพิสดารมากขึ้นของฝ่ายมหายาน เขาระดมกำลังศึกษาพระสูตรยานใหญ่ต่างๆ ทั้งวิมลกีรตินิเทศสูตรล ลังกาวตารสูตร และปรัชญาปารมิตาสูตร แต่แล้วเขาเกิดสงสัยขึ้นมาอีกถึงเนื้อหาอันพิสดารของพระสูตรมหายาน ที่ต่างจากพระสูตรหีนยานที่เรียบง่าย

จนกระทั่งเขามาพบกับสัทธรรมปุณฑรีกสูตร กิมย้งจมดิ่งใน ‘วิตก’ และ ‘วิจารณ์’ อย่างมาก รู้สึกถูกใจพระสูตรนี้ และลงความเห็นว่าเป็นหัวใจของพุทธธรรม เป็นหลักเดิมแท้ของมหายาน เป็นความลึกซึ้งที่เข้าถึงได้ง่าย แม้แต่คนที่ปัญญาน้อยก็ยังเข้าใจ

สัทธรรมปุณฑรีกสูตร มีชื่อในภาษาจีนว่า เมี่ยวผ่า เหลียนฮวา จิง (妙法蓮華經)

เมี่ยวฝ่า (妙法) แปลว่า สัทธรรม หรือธรรมะอันน่าอัศจรรย์ กิมย้งกล่าวว่า “หลังจากผมเข้าใจความหมายที่แท้จริงของ เมี่ยวฝ่า หรือสัทธรรม ความรู้สึกต่อต้านในการใช้โวหารอันพิสดารของมหายานในตัวผมก็หมดสิ้นไป ในตอนนี้ 2 ปีผ่านไปแล้ว และความรวดร้าวในใจหมดสิ้น กลายเป็นความปีติอันงดงาม”

กิมย้ง จาเหลียงยง Jinyong
กิมย้ง (Photo: hk01.com)

ผู้ที่เข้าถึงหลักธรรมะที่แท้ แม้มีชีวิตเพียงราตรี ก็มีคุณค่ากว่าผู้ที่มีชีวิตนับร้อยปีแต่ใช้เวลาล่วงไปอย่างผู้งมงาย

กิมย้งมีอายุเฉียดร้อย แต่การเข้าถึงพุทธธรรมของเขา ทำให้อายุเฉียดร้อยเปี่ยมไปด้วยคุณค่าอย่างยิ่ง.

 

FACT BOX

กบฏ ไท่ผิง

  • กบฏไท่ผิง หรือ ‘กบฏเมืองแมนแดนสันติ’ เป็นการก่อกบฏขนานใหญ่ที่เกิดขึ้นช่วง ค.ศ.1850-1864 ระหว่างราชวงศ์ชิงกับรัฐเมืองแมนแดนสันติ (太平天國) ของ หง ซิ่วเฉวียน (洪秀全) อดีตบัณฑิตสอบตกที่เข้ารีตเป็นคริสต์ แล้วอ้างตนเป็นน้องชายของพระเยซู ก่อตั้งลัทธิบูชามหาเทพ โดยมุ่งหวังให้คนหันมานับถือศาสนาคริสต์ และโค่นล้มราชวงศ์ชิง ก่อนถูกปราบจนสิ้นในปี 1866 นับเป็นกบฏที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับ 100 ล้านคน และเป็นความขัดแย้งอย่างใหญ่หลวงที่สุดนับตั้งแต่ ‘ราชวงศ์ชิงพิชิตราชวงศ์หมิง’ ได้ในปี 1644

พระพุทธเจ้า ทิเบต

  • พระสูตรสี่สิบสองบท เป็นพระสูตรแรกของพระพุทธศาสนาที่แปลสู่ภาษาจีน ตามบันทึกระบุว่า ราวปีพ.ศ.612 พระเจ้าเม่งเต้ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่นทรงสุบินว่าเห็นปฏิมากรทองคำขนาดใหญ่ โหรหลวงได้พยากรณ์ว่าปฏิมากรนั้นคือพระพุทธรูปของพระพุทธเจ้าในอินเดีย พระเจ้าเม่งเต้จึงจัดขบวนราชบุรุษ 18 คน เดินทางไปอินเดียเพื่ออัญเชิญพระพุทธศาสนาเข้ามา ก่อนจะจัดแปลพระสูตรต่างๆ ในเวลาต่อมา อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ มหายานธรรมบท 42 บท (四十二章經)