เมื่อพูดถึง ‘นิยาย’ หรือ ‘นิยายออนไลน์’ หลายคนคิดถึงเรื่องแต่งที่เต็มไปด้วยการบรรยายหรือพรรณนา มีการผูกประโยคผูกเนื้อหาแต่ละย่อหน้า เข้าด้วยกันอย่างสละสลวย
แต่ยุคนี้ขนบของนิยายอาจไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่ว่า ไม่จำเป็นต้องอาศัยการบรรยายหรือพรรณนาใด
เพราะเรื่องทั้งหมดถูกเล่าผ่าน ‘บทสนทนา’ ในรูปข้อความ ‘แชท’
จอยลดา คืออะไร
เด็กยุค Millennials จนถึงคน Gen Y ปลายยุค หลายคนน่าจะรู้จักชื่อ ‘จอยลดา’ ยิ่งถ้าเป็นสาวกทวิตเตอร์ด้วยแล้ว อัตราการร้อง “อ๋อ!” ก็จะพุ่งทะยานเกือบ 100%
จอยลดา หรือที่เรียกกันว่า “จอย” เป็นแอปพลิเคชั่นอ่านนิยายออนไลน์ของ Ookbee ที่รวบรวมนิยายไว้กว่าแสนเรื่อง
ความพิเศษของจอยลดาที่ต่างจากแอปอ่านนิยายทั่วไป คือ การเป็น ‘แพลตฟอร์ม’ ที่นำเสนอนิยายในรูปแบบ ‘หน้าต่างแชท’ (หน้าตาคล้ายแชท LINE) ทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนกำลังแอบอ่านแชทของใครสักคน
มีการตั้งสันนิษฐานเกี่ยวกับรูปแบบการนำเสนอว่า น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจาก Seen แอปพลิเคชันเกมรูปแบบแชทจากค่าย Polychroma ที่มีหลักการคล้ายๆ เกมจีบสาวของญี่ปุ่น โดยผู้เล่นสามารถเลือกวิธีการดำเนินเรื่องผ่านการเลือกคำตอบจากกล่องข้อความ
ด่างพร้อยคือสละสลวย
ภาษาวิบัติ การพิมพ์ตกหล่น รวมไปถึงการพิมพ์แบบ ‘รูดแป้น’ อาจเป็นความด่างพร้อยทางภาษาในขนบนิยายเดิม หากแต่เป็นความ ‘สละสลวย’ และ ‘สมจริง’ ที่นักเขียนจงใจใส่ลงไปในจอย
นอกจากนี้ การตั้งชื่อจอยยังมีความแตกต่างจากการตั้งชื่อนิยายทั่วไปที่นิยมพิจารณาจากเนื้อเรื่องเป็นหลัก เพราะจอยจะพิจารณาถึงความเหมาะสมที่จะกลายเป็น # (แฮชแท็ก) สำหรับใช้พูดคุยต่อบนทวิตเตอร์
ดังนั้น ชื่อเรื่องของจอยจะไม่ยาวมาก (เพราะทวิตเตอร์จำกัดการใช้ตัวอักษรต่อการทวีตหนึ่งครั้ง) ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความฉงน สนใจ ให้กับคนที่พบเห็นว่า “เอ๊ะ เขาพูดถึงเรื่องอะไรกัน?”
#ไพรเวทหวี
#กุเชอร์รี่
#ขย่มวังหลัง
#จีบอยู่ไม่รู้หรอก
#องฮุนปีที่เจ็ด
คือชื่อจอยที่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงอย่างมหาศาลจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในเวลาอันรวดเร็ว
บ่อนทำลายความเป็น ‘วรรณ’ กรรม?
ว่ากันว่าวรรณกรรมที่ดีต้องมีแง่มุมการนำเสนอที่ดี ใช้ถ้อยคำที่สละสลวย เร้าจินตนาการผู้อ่านจนเสมือนได้เห็นด้วยตาเปล่า
แต่ลำพังข้อความแชท ถ้อยคำสนทนาที่ปรุงแต่งด้วยภาษาวิบัติและการพิมพ์ผิดๆ ถูกๆ จะถือว่าเป็นวรรณกรรมได้หรือไม่?
เสียงที่วิพากษ์วิจารณ์บอกว่า รูปแบบการนำเสนอของจอยลดาที่เป็นข้อความสั้นๆ และภาษาปากตลอดทั้งเรื่อง จะลดทอนทักษะทางภาษา การอ่าน และการเขียนของเยาวชน
แต่นักเขียนจอยลดาให้ความเห็นว่า การแต่งจอยลดาก็มีโจทย์และความท้าทายในรูปแบบของตัวเอง เพราะนักเขียนต้องพยายามใช้จินตนาการสร้างสถานการณ์ หรือเลือกใช้คำพูดเพื่อที่จะสื่อสารกับคนอ่านให้ได้ว่า ขณะที่ตัวละครพิมพ์ข้อความอยู่นี้ เขาหรือเธอกำลังรู้สึกอย่างไร
ข้อความ ‘Read’ ที่ปรากฏขึ้นในบทสนทนา กล่องแสดงเวลาที่สื่อถึงความรวดเร็วในการตอบกลับ ฯลฯ คือไวยากรณ์แบบเฉพาะในโลกของจอย ซึ่งสะท้อนชีวิตจริงในโลกของ ‘แชท’ ที่ทุกคนเคยพบและสัมผัส
นักเขียนจอยบางส่วนให้ความเห็นว่า การแต่งจอยดูไปก็คล้าย ‘การเขียนบทละคร’ ที่เน้นการนำเสนอบทสนทนาเป็นหลัก เพียงแต่จอยใช้ภาษาที่มีความร่วมสมัย สะท้อนภาพสังคม และวิถีชีวิตของคนในยุคคุยกันผ่าน ‘แชท’ ได้ชัดกว่า
ก็เท่านั้นเอง
เข้าสู่โลกของ ‘จอย’
สำหรับคนที่สนใจอยากรู้จัก ‘จอย’ มากขึ้น ขอแนะนำจอย 3 เรื่องอ่านง่าย ได้รับความนิยม และนักอ่านจอย (เกือบ) ทุกคนเคยอ่าน
#จีบอยู่ไม่รู้หรอก
ผู้แต่ง: JUSTKIDDING13B
link: http://www.joylada.com/story/59aff5ad7d9f8200017f063d
ถึงจะชอบหาเรื่องอีกฝ่ายเป็นประจำ แต่ ‘ฤทธิ์เดช’ ก็มักจะส่งข้อความแชทไปหา ‘ปลาทู’ ลูกชายเจ้าของร้านน้ำเต้าหู้ที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นอยู่ทุกวัน ความรักในวัยเรียนดูคล้ายจะเป็นเรื่องราวที่ชวนอมยิ้มเล็กๆ ให้กับความไม่ประสีประสาเมื่อมองย้อนกลับมาในวันที่โตขึ้น หรือว่าจริงๆ แล้วมีรายละเอียดอะไรที่เราหลงลืมไปกันแน่
#องฮุนปีที่เจ็ด
ผู้แต่ง: mizumizu
link: http://www.joylada.com/story/5a09f27846d6f800014d90e7
เข้าสู่ปีที่ 7…ความสัมพันธ์ของ ‘องซองอู’ และ ‘พัคจีฮุน’ เหมือนจะมาถึงทางตัน แต่ด้วยหน้าที่ของคำว่า ‘ผู้ปกครอง’ ทำให้ทั้งคู่ยังต้องทนอยู่ด้วยกันอย่างระหองระแหง จนกว่า ‘ซอนโฮ’ เด็กชายที่ทั้งคู่รับมาอุปการะตั้งแต่เล็กจะอายุครบ 15 ปี พวกเขาจะประคับประคองสายใยที่จวนจะขาดวิ่นนี้ไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่
#ใครฆ่าซอนโฮ
ผู้แต่ง: Aporowwwww.
link: http://www.joylada.com/story/598ef2a82bf531000132ca57
เป็นไปได้อย่างไรที่ ‘ซอนโฮ’ จะฆ่าตัวตาย…พวกเขาไม่มีทางเชื่อเด็ดขาด!
เมื่อเพื่อนร่วมคณะเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา พวกเขาจึงต้องเร่งค้นหาความจริง เพราะไม่แน่ว่าคนร้ายอาจอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด
อ้างอิง:
- Fayossy. ทำความรู้จักกับ “จอยลดา” แอปฯ อ่านนิยายแชทรูปแบบใหม่ ที่มาแรงสุดๆ ในตอนนี้. https://www.marketingoops.com/digital-life/apps-joylada/
- G VIllage Team. มารู้จัก “จอยลดา” กัน?. https://gvillage.one/blog/social-joylada
- MGR Online. เปิดใจ “ใบเตย” นักเขียนนิยายช่องแช็ทสุดจี๊ดฮิตสนั่นทวีตเตอร์ “กุเชอร์รี่”. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9610000010355
- Sunnywalker’s blog. รีวิวแอพ Joylada อ่านนิยายในรูปแบบแชท แอพน้องใหม่จาก Ookbee. https://www.blognone.com/node/94934
- Voice TV. เปิดจักรวาลของ ‘จอยลดา’ แอปฯ นิยายแชตแหกขนบที่มิลเลเนียลไทยอ่านกันสนั่นเมือง. https://www.voicetv.co.th/read/536854
- จุดศรี มณีเด้ง. คู่สร้างคู่สมจาก จอยลดาเกิด (2). https://judsri.wordpress.com/2017/12/14/คู่สร้างคู่สมจาก-จอยลด-2/
- ชลิตา สุนันทาภรณ์. กุเชอร์รี่: หรือนิยายแชทใน ‘แอพจอย’ จะทำลายวงการวรรณกรรม!?. https://waymagazine.org/gu-cherry-dollarosaka/
- วิภาดา แหวนเพชร. Joylada: แชตกับผู้ออกแบบแอพพลิเคชันอ่านนิยายแชตเจ้าแรกของไทยที่มาแรงแซงทุกโค้งในกลุ่มวัยรุ่น. https://readthecloud.co/scoop-25/
FACTBOX
- มากกว่า 1 ล้านคน คือยอดสมาชิกของจอยลดา ในจำนวนนั้นมีมากกว่า 2 แสนคนที่เป็นนักเขียน ผลิตผลงานรวมกันไม่ต่ำกว่า 250,000 เรื่อง และแอป ‘Joy’ มีสถิติการเข้าใช้งานประมาณ 1 ล้านคนต่อเดือน โดยในแต่ละวันมีการกดจอย (หรือกดอ่านแชท) ประมาณ 2 พันล้านครั้ง!
- ‘นิยายวาย’ หรือนิยายชายรักชาย คือหมวดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจอยลดา
- มองอะไร กุเชอร์รี่ไง โดย dollarosaka เป็นอีกหนึ่งจอยยอดนิยมที่สร้างปรากฏการณ์ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จนได้รับการตีพิมพ์เป็น Box Set กับ Ookbee ในชื่อใหม่ กุเชอร์รี่ ซึ่งเป็นพรีเมี่ยมคอนเทนท์ที่ติดตามอ่านได้ในฉบับรูปเล่มเท่านั้น