©ulture

เมื่อพูดถึง ‘นิยาย’ หรือ ‘นิยายออนไลน์’ หลายคนคิดถึงเรื่องแต่งที่เต็มไปด้วยการบรรยายหรือพรรณนา มีการผูกประโยคผูกเนื้อหาแต่ละย่อหน้า เข้าด้วยกันอย่างสละสลวย

แต่ยุคนี้ขนบของนิยายอาจไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่ว่า ไม่จำเป็นต้องอาศัยการบรรยายหรือพรรณนาใด

เพราะเรื่องทั้งหมดถูกเล่าผ่าน ‘บทสนทนา’ ในรูปข้อความ ‘แชท’

จอยลดา คืออะไร

เด็กยุค Millennials จนถึงคน Gen Y ปลายยุค หลายคนน่าจะรู้จักชื่อ ‘จอยลดา’ ยิ่งถ้าเป็นสาวกทวิตเตอร์ด้วยแล้ว อัตราการร้อง “อ๋อ!” ก็จะพุ่งทะยานเกือบ 100%

จอยลดา หรือที่เรียกกันว่า “จอย” เป็นแอปพลิเคชั่นอ่านนิยายออนไลน์ของ Ookbee ที่รวบรวมนิยายไว้กว่าแสนเรื่อง

ความพิเศษของจอยลดาที่ต่างจากแอปอ่านนิยายทั่วไป คือ การเป็น ‘แพลตฟอร์ม’ ที่นำเสนอนิยายในรูปแบบ ‘หน้าต่างแชท’ (หน้าตาคล้ายแชท LINE) ทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนกำลังแอบอ่านแชทของใครสักคน

หน้าแอปพลิเคชัน ‘จอยลดา’
หน้าแอปพลิเคชัน ‘จอยลดา’

มีการตั้งสันนิษฐานเกี่ยวกับรูปแบบการนำเสนอว่า น่าจะได้รับแรงบันดาลใจจาก Seen แอปพลิเคชันเกมรูปแบบแชทจากค่าย Polychroma ที่มีหลักการคล้ายๆ เกมจีบสาวของญี่ปุ่น โดยผู้เล่นสามารถเลือกวิธีการดำเนินเรื่องผ่านการเลือกคำตอบจากกล่องข้อความ

หน้าตาแอปพลิเคชัน Seen จากค่าย Polychroma

ด่างพร้อยคือสละสลวย

ภาษาวิบัติ การพิมพ์ตกหล่น รวมไปถึงการพิมพ์แบบ ‘รูดแป้น’ อาจเป็นความด่างพร้อยทางภาษาในขนบนิยายเดิม หากแต่เป็นความ ‘สละสลวย’ และ ‘สมจริง’ ที่นักเขียนจงใจใส่ลงไปในจอย

จอยลดา
การใช้ภาษาวิบัติ การจงใจพิมพ์ตกหล่น และการพิมพ์แบบ ‘รูดแป้น’ คือการสร้างความเป็นธรรมชาติให้กับนิยาย ‘จอย’

นอกจากนี้ การตั้งชื่อจอยยังมีความแตกต่างจากการตั้งชื่อนิยายทั่วไปที่นิยมพิจารณาจากเนื้อเรื่องเป็นหลัก เพราะจอยจะพิจารณาถึงความเหมาะสมที่จะกลายเป็น # (แฮชแท็ก) สำหรับใช้พูดคุยต่อบนทวิตเตอร์

ดังนั้น ชื่อเรื่องของจอยจะไม่ยาวมาก (เพราะทวิตเตอร์จำกัดการใช้ตัวอักษรต่อการทวีตหนึ่งครั้ง) ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความฉงน สนใจ ให้กับคนที่พบเห็นว่า “เอ๊ะ เขาพูดถึงเรื่องอะไรกัน?”

#ไพรเวทหวี

#กุเชอร์รี่

#ขย่มวังหลัง

#จีบอยู่ไม่รู้หรอก

#องฮุนปีที่เจ็ด

คือชื่อจอยที่ได้รับความนิยมและกล่าวถึงอย่างมหาศาลจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในเวลาอันรวดเร็ว

บ่อนทำลายความเป็น ‘วรรณ’ กรรม?

ว่ากันว่าวรรณกรรมที่ดีต้องมีแง่มุมการนำเสนอที่ดี ใช้ถ้อยคำที่สละสลวย เร้าจินตนาการผู้อ่านจนเสมือนได้เห็นด้วยตาเปล่า

แต่ลำพังข้อความแชท ถ้อยคำสนทนาที่ปรุงแต่งด้วยภาษาวิบัติและการพิมพ์ผิดๆ ถูกๆ จะถือว่าเป็นวรรณกรรมได้หรือไม่?

เสียงที่วิพากษ์วิจารณ์บอกว่า รูปแบบการนำเสนอของจอยลดาที่เป็นข้อความสั้นๆ และภาษาปากตลอดทั้งเรื่อง จะลดทอนทักษะทางภาษา การอ่าน และการเขียนของเยาวชน

แต่นักเขียนจอยลดาให้ความเห็นว่า การแต่งจอยลดาก็มีโจทย์และความท้าทายในรูปแบบของตัวเอง เพราะนักเขียนต้องพยายามใช้จินตนาการสร้างสถานการณ์ หรือเลือกใช้คำพูดเพื่อที่จะสื่อสารกับคนอ่านให้ได้ว่า ขณะที่ตัวละครพิมพ์ข้อความอยู่นี้ เขาหรือเธอกำลังรู้สึกอย่างไร

ข้อความ ‘Read’ ที่ปรากฏขึ้นในบทสนทนา กล่องแสดงเวลาที่สื่อถึงความรวดเร็วในการตอบกลับ ฯลฯ คือไวยากรณ์แบบเฉพาะในโลกของจอย ซึ่งสะท้อนชีวิตจริงในโลกของ ‘แชท’ ที่ทุกคนเคยพบและสัมผัส

หน้าต่างจอยใช้ฟังก์ชั่นเวลา ข้อความ Read และคำตอบ ‘อืม’ สื่ออารมณ์และบริบทของตัวละครแทนการบรรยาย
หน้าต่างจอยใช้ฟังก์ชั่นเวลา ข้อความ Read และคำตอบ ‘อืม’ สื่ออารมณ์และบริบทของตัวละครแทนการบรรยาย

นักเขียนจอยบางส่วนให้ความเห็นว่า การแต่งจอยดูไปก็คล้าย ‘การเขียนบทละคร’ ที่เน้นการนำเสนอบทสนทนาเป็นหลัก เพียงแต่จอยใช้ภาษาที่มีความร่วมสมัย สะท้อนภาพสังคม และวิถีชีวิตของคนในยุคคุยกันผ่าน ‘แชท’ ได้ชัดกว่า

ก็เท่านั้นเอง

เข้าสู่โลกของ ‘จอย’

สำหรับคนที่สนใจอยากรู้จัก ‘จอย’ มากขึ้น ขอแนะนำจอย 3 เรื่องอ่านง่าย ได้รับความนิยม และนักอ่านจอย (เกือบ) ทุกคนเคยอ่าน

#จีบอยู่ไม่รู้หรอก

ผู้แต่ง: JUSTKIDDING13B

link: http://www.joylada.com/story/59aff5ad7d9f8200017f063d

บทคัทของเรื่อง

ถึงจะชอบหาเรื่องอีกฝ่ายเป็นประจำ แต่ ‘ฤทธิ์เดช’ ก็มักจะส่งข้อความแชทไปหา ‘ปลาทู’ ลูกชายเจ้าของร้านน้ำเต้าหู้ที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นอยู่ทุกวัน ความรักในวัยเรียนดูคล้ายจะเป็นเรื่องราวที่ชวนอมยิ้มเล็กๆ ให้กับความไม่ประสีประสาเมื่อมองย้อนกลับมาในวันที่โตขึ้น หรือว่าจริงๆ แล้วมีรายละเอียดอะไรที่เราหลงลืมไปกันแน่

#องฮุนปีที่เจ็ด

ผู้แต่ง: mizumizu

link: http://www.joylada.com/story/5a09f27846d6f800014d90e7

บทคัทของเรื่อง

เข้าสู่ปีที่ 7…ความสัมพันธ์ของ ‘องซองอู’ และ ‘พัคจีฮุน’ เหมือนจะมาถึงทางตัน แต่ด้วยหน้าที่ของคำว่า ‘ผู้ปกครอง’ ทำให้ทั้งคู่ยังต้องทนอยู่ด้วยกันอย่างระหองระแหง จนกว่า ‘ซอนโฮ’ เด็กชายที่ทั้งคู่รับมาอุปการะตั้งแต่เล็กจะอายุครบ 15 ปี พวกเขาจะประคับประคองสายใยที่จวนจะขาดวิ่นนี้ไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

#ใครฆ่าซอนโฮ

ผู้แต่ง: Aporowwwww.

link: http://www.joylada.com/story/598ef2a82bf531000132ca57

บทคัทของเรื่อง

เป็นไปได้อย่างไรที่ ‘ซอนโฮ’ จะฆ่าตัวตาย…พวกเขาไม่มีทางเชื่อเด็ดขาด!

เมื่อเพื่อนร่วมคณะเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา พวกเขาจึงต้องเร่งค้นหาความจริง เพราะไม่แน่ว่าคนร้ายอาจอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

 

อ้างอิง:

 

 

FACTBOX

  • มากกว่า 1 ล้านคน คือยอดสมาชิกของจอยลดา ในจำนวนนั้นมีมากกว่า 2 แสนคนที่เป็นนักเขียน ผลิตผลงานรวมกันไม่ต่ำกว่า 250,000 เรื่อง และแอป ‘Joy’ มีสถิติการเข้าใช้งานประมาณ 1 ล้านคนต่อเดือน โดยในแต่ละวันมีการกดจอย (หรือกดอ่านแชท) ประมาณ 2 พันล้านครั้ง!
  • ‘นิยายวาย’ หรือนิยายชายรักชาย คือหมวดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจอยลดา
  • มองอะไร กุเชอร์รี่ไง โดย dollarosaka เป็นอีกหนึ่งจอยยอดนิยมที่สร้างปรากฏการณ์ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จนได้รับการตีพิมพ์เป็น Box Set กับ Ookbee ในชื่อใหม่ กุเชอร์รี่ ซึ่งเป็นพรีเมี่ยมคอนเทนท์ที่ติดตามอ่านได้ในฉบับรูปเล่มเท่านั้น