©ulture

ก่อนการมาถึงของ ‘โอตะ’ เมืองไทยเคยมี (และยังมี) ‘ติ่ง’ หรือกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบศิลปินเกาหลี

ซึ่งคนบางส่วนที่อยู่วงนอกมองว่า คนกลุ่มนี้มักเทิดทูนบูชาศิลปินจนถึงขั้นคลั่งไคล้ หรืออาจถึงขั้นบ้าคลั่ง

ทำไม ‘ติ่ง’? ก่อนจะตอบคำถามนี้ คำถามคือ เรารู้จักหน้าตาของ ‘ติ่ง’ แค่ไหน

ถ้าไม่แน่ใจว่ารู้จัก ‘ติ่ง’ ดีพอ แนะนำให้ลองทำความรู้จักความ ‘ติ่ง’ ผ่านบทความชิ้นนี้ ส่วนใครที่มั่นใจว่าเข้าถึงความติ่ง ขอให้ข้ามไปอ่าน ทำไม ‘ติ่ง’? : มอง ‘ติ่ง’ จากมุมจิตวิทยา

‘ติ่งเกาหลี’…ไม่ได้มีแค่ในไทย

วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทที่ตีพิมพ์ในปี 2016 จากคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้วิจัยถึงกระแสความนิยมวัฒนธรรมเกาหลีในประเทศเวียดนาม พบว่า คนเวียดนามก็มีศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกแฟนคลับที่คลั่งไคล้ศิลปินเกาหลีว่า ‘fan cuồng’

ซึ่ง cuồng นั้นหมายถึงกลุ่มคนที่คลั่งศาสนาแบบสุดโต่ง

วิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าวยังให้รายละเอียดอีกว่า วัยรุ่นเวียดนามที่เป็นแฟนคลับ K-Pop นั้น มีพฤติกรรมที่ค่อนไปทาง “อุทิศตน” ให้กับไอดอลในดวงใจ

เช่น ยอมเสียเงินเป็นจำนวนมากเพื่ออุดหนุนสินค้าที่เกี่ยวกับวงดนตรีที่ชื่นชอบ ไม่ว่าสินค้านั้นจะเกี่ยวข้องกับผลงานเพลงหรือไม่ก็ตาม รวมไปถึงการร่วมชมคอนเสิร์ตหลายต่อหลายครั้ง ตลอดจนแห่แหนไปร่วมรอต้อนรับศิลปินจนแน่นสนามบิน

เมื่อมองย้อนกลับมาดูกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีในประเทศไทยหรือทั่วโลก ก็พบว่ารูปแบบพฤติกรรมไม่ได้ต่างจากเวียดนามสักเท่าไหร่

บริโภคเพราะ ‘นิยม’

ปรากฏการณ์ ‘Kang Daniel Effect’ ที่เกิดขึ้นในปี 2018 สะท้อนพฤติกรรม “อุทิศตน” ของติ่งได้เป็นอย่างดี เมื่อกลุ่มแฟนคลับทั่วโลกพร้อมใจกันสั่งซื้อสินค้าที่ Kang Daniel สมาชิกวง Wanna One เป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์ต่างๆ จนสินค้าขายหมดในเวลาอันสั้น

แบรนด์เครื่องสำอางเกาหลีชื่อ Think Nature เปิดจำหน่ายเซ็ตเครื่องสำอางพร้อมแถมไดอารี่ที่มี Kang Daniel เป็นรูปปก ปรากฏว่าสินค้ากว่า 9,680 เซ็ต ขายหมดภายในเวลาเพียง 6 ชั่วโมง

Kang-daniel-Think-natre
(Photo : Think Nature)

เมื่อมองสถานการณ์ด้วยตาเปล่าก็พอจะอนุมานได้ไม่ยากว่า มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลหมุนเวียนในธุรกิจ K-Pop และจากประเด็นตรงนี้เอง ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งรู้สึก ‘ขาดดุล’ ประกอบกับแฟนคลับส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัย ‘หาเงินเองไม่ได้’

เหล่านี้ ได้นำไปสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ และมุมมองด้านลบกับ ‘ติ่ง’

ว่าด้วยนิยาม ‘ติ่ง’

การใช้คำว่า ‘ติ่ง’ เพื่อเรียกกลุ่มแฟนคลับที่ชื่นชอบศิลปินเกาหลีถือเป็นการไม่สุภาพ เพราะที่มาของคำว่า ติ่ง มาจากคำว่า ‘ติ่งหู’ ซึ่งหมายถึงเด็กนักเรียนหญิงที่ต้องตัดผมให้สั้นถึงติ่งหูตามกฎของโรงเรียน

เริ่มแรก ‘ติ่ง’ ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อใช้คู่กับคำว่า ‘เกรียน’ ซึ่งเป็นศัพท์แสลงในกลุ่มคนใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเกมออนไลน์หรือเว็บบอร์ดต่างๆ เพื่อเรียกคนที่ทำตัวไม่ค่อยถูกกาละเทศะ ไม่มีมารยาท หรือทำตัวป่วนจนเป็นที่รำคาญแก่บุคคลทั่วไป

จะเห็นได้ว่า ‘ติ่ง’ ไม่ใช่คำศัพท์ที่มีความหมายเชิงบวก

ส่วน ‘ติ่งเกาหลี’ เกิดขึ้นในช่วงหลังปลายทศวรรษปี 2000 เมื่อกระแสวัฒนธรรมเกาหลีหรือ Korean Wave ในแง่ของสื่อบันเทิง ละครชุด (ซีรีส์) นวนิยาย และวงดนตรี เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในไทย

TVXQ! คือวงดนตรีเกาหลีวงแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกตลาดไทย วงประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นชายล้วน (หรือ ‘บอยแบนด์’) มีจุดเด่นที่มองเห็นจากตาเปล่าคือ หน้าตาดี และแต่งตัวมีสไตล์ บวกกับสไตล์ดนตรีและมิวสิควิดีโอที่แปลกใหม่ (ในช่วงเวลานั้น) ได้ส่งให้ดงบังชินกิดังเป็นพลุแตก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กสาวประถมปลาย มัธยมต้น จนถึงช่วงมัธยมปลาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นช่วงวัยเดียว “ติ่งหู” พอดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงต้นตอคำว่า “ติ่งหู” ก็อาจตั้งสมมติฐานได้ว่า บุคคลที่ชื่นชอบศิลปินเกาหลี ไม่น่าจะเรียก ‘ติ่ง’ เพราะติ่งหมายถึงกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและสร้างความรำคาญให้แก่ผู้อื่น

ดังนั้น เพียงแค่การเสพวัฒนธรรมเกาหลีจะเรียกว่า ‘ติ่ง’ ได้หรือไม่? ก็ยังเป็นคำถามที่ชวนให้สงสัย

‘ติ่ง’ ความคลั่งไคล้จนเกินพอดี?

การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกระแส K-Pop ไม่ได้จำกัดแค่กลุ่มแฟนคลับเท่านั้น แต่ลุกลามไปถึงสถาบันครอบครัว

หลายเสียงเริ่มตั้งคำถามถึงเงินจำนวนมากที่บรรดาแฟนคลับใช้จับจ่าย ว่านี่คือการใช้จ่ายเงินของผู้ปกครองอย่างฟุ่มเฟือยหรือไม่

หลายฝ่ายโจมตีถึงการทำหน้าที่ของบุตรธิดาและเยาวชนที่ดี ซึ่งเหตุการณ์ได้ทวีความเข้มข้นเมื่อแฟนคลับบางส่วนบนโลกออนไลน์ยอมรับอย่างเปิดเผยว่า “พวกเขาสนใจศิลปินมากกว่าพ่อแม่”

แม้ไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการถึงสัดส่วนของแฟนคลับเกาหลีที่มองสถาบันครอบครัวมีความสำคัญด้อยกว่าไอดอล แต่เมื่อมีข้อความจำนวนมากในทิศทางเดียวกันปรากฏในอินเทอร์เน็ต สังคมก็เริ่มรู้สึกลบกับกลุ่มแฟนคลับเกาหลี

เมื่อจริยธรรมและความรักในไอดอลถูกท้าทาย คำวิจารณ์ของสังคมได้ถูกกลุ่มแฟนคลับต่อต้านและโต้กลับด้วยถ้อยคำรุนแรงและพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก

คำว่า ‘ติ่ง’ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ระบุกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีที่หลงใหลศิลปินจนเกินความพอดีในที่สุด

เสียงกรีดร้องระงมเมื่อเจอหน้าโอปป้า…น้ำตาที่หลั่งไหลด้วยความปีติ…เม็ดเงินที่ทุ่มเทให้แก่วงจำนวนมหาศาล…ความรู้สึกรักใคร่ปกป้องอย่างท่วมท้นเสมือนบุคคลใกล้ชิด…

เพราะอะไร พวกเขาถึงอุทิศตนให้กับไอดอลของพวกเขาได้ขนาดนั้น?

ติดตามต่อได้ใน ทำไม ‘ติ่ง’? : มอง ‘ติ่ง’ จากมุมจิตวิทยา

 

อ้างอิง