สถานการณ์โควิด-19 อาจหยุดการเคลื่อนไหวของผู้คนทั้งโลกเอาไว้ได้ แต่ไม่ใช่สำหรับร้านการ์ตูนเล็กๆ แห่งนี้ ที่ยังคงเปิดบริการทุกวัน
ไม่ใช่เพราะ ‘การ์ตูนลิโด’ อยู่เหนือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนมาตรการใด แต่กว่าที่โลกใบเล็กของร้านขายการ์ตูนแห่งนี้เลือกที่จะหมุนต่อไป ก็ผ่านการคิดมาแล้วหลายตลบอยู่เหมือนกัน
“ช่วงที่ปิดโควิดใหม่ๆ ผมเองก็งงมาก ว่าต้องปิดร้านเหมือนคนอื่นเขารึเปล่า เพราะเราเองก็ไม่ได้อยู่ในห้าง เราเป็นห้องแถว แต่ทำไมร้านอื่นแถวนี้ อย่างร้านเสื้อผ้า เขาก็ไม่เปิด”
หนึ่ง – ชาญชัย เหล่าฤทธิไกร เจ้าของร้านขายหนังสือการ์ตูนลิโด เล่าถึงสภาวะที่ต้องตัดสินใจหนักมาก จากปรากฏการณ์โรคระบาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบไปทั่วโลก
“ผมเลยไปตระเวนดูตามตลาด อ้าว เขาก็เปิดกันหมด ดังนั้น ในเมื่อผมก็ไม่ได้อยู่ในห้าง ผมเลยไม่ได้ปิดร้าน เปิดมาเรื่อยๆ ไม่เห็นมีใครมาห้าม ผิดหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือว่าเขาไม่เห็นร้านผมก็ไม่รู้นะ”
เขาตอบคำถามสบายๆ ถึงข้อดีของที่ตั้งร้านการ์ตูนลิโด ณ ปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่สุดซอยลึกด้านหลังโรงภาพยนตร์สกาล่า พิกัดลึกลับดำมืดเสียจนถ้าไม่ได้ตั้งใจมา คงไม่มีทางเดินหลงมาเจอร้านการ์ตูนแห่งนี้ง่ายๆ
จะมีก็แต่ลูกค้าขาประจำเท่านั้นที่ยังคงแวะเวียนกันมาซื้อหนังสือการ์ตูนจากพ่อค้าเจ้าเก่า ที่ผูกปิ่นโตกันมานานเกือบ 20 ปี
“ผมก็ขายออนไลน์นะ แต่ของอยู่ที่นี่หมด ก็เลยต้องมาเปิดร้านอยู่ดี และก็ยังมีกลุ่มคนที่ชอบจริงๆ เวลาที่เขาเห็นหนังสือการ์ตูน ถ้าเกิดไม่ได้ซื้อ เขาจะไม่สบายใจ แต่ถ้าได้ซื้อไว้ก่อน ไม่รู้จะได้อ่านรึเปล่า เขาก็สบายใจแล้ว”
เขาคลายข้อสงสัยถึงเหตุผลที่ยังมีบางผู้คนเดินทางมาซื้อหนังสือการ์ตูนถึงร้าน แม้การอ่านการ์ตูนออนไลน์จะเป็นทางเลือกที่สะดวกและประหยัดสตางค์กว่าก็ตาม
นี่คงเป็นเหตุผลลึกๆ ที่ชาญชัยไม่ยอมปิดร้าน เพราะอย่างน้อยคงมีใครสักคนรอที่จะซื้อการ์ตูนจากเขา แม้หลายครั้งเขาจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของตัวเอง
เพราะหากถอยเวลากลับไปในประวัติศาสตร์ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของสยามสแควร์ โรคระบาดโควิด-19 ไม่ใช่สถานการณ์แรกที่กระทบสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของพ่อค้าแม่ขายในย่านนี้
นับตั้งแต่ที่กรุงเทพฯ มีม็อบหลากสี เกิดการประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งเผาห้างฯ ปิดเมือง ฯลฯ แต่ร้านการ์ตูนลิโดก็ยังเปิดทำการเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ต่อให้ต้องย้ายทำเลสักกี่หน หรือขนาดของร้านจะเล็กลงจากคูหาใหญ่เหลือพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางเมตร ทว่าไม่มีอุปสรรคไหนที่จะทำให้ผู้ชายคนนี้ยอมปิดร้านขายหนังสือของเขาอย่างแน่นอน
ไม่หวั่น แม้วันม็อบมาก
บ่ายวันธรรมดาที่ becommon แวะไปพูดคุยกับชาญชัย ตลอดการสนทนามีลูกค้าเข้ามาทักทาย ถามไถ่ และอุดหนุนหนังสือการ์ตูนจากเขาไม่ขาดสาย
“คนก็เริ่มมาบ้าง แต่ยังไม่เยอะ ลูกค้าบางคนก่อนหน้านี้ก็มาตลอด” ชาญชัยเล่าถึงบรรยากาศค้าขายในภาวะเศรษฐกิจซบเซา ขณะว่างเว้นจากลูกค้าตรงหน้า เขาก็หันกลับมาแพ็คหนังสือใส่กล่อง เพื่อเตรียมจัดส่งให้ลูกค้าที่สั่งซื้อในช่องทางออนไลน์
“ช่วงรัฐประหาร ผมก็ไม่เคยปิดร้าน เคยต้องปิดอยู่อาทิตย์เดียว เป็นอาทิตย์สุดท้ายที่เขายิงกัน เลยมีคำสั่งห้ามเข้าพื้นที่ ตอนนั้นร้านนี้ยังอยู่ใต้ลิโด้ ฝั่งเดียวกับร้านหนังสือดอกหญ้า เป็นห้องแถวตื้นๆ ประมาณเมตรครึ่ง แต่ยาว 8 เมตร”
ขนาดของร้านหนังสือเป็นดั่งบทบันทึกประวัติศาสตร์ชั้นดี รวมถึงการเคยมีอยู่ของร้านหนังสือเก่าแก่อย่างดอกหญ้าเอง ที่ทำหน้าที่บอกเล่ายุครุ่งเรืองของแวดวงสิ่งพิมพ์ไปในตัวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคยมีร้านหนังสือถึง 2 ร้านตั้งอยู่ติดกันในย่านสยามสแควร์
เพราะในอีก 3-4 ปีให้หลัง ทั้ง 2 ร้านก็ถูกสภาวะหลายๆ อย่างบีบบังคับให้ตัวร้านมีขนาดเล็กลงกว่าครึ่ง จนในที่สุด ร้านหนังสือดอกหญ้าก็ต้องปิดตัวลงในวาระใกล้ๆ กันกับการปิดตัวของโรงภาพยนตร์ลิโด เมื่อปี 2561
ส่วนร้านการ์ตูนลิโดเองก็ต้องย้ายทำเลไปเปิดที่มินิมอลล์อย่าง สยาม บาย-พาส เป็นการชั่วคราว ก่อนจะย้ายมาปักหลักที่ใต้ถุนโรงภาพยนตร์สกาล่าตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน
“แต่พอหลังจากนั้น ก็มีม็อบมาอีกตั้งกี่ม็อบล่ะ ม็อบแรก คือ ม็อบสนธิ ตอนนั้นหนังสือขายดีมาก หลังจากนั้น ม็อบอื่นๆ ยอดขายก็ตกลงมาเรื่อยๆ ผมอยู่กับม็อบมาตลอด” ชาญชัยเล่าต่อ
เท่ากับว่าไม่มีเหตุการณ์บ้านเมืองครั้งไหนที่จะมากระทบร้านการ์ตูนลิโดได้เลย?
“ไม่มีๆ ยกเว้นขายไม่ดี…” ตอบไม่ทันจบดี ชาญชัยก็ต้องปลีกตัวไปคิดสตางค์ให้กับลูกค้าอีกราย เขาคิดราคาขายในอัตราลด 10 เปอร์เซ็นต์แก่ลูกค้าทุกคน โดยไม่เลือกว่าขาจรหรือขาประจำ และไม่ว่าเศรษฐกิจจะฝืดเคืองแค่ไหนก็ตาม
“ขายหนังสือมันสนุกมากเลยนะ”
“ถ้าชอบอ่านการ์ตูน ขายไม่ได้หรอก เพราะก็จะเอาแต่อ่านอยู่นั่นแหละ” ชาญชัยสานต่อบทสนทนา ถึงนิยามของคุณสมบัตินักขายหนังสือการ์ตูน งานที่ไม่เหมาะกับคนชอบอ่านการ์ตูน
“แต่ผมไม่ได้ชอบอ่านการ์ตูนอยู่แล้วไง ผมชอบขาย มันท้าทายตรงการหาข้อมูล”
ชายหนุ่มใบหน้าเปื้อนยิ้ม ที่จะว่าไปบุคลิกหน้าตาของเขาก็คล้ายตัวการ์ตูนอยู่ไม่น้อย เล่าให้ฟังถึงสมัยที่เขายังเป็นผู้ช่วยน้าชายที่เปิดร้านขายหนังสือการ์ตูนในห้างสรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ในยุคที่ตลาดหนังสือการ์ตูนกำลังเฟื่อง
ส่วนเขารู้จักแค่เรื่อง ดราก้อนบอล กับ สแลมดั้งก์ เท่านั้น
“ตอนช่วยน้าขายก็รู้สึกว่า โอ้โห ทำไมการ์ตูนมันเยอะขนาดนี้ หาก็ยาก จุกจิกวุ่นวาย จนเกือบจะยอมแพ้ แต่พอขายไปขายมา ผมเริ่มรู้สึกว่า ไม่ได้สิ เราต้องรู้ให้ได้ เลยพยายามหาข้อมูลของการ์ตูนแต่ละเรื่อง ซึ่งสมัยนั้นข้อมูลหายากอยู่แล้ว ใช้วิธีอ่านแล้วจำๆ เอา”
“ยิ่งมีคนแนะนำว่า ลองไปถามคนนี้สิ เขารอบรู้เรื่องการ์ตูนมากเลยนะ ถ้าถามถึงเรื่อง อิคิงามิ สาส์นสั่งตาย เขาตอบได้หมด ซึ่งตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มขายใหม่ๆ ก็ยิ่งรู้สึกว่า ไม่ได้การแล้ว เราต้องพยายามบ้าง” อีกครั้งที่การพูดคุยถูกคั่นด้วยจังหวะการซื้อขายหนังสือการ์ตูน
“ขายหนังสือมันสนุกมากเลยนะ ได้เจอคน ได้คุยกับคน” เขากลับมาพูดคุยต่อแบบไม่มีสะดุด ด้วยการเผยถึงความความรู้สึกที่มีต่องานที่รัก โดยไม่รอคำถาม
“แล้วพอต้องมาขายออนไลน์ด้วย ยังสนุกอยู่ไหม” becommon หยั่งเชิงถาม เมื่อสังเกตเห็นหน้าจอมือถือของเขาเปิดหน้าแชทตอบลูกค้าค้างไว้ ในขณะที่ยังมีหนังสือรอแพ็คใส่กล่องอยู่อีกหลายเล่ม
“สนุกอยู่นะ แต่ขี้เกียจคุย ผมต้องมานั่งตอบเองทุกแชท เพราะไอ้ตัวจัดการเพจมันล่าช้ามาก” ชาญชัยเล่าถึงปัญหาทางเทคนิคอีกหลายประการที่เขาต้องค่อยๆ แก้ไปทีละเปลาะเพียงลำพัง
“มีคนมาช่วยไม่รู้จะคุ้มรึเปล่า คนเดียวยังจะอยู่ไม่รอดเลย” เขาหัวเราะให้กับคำตอบของตัวเอง ต่อคำถามที่ว่า ทำไมไม่หาคนมาช่วยอีกสักคนแทนที่จะหัวหมุนอยู่อย่างนี้
“ช่วงแรกที่ผมเริ่มขายออนไลน์ก็หัวหมุนนะ เครียด ตอบลูกค้าไม่ทัน ยิ่งช่วงโควิดใหม่ๆ ลูกค้าสั่งซื้อเยอะมาก แต่ตอนหลังผมก็ทำเท่าที่ทำได้ ตอบไม่ทันก็ไม่เป็นไร คนที่เขาไม่เข้าใจก็ไม่ใช่ลูกค้าเรา ใครที่ต้องการความไว ถามปุ๊บ ต้องตอบปั๊บ เขาก็คงเปลี่ยนไปหาที่ซื้อใหม่ ผมก็เข้าใจ เดี๋ยวพอหาไม่เจอ เขาก็กลับมาหาผมเอง”
เมื่อถามถึงโอกาสในการเข้าไปอยู่บนแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น ชาญชัยกลับรู้สึกว่า ไม่คุ้มเหนื่อย
“เคยมีคนแนะนำเหมือนกัน แต่ผมคิดว่าตัวเองคงอยู่ในระบบแบบนั้นไม่ได้ เหนื่อยเกินไป แถมยังมีการหักเปอร์เซ็นต์อีกด้วย เปรียบเหมือนการขายของในห้าง ที่เราต้องพึ่งเขา ไม่งั้นเราอยู่ไม่ได้ ในขณะที่ผมขายของในเพจตัวเองก็เหมือนขายของในห้องแถวเล็กๆ ขายให้ลูกค้าประจำของเราไปเรื่อยๆ ดีกว่า” เจ้าของร้านชำจำหน่ายหนังสือการ์ตูน เอ่ยด้วยรอยยิ้ม
ก่อนสิ่งพิมพ์จะหมดลมหายใจ
แม้จะใช้ชื่อว่า การ์ตูนลิโด แต่ที่นี่ไม่ได้ขายแค่หนังสือการ์ตูน แต่ยังมีสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นๆ วางขาย ทั้งนิตยสาร หนังสือนิยาย รวมเรื่องสั้น และวรรณกรรมประเภทต่างๆ ที่แม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าหนังสือการ์ตูน แต่สิ่งพิมพ์เหล่านี้ก็ทำหน้าที่ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ของวงการสิ่งพิมพ์ในร้านเล็กๆ แห่งนี้ได้ดีไม่แพ้กัน
“ลึกๆ แล้วเชื่อ แต่ผมว่าอีกนาน” ชาญชัยตอบคำถามที่ว่า เชื่อไหมว่าในที่สุดสิ่งพิมพ์จะตาย
“ตอนนี้ทุกบริษัทหันมาเล่นทางนิยายวาย (หรือนิยาย Y) กันหมด เพราะขายดีมาก ถ้าเป็นเค้กก็เป็นเค้กชิ้นใหญ่มาก ทุกบริษัทจากที่เมื่อก่อนนี้เหนียมอาย ไม่กล้าขายนิยายวายอย่างเปิดเผย มาในตอนนี้แย่งกันซื้อลิขสิทธิ์ใหญ่เลย เรื่องไหนที่ดังมากๆ ผมก็ขายไม่ได้ เพราะสำนักพิมพ์เอาไปขายเองหมด”
“การ์ตูนจีนยุคที่เพิ่งเข้ามาใหม่ๆ เมื่อ 20 ปีที่แล้วขายดีมาก เพราะจากที่คนอ่านนิยายต้องจินตนาการเอง พอมาเห็นรูปก็ตื่นเต้น แต่ตอนนี้พอไม่ได้เอาวรรณกรรมจีนมาทำ แต่เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่ กลับไม่สนุกเท่าวรรณกรรมคลาสสิค” เขาอัพเดทสิ่งที่กำลังบูมและสิ่งที่เคยบูมให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
แต่ไม่ว่าหนังสือการ์ตูนหรือสิ่งพิมพ์จะปรับเปลี่ยนเทรนด์ไปอย่างไร ในฐานะพ่อค้าอย่างเขา การได้ค้าขายและพูดคุยกับลูกค้าคือความสุขอย่างง่ายที่สุดที่หล่อเลี้ยงแต่ละวันให้ดำเนินต่อไป
“ขายมานานขนาดนี้ ให้เลิกแล้วไปเริ่มทำอย่างอื่นคงยาก ผมยังสนุกอยู่…” อีกครั้งที่ตอบไม่ทันจบดี เขาก็ต้องหันไปตอบลูกค้าที่ถามหาการ์ตูนเล่มที่หมายตา
“เคยต้องปิดร้านเพราะป่วยบ้างไหม” becommon ขอถามทีเล่นทีจริงก่อนแยกย้าย
“ไม่เคยป่วยเลย มีตัวร้อนบ้าง แต่พอได้ขายหนังสือก็หาย” ชาญชัยตอบจริงจัง ปิดท้ายด้วยรอยยิ้มจริงใจ
ร้านการ์ตูนลิโด ตั้งอยู่ชั้นล่าง ด้านหลังโรงภาพยนตร์สกาลา ฝั่ง Watsons, ธนาคาร TMB ชั้น 2 ลิโด้ connect ถนนพระราม 1 ปทุมวัน กรุงเทพฯ เบอร์โทรศัพท์ 096-969-7495
หรือที่ FB: การ์ตูนลิโด