©ulture

“การมีอยู่ของเธอพาฉันไปยังอีกมิติ…ฉันอยู่ที่ศูนย์กลางของโลก…เธอยังวนเวียนอยู่ในควางยาแห่งนี้สินะ”

นี่คือเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของ Black Memba เพลงเปิดตัววง เอสปา (æspa) เกิร์ลกรุ๊ปจากค่าย SM Entertainment ที่มาในคอนเซ็ปต์หญิงสาวจากโลกอนาคต ซึ่งพาผู้ฟังไปทำความรู้จักกับ ‘ควางยา’ จักรวาลคู่ขนานที่ร่างอวตารของเมมเบอร์ทั้ง 4 อาศัยอยู่

หลังจากนั้นคำว่าควางยาก็ไปปรากฏแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยในเนื้อเพลงของวงอื่นๆ ในค่าย เช่น Don’t fight the feeling ของ Exo และ Hello future ของ NCT Dream อีกทั้งยังมีเรื่องราวของมิวสิกวิดีโอที่เชื่อมโยงถึงกัน โดยแฟนๆ ตีความกันไปว่าควางยาน่าจะเป็นจักรวาลที่มีร่างอวตารของศิลปินทุกๆ วงอยู่ที่นั่น

(Photo : aespa official)

เอสปา มีสมาชิกทั้งหมด 4 คน คือ คารินา (Karina), วินเทอร์ (Winter), จีเซล (Giselle) และ หนิงหนิง (Ningning) ค่ายเปิดตัวพวกเธอด้วยภาพพอร์เทรตและวีทีอาร์แนะนำตัวสั้นๆ เหมือนกับวงเกิร์ลกรุ๊ปทั่วไป แต่ที่ทำให้การเดบิวต์ของเอสปาเป็นที่จับตามองของวงการเคป๊อบคือ สมาชิกแต่ละคนจะมีร่างอวตารที่เต้น ร้องเพลง และพูดคุยได้เหมือนกับตัวจริง จนครั้งหนึ่ง คารินา หนึ่งในสมาชิกวงถึงกับพูดว่า “พวกเรามีกันทั้งหมด 8 คน”

æspa มาจากคำว่า Avatar Experience และ Aspect ที่จำกัดความรวมๆ ได้ว่าเป็น ‘การสัมผัสโลกใหม่ผ่านอวาตาร์’ การแสดงบนสเตจของเอสปาจึงไม่ได้มีแค่พวกเธอ 4 คนแต่รวมอวาตาร์ของแต่ละคนขึ้นมาโชว์ไปด้วยกันอีกด้วย

SM Entertainment เป็นค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของเกาหลี ที่เป็นต้นสังกัดของศิลปินระดับตำนานอย่าง Girl’s generation, Super Junior, Exo ฯลฯ จึงทำให้การเดบิวต์ของเอสปาเป็นที่ฮือฮาในวงการเคป๊อบ เมื่อค่ายเพลงอันดับต้นๆ เริ่มทำเกิร์ลกรุ๊ปที่มีสมาชิกเป็นอวตาร์และสร้างจักรวาลเสมือนจริงขึ้นมา นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องกำลังมองเห็นอนาคตของศิลปินเสมือนจริงที่จะมาเปลี่ยนวงการเคป๊อบอยู่เป็นแน่

“เอสปาเป็นนวัตกรรมเกิร์ลกรุ๊ปแบบใหม่ที่ก้าวข้ามพรมแดนระหว่างโลกจริงและโลกเสมือน ศิลปินวงนี้สะท้อนถึงอนาคตของเราที่จะหมุนไปรอบๆ อวตาร์คนดัง สมาชิกที่เป็นมนุษย์จริงๆ และอวาตาร์ของพวกเขาจะสามารถโต้ตอบกันผ่านสื่อดิจิทัล ทำงานร่วมกันได้ และเติบโตไปด้วยกัน” ลี ซูมาน (Lee Soo-man) ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงกล่าวในงานประชุม World Cultural Industry Forum (WCIF) เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ก่อนหน้าเอสปาจะเดบิวต์ประมาณหนึ่งเดือน

(Photo : aespa official)

แม้ว่านี่จะเป็นแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ของเกาหลี แต่เอสปาไม่ใช่วงแรกที่สร้างเกิร์ลกรุ๊ปอวาตาร์ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2018 Riot Game ค่ายเกมสัญชาติอเมริกันก็เปิดตัว เคดีเอ (K/DA) เกิร์ลกรุ๊ปที่มีสมาชิกมาจากเกม League of Legends วงนี้กลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ตั้งแต่เปิดตัว โดยมียอดเข้าชมเพลงในยูทูบกว่า 400 ล้านวิวและติดอันดับชาร์จบนบิลบอร์ด

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ค่ายเพลง Pulse 9 ก็ได้เปิดตัว Eternity เกิร์ลกรุ๊ปที่มีสมาชิกทั้งหมดเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI : Artificial intelligence) เป็นวงแรกของเกาหลี พวกเธอถือกำเนิดขึ้นจาก Deep Real AI เทคโนโลยีสร้างภาพเสมือน ที่คำนวณลักษณะใบหน้าของสมาชิกแต่ละคนขึ้นมา ไม่เพียงแค่รูปลักษณ์เท่านั้นที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ แต่สมาชิกทุกคนยังมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง มีอาหารจานโปรด สีที่ชอบ งานอดิเรก คล้ายกับที่ระบุอยู่ในประวัติของไอดอลวงอื่นๆ อีกทั้งยังเรียนรู้จะโต้ตอบกับแฟนๆ ได้อีกด้วย

ในมิวสิกวิดีโอเพลง I’m Real ซึ่งเป็นเพลงเดบิวต์ของวงนี้ เผยให้เห็นใบหน้าของสมาชิกอย่างชัดเจน และพอจะดูออกได้ว่าพวกเธอไม่ใช่คนจริงๆ อย่างไรก็ตามค่ายเพลงเผยว่าพวกเขาจะพัฒนาให้พวกเธอมีความเสมือนจริงยิ่งขึ้นกว่านี้ เพราะเชื่อว่าศิลปินปัญญาประดิษฐ์ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมเคป๊อบไปสู่ระดับโลกได้เหมือนกับที่คนจริงๆ เคยทำไว้

“ฉันคิดว่าไอดอลเป็นหนึ่งในประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผู้คน ฉันสังเกตเห็นพลังงานและอิทธิพลที่เคป๊อบมอบให้ผู้คนทั่วโลก ดังนั้นฉันจึงต้องการเพิ่มช่องทางในการขับเคลื่อนโลกใบนี้ สมาชิก ai ต่างจากนักร้องที่เป็นมนุษย์จริงๆ เพราะพวกเขาแสดงออกได้อย่างเต็มที่และเป็นอิสระจากประเด็นทางสังคม เนื่องจากไม่ได้รับความเสี่ยงที่เกิดจากความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นอันตราย” พัค จีอึน (Park Ji-eun) ซีอีโอของ Pulse 9 กล่าว

ปัจจุบันหลายๆ ค่ายเพลงของเกาหลีกำลังเร่งพัฒนาศิลปินเสมือนจริงกันอย่างแพร่หลาย ลี ฮเยจิน (Lee Hye-jin) ผู้ช่วยศาสตราจารย์คลินิกประจำโรงเรียนการสื่อสารและวาสารศาสตร์อันเนนเบิร์ก มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย พูดถึงอุตสาหกรรมเพลงเกาหลีในปัจจุบันว่า

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเคป๊อบกำลังลงทุนอย่างมหาศาลกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ค่ายเพลงอย่าง JYP, YG และ Hybe ก็ได้ลงทุนกับแอปฯ อวาตาร์ Zepeto และใช้แพลตฟอร์มนี้สำหรับแฟนมีตติ้งเสมือนจริง และนำเสนอเนื้อหารูปแบบอื่นๆ ด้วย ส่วน SM Entertainmetn เองก็ลงทุนในเทคโนโลยีเสมือนจริงและร่วมมือกับ Beyond Live ซึ่งเป็นบริการสตรีมคอนเสิร์ตออนไลน์ ศิลปินเสมือนจริงจะช่วยให้ค่ายเพลงเคป๊อบสร้างรายได้ใหม่ๆ และขยายขอบเขตทรัพย์สินทางปัญญาของพวกเขาออกไปด้วย”

แม้ว่าปัจจุบันในเกาหลีใต้ยังไม่มีศิลปินเสมือนจริงวงไหนที่ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นตำนานของวงการเคป๊อบแต่เชื่อว่าเส้นทางของศิลปินเสมือนจริงนั้นสว่างไสว และจะสร้างรายได้มหาศาลได้ เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ของ ‘มิคุ’ ที่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น

(Photo : Hatsune Miku Exclusive Life Size Vinyls)

มิคุ หรือ ฮัทสึเนะ มิคุ (Hatsune Miku) เป็นคาแรคเตอร์เด็กหญิงผมแกละสีฟ้าวัย 16 ปี ที่เป็นเจ้าของเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ เธอเป็นนักร้องและมีตัวตนเป็นภาพอนิเมชัน เสียงของมิคุมีต้นแบบมาจาก ซากิ ฟูจิตะ (Saki Fujita) นักพาย์กชาวญี่ปุ่นที่ถูกดัดแปลงด้วยโปรแกรมโวคัลลอยด์

มิคุได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในญี่ปุ่น มีแฟนด้อมเป็นของตัวเอง แถมยังเปิดคอนเสิร์ตใหญ่ที่มีแฟนๆ แห่เข้าไปชมแน่นฮอลล์ โดยในการแสดงสดแต่ละครั้งจะมาในรูปแบบภาพโฮโลแกรมบนจอใหญ่ยักษ์ที่เห็นกันชัดทั่วทั้งฮอลล์ ในเดือนมีนาคม 2012 สถาบันวิจัยโนมุระเผยว่ายอดขายสินค้าลิขสิทธิ์ของมิคุนั้นเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านเยน (2,900,253 บาท) นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2007

การมีชีวิตนิรันดร์ ไม่มีวันแก่ ร้องเพลงตรงคีย์ไม่มีผิดเพี้ยน เต้นได้ไม่หอบเหนื่อย อาจเป็นข้อดีสำหรับค่ายเพลงที่สามารถทำเงินจากศิลปินเสมือนจริงที่ไร้ซึ่งข้อจำกัดไปได้ตลอดกาล แต่ในขณะเดียวกันผลกระทบอีกหลายๆ อย่างกำลังเกิดขึ้นกับวัฒนธรรมการเสพสื่อ และชวนให้แฟนๆ พากันตั้งคำถามกับปรากฏการณ์เหล่านี้

เรากำลังลดทอนความเป็นมนุษย์ของศิลปินอยู่หรือเปล่า?

ศิลปินกำลังถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสินค้ามากเกินไปหรือไม่?

ความสำคัญของศิลปินอยู่ที่ไหน?

ในเมื่อปัญญาประดิษฐ์ทำทุกอย่างได้พอๆ กับมนุษย์

วินเทอร์ aespa และอวาตาร์ของเธอ (Photo : aespa official)

แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์จะสนทนากับเราได้คล้ายมนุษย์คนหนึ่ง แต่เราทุกคนรู้ดีว่าพวกเขาไม่ใช่มนุษย์ที่รู้สึกได้และเจ็บปวดเป็น เหมือนที่เรากล้าพ่นคำหยาบใส่แชตบอต หรือ Siri เพราะรู้ว่าเธอคงไม่ได้รู้สึกเสียใจ

สำหรับศิลปินอวาตาร์และปัญญาประดิษฐ์ แฟนๆ บางกลุ่มอาจไม่ได้ปฏิบัติกับพวกเขาเหมือนอย่างที่ปฏิบัติกับศิลปินที่เป็นมนุษย์จริงๆ เมื่อวงเสมือนจริงค่อยๆ แพร่หลายขึ้น เส้นแบ่งระหว่างการเป็นแฟนคลับกับศิลปินจึงค่อยๆ ถูกเบลอ และอาจทำให้เกิดการคุกคามได้ง่ายขึ้น

แพทริค วิลเลียมส์ (Patrick Williams) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์มีความเห็นว่า ปรากฏการณ์ศิลปินเสมือนจริงอาจสร้างปัญหาในความสัมพันธ์ระหว่างแฟนๆ กับตัวศิลปินได้ เพราะเราอาจลืมไปว่าขอบเขตของการชื่นชอบนั้นคืออะไร

D.Va (Photo : Overwatch)

นอกจากจะเป็นสินค้าเกือบเต็มรูปแบบแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำคือ แฟนๆ บางกลุ่มเปลี่ยนให้ตัวละครเหล่านั้นกลายเป็นวัตถุทางเพศ เช่นกรณีของ D.Va ตัวละครที่โด่งดังในเกมออนไลน์ Overwatch ซึ่งมักถูกหยิบไปสร้างคอนเทนต์อนาจารอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นอนิเมชันโป๊ หรือนำชุดของเธอไปเป็นคอสเพลย์วาบหวิวในหนังผู้ใหญ่

แน่นอนว่าถ้าคนจริงๆ ถูกหยิบยืมคาแรกเตอร์ไปทำอนาจารเช่นนี้คงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่เพราะเป็นตัวละครในเกมที่ไม่มีชีวิตจิตใจ เรื่องนี้จึงไม่ได้ถือว่าเป็นมีความผิดใดๆ แต่ในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้าอันใกล้ เมื่อศิลปินมีอวาตาร์แทนตัวเอง เช่นเดียวกับ เอสปา จึงเป็นเรื่องยากจะควบคุมไม่ให้เกิดการคุกคามในรูปแบบที่เคยเป็นมาได้ และแฟนๆ เองก็คงจะสับสนว่าพวกเขาจะต้องปฏิบัติกับศิลปินเสมือนจริงอย่างไร ที่แน่ๆ หากตัวตนในโลกดิจิทัลของพวกเขาตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ สมาชิกที่เป็นมนุษย์ก็มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบทางจิตใจเช่นกัน

อวาตาร์ของ aespa (Photo : aespa official)

นอกจากประเด็นเปลี่ยนคนให้เป็นอวาตาร์แล้ว คัง ชินคยู (Kang Shin-kyu) นักวิจัยจาก Korea Broadcast Advertising Corporation ก็ตั้งคำถามด้านกฎหมายเพิ่มเติมอีกว่า “SM Entertainment จะจัดการกับอวาตาร์เหล่านี้อย่างไร เมื่อสมาชิกที่เป็นมนุษย์ยกเลิกสัญญากับบริษัท บริษัทยังคงเป็นเจ้าของอวาตาร์นั้นอยู่หรือไม่ เมื่อในอนาคตสมาชิกที่เป็นมนุษย์ไม่ต้องการให้นำไปใช้ นี่คือเหตุผลที่ฉันคิดว่าผู้ผลิตจำเป็นต้องคำนึงถึงศิลปินและอนาคตให้มากขึ้น”

อุตสาหกรรมศิลปินเสมือนกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในเกาหลีใต้ ในอนาคตเราอาจได้เห็นวงเสมือนจริงกลายเป็นวงระดับตำนานก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่านี่จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งของค่ายเพลงที่จะทำเงินไปได้ตลอดกาล แต่มีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมเคป๊อบหลังโควิด-19 อาจจะเปลี่ยนแปลงไป

เพราะแฟนๆ ต่างก็โหยหาการปฏิสัมพันธ์ คิดถึงเวทีคอนเสิร์ต และสิ่งที่จะมาตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ก็คือศิลปินที่เป็นมนุษย์จริงๆ โดยปกติแล้วนอกจากเพลงและโชว์บนเวที อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้แฟนๆ ชื่นชอบศิลปินก็คือความเป็นตัวเขา ที่หัวเราะ ร้องไห้ และผิดพลาดได้ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

อ้างอิง

  • Dong Sun-hwa. Will AI-powered groups take over K-pop?. https://bit.ly/3y4VCUV
  • Kendrea Liew. Future of entertainment? Avatars could be K-pop’s next superstars. https://cnb.cx/3h0dwm2
  • Puah Ziwei. Experts question ethical and copyright issues of virtual K-pop idols. https://bit.ly/3w6NwtF
  • Korea Times. Could a virtual K-pop girl group dethrone Blackpink? After Aespa’s VR avatars comes Eternity, an 11-piece girl band created from AI graphics – but with new tech comes problems too. https://bit.ly/3x8py2r