©ulture

ในปี 2013 อาร์น สเวนสัน (Arne Svenson) ช่างภาพสชาวอเมริกันตระเวนถ่ายภาพผู้คนในอิริยาบถต่างๆ จากหน้าต่างอพาร์ตเมนต์ของพวกเขา

และจัดนิทรรศการ The Neighbors ขึ้นที่ จูลี ซัล แกเลอรี ในมหานครนิวยอร์ค หลังจากนั้นไม่นาน ผู้คนในภาพถ่ายที่เห็นภาพของตัวเองโชว์หราอยู่ในนิทรรศการอันโด่งดังก็เลือกที่จะฟ้องร้องสเวนสัน โทษฐานละเมิดความเป็นส่วนตัวของพวกเขา

ไม่แปลกที่พวกเขาจะไม่พอใจ เพราะอยู่ดีๆ ก็มีใครไม่รู้เฝ้าดูเราทางหน้าต่าง แถมยังถ่ายภาพไปจัดนิทรรศการอีก ดูยังไงคนในรูปก็เป็นฝ่ายเสียหาย แต่…คำตัดสินของศาลกลับตรงกันข้าม เพราะสเวนสันเป็นผู้ชนะคดี ส่วนคนในภาพกลับพ่ายแพ้ไปอย่างน่าเจ็บใจ

The Neighbors โดย อาร์น สเวนสัน

เกิดอะไรขึ้นกับคดีนี้ เราขอชวนมาหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน ด้วยการไปสำรวจเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างคำว่า ‘ศิลปะ’ และ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ในภาพถ่ายสตรีท

ภาพถ่ายสตรีท คือภาพที่บันทึกตามท้องถนนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวโมเมนต์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ สิ่งที่ทำให้ภาพเหล่านี้มีเสน่ห์คือทำให้เราเห็นโมเมนต์ของผู้คน แม้จะไม่ใช่ภาพที่เพอร์เฟ็คต์ด้วยการจัดวาง แต่ความสมบูรณ์แบบของมันอยู่ที่ความจริงข้างในภาพและเรื่องราวข้างใน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์ชั้นเยี่ยม

และเมื่อไหร่ที่ภาพนั้นถูกจัดฉากขึ้น อาจจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ นั่นจึงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในวงการช่างภาพ เพราะคล้ายกับเป็นการดูถูกจิตวิญญาณของภาพสตรีทอย่างรุนแรงก็ไม่ปาน

ยิ่งไปกว่าเรื่องนั้น อีกประเด็นที่คนมักยกขึ้นมาถกเถียงกันคือ ‘ความเป็นส่วนตัว’ เมื่อกล้องจะจับภาพใครก็ได้ แล้วเผยแพร่อย่างไรก็ได้ นั่นหมายความว่าภาพตอนที่ชายคนหนึ่งกำลังนั่งร้องไห้ทำหน้าเหยเกอยู่บนม้านั่งริมทาง อาจกลายเป็นภาพที่ถูกโพสต์ลงอินสตาแกรมของใครสักคน ไปอยู่ในแกลเลอรี เป็นภาพถ่ายช็อตที่ได้อารมณ์ องค์ประกอบครบ แต่อาจไม่ถูกใจเจ้าตัวสักเท่าไหร่

กรณีนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลไหมแล้วชายคนนั้นจะฟ้องช่างภาพได้หรือเปล่า?  

คำตอบคือ ฟ้องร้องได้ แต่อาจจะแพ้คดี หรือต้องดูอีกทีว่าภาพนั้นถูกนำไปใช้อย่างไร

Sun Worshippers, Prime Tower, Zurich, Switzerland, 2019 (Photo : Sun Worshippers)

เส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง ‘ศิลปะ’ และ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รูปชายคนนี้จะไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลถ้าเรื่องเกิดขึ้นใน พื้นที่สาธารณะ

ช่างภาพสามารถถ่ายภาพบุคคลในพื้นที่สาธารณะและเผยแพร่ได้อย่างเสรี เพราะถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก ที่บัญญัติไว้ใน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights ICCPR) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ร่วมกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) ในข้อที่ 19มีใจความระบุว่า

(1) บุคคลมีสิทธิในการแสดงความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และ (2) บุคคลมีเสรีภาพในการแสดงออก มีเสรีภาพในการแสวงหา รับ และส่งต่อข้อมูลและแนวคิดทุกประเภทได้อย่างไร้พรมแดน ไม่ว่าจะโดยปากเปล่า ลายลักษณ์อักษร สิ่งพิมพ์ งานศิลปะหรือสื่ออื่นๆ ที่เขาเลือก

Getting ready for arrival, 2013 (Photo : Roberto Borello)

ภาพถ่ายถือเป็นการแสดงออกทางศิลปะ ที่นอกจากจะมีเสรีภาพในการกดชัตเตอร์แล้ว ยังมีคุณค่าในฐานะที่เป็นงานศิลปะอีกด้วย ถ้ามองเรื่องความเป็นส่วนตัวในมุมของคนถูกถ่ายภาพ ก็จะพบว่าความเป็นส่วนตัวนั้นไม่ได้มีอยู่แล้วตั้งแต่แรกในพื้นที่สาธารณะ 

แน่นอนว่าการที่สเวนสันถ่ายภาพหน้าต่างอพาร์ตเมนต์นั้น ถือว่ายังอยู่ในขอบเขตของ ‘พื้นที่สาธารณะ’  เพราะผู้คนในรูปต่างเปิดผ้าม่าน ซึ่งทำให้มองเห็นได้จากข้างนอกอยู่แล้ว ดังนั้นอะไรที่มองเห็นได้จากด้านนอกก็ถือว่าเป็นสาธารณะได้เหมือนกัน 

Bild, 2014 (Photo : Martin Gommel)

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าช่างภาพจะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ เพราะแม้มีสิทธิที่จะถ่ายภาพ แต่สิทธินั้นก็ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่นในสังคมเช่นกัน ช่างภาพคงไม่สามารถตามไปถ่ายคนถึงในห้องน้ำได้ แม้จะเป็นห้องน้ำสาธารณะก็ตาม

อาจฟังดูเหลือเชื่อและชวนโมโห เมื่อก่อนหน้านี้ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ มีผู้หญิงถูกแอบถ่ายใต้กระโปรงในที่สาธารณะ แต่กลับไม่มีกฎหมายคุ้มครองความเป็นธรรมของเหยื่อในพื้นที่สาธารณะ จนจำต้องให้จอมแอบถ่ายชนะคดีไป จากคดีนี้ ทำให้ ปีต่อมามีการแก้ไขกฎหมายให้เป็นธรรมขึ้น

สรุปได้ว่าช่างภาพสามารถถ่ายภาพได้อย่างอิสระ เว้นเสียแต่การกระทำนั้นจะไปละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ขัดต่อนโยบายด้านความปลอดภัย ขัดต่อกฎหมายของประเทศนั้นๆ หรือเป็นการทำลายความมั่นคงของชาติ  ซึ่งในข้อหลังสุด แต่ละประเทศก็มีมุมมองของ ‘ความมั่นคงของชาติ’ ไม่เหมือนกัน คงไม่ยุติธรรมเท่าไหร่นัก หากรัฐบาลใช้คำว่า ‘ความมั่นคงของชาติ’ มาเป็นข้ออ้างในการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน 

(Photo : Roberto Borello)

อย่างไรก็ตาม ช่างภาพที่ถ่ายภาพสตรีทอาจมีความผิดได้ หากภาพนั้นถูกใช้ เชิงพาณิชย์ 

ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์อีกหลายครั้ง เพราะข้อนี้ทำให้ศิลปินเสียเปรียบในด้านรายได้ ภาพถ่ายควรจะขายได้และเขาควรได้ผลตอบแทนเพื่อหล่อเลี้ยงให้ถ่ายภาพต่อไป ท้ายที่สุดภาพสตรีทก็สามารถจำหน่ายบนออนไลน์ ในแกเลอรีได้อย่างเสรี เช่นเดียวกับกรณีของสเวนสัน ที่แม้จะจัดงานแสดงภาพถ่ายในแกลอรีและมีค่าเข้าชม แต่ก็ไม่ถือว่าละเมิดขอบเขตของการซื้อขายงานศิลปะ เป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขาชนะคดี (ถ้าสเวนสันเอาภาพมาสกรีนเสื้อขายล่ะก็อีกเรื่อง) 

Street Photography China, 2015 (Photo : liu tao)

อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายบางภาพอาจไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องพิจารณาไปตามแต่ละกรณี และตามแต่รัฐธรรมนูญของแต่ละรัฐนั้นๆ ด้วยเช่นกัน

เส้นแบ่งของ ‘ศิลปะ’ และ ‘ความเป็นส่วนตัว’ ยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่เสมอ เพราะกฎหมายบางกฎนั้นจำเป็นต้องพัฒนาไปตามยุคสมัย ช่างภาพจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนกดชัตเตอร์ เพราะนั่นหมายความว่าเรากำลังอยู่ในฐานะของสื่ออยู่กลายๆ นี่คงเป็นทางที่ดีที่สุดเพื่อให้ภาพถ่ายสตรีทยังคงทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวแห่งยุคสมัยต่อไป แบบไม่ละเมิดสิทธิของใครที่อยู่ในภาพ

 

อ้างอิง