©ulture

โต๊ะอาหารเต็มไปด้วยเมนูที่คิดถึง เสียงที่คุ้นเคยของคนในครอบครัวเซ็งแซ่แต่กลับชวนให้สุขใจอย่างประหลาด ละอองของความอบอุ่นและครื้นเครงนั้นปกคลุมไปทั่วบ้านที่พวกเรากลับมาพบกันในวัน ‘ตรุษจีน’

‘ตรุษจีน’ หรือวันขึ้นปีใหม่แบบจีน คือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติจีน ประมาณปลายๆ เดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

ปีนี้ชาวจีนทั่วโลกต่างอิ่มใจ เพราะหลังจากฉลองปีใหม่สากลไปเมื่อต้นเดือนยังไม่ทันหมดสนุก ปลายเดือนก็ได้ฉลองกันอีกรอบตามธรรมเนียมของครอบครัวในวันตรุษจีน

ตรุษจีนในวันวาน

ชาวจีนฉลองวันปีใหม่มานาน 3,500 ปีแล้ว ในสมัยราชวงศ์ชาง วันตรุษจีนของพวกเขานั้นแสนเรียบง่าย เพราะมีเพียงการสรรเสริญเทพเจ้าและไหว้บรรพบุรุษ เพื่อขอให้ทำการเกษตรได้อย่างราบรื่น และให้พืชพรรณออกดอกผลตลอดไป 

จากนั้นวิธีเฉลิมฉลองของชาวจีนก็เริ่มพัฒนาขึ้นในราชวงศ์ฮั่น เนื่องจากมีการเผาไม้ไผ่ให้แตกจนเกิดเสียงดัง ผู้คนแสวงหาวิธีฉลองตรุษจีนในแบบของตัวเอง จนกระทั่งในสมัยราชวงศ์เว่ยและจินก็เกิดธรรมเนียมใหม่ๆ เช่น การทำความสะอาดบ้านและรับประทานอาหารมื้อใหญ่กับครอบครัว 

เมื่อเศรษฐกิจและสังคมเริ่มพัฒนา ทำให้ตรุษจีนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ การไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ และทำเกี๊ยวทานกันในบ้านก็เริ่มกลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัวชาวจีนที่ขาดไม่ได้ทุกตรุษจีน  

ชายคนหนึ่งกำลังสัมผัสสิงโต ในงานเฉลิมฉลองตรุษจีนที่กรุงปักกิ่ง 1 กุมภาพันธ์ 2017 (Photo : Fred DUFOUR / AFP)

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความบันเทิงเข้ามาผสมผสานและเต็มไปด้วยสีสันของมหรสพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเชิดสิงโต มังกร หรืองานจัดแสดงโคมสวยงาม ถนนทั่วไปตกแต่งด้วยสีแดงสด ตามตำนานที่ว่าสีแดงนั้นจะช่วยปัดเป่าและไล่สิ่งชั่วร้ายไปได้

สุขสันต์วันกลับบ้าน สุขสันต์วันตรุษจีน

ปัจจุบันเทศกาลตรุษจีนนั้นเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ และกลายมาเป็นวันสำคัญในปฏิทินสากล ในปี 2019 ที่ผ่านมา ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางกลับบ้านช่วงเทศกาลกว่า 3,000 ล้านเที่ยว และตรุษจีนก็เป็นเทศกาลที่มีคนเดินทางมากที่สุดเมื่อเทียบกับบรรดาเทศกาลอื่นๆ 

ผู้โดยสารบนรถไฟจากสถานีปักกิ่งกำลังเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลตรุษจีน 24 มกราคม 2017 (Photo : NICOLAS ASFOURI / AFP)

ตรุษจีนนั้นมีกลิ่นอายที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น ที่นิวยอร์กผู้คนอาจกำลังเพลิดเพลินกับการชมขบวนโคมไฟที่ไชน่าทาวน์ ที่ประเทศจีนแต่ละครอบครัวอาจช่วยกันทำเกี๊ยวทานด้วยกันอย่างขะมักเขม้น หรือที่สิงคโปร์แต่ละบ้านกำลังประดับป้ายอวยพรที่หน้าบ้านของตัวเอง

ผู้ช่วยร้านเครื่องประดับแขวนป้ายว่าภาษาจีนที่แปลว่า ‘ความเจริญรุ่งเรือง’ ในย่านไชน่าทาวน์ ประเทศสิงคโปร์ 18 มกราคม 2002 (Photo : ROSLAN RAHMAN / AFP)

สำหรับวันตรุษจีนในไทยแบ่งออกเป็น 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว 

วันจ่าย เป็นวันที่ถนนเยาวราชจะคลาคล่ำไปด้วยคนไทยเชื้อสายจีนที่พากันออกไปจับจ่ายซื้อของสำหรับเตรียมทำอาหารมื้อใหญ่เพื่อไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ เนื่องจากในช่วงเทศกาลนี้ เหล่าร้านค้าที่เจ้าของกิจการเป็นคนจีนก็จะต้องหยุดขายของเพื่อไปฉลองเช่นเดียวกัน  

ผู้คนเลือกซื้อผลไม้สำหรับเทศกาลตรุษจีนในประเทศไทย 23 มกราคม 2015 (Photo : PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

วันไหว้ ไม่มีกฎตายตัวว่าแต่ละบ้านนั้นต้องไหว้อะไรบ้าง แต่หลักๆ แล้ววันไหว้จะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดคือการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเจ้าที่เจ้าทาง จากนั้นในตอนสายจะเป็นการไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ตกบ่ายก็ให้ทานสัมภเวสีและจุดประทัดไล่สิ่งชั่วร้าย และหากใครที่อยากเสริมให้ดวงดี ตกดึกบางบ้านก็มีการไหว้เทพเจ้า ‘ไฉ่ซิงเอี้ย’ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ 

วันสุดท้ายคือ วันเที่ยว ที่แต่ละครอบครัวจะพากันสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ และเดินสายเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ หรือท่องเที่ยว มีธรรมเนียมปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ เช่นห้ามพูดคำหยาบหรือคำอัปมงคล อีกทั้งในวันนี้ยังเป็นวันที่เด็กๆ คงชื่นชอบเป็นพิเศษเพราะจะได้อั่งเปาซองสีแดงจากผู้ใหญ่

ชายคนหนึ่งคำนับหน้าแท่นบูชาที่วัดหว่องไทซินเพื่อต้อนรับวันตรุษจีนในฮ่องกง 30 มกราคม 2014 (Photo : by PHILIPPE LOPEZ / AFP)

ภายใต้ความสนุกสานที่ชโลมให้ทั้งเมืองดูคึกครื้นและธรรมเนียมปฏิบัติที่พัฒนาขึ้นในแต่ละปี เราจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ยุคแรกจนวันนี้ สิ่งหนึ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญอยู่เสมอในวันตรุษจีนก็คือ ‘ครอบครัว’ ไม่ว่าจะเป็นการไหว้บรรพบุรุษหรือไหว้เจ้า ก็ล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายเพื่อขอพรให้คนในครอบครัวมีแต่ความสุข

ตรุษจีนจึงไม่ใช่แค่การเฉลิมฉลองปีใหม่ แต่ยังเป็นโอกาสที่ให้ทุกคนได้กลับบ้านมาพบหน้า เติมกำลังใจให้กันและกัน 

แม้เพียงเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่สมาชิกทุกคนในบ้านก็ได้รับแต่ความอิ่มเอมใจไปตลอดทั้งปี

 

อ้างอิง