©ulture

สื่อในโลกตะวันตกส่วนใหญ่มักนำเสนอภาพลักษณ์ของหญิงมุสลิมว่าเป็นเหยื่อที่ถูกกดขี่และไร้ซึ่งอำนาจ

หลายประเทศในยุโรปแบนการใช้ผ้าคลุมหน้าเพราะถือว่าเป็นสัญลักษณ์การกดขี่สตรีของศาสนาอิสลาม เราสามารถมองเห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงชาวมุสลิมได้อย่างชัดเจนจากการปกครองของประเทศแถบตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดิอาระเบีย ไม่ว่าจะเป็นการถูกลิดรอนสิทธิ ถูกบังคับแต่งงาน คาดหวังให้อยู่ในโอวาทและคอยปฏิบัติรับใช้สามี ทั้งยังมีข้อกำหนดลิดรอนเสรีภาพในการใช้ชีวิตของสตรีอีกมากมาย 

ทว่าในทางตรงกันข้าม ยังมีผู้หญิงมุสลิมบางกลุ่มในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไป 

ทางฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย นอกจากความงดงามของภูมิประเทศอันเต็มไปด้วยทะเลสาบภูเขาและนาขั้นบันได สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือบริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ มินังกาเบา (Minangkabau) พวกเขาเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ยังดำรงชีวิตด้วยการพึ่งพาธรรมชาติและการทำเกษตรกรรม ปัจจุบันจุดศูนย์กลางของมินังกาเบาอยู่ที่เมืองปาดัง (Padang) ติดชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย บางส่วนกระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีจำนวนประชากรประมาณ ล้านคน 

ชาวมินังกาเบายังใช้ชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ (Photo : http://thespicerouteend.com)

ความน่าสนใจของชาวมินังกาเบา คือการเป็นชนเผ่าที่ได้ชื่อว่ามีความศรัทธาในศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง ทั้งชายและหญิงส่วนใหญ่ต้องทำการละหมาดวันละ เวลา ถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน และปรารถนาที่จะแสวงบุญไปยังนครเมกกะ ร่วมทำพิธีฮัจญ์อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน มินังกาเบาก็เป็นชนเผ่าที่ให้อำนาจสตรีได้รับบทบาทผู้นำทั้งในครอบครัวและสังคม 

(Photo : https://www.michaelbackmanltd.com/international-womens-day-the-minangkabau-people)

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะในอดีตก่อนหน้าการแพร่ขยายอิทธิพลของศาสนาอิสลาม ชาวมินังกาเบามีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เน้นให้ความสำคัญกับการสืบเชื้อสายทางมารดา หรือ อาดัต มินังกาเบา (Adat Minangkabau) วัฒนธรรมนี้ครอบคลุมการยึดถือชาติตระกูลทางฝั่งแม่ เมื่อมีการให้กำเนิดทายาท เด็กที่เกิดมาจะกลายเป็นสมาชิกของตระกูลมารดาอย่างสมบูรณ์ ทรัพย์สมบัติทั้งหมดจะตกทอดจากผู้เป็นแม่สู่บุตรสาว และเมื่อมีการแต่งงาน ฝ่ายชายต้องย้ายเข้ามาอาศัยอยู่กับครอบครัวของภรรยา โดยทำหน้าที่ประกอบอาชีพส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัวแต่ไม่มีสิทธิ์ในการถือครองมรดกใดๆ 

ภายหลังการเข้ามาของโปรตุเกสในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16 อิทธิพลของอิสลามได้เริ่มแพร่ขยายสู่ชนพื้นเมืองผ่านทางพ่อค้ามุสลิมที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย ไม่นานนักเผ่ามินังกาเบาก็เริ่มเปิดรับและพยายามนำเอาหลักปฏิบัติทางศาสนามารวมเข้ากับประเพณีดั้งเดิม อิสลามทำให้ผู้ชายมีบทบาททางสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทการเป็นผู้นำทางศาสนา 

(Photo : www.wikimedia.org)

ชายชาวมินังกาเบาต้องออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 13 ปี เพื่อไปอยู่สุเหร่า ศึกษาร่ำเรียนอัลกุรอ่านและยืนหยัดให้ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง บางคนกลายเป็นครูสอนศาสนาหรือเป็นอิหม่าม พื้นที่ในชีวิตส่วนใหญ่ของผู้ชายคือการอุทิศตนให้แก่อัลลอฮ์ และเมื่อชายหญิงแต่งงานกัน พวกเขาก็มีแนวทางการปฏิบัติตามหลักสามีภรรยาของศาสนาอิสลาม แต่ก็ก็ไม่ได้ละทิ้งจารีตประเพณีของชนเผ่า 

เพราะชาวมินังกาเบาเชื่อว่าศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของพวกเขาไม่ได้ขัดแย้งกัน ทั้งยังเกิดการหลอมรวมอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงมีคำกล่าวที่ว่า “อาดัตอยู่บนพื้นฐานของศาสนา และศาสนาอยู่บนพื้นฐานของอาดัต” แม้จะรับเอาศาสนาอิสลามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิต แต่การให้ความสำคัญแก่เพศหญิงก็ไม่ได้ลดหย่อนลง กลายเป็นว่าทั้งหญิงและชายมีอำนาจและความรับผิดชอบร่วมกันในรูปแบบของการพึ่งพาอาศัย ฝ่ายหญิงเป็นผู้กุมอำนาจการตัดสินใจภายในบ้านขณะที่ฝ่ายชายรับบทบาทเป็นหัวหน้าและตัวแทนของครอบครัว 

ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าต่อศาสนาและจารีตเดิม ชาวมินังกาเบาส่วนใหญ่จึงไม่นิยมแต่งงานกับคนนอกเผ่าหรือนอกศาสนา แม้ไม่ได้มีกฎหรือข้อบังคับชัดเจนแต่ทุกคนรับรู้ร่วมกันว่าเมื่อเลือกแต่งงานกับคนภายนอกหมายถึงการยินยอมที่จะถูกตัดจากกองมรดก หรืออาจต้องออกจากหมู่บ้าน ร้ายแรงที่สุดคือการถือว่าคนคนนั้นไม่ใช่ชาวมินังกาเบาอีกต่อไป เว้นเสียแต่ว่าคู่ครองของพวกเขาเต็มใจที่จะศึกษาเรียนรู้หลักศาสนาอิสลามและประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นชาวมินังกาเบาก็พร้อมจะเปิดรับบุคคลแปลกหน้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาด้วยความเต็มใจ 

บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน (Photo : wikimedia.org)

อาจกล่าวได้ว่ามินังกาเบาเป็นชนเผ่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและยึดมั่นในประเพณีแต่ก็ไม่ใช่สังคมที่ปิดกั้น เห็นได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายนอกเรื่อยมา ทั้งยังสามารถปรับตัวตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย พวกเขาผสมผสานวัฒนธรรมที่รับอิทธิพลมาจากคนกลุ่มอื่นเข้ากับเผ่าของตน โดยเฉพาะศาสนาอิสลามอันเป็นความแตกต่างที่สามารถหลอมรวมเข้าเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของมินังกาเบาได้ 

ศาสนาอิสลามมักถูกมองว่ากดขี่ลิดรอนสิทธิสตรีและให้ความสำคัญกับชายเป็นใหญ่ แต่ชุมชนมินังกาเบาในฐานะชาวมุสลิมที่ศรัทธาศาสนากลับยกย่องให้ผู้หญิงมีบทบาทอำนาจทั้งเรื่องในบ้านและนอกบ้าน ซึ่งเป็นการนำเสนอภาพของสตรีชาวมุสลิมที่แตกต่างออกไป 

อำนาจในการตัดสินใจเกือบทุกเรื่องมักตั้งอยู่บนความเห็นชอบของฝ่ายหญิง หากมีการประชุมปรึกษาหารือกันในครอบครัว ผู้หญิงจะได้สิทธิ์เป็นผู้ตัดสินใจว่าผลสรุปสุดท้ายจะเป็นไปในทิศทางใด 

มากัน บาแจมบา (Makan Bajamba) ชายชาวมินังกาเบาได้ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ Spirit of Asia ตอนเสียงผู้หญิงแห่งมินังกาเบา ใจความว่า “ความเป็นอยู่ของคนที่นี่คล้ายชีวิตของไก่ เพราะลูกเจี๊ยบจะเดินตามแม่ไก่ ไม่ใช่พ่อไก่ เช่นเดียวกับพวกเราที่มีความเชื่อว่าสวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าแม่ ไม่ใช่พ่อ 

(Photo : https://mariahaas.at/projects/the-minangkabau)

ทว่าเมื่อถามถึงความรู้สึกของการเป็นผู้นำจากสตรีชาวมินังกาเบา ส่วนใหญ่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเธอไม่ได้รู้สึกมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายชาย ไม่ว่าอย่างไรผู้ชายยังคงเป็นเสาหลักของครอบครัวที่ต้องคล้อยตามและคอยให้ความสนับสนุน แต่อย่างน้อยพวกเธอก็รู้สึกดีใจที่บรรพบุรุษได้ฝากฝังจารีตประเพณีนี้ไว้ เพื่อให้ผู้สืบทอดมรดกทางฝ่ายหญิงได้มีทรัพย์สมบัติติดตัว ได้รับความเคารพและให้เกียรติในศักดิ์ศรีความเป็นเพศแม่ ผู้ให้กำเนิดทายาทของเผ่าพันธุ์ 

ปัจจุบันชีวิตผู้หญิงไม่ได้ผูกติดอยู่กับงานบ้านงานเรือน ทั้งยังมีภาระหน้าที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้ชาย แต่เพศหญิงยังไม่พ้นการถูกกดทับด้วยสังคมปิตาธิปไตย เพียงแค่เกิดเป็นหญิงก็ถูกมองว่าอ่อนแอ ต้องพึ่งพาผู้ชาย ต้องแต่งงานจึงจะถือว่าชีวิตประสบความสำเร็จ โดนคาดหวังให้เป็นช้างเท้าหลัง ให้รักนวลสงวนตัว แต่งกายสุภาพเรียบร้อย บ่อยครั้งการถูกล่วงละเมิดทางเพศกลับกลายเป็นความผิดของฝ่ายหญิง ทั้งที่ทุกคนควรมีสิทธิในร่างกายและการเลือกใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง โดยไม่กดขี่ข่มเหงลิดรอนคนอื่น 

วัฒนธรรมการสืบเชื้อสายทางมารดาของชาวมินังกาเบาจึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนด้านการให้ความสำคัญกับผู้หญิงซึ่งควรจะมีในทุกสังคม ทุกเพศควรได้รับความเคารพและให้เกียรติในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ควรมีเพศใดอยู่เหนือกว่าหรือถูกกดให้ต่ำกว่า เพราะทุกคนมีบทบาทหน้าที่และสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในทุกเผ่าพันธุ์

อ้างอิง 

  • Chinami Shibata. THE SOCIAL WORLD OF MINANGKABAU IN WEST SUMATRA: A HISTORICAL ANALYSIShttps://bit.ly/30cYLmO 
  • Sadiq BhanbhroIndonesia’s Minangkabau culture promotes empowered Muslim womenhttps://bit.ly/3sOj1HG 
  • Thai PBS. Spirit of Asia: เสียงผู้หญิงแห่งมินังกาเบาhttps://bit.ly/3reGhOE