©ulture

“นิมมานเหมินท์” หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเชียงใหม่ ถนนสายสำคัญที่เติบโตเป็นย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจ (Central Business District – CBD) ภายในเวลาเพียงสิบกว่าปี

จากถนนตัดผ่านที่ดินเปล่าที่ถูกดัดแปลงเป็นหมู่บ้านจัดสรร ไม่มีชุมชนเก่าแก่ หรือเรื่องราวทางวัฒนธรรมที่ชวนให้คนเข้าไปทำความรู้จัก

ถนนนิมมานฯ กลับเติบโตเป็นย่านทำเลทองด้านธุรกิจที่มีราคาเริ่มต้นสูงถึงตารางวาละ 150,000 บาทได้อย่างไร?

ถนนนิมมานฯ มาจากไหน

ถนนนิมมานเหมินท์ เป็นถนนที่ตัดผ่านที่ดินของตระกูลนิมมานเหมินท์ ภายหลังที่นายกี และนางกิมฮ้อ ได้บริจาคพื้นที่บางส่วนเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันนิมมานฯ เป็นทางผ่านคอคอดจากถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ลำปาง–เชียงใหม่ มุ่งไปยังกองบิน 41 (ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่) ด้วยระยะทางเพียง 1.3 กม. เท่านั้น

แม้กายภาพโดยรอบจะไม่เอื้อต่อการเป็นย่านท่องเที่ยวมากนัก แต่ด้วยเนื้อเมืองแบบตาราง (grid planning) ที่หลงเหลือจากโครงสร้างบ้านจัดสรร ซึ่งเอื้อต่อการซื้อขายที่ดินและการสร้างวัฒนธรรมบนถนน (street culture) ด้วยการตัดถนนเป็นเส้นสั้นๆ ทำให้เดินถึงกันได้แม้อยู่คนละซอย เกิดโครงข่ายชุมชนและหนุนให้เกิดวัฒนธรรมเล็กๆ กระจายเต็มไปหมด

โครงสร้างเมืองเสริมความเป็นย่าน

อ.จิรันธนิน กิติกา ผู้ศึกษาโครงข่ายชุมชน (community network) ของย่านนิมมานเหมินท์บนกายภาพโครงสร้างเมืองสมัยใหม่ (Modern City Planning)  พบว่าสิ่งที่ทำให้นิมมานฯ เป็นนิมมานฯ คือ ชุมชนของคนที่มีความสนใจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนงานอาร์ตและแกลเลอรี่ ร้านกาแฟ สถานบันเทิง ร้านค้า รวมไปถึงที่พักและโรงแรม

จิรันธนิน กิติกา
อ.จิรันธนิน กิติกา

“นิมมานฯ มันดันเกิดเพราะว่าภูมิศาสตร์ของพื้นที่ เกิด street culture คือเกิดการเดิน การปรากฏตัว และยิ่งกว่านั้นคือ มันมีรากของ Art & Design สิ่งที่ทำให้เกิดนิมมาน แบบเข้าถึงแก่นคือ ซอย 1”

นอกจากนี้ อ.จิรันธนิน ยังเล่าถึงการเติบโตของย่านนิมมานผ่านมุมมองของคนท้องถิ่นที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงระดับชุมชน

ซอย 1 จุดระเบิดความเป็นนิมมานฯ จากงานศิลปะ

สิ่งที่ทำให้หลายคนนึกถึงเมื่อมาเยือนนิมมานฯ คือย่านศิลปะ ซอย 1 ที่ซอยนี้มีการรวมตัวของคนรักศิลปะที่ปรับพื้นที่หน้าบ้านให้เป็น home studio มีแกลเลอรี่ศิลปะและงาน Art Design ทั้งกองดี แมวใจดี จนเกิดเป็นชุมชน Art & Design

แต่ด้วยพิษเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ทำให้กลุ่มศิลปินในซอย 1 ต้องหาพื้นที่เพื่อจัดแสดงและจำหน่ายงานศิลปะ จึงเกิดงาน นิมมาน ซอย 1 เฟสติวัล ขึ้นในปี 2542 ต่อมากลายเป็น NAP งานของคนรักศิลปะและงานคราฟต์ที่จัดขึ้นทุกปี

นอกจากนี้ เหล่าศิลปินยังเปิด “ร้านกาแฟ” ในซอย 1 เพื่อหารายได้เป็นค่าเช่าแกลเลอรี่ จนกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ พร้อมทั้งเปิดให้คนภายนอกได้เข้ามาเสพงานศิลป์ไปในตัว

พลวัตย่านร้านกาแฟไม่หยุดเพียงแค่นี้ เมื่อ วาวี คอฟฟี่ เข้ามามีบทบาททำให้ ‘นิมมานฯ ซอย 9’ มีภาพของย่านกาแฟชัดเจนกว่าที่อื่น ด้วยร้านกาแฟที่ยังคงสภาพของบ้านเดี่ยวในซอยเล็ก กลายเป็นภาพโทนอุ่นที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของกาแฟและงานศิลปะ

จากเทรนด์ฮิตเมื่อ 20 ปีก่อน ความนิยมสร้างย่านเศรษฐกิจด้วยศูนย์การค้า (community mall) ที่รวบรวมร้านต่างๆ ไว้ในพื้นที่เดียวกัน ก่อนหน้านี้จึงมี พรอเมนาด ตรงปากซอย 4 และ Tall Teak พลาซ่า บริเวณปากซอย 9 ที่มี วาวี คอฟฟี่ และสตาร์บัคส์ คอฟฟี่ เป็นส่วนหนึ่ง

จากนั้นสีสันของนิมมานฯ ค่อยๆ ฉูดฉาดขึ้น เมื่อมีสถานบันเทิงชื่อดังฝั่งแม่น้ำปิงย้ายมาตั้งบนถนนนิมมานฯ ตรงข้ามกับโรงเรียนอนุบาลสวนน้อย การมาเยือนของ Warm Up Café ยิ่งเสริมภาพของย่านแหล่งท่องเที่ยวให้แข็งแกร่งมากขึ้น ภาพรวมของนิมมานฯ ตอนนี้จึงมีหลายภาพทับซ้อนกัน

ซึ่งพลวัตทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่ถูกกระตุ้นด้วยหลายปัจจัยในเวลาไล่เลี่ยกัน

ธุรกิจที่เกิดจากวัฒนธรรมกินข้าวนอกบ้านและนักท่องเที่ยวจีน

อ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อธิบายถึงความเชื่อมโยงของวิวัฒนาการย่านนิมมานฯ เมื่อการกินข้าวนอกบ้านกลายเป็นเรื่องธรรมดาของคนในยุคช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

อรรถจักร สัตยานุรักษ์
อ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์

แม้การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยระดับภูมิภาคจะช่วยให้ชุมชนขยับขยายไปตั้งรกรากละแวกป่าตีนดอยสุเทพมากขึ้น แต่การเติบโตของนิมมานฯ จะเห็นได้ชัดหลังช่วงปี 2530

ร้านค้าและร้านอาหารเริ่มขยับมามีหน้าร้านมากขึ้นเพื่อรองรับรสนิยมการเที่ยวของนักศึกษา ประจวบเหมาะกับกระแสการท่องเที่ยวที่มาแรง การไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนอย่างไม่ขาดสาย

สิ่งเหล่านี้ช่วยผลักดันพลวัตของการเป็นย่านเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปอย่างก้าวกระโดด ธุรกิจต่างๆ ไหลเวียนมาและจากไป จนได้รับฉายา เชียงใหม่เป็นเมืองปราบเซียน

อนาคตของนิมมานฯ สายน้ำที่ไม่หวนกลับ

“หากคาดการณ์ในแง่บวก ถ้าอีกสักพักมันแน่นเกินไป เขาจะย้ายออกไปเอง” ดร. อรรถจักร์ พูดถึงภาพรวมของนิมมานเหมินท์ในอนาคต ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับที่ อ.จิรันธนิน คาดการณ์ไว้ว่านิมมานฯ จะอัดแน่นไปด้วยภาพของผู้ประกอบการที่มีมากเกิน

หนึ่งในปัญหาที่นิมมานฯ กำลังเผชิญอยู่ คือ Sense of Place หรือ การสำนึกรู้ในถิ่นที่ ค่อยๆ หายไป ด้วยร้านค้ารวมถึงที่พักอาศัยเป็นของคนนอกพื้นที่เสียส่วนใหญ่ ผู้ผลิตภาพของนิมมานฯ ในตอนนี้จึงไม่ใช่ผู้รังสรรค์ศิลปะเหมือนแต่ก่อน กลายเป็นนิมมานฯ ที่มีผู้หยิบยืมภาพต่างๆ มาแปะไว้ภายใต้ชื่อของศิลปะ

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการเข้ามาใหม่ของสิ่งต่างๆ คือหนทางของความเลวร้ายเสมอไป อ.จิรันธนิน มองว่าการเข้ามาใหม่ของร้านค้าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน

“เราไม่อยากมองว่า ใหม่คือผู้ร้าย เก่าคือพระเอก เก่าต่างหากที่ไม่รักษาแล้วออกไป”

ในทางตรงกันข้าม เมื่อพื้นที่เชิงพาณิชย์มากขึ้น กายภาพของการเป็นที่อยู่อาศัยลดลง การใช้ชีวิตโดยไร้ความสงบคงมีน้ำหนักมากพอที่ทำให้หลายคนย้ายออกจากพื้นที่ ทั้งขายที่ ให้เช่า หรือเปิดกิจการเอง

การเป็นชุมชนคนอยู่อาศัยหายไปนานแล้ว จึงไม่เกิดภาพการดัดแปลงบ้านให้เป็นร้านเหมือนเมื่อก่อน

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่จึงมีความสำคัญต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและการบำรุงรักษาอัตลักษณ์ของสถานที่แห่งนั้นไว้

นิมมานฯ วันนี้เหมือนสายน้ำที่ไหลผ่านกาลเวลาและยุคสมัย ไม่สามารถกลับไปสู่รากเหง้าเดิมที่มีเพียงภาพแห่งศิลปะได้ เพียงแต่ต้องการความเป็นระเบียบเพื่อรักษาจิตวิญญาณของศิลปิน ที่ทำให้นิมมานเหมินท์ยังเป็นที่กล่าวขาน

เมื่อมาเยือนถนนสายนี้.

*สนับสนุนการเดินทางโดย สายการบินไทยแอร์เอเชีย บินตรงสู่เชียงใหม่ทุกวัน ตรวจสอบเที่ยวบินและจองตั๋วเครื่องบินได้ที่ www.airasia.com

อ้างอิง:

  • พ.ต.อ.อนุ เนินหาด. ย่านนิมมานเหมินท์. สังคมเมืองเชียงใหม่เล่ม 37