7-14 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของหลายวงการทั่วโลก
เพราะเป็นวันประกาศรางวัลโนเบลประจำปี 2019
สำหรับผู้ที่ได้รางวัลในระดับนานาชาตินี้ เรื่องราวของเขาหรือเธอจะถูกบันทึกไว้ใน พิพิธภัณฑ์รางวัลโนเบล (Nobel Prize Museum) ซึ่งถูกสร้างขึ้นในปี 2001 ณ ย่านใจกลางเมืองเก่า แกมล่า สแตน (Gamla Stan) ในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน
นอกจากเรื่องราวของผู้ชนะรางวัลโนเบลในทุกสาขา ที่นี่ยังจัดแสดงประวัติและบอกเล่าชีวิตของ อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) ผู้ผลิตอาวุธและผู้คิดค้นดินระเบิดไดนาไมท์ ที่สร้างคุณูปการใหญ่ก่อนเสียชีวิต ด้วยการทำพินัยกรรมมอบทรัพย์สินจำนวนมหาศาลให้จัดตั้งรางวัลโนเบล แก่ผู้สร้างประโยชน์ให้โลกโดยไม่เลือกสัญชาติ
common ชวนไปสำรวจพิพิธภัณฑ์ที่บันทึกเรื่องราวและเรื่องเล่าของบุคคลสำคัญที่สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนโลกใบนี้
พิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่อัดแน่นไปเรื่องราวความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
พิพิธภัณฑ์รางวัลโนเบลตั้งอยู่ใจกลางจตุรัสสตอร์ตอร์เกท์ (Stortorget) ในอาคารที่เคยเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี
มิวเซียมแห่งนี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่อัดแน่นไปด้วยนิทรรศการที่เล่าเรื่องความยิ่งใหญ่ของ
การค้นคว้า ค้นพบ และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้สังคมโลก
ถึงแม้ว่ารางวัลโนเบลจะเน้นหัวข้อที่ดูเหมือนเป็นเรื่องหนักๆ แต่ที่นี่ไม่ได้ถูกยัดเยียดด้วยเนื้อหาทางวิชาการ
ในทางตรงกันข้าม ทีมผู้จัดทำนิทรรศการใช้วิธีเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมให้ผู้คนทั่วไปได้รับรู้ ด้วยเนื้อหาที่ย่อยง่ายและเลือกใช้วิธีการบอกเล่าที่น่าสนใจ ภายใต้คำถามที่ว่า
“อะไรคือหัวใจสำคัญของกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ ความฉลาดส่วนบุคคล หรือสภาพแวดล้อม”
ในส่วนของนิทรรศการที่เชิดชูผู้ได้รับรางวัลโนเบลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จึงไม่ได้พูดถึงเพียงความสำเร็จหรือตัวรางวัลที่พวกเขาได้รับ
แต่เน้นเล่าถึงแรงบันดาลใจ หรือแม้แต่อุปกรณ์ ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งของสำคัญที่มีส่วนทำให้พวกเขาสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่
คิม แด-จุง อดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ผู้ได้ฉายาว่าเนลสัน แมนเดลา แห่งเอเชีย ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 2000 เขาเขียนจดหมายเหล่านี้ถึงภรรยาของเขา ขณะถูกกักขังอยู่ในคุก และภรรยาของเขาถักรองเท้าสีแดงคู่นี้ให้ เพื่อให้ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นในช่วงหน้าหนาวที่เขายังต้องอยู่ในคุก
โวเล่ ซอยยินกา นักเขียนชาวไนจีเรียน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ปี 1986 เขาสวมใส่หมวกพวกนี้ เพื่อซ่อนผมอันหนาและฟู ซึ่งโดดเด่นเตะตา โดยเฉพาะในช่วงที่เขากำลังหนีจากการปกครอบระบอบทหารในไนจีเรีย
ราล์ฟ สไตน์แมน นักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ปี 2011 ค้นพบเซลล์ภูมิคุ้มกันที่เป็นกุญแจสำคัญของระบบภูมิคุ้มกันทั้งหมดของร่างกายมนุษย์ โดยใช้กล้องจุลทรรศน์ตัวนี้ในการทำงานศึกษาค้นคว้า
โตชิฮิเดะ มัสกาวา นักฟิสิกส์ชาวญี่ปุ่น ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปี 2008 จากการค้นพบต้นกำเนิดการทำลายสมมาตรที่เกิดขึ้นเอง เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในคณิตศาสตร์และการคำนวณ ซึ่งเป็นพื้นฐานของฟิสิกส์ และนี่คือเครื่องคิดเลขแบบแอนาล็อกที่เขาใช้สมัยเรียนชั้นม.ปลาย
นี่คือส่วนหนึ่งที่เหล่าบุคคลสำคัญมอบให้แก่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งรวบรวมมาจัดแสดงเพื่อให้ทุกคนเห็นถึงความคิด ชีวิต และจิตวิญญาณที่แท้จริงของเหล่าผู้กล้าเปลี่ยนแปลงโลก
รู้จัก ‘อัลเฟรด โนเบล’ พ่อค้าความตาย ผู้ให้กำเนิดรางวัลเกียรติยศสูงสุดแด่มนุษยชาติ
เมื่อก้าวเข้ามายังพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แนะนำให้ทำความรู้สึกชีวิตและความคิดของ อัลเฟรด โนเบล ผ่านนิทรรศการในห้องส่วนตัวที่อุทิศสร้างให้เขาโดยเฉพาะ
ในห้องนี้ ทุกคนจะได้ทำความรู้จักโนเบลในวัยเด็กและในฐานะผู้คิดค้นระเบิดไดนาไมต์ รวมทั้งเส้นทางชีวิตและความมุ่งมั่นในการสร้างรางวัลโนเบลขึ้นมา
“พ่อค้าความตายจากไปแล้ว”
วันหนึ่งโนเบลอ่านพบข้อความดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ ทั้งที่ความจริงผู้ตายคือน้องชายของเขา ดูเหมือนว่าการคิดค้นระเบิดไดนาไมต์ที่สร้างรายได้ให้เขาอย่างมหาศาล จะคร่าชีวิตผู้คน ทำร้ายสังคมและโลกใบนี้ จนผู้คนต่างยินดีเมื่อเขาจากไป
โนเบลตระหนักถึงสิ่งที่ผ่านมา และไม่อยากถูกจดจำในฐานะดังกล่าว เขาจึงตัดสินใจทำพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติส่วนตัวและเงินที่ได้จากระเบิดไดนาไมต์ จัดตั้งมูลนิธิ Nobel Foundation เพื่อทิ้งสิ่งที่ดีกว่าให้โลกใบนี้
นี่คือที่มาของรางวัลโนเบล รางวัลอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ
เมื่อเข้าใจ เข้าถึง และอิ่มเอมกับแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งเปลี่ยนโลกของเหล่าบุคคลสำคัญแล้ว
อย่าเพิ่งรีบเดินจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แนะนำให้แวะร้านขายของที่ระลึกที่เปิดหูเปิดตาไม่แพ้ตัวนิทรรศการ
และชวนนั่งพักเอนกายที่ Bistro Nobel ที่เสิร์ฟอาหาร ของหวาน และเครื่องดื่ม ไม่อยากให้พลาดไอศกรีม Nobel เฉพาะที่หาทานได้เฉพาะที่นี่ รวมทั้งชาสูตรลับที่ถูกเสิร์ฟในงานรับรางวัลโนเบลทุกปีด้วย
พิพิธภัณฑ์รางวัลโนเบล
ที่ตั้ง : จตุรัสสตอร์ตอร์เกท์ (Stortorget) กรุงสต็อกโฮมล์
เวลาเปิด-ปิด : ทุกวันอังคารถึงวันพฤหัส เวลา 11:00-17:00 น. วันศุกร์ 11:00-20:00 น. และวันเสาร์ถึงอาทิตย์ เวลา 10:00-18:00 น.
เว็บไซต์: https://www.nobelprize.org/about/nobel-museum
อ้างอิง:
- Nobel Museum.About.https://www.nobelprize.org/about/nobel-museum
- Wikipedia.Nobel Museum.https://en.wikipedia.org/wiki/Nobel_Prize_Museum