“ในชนบทหนังกลางแปลงคือกิจกรรมรื่นเริง ที่คนในชุมชนจะได้มาพบปะพูดคุยกัน คล้ายเป็นการสังสรรค์กันในหมู่ชาวบ้าน”
โฆษกประกาศเสียงตามสายผ่านลำโพงตัวใหญ่ เชิญชวนคนที่เดินผ่านไปมาแถวนั้นเข้ามานั่งชมหนังกลางแปลง
จากนั้นไม่กี่นาที จอผ้าใบสีขาวขนาดยาวกว่า 10 เมตร ก็ถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เมื่อ ‘เครื่องฉายเตาถ่าน’ หรือเครื่องฉายฟิล์มขนาด 35 มม. ฉายแสงมาฉาบทาบนผ้าใบ
ความบันเทิงของค่ำคืนนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ว…
“ผมหลงในความคลาสสิคของมัน และผมพยายามที่จะอนุรักษ์มันไว้” พี่ศักดิ์ คนฉายหนังกลางแปลงที่คลุกคลีกับเครื่องฉายหนังตั้งแต่อายุ 8 ขวบ บอกเล่าความรู้สึกในวันที่ผู้คนหันมาดูหนังผ่านโทรศัพท์ เพียงปลายนิ้วสัมผัส
สถานการณ์หนังกลางแปลงวันนี้ต่างจากเมื่อหลายสิบปีก่อน จากจุดเริ่มต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการนำภาพยนตร์มาฉายครั้งแรกในสยาม โดยคณะละครเร่ชาวฝรั่ง แต่เมื่อการชมภาพยนตร์ได้รับความนิยม บวกกับข้อจำกัดที่ต้องฉายในสถานที่ปิด จึงทำให้คณะละครเร่เริ่มปรับตัวเพื่อเข้าหามวลชน โดยดัดแปลงมาเป็นการฉายหนังบนลานกลางแจ้งในเวลากลางคืน
นี่คือจุดเริ่มต้นของ ‘หนังกลางแปลง’ ความบันเทิงรุ่นเก่าที่กำลังจัดฉายในคืนนี้
คืนที่ลมพัดโชยแผ่วเย็นสบายพอไล่ยุงที่จ้องจะมากัดอยู่เป็นระยะๆ แม่ลูกที่นั่งอยู่ใกล้ต่างเขยิบที่นั่งข้างๆ ให้ว่างพอจะต้อนรับผู้มาใหม่ แม้การนั่งดูหนังกลางแปลงจะไม่ได้สะดวกสบายเท่าการนั่งดูในโรงหนัง แต่มันก็มีความหมายต่อหัวใจที่ถวิลหาบรรยากาศเก่าๆ ในอดีต