©ulture

เมื่อเอ่ยถึงการเดินธุดงค์ คนไทยอย่างเรามักนึกถึงภาพของพระภิกษุแบกกลดออกเดินจาริกไปตามป่าเขา เพื่อแสวงหาความสงบในการปฏิบัติธรรม

แต่สำหรับในประเทศอินเดียนั้น การเดินธุดงค์หรือเรียกอีกอย่างว่า ยาตรา คือวัตรปฏิบัติของฮินดูชนคนธรรมดาผู้เปี่ยมด้วยศรัทธาในพระเจ้า (โดยเฉพาะมหาเทพอย่างพระศิวะ) ที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน

โดยเฉพาะในรัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ทางตอนเหนือของอินเดีย ที่ได้รับสมญาว่า เทวภูมิ หรือดินแดนแห่งเทพเจ้า เพราะเป็นรัฐที่เต็มไปด้วยหุบเขาน้อยใหญ่อันเป็นที่ตั้งของมณเฑียรและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากมาย รวมถึงเส้นทางยาตราเพื่อใกล้ชิดองค์ศิวะมหาเทพที่มีให้ผู้แสวงบุญเลือกออกเดินเท้าเพื่อสักการะได้ตามศรัทธา

หนึ่งในเส้นทางยาตราเก่าแก่ที่มีรอยเท้าของฮินดูชนก้าวย่ำไปเยือนสืบเนื่องยาวนานหลายศตวรรษ ได้แก่ Panch Kedar หรือ ปัญจเกทารนาถมณเฑียร อันเป็นชื่อเรียกกลุ่มของวัดฮินดู 5 แห่งที่เป็นที่ประดิษฐานส่วนสำคัญของพระศิวะ 5 ส่วน โดย Panch แปลว่า ห้า และ Kedar คืออีกชื่อหนึ่งของพระศิวะนั่นเอง 

วัดทั้ง 5 แห่งใน ‘ปัญจเคดาร์’ ตั้งอยู่บน 5 ยอดเขาในแถบคฤหวาล (Garhwal) ซึ่งสามารถเดินเท้าเพื่อทยอยสักการะให้ครบทั้งห้าแห่งได้โดยใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ ระยะทางประมาณ 170 กิโลเมตร (รวมเส้นทางที่ต้องโดยสารรถเพื่อไปยังจุดเริ่มต้นออกเดินยาตราบางแห่ง) ซึ่งก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าต้องเดินให้ครบทุกแห่งในครั้งเดียวถึงจะได้อานิสงส์แรงกล้าแต่อย่างใด ดังนั้น การเลือกเส้นทางยาตราเพียงบางแห่งจึงสามารถทำได้โดยสมัครใจ

อีกทั้งชาวฮินดูไม่ได้ห้ามคนต่างศาสนาออกเดินยาตรา ดังนั้น นักท่องเที่ยวจึงสามารถใช้เส้นทางแสวงบุญดังกล่าวได้เช่นกัน ใครศรัทธาในมหาเทพก็สามารถเดินภาวนาไปตามเส้นทางเหมือนชาวฮินดูได้ หรือใครมีเป้าหมายในการเดินสำรวจป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์แถบอุตตราขัณฑ์บนเส้นทางแห่งศรัทธาอันเก่าแก่ของชาวภารัต ก็สามารถทำได้เช่นกัน

Panch Kedar
ขุนเขาสลับซับซ้อนแห่งคฤหวาล
Photo: mowgli1854

 

เปิดตำนาน ‘ปัญจเกทารนาถมณเฑียร’

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า Panch Kedar หรือ ปัญจเกทารนาถมณเฑียร คือกลุ่มของวัดฮินดู 5 แห่ง ที่เป็นที่ประดิษฐานส่วนสำคัญของพระศิวะ 5 ส่วน โดยทุกวัดล้วนตั้งอยู่บนยอดเขาสูง แต่ละวัดมีชื่อดังต่อไปนี้

  • วัดเกดารนาถ (Kedarnath) ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 3,584 เมตร
  • วัดมัธยมเหศวร (Madmaheshwar) ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 3,490 เมตร 
  • วัดตุงนาถ (Tungnath) ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 3,680 เมตร 
  • วัดรุทรนาถ (Rudranath) ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 2,286 เมตร
  • วัดกัลเปศวร (Kalpeshwar) ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 2,134 เมตร 

สำหรับตำนานแห่งการก่อกำเนิดวัดพระศิวะทั้งห้าแห่งนั้นผูกโยงกับเรื่องราวของมหาภารตะ โดยอ้างถึงเหตุการณ์หลังเสร็จสิ้นศึกคุรุเกษตรที่ห้าพี่น้องปาณฑพคร่าชีวิตญาติฝ่ายเการพไปมากมายจนพวกเขารู้สึกผิดบาป และต้องการลบล้างความรู้สึกนั้นด้วยการขอพรจากพระศิวะ พี่น้องปาณฑพจึงพากันเดินทางไปยังวาราณสี เพื่อเข้าพบพระศิวะซึ่งประทับอยู่ที่นั่น

Panch Kedar
เจดีย์ 5 องค์ตัวแทน 5 พี่น้องปาณฑพที่วัดตุงนาถ
Photo: mowgli1854

แต่องค์มหาเทพไม่สบอารมณ์การเข่นฆ่าครั้งนี้เป็นอย่างมาก จึงหลบลี้หนีหน้าพี่น้องปาณฑพด้วยการจำแลงกายเป็นวัว แล้วไปซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาแถบคฤหวาล ครั้นพี่น้องปาณฑพเดินทางไปถึงวาราณสี แล้วไม่พบพระศิวะจึงออกเดินทางต่อไปยังคฤหวาล โดยภีมะ ผู้เก่งกาจและมากด้วยสรรพกำลังที่สุดในบรรดาพี่น้อง ใช้วิธียืนคร่อมบนภูเขาสองลูกเพื่อมองหาพระศิวะ กระทั่งเขาสังเกตเห็นวัวตัวหนึ่งกำลังเล็มหญ้าอยู่ และมั่นใจว่านี่คือองค์มหาเทพจำแลงกาย ฉับพลันนั้นเอง ภีมะจึงจับขาหลังและหางของวัวตัวนั้นทันที

ทันใดนั้น พระศิวะในร่างของวัวก็หายวับลงไปในผืนดิน และอวัยวะแต่ละส่วนก็กระจัดกระจายแยกไปปรากฏตามยอดเขาต่างๆ โดยส่วนหนอก (หรือหัวไหล่) ปรากฏขึ้นที่เกดารนาถ แขนปรากฏขึ้นที่ตุงนาถ ใบหน้าปรากฏขึ้นที่รุทรนาถ ตำแหน่งของสะดือหรือศิวลึงค์ปรากฏขึ้นที่มัธยมเหศวร และเส้นผมปรากฏขึ้นที่กัลเปศวร 

เพื่อเป็นการแสดงความเคารพสูงสุดแด่องค์ศิวะ พี่น้องปาณฑพจึงสร้างวัดขึ้น ณ ทุกจุดที่ปรากฏส่วนสำคัญของพระศิวะทั้ง 5 แห่งขึ้น และเมื่อเสร็จสิ้นการสร้างวัด พี่น้องปาณฑพได้บำเพ็ญเพียรเพ่งกสิณบูชาไฟ ณ วัดเกดารนาถ กระทั่งสามารถล้างบาปสำเร็จ และได้ขึ้นสวรรค์ในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ต้องการแสวงบุญบนเส้นทางสายปัญจเคดาร์จึงมักเริ่มต้นที่ วัดเกดารนาถ เป็นอันดับแรก เพราะเป็นจุดที่เชื่อว่าเชื่อมต่อกับสรวงสวรรค์เหมือนอย่างที่พี่น้องปาณฑพบำเพ็ญภาวนาจนสำเร็จมาแล้ว ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนมาเยือนวัดเกดารนาถเนืองแน่นอยู่เสมอ วัดนี้จึงเป็นวัดที่คนไทยผู้ศรัทธาองค์ศิวะมหาเทพคุ้นหูและคุ้นเคยมากที่สุดอีกด้วย

Panch Kedar
ตุงนาถ วัดฮินดีที่อยู่สูงที่สุดในโลก
Photo: mowgli1854

ด้วยความที่เป็นเส้นทางแสวงบุญสำหรับมหาชน ปัจจุบัน จึงมีทางลัดสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกจะยาตราด้วยกำลังขาของตนเอง เพราะจากจุดเริ่มต้นที่ กอรีคุนด์ (Gaurikhund) ไปจนถึงตัววัดกินระยะทางราว 14 กิโลเมตร ทำให้มีบริการม้าให้เช่า ไปจนถึงเฮลิคอปเตอร์รับส่งจากตีนเขาสู่ยอดเขาแบบม้วนเดียวจบ 

สำหรับ วัดตุงนาถ นั้นถือเป็นวัดพระศิวะที่อยู่สูงที่สุดในโลก แต่การเดินเท้าไปให้ถึงตัววัดกลับไม่ยากลำบากนัก เพราะเป็นเส้นทางยาตราเพียง 4 กิโลเมตร จึงเป็นอีกเส้นทางที่เนืองแน่นด้วยฮินดูชนเช่นกัน ในขณะที่ วัดรุทรนาถ จัดว่าเส้นทางโหดหินที่สุด เพราะเป็นการเดินขึ้นเขาสูงชันเกือบตลอดทาง 

วัดมัธยมเหศวร ถือเป็นองค์ประธานของมณเฑียรทั้ง 5 แห่ง เพราะเป็นจุดที่ตั้งของศิวลึงค์ (มัธย แปลว่า กลาง หมายถึง สะดือ หรือนภี ในที่นี้สื่อถึงศิวลึงค์ และมเหศวร หมายถึง พระศิวะ) และด้วยระยะทางยาวที่ต้องเดินเท้ายาวไกลราว 24 โลเมตร อีกทั้งไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากเท่าเส้นทางเกดารนาถ ทำให้การยาตราบนถนนสายบุญเส้นนี้มีผู้คนบางตา

Panch Kedar
มัธยมเหศวร มณเฑียรประธานแห่งปัญจเกทารนาถ
Photo: mowgli1854

ทั้ง 4 วัดที่กล่าวมาข้างต้นไม่อนุญาตให้เดินทางไปสักการะในช่วงเดือนที่หนาวจัด เพราะหิมะจะตกทับถมหนาจนเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง จะมีก็แต่ วัดกาลเปศวร เพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่สามารถเดินทางไปสักการะได้ตลอดปี 

ด้วยความที่วัดศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 5 แห่งล้วนตั้งอยู่บนยอดเขาสูงอันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกสักการะพระศิวะที่วัดไหน รอบกายก็จะถูกแวดล้อมด้วยทิวทัศน์งดงามชวนตะลึงของขุนเขาน้อยใหญ่ในแถบคฤหวาลเป็นของกำนัลสายตาตลอดการเดินทาง

สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนขอแชร์ประสบการณ์เดินเท้าไปเยือน วัดมัธยมเหศวร และ วัดตุงนาถ เพื่อข้อมูลเบื้องต้นสำหรับคนที่ต้องการยาตราแสวงบุญในแบบฮินดู หรืออยากทำความรู้จักป่าเขาในแถบอุตตราขัณฑ์ของอินเดียที่ขึ้นชื่อว่ายังอุดมสมบูรณ์อยู่มาก เต็มไปด้วยดอกไม้ป่าและสัตว์ป่าท้องถิ่นให้ได้ชื่นชมธรรมชาติอย่างใกล้ชิดตลอดเส้นทาง

Panch Kedar

 

สักการะศิวลึงค์ที่ ‘มัธยมเหศวร’

การเดินทางไปเยือนปัญจเกทารนาถมณเฑียร เริ่มต้นจากการนั่งรถไฟ รถทัวร์ หรือเช่ารถ ออกจากกรุงนิวเดลีขึ้นไปทางเหนือราว 230 กิโลเมตร เพื่อตั้งต้นที่ เมืองฤาษีเกศ (Rishikesh) ศูนย์กลางของการแสวงบุญริมฝั่งแม่น้ำคงคา ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นเมืองโยคะของโลก ใครที่อยากใช้เวลาพักร้อนที่นี่เพื่อฝึกวิชาโยคะแบบยาวนานหลักสัปดาห์หรือเดือน สามารถเลือกอาศรมที่ถูกจริตแล้วสมัครเข้าเป็นศิษย์ได้ทันที มีให้เลือกมากมาย

ส่วนใครที่ต้องการเดินป่ายังเส้นทางแสวงบุญต้องจัดการหารถเช่าแล้วออกเดินทางต่อ โดยใช้เส้นทางผ่านเมือง เทวประยาค (Devprayag) ต่อเนื่องสู่ รุทระประยาค (Rudraprayag) ซึ่งนักเดินทางส่วนใหญ่มักแวะเยี่ยมชมทั้งสองเมืองนี้ เพราะเป็นจุดตัดของแม่น้ำสองสายที่ทำให้เกิดทิวทัศน์แม่น้ำสองสีสวยงามแปลกตา 

ทั้งนี้ คำว่า ประยาค ในภาษาฮินดี แปลว่า ที่ซึ่งแม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน สำหรับที่รุทระประยาคนั้นเป็นจุดตัดของแม่น้ำมันทากินี ที่ไหลลงมาจากเกดารนาถ กับแม่น้ำอลักนันทา ที่ไหลลงมาจากพัทรินาถ ก่อนจะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำคงคา

Panch Kedar
จุดตัดแม่น้ำสองสีที่เทวประยาค

จากรุทระประยาคเดินทางต่ออีกร่วมร้อยกิโลเมตร เพื่อมุ่งหน้าไปปักหลักยัง หมู่บ้านรันสี (Ransi) หมู่บ้านเล็กๆ ที่เปรียบเหมือนเบสแคมป์สำหรับการยาตราไปยังวัดมัธยมเหศวร โดยหลังจากนอนพักเอาแรงที่โฮมสเตย์ในรันสีหนึ่งคืน รุ่งเช้าเตรียมตัวตื่นแข่งกับพระอาทิตย์เพื่อเริ่มต้นออกเดินเท้าในเวลาประมาณ 6 โมงเช้า เพราะหนทางในการเดินไปสู่วัดมัธยมเหศวร ตามที่ป้ายบอกทางระบุไว้บริเวณปากทางเข้า คือ 14.550 กิโลเมตร ถือเป็นเส้นทางที่ยาวไกลไม่ใช่เล่นสำหรับการลัดเลาะไปตามป่าเขาลำเนาไพร

ด้วยความที่เป็นเส้นทางแสวงบุญที่ฮินดูชนมาเยือนสม่ำเสมอยาวนานหลายร้อยปี ทางเดินจึงปูด้วยหินทำให้เดินได้สะดวก และเส้นทางช่วง 5 กิโลเมตรแรกเป็นทางลงอย่างเดียว โดยมีเสียงน้ำในแม่น้ำซัดสาดเป็นซาวด์แทร็กประกอบการเดิน มองไปตามแนวป่าก็มีน้ำตกแทรกตัวอยู่เป็นระยะ ถือเป็นการเริ่มต้นที่สดชื่นและดีต่อใจนักเดินทางที่เพิ่งลุกจากที่นอนอย่างเรา

Panch Kedar
เส้นทางสู่มัธยมเหศวร

ใช้เวลาราวสองชั่วโมง ก็มาถึงหมู่บ้านแห่งแรกที่เหมาะแก่การพักจิบชาร้อนเรียกกำลังวังชาสักหนึ่งแก้ว หรือใครอยากเติมพลังด้วยอาหารเช้าก็สามารถสั่งพารันธา อาหารเช้าเบสิคของคนอินเดียที่มีหน้าตาเป็นแป้งทอดแผ่นกลม เลือกได้ว่าจะสอดไส้มันฝรั่ง ผักกะหล่ำ หรือรวมมิตร (ผักล้วน) ได้ตามชอบใจ อยู่ท้องดีแล้วค่อยออกเดินทางกันต่อ

Panch Kedar
ผืนป่าเขียวขจีแห่งรัฐอุตตราขัณฑ์
Photo: mowgli1854

หลังจากเดินข้ามแม่น้ำสายเล็ก ภูมิทัศน์ก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นเส้นทางเดินขึ้นเขาทีละน้อย โดยระหว่างทางมักปรากฏก้อนหินเพนต์ถ้อยคำในภาษาฮินดีอยู่เป็นระยะ สอบถามเพื่อนชาวอินเดียได้ความว่ามีทั้งข้อความสร้างเสริมกำลังใจในการเดินแสวงบุญที่ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ค่อยๆ เดินก็ไปถึงจุดหมายได้เหมือนกัน รวมถึงบทสวดสรรเสริญพระศิวะหลากรูปแบบ ทั้งนี้ แม้จะอ่านไม่ออก แต่การได้มองอักขระสวยๆ ระหว่างทางก็ถือเป็นการพักผ่อนสายตาขณะกำลังเหน็ดเหนื่อยกับการก้าวขาออกแรงเดินได้เป็นอย่างดี

Panch Kedar

Panch Kedar
อักขระฮินดีบนก้อนหินพบเห็นได้ตลอดเส้นทาง

ระหว่างทางพบนักบวชและบรรดาผู้แสวงบุญทยอยเดินสวนทางกลับลงมาเป็นระยะ บ้างเดินสวดภาวนา “ฮะรา ฮะรา มหาเทวะ” เพื่อระลึกถึงองค์พระศิวะตลอดทาง โดยทุกคนที่เราเห็นจะได้รับการป้ายหน้าผากสามแถบด้วยผงสีเหลืองเพื่อความเป็นสิริมงคล อันเป็นเครื่องยืนยันว่าพวกเขาเพิ่งอิ่มบุญจากการได้สักการะศิวลึงค์ ณ วัดมัธยมเหศวรเป็นที่เรียบร้อย เห็นแบบนั้นก็พลอยทำให้นักเดินเท้าที่เริ่มอ่อนล้าอย่างเราพอจะมีใจฮึกเหิมขึ้นมาบ้างว่า พวกเขาทำได้ เราก็ต้อง (ตะเกียกตะกาย) ไปจนถึงให้ได้เช่นกัน

ถึงจะพยายามมองโลกในแง่ดี แต่เส้นทางสายมัธยมเหศวรก็ปราบเซียนไม่ใช่เล่น แม้หนทางจะเดินสะดวกบนถนนหินสลับกับดินที่ผ่านการกรุยทางมาแล้วเป็นอย่างดี แต่การเดินขึ้น ขึ้น ขึ้น และขึ้นติดต่อกันร่วมสิบกิโลเมตร แถมในช่วงกลางของเส้นทางยังเป็นการเดินในพื้นที่เปิดโล่ง รับแดดยามเที่ยงและบ่ายไปเต็มๆ จึงทำให้ต้องหยุดแวะพักบ่อยครั้งราวกับแทบไม่ได้คืบหน้าไปไหนไกล

Panch Kedar
เส้นทางคดเคี้ยวสู่มัธยมเหศวร

และคำเตือนเป็นพิเศษ คือ ควรเตรียมน้ำดื่มไว้ให้พร้อม เพราะช่วงกลางทางจะหาร้านชำหรือโฮมสเตย์เพื่อแวะกินข้าวหรือดื่มน้ำยากเป็นพิเศษ เราเองชะล่าใจดื่มน้ำจนหมดขวดโดยคิดว่าเดี๋ยวค่อยแวะซื้อเอาข้างหน้าก็ได้ ปรากฏว่ากว่าจะได้เจอก๊อกน้ำดื่มกลางป่า (เป็นการต่อท่อจากแหล่งน้ำธรรมชาติ) ก็เล่นเอาหอบแดดจนเกือบหมดแรง

Panch Kedar
จิบชาร้อนเพิ่มพลัง

เดินๆ หยุดๆ จนเวลาล่วงเลยถึงยามบ่ายแก่ๆ เส้นทางเริ่มเปลี่ยนมาสู่ร่มเงาของป่าอีกครั้ง ความร้อนจากไอแดดเริ่มหายไป ไอเย็นจากต้นไม้และตะวันที่เริ่มลาขอบฟ้าเข้ามาแทนที่ ถึงเวลาต้องเร่งฝีเท้าเพื่อไปให้ถึงจุดหมายก่อนฟ้าจะมืด ฮึบกันอีกสักครั้งในเฮือกสุดท้ายช่วง 5 กิโลเมตรหลัง จนในที่สุด เราก็เดินทางมาถึงวัดมัธยมเหศวรในเวลา 6 โมงเย็นพอดี อันเป็นช่วงเวลาที่ทางวัดกำลังจะเริ่มทำพิธีอารตี (บูชาไฟ) จึงมีเสียงสวดในท่วงทำนองเพลงไพเราะกระจายเสียงผ่านลำโพงดังมาสู่โสตผู้มาใหม่อย่างเรา ราวกับบทเพลงต้อนรับนักเดินเท้าที่บรรลุเป้าหมายในที่สุด

Panch Kedar
วัดมัธยมเหศวรยามราตรี
Photo: mowgli1854

สารภาพว่าตลอดระยะทางของการเดินไต่ระดับความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ชนิดที่เหนื่อยจนขี้เกียจจะอยากรู้แล้วว่าเมื่อไรจะถึงเสียที ก็เกิดคำถามแทรกขึ้นมาในใจว่า ใครกันที่ช่างอุตสาหะแบกหินขึ้นมาสร้างวัดกลางป่าบนภูเขาสูงเช่นนี้

และ ณ ขณะที่กำลังยืนชมพิธีอารตี ยินเสียงสวดมนต์ ตีเกราะ เคาะระฆังหลอมรวมเป็นบรรยากาศแห่งความศรัทธาอันขรึมขลังอยู่นั้น จู่ๆ เพื่อนชาวอินเดียก็กระซิบถามเราว่า “รู้ไหมใครเป็นคนสร้างวัดแห่งนี้” ราวกับรู้ความในใจว่าคนไทยคนนี้กำลังมีเรื่องค้างคาใจ

และพอได้รู้คำตอบชนิดเหนือความคาดหมายว่า ห้าพี่น้องปาณฑพแห่งมหาภารตะเป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเพื่อบูชาพระศิวะ นาทีนั้นเกิดความรู้สึกเชื่อสนิทใจ ไร้กังขา วัดจากความลำบากยากเข็ญที่ต้องเดินเท้านาน 12 ชั่วโมงจนน่องแข็งแทบยืนไม่อยู่มาตลอดทั้งวัน จึงมั่นใจมากว่าต้องเป็นผู้มีกำลังวังชาเหนือมนุษย์เท่านั้นจึงจะสามารถเนรมิตสิ่งก่อสร้างที่ประกอบขึ้นจากหินก้อนหนามาก่อเรียงกันเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 3,500 เมตรได้สำเร็จ

Panch Kedar
บรรยากาศโฮมสเตย์ที่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาโดยรอบวัดมัธยมเหศวร

เสร็จจากการร่วมพิธีอารตียามค่ำ ก็ถึงเวลาล้อมวงกินข้าวเย็นรอบกองไฟในครัวบ้านใครบ้านมัน โดยที่พักสำหรับนักเดินทางที่มาแสวงบุญยังวัดมัธยมเหศวรมีแบบเดียวโดยเท่าเทียมกัน คือ บ้านพักโฮมสเตย์ โดยชาวบ้านในหมู่บ้านจะแบ่งห้องให้นักเดินทางเข้าพักสิริรวม 8 หลัง เข้าพักได้บ้านละ 5 คน โดยนอนเรียงกันบนที่นอนหลังเดียว และมีห้องน้ำให้ใช้ร่วมกัน 1 ห้อง เท่ากับว่าในแต่ละคืนจะมีผู้แสวงบุญค้างแรมในบริเวณวัดมัธยมเหศวรอย่างมากที่สุดไม่เกิน 40 คน

และจากอุณหภูมิภาคพื้นดินในช่วงต้นเดือนตุลาคม เมื่อครั้งเดินทางออกจากฤาษีเกศที่ร้อนรุ่มจนเหงื่อซึมไม่ต่างจากเมืองไทย ได้เปลี่ยนมาเป็นอากาศหนาวเกือบจะแตะจุดเยือกแข็ง ณ จุดบูชาศิวลึงค์แห่งนี้ ทำให้ต้องรีบงัดเสื้อกันหนาว หมวก และถุงเท้าออกมาสวมแบบเต็มพิกัด โดยหลังจากอิ่มหนำสำราญกับมื้อเย็นอันประกอบด้วยโรตีทำสดใหม่ร้อนๆ จากเตา ฉีกจิ้มกินกับแกงถั่วและผัดผักพื้นบ้านแสนอร่อย จิบชาร้อนเพิ่มไออุ่นก่อนเข้านอนชนิดหัวถึงหมอนก็หลับเป็นตาย หลังจากเดินทรหดขึ้นเขาเป็นระยะทางไกลเกิน 20 กิโลเมตรแบบม้วนเดียวจบ (ระยะทางที่เดินจริงวัดจากสมาร์ทโฟนไกลกว่าป้ายบอกทางตรงทางเข้าเกือบ 5 กิโลเมตร หลังๆ เวลาเห็นป้ายบอกระยะทางเลยต้องบวกเพิ่มในใจไปอีก 1-2 กิโลเมตรเสมอ ป้องกันอาการท้อแท้)

Panch Kedar

Panch Kedar
Budha Madmaheshwar

การเดินทางยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เช้าวันรุ่งขึ้นเราต้องตื่นก่อนพระอาทิตย์ (อีกแล้ว) ล้างหน้า แปรงฟัน คว้าไฟฉายทะลายความมืด ออกเดินไปยังเนินเขาข้างๆ วัดมัธยมเหศวร เพื่อขึ้นไปสักการะ Budha Madmaheshwar วิหารที่สร้างขึ้นเพื่อถวายองค์ศิวะบนยอดเขา โดยเราค่อยๆ เดินไต่ภูเขาหญ้าฝ่าความมืดขึ้นไปเรื่อยๆ จนฟ้าค่อยๆ คายแสงสว่างออกมาทีละน้อย ใช้เวลาเดินเกือบ 2 ชั่วโมง ด้วยระยะทางราว 2 กิโลเมตร ก็ได้สัมผัสกับความงดงาม ณ ลานกว้างบนยอดเขา ที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทิวเขาสลับซับซ้อนรายล้อมอยู่รอบตัว โดยเฉพาะยอดเขาสำคัญที่ปกคลุมด้วยหิมะมาชั่วนาตาปีอย่าง จอคัมบา (Chaukhambha) ที่อยู่ใกล้ราวกับจะเอื้อมถึง

Panch Kedar
ยอดเขาจอคัมบา (Chaukhambha)
Photo: mowgli1854

ละเลียดเวลาอยู่ท่ามกลางโอบล้อมของทิวเขาได้นานสองนาน เพราะอากาศเย็นสบายและทิวทัศน์งดงามสบายตา ก่อนจะค่อยๆ ไต่ภูเขากลับลงมาร่วมพิธีสวดมนต์บูชาศิวลึงค์ภายในวัด ซึ่งจะเปิดประตูวิหารให้เข้าไปสักการะตอน 9 โมงเช้าเท่านั้น เสร็จสิ้นการนมัสการวิหารซึ่งถือเป็นองค์ประธานของปัญจเคดาร์เป็นที่เรียบร้อย ก็ได้เวลาออกเดินเท้ากลับสู่หมู่บ้านรันสี เพื่อพักผ่อนและเดินทางสู่จุดหมายลำดับถัดไป 

Panch Kedar
เงาน้ำสะท้อนความงามของเทือกเขาโจคัมบา
Photo: mowgli1854

ทั้งนี้ การยาตรามายังวัดมัธยมเหศวรไม่จำเป็นต้องเดิน 20 กิโลเมตรแบบม้วนเดียวจบในวันเดียว สามารถแวะพักค้างคืนยังโฮมสเตย์ในหมู่บ้านกลางทางที่มีบริการอยู่หลายแห่ง จะได้ค่อยๆ ซึมซับธรรมชาติและค่อยๆ ทำความรู้จักกับอุตตราบัณฑ์แบบไม่เร่งร้อนจนเกินไป 

Panch Kedar
อีกมุมของความงามแห่งยอดเขาจอคัมบา (Chaukhambha)
Photo: mowgli1854

ไต่ผานมัสการ ‘กาลีศิลา’ 

จุดหมายถัดไปคือ วัดตุงนาถ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านรันสีราว 40 กิโลเมตร โดยต้องนั่งรถไปยังเมืองอุคิมัธ (Ukhimath) และต่อเนื่องไปยังเมืองช็อปตา (Chopta) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นออกเดินเท้าขึ้นสู่วัดพระศิวะที่อยู่สูงที่สุดในโลก

แต่ก่อนจะออกเดินทางไปอุคิมัธ ใครที่ศรัทธาพระแม่กาลี แนะนำให้แวะกลางทางที่หมู่บ้านรอนเลค (Raunlake) อยู่ห่างจากรันสีเพียง 6 กิโลเมตร เพื่อสักการะกาลีศิลา หรือแปลตรงตัวได้ว่า หินแห่งพระแม่กาลี โดยเชื่อกันว่าหินผาบนยอดเขาที่ความสูง 2,350 เมตรเหรือระดับน้ำทะเลแห่งนี้ มีรอยเท้าของพระแม่กาลีประทับอยู่ ตำนานหนึ่งกล่าวว่าเป็นรอยเท้าที่องค์แม่กาลีเหยียบหินผาบริเวณนี้ เพื่อกระโดดลงไปยังวัดกาลีมัธ (Kalimath) ที่อยู่ห่างออกไป 8 กิโลเมตร

อีกตำนานอ้างว่าบริเวณวัดแห่งนี้เป็นจุดที่พระแม่ปารวตีผลัดผิวทองออกและกลายร่างเป็นสีนิลเพื่อสังหารอสูรชุมบห์และนิขุมบห์ ก่อนจะได้รับการขนานพระนามว่า กาลราตรี ซึ่งเป็นปางที่ดุร้ายที่สุดของพระแม่ปารวตี โดยผู้ที่นับถือพระแม่กาลีมักทำการบูชาปางกาลราตรีในวันที่เจ็ดของเทศกาลนวราตรี

Panch Kedar
บันไดทอดลงไปสู่กาลีศิลา Photo: mowgli1854

ไม่ว่าจะเป็นตำนานบทไหน เอาเป็นว่าใครที่ต้องการสักการะรอยเท้าของพระแม่กาลีล้วนต้องเดินลัดเลาะหมู่บ้านขึ้นไปบนภูเขาแห่งนี้ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร เพลิดเพลินกับทิวทัศน์ป่าโปร่งสองข้างทาง ตลอดเส้นทางรับรองไม่มีเหงา เพราะจะได้ทักทายเด็กๆ และลุงป้าน้าอาที่ต่างก็ทยอยเดินขึ้น-ลงเขา เพื่อทำไร่ทำสวนและเลี้ยงสัตว์ตามกิจวัตรประจำวัน 

หลังจากเดินบ้างพักบ้างแบบไม่รีบร้อนราว 4 ชั่วโมงก็มาถึงวัดกาลีศิลาในที่สุด โดยจะต้องถอดรองเท้าตั้งแต่ทางเข้า และเดินเท้าเปล่าไปยังจุดสักการะหินรูปแปลกตาที่ยื่นไปในหน้าผา ซึ่งหากจะมองหารอยเท้าองค์แม่จากบริเวณตัววัดเท่าไรก็ไม่มีทางเจอ เพราะรอยเท้าประทับอยู่อีกด้านของศิลา ศรัทธาเท่านั้นที่จะพาผู้ที่มีองค์แม่กาลีในหัวใจปีนป่ายไต่ข้ามหินผา ท้าระดับความสูงและน่าหวาดเสียว เพื่อทำความเคารพรอยบาทของกาลราตรีได้สำเร็จ

Panch Kedar
รอยบาทพระแม่กาลีบนกาลีศิลา
Photo: mowgli1854

เป็นอีกครั้งที่เรื่องเล่าจากตำนานที่มากด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ทำงานร่วมกับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของภูผาสูงอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียว เนรมิตให้สถานที่นั้นๆ ทวีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอีกเท่าตัว เหมือนอย่างที่หินรูปทรงคล้ายศิวะลึงค์ภายในวิหารของวัดมัธยมเหศวรได้ทำหน้าที่นั้นมาแล้ว

สักการะรอยเท้าพระแม่กาลีท่ามกลางวิวขุนเขาเป็นที่เรียบร้อย ค่อยๆ ไต่ผาปีนกลับมาอย่างสวัสดิภาพ แล้วออกเดินทางกันต่อสู่เมืองช็อปตา (Chopta) ที่ได้สมญาว่าสวิตเซอร์แลนด์แห่งอินเดีย

เดินเท้าสู่ ‘ตุงนาถ’ วัดศิวะที่อยู่สูงที่สุดในโลก

ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นวัดพระศิวะที่อยู่สูงที่สุดในโลก ทำให้แม้จะอยู่ห่างจากหมู่บ้านรันสีเพียง 40 กิโลเมตร แต่ด้วยระดับความสูงที่เพิ่มขึ้นหลายร้อยเมตร ทำให้ทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เมือง ช็อปตา (Chopta) เปลี่ยนแดนภารัตให้เป็นเหมือนสวิตเซอร์แลนด์ขนาดย่อม โดยมีอุณภูมิที่ลดลงหลายองศาอย่างเฉียบพลันทันทีเป็นตัวขับเคลื่อนบรรยากาศชั้นดี

ยิ่งสูง สภาพอากาศก็ยิ่งแปรปรวน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะเจอฝนโปรยในช่วงบ่ายแก่ๆ ที่ช็อปตา ซึ่งยิ่งทำให้ดีกรีความหนาวเสียดแทงทะลุผิวหนังยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้น ควรเตรียมเครื่องกันหนาวให้พร้อมสรรพ โดยเฉพาะใครที่วางแผนจะมาค้างแรมที่นี่ ที่พักมีให้เลือกทั้งแบบแคมป์ปิ้งและโฮมสเตย์ที่ป้องกันหนาวได้ไม่มากนัก ควรเตรียมไออุ่นส่วนตัวไว้ให้พร้อมจะปลอดภัยที่สุด

Panch Kedar
ม้าแต่งตัวสวยต้อนรับนักท่องเที่ยว

ตุงนาถก็เช่นเดียวกับเกดารนาถ คือ เป็นจุดยาตราที่ฮินดูชนนิยมเดินทางมาเยือนเป็นจำนวนมาก ด้วยความที่เดินทางสะดวกและเส้นทางเดินมีระยะทางไม่ถึง 4 กิโลเมตร ทำให้สามารถแสวงบุญแบบเช้าไปเย็นกลับได้ โดยเฉพาะคนที่อาศัยวิธีลัดอย่างการเช่าม้าขี่ขึ้นไป ซึ่งดูจะเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากแคมป์เลี้ยงม้าบริเวณทางเดินขึ้นตุงนาถ ที่มีม้าแต่งองค์ทรงเครื่องรอให้บริการอยู่หลายสิบชีวิต

เอาเข้าจริง ชาวพุทธอย่างเราที่ยังเข้าไม่ถึงหัวใจของการเดินแสวงบุญเพื่อขอพรจากเทพสักเท่าไรนัก กลับรู้สึกว่าในเมื่อตัดสินใจเดินยาตราทั้งที ก็ควรตั้งจิตตั้งใจใช้สองเท้าและกำลังเท่าที่มีในการไต่ระดับความสูงไปให้ถึงสถานที่สถิตของพระเจ้าในใจพวกเขา มากกว่าการมาทรมานสัตว์เช่นนี้ 

Panch Kedar
ขบวนม้าให้เช่า ทางลัดของนักแสวงบุญรักสบาย

ขบวนม้าให้เช่าทั้งที่มัธยมเหศวรและตุงนาถ พลอยทำให้นึกถึงข้อความบางตอนจากหนังสือ เสือดาวกินคนแห่งรุทระประยาค เขียนโดย พ.ท.จิม คอร์เบทท์ พรานผู้โชกโชนในประสบการณ์ล่าเสือกินคนในแถบคฤหวาลเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ที่กล่าวถึงบรรยากาศการยาตราในศตวรรษก่อนได้น่าประทับใจ

“ถนนข้างหน้าของท่าน ซึ่งถูกเท้าของนักแสวงบุญคอยส่งท่านนับล้านๆ คนเหยียบย่ำ ชันเป็นที่สุดและขรุขระอย่างไม่น่าเชื่อ และตัวท่าน ซึ่งปอดไม่เคยหายใจเอาอากาศเหนือระดับน้ำทะเลเข้าไป ไม่เคยปีนป่ายที่ใดสูงกว่าหลังคาบ้าน และเท้าก็ไม่เคยเหยียบย่ำที่ใดซึ่งกระด้างกว่าพื้นทราย ย่อมจะต้องได้รับทุกข์เวทนาอย่างใหญ่หลวง 

“คงจะมีไม่น้อยครั้ง เมื่อท่านย่ำไปบนภูเขาชัน เหนือหินอันขรุขระแหลมคม และเหนือพื้นดินอันแข็งกระด้าง ที่ท่านจะต้องหยุดหายเหนื่อย และถามตนเองว่ารางวัลที่ท่านจะได้รับในความพยายามที่นำทุกข์มาให้ท่านถึงปานนี้สมกันแล้วหรือ แต่ด้วยเหตุที่ท่านเป็นฮินดูที่ดี ท่านก็จะบากบั่นต่อไป ทั้งปลอบใจตนเองไปด้วยว่า

“บุญจะมีมาถึงตัวได้อย่างไร ถ้าไม่ทนทุกขเวทนา และยิ่งต้องทนทุกขเวทนาในโลกนี้ขึ้นเท่าใด ก็จะได้รับผลบุญในโลกหน้ามากขึ้นเท่านั้น”

Panch Kedar
เทือกเขาค่อยๆ เผยความงามขณะเดินเท้าสู่วัดตุงนาถยามเช้าตรู่

อย่างไรก็ตาม หากเปลี่ยนจากการมุ่งมั่นแสวงบุญเป็นทริปเดินป่าเดินเขาอย่างที่ชาวไทยพุทธผู้แฝงกายในหมู่ชาวฮินดูอย่างเรากำลังปฏิบัติอยู่ ก็ให้ความรู้สึกที่สุขสงบใจไม่ต่างกัน เพราะทิวทัศน์ปลอดโปร่งตาของถนนสู่ตุงนาถค่อยๆ เผยความงามของเทือกเขาสลับซับซ้อนรอบกายที่บดบังเส้นขอบฟ้าจนมิด ตั้งแต่ก่อนตะวันขึ้นจนฟ้าเริ่มสางและค่อยๆ สดใสขึ้นทีละน้อยเมื่อตะวันเริ่มฉายแสงเต็มที่ 

ด้วยความที่เส้นทางแสวงบุญสายนี้ไม่อนุญาตให้นักเดินทางกร้ำกรายไปบนทุ่งหญ้าและป่าเขาสองข้างทาง ทำให้สัตว์ป่าน้อยใหญ่สามารถหากินได้อย่างอิสระ อาทิ บรรดานกประจำถิ่นที่ขยันออกหากินตั้งแต่เช้าตรู่ ทั้ง มอนัล (Monal) นกประจำรัฐอุตตราขัณฑ์ที่มีสีสันเลื่อมพรายงดงามราวกับนกยูง และ แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (Himalayan Griffon Vulture) ที่สยายปีกกว้างร่อนไปบนฟ้าสีคราม

Panch Kedar
ทิวทัศน์บนเส้นทางสู่ตุงนาถ

เพลิดเพลินกับธรรมชาติสองข้างทางราว 2 ชั่วโมงก็เดินเท้าสู่วัดตุงนาถในที่สุด บริเวณหน้าวัดมีร้านค้าขายของที่ระลึกและของไหว้บูชาทวยเทพพร้อมสรรพ สำหรับสถาปัตยกรรมวิหารของวัดในปัญจเกทรานาถมณเฑียรทั้งห้าแห่งนั้นคล้ายกันจนแทบแยกไม่ออก ตัววิหารสร้างจากหินมีขนาดไม่ใหญ่ สามารถจุคนได้เต็มที่ราว 10 คน จึงต้องทยอยเข้าคิวเพื่อเข้าไปสักการะศิลาที่ประดิษฐานภายในวิหารที่มีรูปร่างคล้ายอวัยวะส่วนต่างๆ ขององค์มหาเทพทั้ง 5 ส่วนดังที่กล่าวไปแล้ว 

Panch Kedar
จันทราศิลา (Chandrashila)
Photo: mowgli1854

นอกจากนี้ บริเวณรอบๆ วิหารหลักของวัดตุงนาถยังมีวิหารของเทพอีกหลายองค์ให้เลือกสักการะได้ตามศรัทธา และเช่นเคยที่การนมัสการทวยเทพบนขุนเขาไม่เคยจบแค่ตัววัด เพราะเหนือวัดตุงนาถขึ้นไปอีกเกือบ 2 กิโลเมตรเป็นที่ประดิษฐาน จันทราศิลา (Chandrashila) จุดที่เชื่อกันว่าพระลักษมณ์มานั่งบำเพ็ญภาวนาหลังเสร็จสิ้นการปราบทศกัณฐ์ หรืออีกตำนานที่อ้างถึงเทพจันทราที่มาบำเพ็ญตบะที่นี่เช่นกัน

ไม่ว่าตำนานของทวยเทพจะมีสักกี่เรื่องราว แต่หนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในใจของผู้ที่พาตัวเองไปจนถึงยอดเขาได้สำเร็จ คือ การได้สัมผัสถึงความรู้สึกของการเป็นเพียงมนุษย์ตัวเล็กๆ ท่ามกลางธรรมชาติแสนยิ่งใหญ่ ซึ่ง ‘ธรรมะ’ ที่แท้จริงนั้นแฝงอยู่ในทุกรายละเอียดของสองเท้าที่ก้าวย่ำนั่นเอง

อ้างอิง

  • จิม คอร์เบทท์ เขียน, ทองสุก เกตุโรจน์ แปล.เสือดาวกินคนแห่งรุทระประยาค.แสงดาว,2559.
  • Wikipedia.Panch Kedar.https://en.wikipedia.org/wiki/Panch_Kedar
  • Choptatour.Kalishila Temple.https://bit.ly/3FOA7O8

การวางแผนยาตราปัญจเกทารนาถแบบครบทั้ง 5 วัด

  • เริ่มต้นเดินทางจากเดลีสู่ฤาษีเกศ (ระยะทาง 230 กิโลเมตร) จากนั้นเดินทางต่อไปยังกอรีคุนด์ เพื่อเริ่มต้นยาตราสู่วัดเกดารนาถ (เดินประมาณ 18 กิโลเมตร) 
  • จากเกดารนาถ นั่งรถไปยังกุปตากาสี (Guptakashi) และจากาสุ (Jagasu) (ระยะทางรวม 30 กิโลเมตร) ออกเดินสู่วัดมัธยมเหศวร โดยใช้เส้นทางผ่านกอนดาห์ (Gaundhar) เดินประมาณ 24 กิโลเมตร
  • นั่งรถต่อไปช็อปตา (Chopta) (ระยะทาง 45 กิโลเมตร) ออกเดินเท้าสู่วัดตุงนาถ (เดินประมาณ 3.5 กิโลเมตร) หากจะไปให้ถึงจันทราศิลา ต้องเดินต่ออีก 2 กิโลเมตรสู่ยอดเขาอันเป็นที่ตั้งของจันทราศิลา
  • นั่งรถต่อไปแมนดัล (Mandal) (ระยะทาง 8 กิโลเมตร) ออกเดินเท้าสู่วัดรุทรนาถ (เดินประมาณ 20 กิโลเมตร) 
  • นั่งรถต่อไปเฮลัง (Helang) ออกเดินเท้าสู่วัดกัลเปศวร (เดินประมาณ 11 กิโลเมตร) ผ่านหมู่บ้านอูรกัม (Urgam) ถือเป็นการเสร็จสิ้นการแสวงบุญบนเส้นทางสายปัญจเกทารนาถ