วัชพืชที่เลื้อยเกาะอยู่บนโทรศัพท์ในตู้สาธารณะข้างทาง สีบนเครื่องที่เริ่มหลุดร่อน แผ่นป้ายประกาศต่างๆ ที่แปะอย่างเลอะเทอะเปรอะเปื้อน
คือสิ่งที่บ่งบอกว่า ไม่มีใครแวะเข้ามาใช้งานสิ่งนี้นานมากแล้ว
.
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2522 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เริ่มติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญ 100 เครื่องแรกในเขตกรุงเทพมหานคร
.
จากนั้นการมาถึงของ พรบ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ที่ระบุว่า “ระบบสื่อสารโทรคมนาคมของชาติต้องบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ” ก็ทำให้ตู้โทรศัพท์สาธารณะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น
.
สมุดจดเบอร์โทรศัพท์ เงินเหรียญราคาต่างๆ กลายเป็นสิ่งจำเป็น
เพราะสิ่งแรกทำให้เราไม่ลืมเบอร์โทรศัพท์ของคนที่ต้องการโทรหา
ส่วนสิ่งต่อมาทำให้เรามีเวลาสนทนากับคนๆ นั้นได้ตามราคาและจำนวนเงินเหรียญในกระเป๋า
.
ความคิดถึง ความห่วงใย หรือแม้แต่ประโยคบอกรัก ซึ่งใครหลายคนเคยสารภาพ ล้วนเคยเกิดขึ้นในตู้สี่เหลี่ยมแห่งนี้
.
ทั้งหมดคือความทรงจำบางส่วนที่พอจะนึกขึ้นได้ เพราะเรื่องราวต่างๆ เริ่มซีดจางไปตามวันเวลา
.
คุณล่ะ มีความทรงจำเกี่ยวกับตู้โทรศัพท์สาธารณะเหล่านี้บ้างไหม
.
ถ้ามี ลองเล่าสู่กันฟัง ก่อนที่พวกมันจะหายไป…ตลอดกาล.