©ulture

เชื่อว่าภาพข่าวชาวอัฟกันพากันหนีตายเบียดเสียดกันขึ้นเครื่องบินที่สนามบินคาบูลของอัฟกานิสถาน เพียงเพื่อไม่ให้ตนต้องมีชีวิตต่อไปภายใต้การปกครองของรัฐบาลตอลิบาน เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจคนทั่วโลก 

ความขัดแย้งที่คุกรุ่นมานานเกือบห้าทศวรรษบนดินแดนที่เคยสงบสุขแห่งนี้ มีสาเหตุจากอะไรกันแน่ และแค่สงสัยคงไม่พอ หลายคนจึงหาคำตอบด้วยการสืบค้นผ่านกูเกิล หรือตามหาสารคดีที่สรุปเรื่องนี้เอาไว้ทางยูทูบไปจนถึงภาพยนตร์เรื่องต่างๆ มาดูให้กระจ่างใจกันอีกครั้ง 

และยังมีอีกหนึ่งสื่อที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดมิติทางสาระและอารมณ์ได้กลมกล่อมครบรสไม่แพ้กัน นั่นก็คือ หนังสือ 

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ตำราประวัติศาสตร์เล่มหนา หากเป็นนวนิยายชื่อ ใต้ฝุ่น จากปลายปากกาของนักเขียนไทยนาม โกลาบ จัน’  

Afganistan
Photo: https://readery.co/9786161823856, accessed 3 August 2018
ใต้ฝุ่น 
เขียนโดย โกลาบ จัน, แพรวสำนักพิมพ์

เรื่องราวเปิดฉากด้วยเหตุไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นกับ เมย์ มิลเลอร์ นักข่าวสาวลูกครึ่งไทยอังกฤษ ที่บังเอิญอยู่ในเหตุการณ์ระเบิดกลางเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ในเดือนกรกฎาคม .. 2554 และหลังจากเธอฟื้นคืนสติกลับพบว่าตนอยู่ในร่างของหญิงชาวอัฟกันชื่อ มัรยัม บ่าวรับใช้ในบ้านของด๊อกเตอร์ซาฮิบ แพทย์หนุ่มเจ้าของบ้าน ผู้เป็นคนเดียวที่พอจะยอมทำความเข้าใจเรื่องเหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ 

สลับร่างและหลงมาอยู่ไกลถึงอัฟกานิสถานก็ว่าแย่แล้ว ความจริงชุดต่อมาที่ทำให้เมย์แทบทรุดทั้งยืน ก็คือ ที่นี่ไม่ใช่อัฟกานิสถานในปีปัจจุบัน แต่เป็นกรุงคาบูล .. 2518 หรือ 36 ปีก่อนที่นักข่าวสาวจะเกิดด้วยซ้ำ 

ในเมื่อปรากฏการณ์โอละพ่อที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถหาคำตอบได้ และแม้จะอยากหาทางออกจากปัญหานี้แค่ไหน สิ่งที่เมย์ทำได้ก็คือ ตื่นมาใช้ชีวิตแต่ละวันในร่างมัรยัมให้คุ้มค่า และแข็งแรงพอที่จะมีชีวิตอยู่รอดต่อไปอีก 36 ปี เพื่อหาคำตอบถึงปริศนาในครั้งนี้ให้ได้ 

36 ปีที่มีแต่เธอ (และผู้อ่านเท่านั้นที่รู้ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้บ้าง 

Afganistan
Photo: AFP PHOTO
ทะเลสาบ Band-i-Amir ในจังหวัดบามียัน ตั้งอยู่ในเทือกเขาฮินดูกูช ทางตอนกลางของประเทศอัฟกานิสถาน

บรรยากาศช่วงต้นของใต้ฝุ่นดำเนินไปในโทนคล้ายเวลาเราดูละครแนวสลับร่างข้ามภพ อย่างทวิภพหรือบุพเพสันนิวาส ที่นางเอกกำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความสับสน ปนกับความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นบ้านเรือน ผู้คน ยานพาหนะ และวิถีชีวิตที่แปลกตา 

ดังนั้น สีสันในช่วงต้นจึงเป็นการพาทัวร์กรุงคาบูลในยุคที่ยังรุ่มรวยด้วยศิลปะวัฒนธรรม พลอยทำให้ผู้อ่านจินตนาการตามถึงสถาปัตยกรรมตะวันตก ผสมผสานกับผู้คนที่แต่งกายในชุดสากลบ้าง สวมชุดพื้นเมืองบ้าง ผู้หญิงก็สามารถไปไหนมาไหนได้ไม่ต่างจากผู้ชาย ไหนจะบรรยากาศของสถานที่สวยงามต่างๆ ในกรุงคาบูล เช่น ปักห์มันการ์เดนส์ สวนสาธารณะประจำชาติที่อุดมไปด้วยดอกกุหลาบงดงาม ที่ช่างเป็นอัฟกานิสถานที่ห่างไกลจากความรับรู้ของคนในยุคปัจจุบันไปมาก 

Afganistan
Photo: SAEED KHAN / AFP
ชนเผ่าเร่ร่อนชาวอัฟกันบรรทุกสัมภาระเต็มหลังอูฐเดินทางออกจากกรุงคาบูล หลังเกิดการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มตอลิบานกับรัฐบาล ไม่ปรากฏปีที่บันทึกภาพ

โกลาบพาผู้อ่านทัวร์กรุงคาบูลได้ไม่กี่อึดใจ จากนั้นความเข้มข้นของเหตุการณ์ทางการเมืองก็ถาโถมแบบไม่ยั้ง ไล่มาตั้งแต่การขับไล่กองทัพโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน โดยกลุ่มมูจาฮีดีน ต่อเนื่องด้วยการแตกคอกันเองทางขั้วความคิดภายในกลุ่มมูจาฮีดีนเอง จนเกิดเป็นกองทหารตอลิบานที่มุ่งนำพาอัฟกานิสถานให้กลายเป็นรัฐอิสลามอีกครั้ง ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อในดินแดนแห่งกุหลาบและบทกวี จนไม่เหลือไว้ซึ่งอดีตอันงดงามอีกต่อไป 

การหลอมรวมเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ขาดตกบกพร่องเลยสักช่วง โดยโกลาบเลือกจะเกาะไทม์ไลน์ไปกับชีวิตของ อาหมัด ซาห์ มาซูด ผู้บัญชาการการรบของมูจาฮีดีน บุคคลในหน้าประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนอยู่จริง ให้เข้ากันกับชีวิตของตัวละครอย่างด๊อกเตอร์ซาฮิบที่เป็นกำลังสำคัญของมูจาฮีดีน และเป็นสามีของเมย์ ที่ในภายหลังบทบาทความเป็นเมียและเป็นแม่ของตัวละครตัวนี้ก็ได้สอดแทรกแง่งามในการดำเนินชีวิตหลายด้านให้ประทับเข้าไปอยู่ในใจผู้อ่าน 

Afganistan
Photo: EMMANUEL DUNAND / AFP
 อาหมัด ซาห์ มาซูด ผู้บัญชาการการรบของมูจาฮีดีน ถ่ายภาพกับลูกชายวัย 8 ขวบ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 ณ บ้านพักในหุบเขาปัณชีร์

ทั้งการเป็นช้างเท้าหลังที่ต้องสนับสนุนอุดมการณ์ของสามี ไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงดูลูกๆ ให้เติบโตมาเป็นมนุษย์ผู้มีหัวจิตหัวใจที่กว้างพอจะยอมรับความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดในโลกนี้ก็ตาม 

ความกลมกล่อมทางสาระและสุนทรีย์ที่โกลาบ จัน ตั้งใจเค้นทุกตัวอักษรออกมาจากมันสมองและข้อนิ้วน้อยๆ ของเธอ จึงควรค่าแล้วแก่การที่ ‘ใต้ฝุ่น’ ได้รับรางวัล ARC Awards ครั้งที่ 1 ประจำปี 2560 มาครอง 

โกลาบ จัน เป็นนามปากกาของ เพทาย จิรคงพิพัฒน์ นักเขียนนิยายรักผู้ปักหลักใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็น เนื่องจากป่วยเป็นโรคหายากอย่างกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิด DSMA1 – Distal Spinal Muscular Astrophy และนิยายเรื่องนี้สำเร็จขึ้นมาได้จากแรงขยับข้อนิ้วชี้ข้างขวาของเธอเพียงส่วนเดียวเท่านั้น 

Afganistan
Photo: DAVE MARTIN / AP POOL / AFP
นักรบมูจาฮีดีนกับกุหลาบแห่งอัฟกัน

เพทายเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า แรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้เกิดจากการได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของเพื่อนชาวอัฟกันที่ต้องลี้ภัยตั้งแต่สิบขวบ และพบกับความลำบาก ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนไม่ต่างจากในภาพข่าว ช่องทางเดียวที่ทำให้ชาวโลกได้รู้จักชาวอัฟกันตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา 

ความอยากรู้อยากเห็นของนางเอกในนิยายจึงเทียบได้กับความตื่นตาตื่นใจในแบบที่เพทายเคยเป็นเมื่อครั้งได้ฟังเรื่องที่เพื่อนเล่า และยิ่งค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับดินแดนแห่งนี้ เธอก็ยิ่งอยากจะถ่ายทอดเรื่องราวในอัฟกานิสถานให้นักอ่านได้ซึมซาบความงามของอัฟกานิสถานผ่านรูปแบบของนิยายรัก ซึ่งเป็นสไตล์การเขียนที่เธอถนัดที่สุด (เพทายมีผลงานเขียนเกือบ 20 เล่ม และแทบทั้งหมดเป็นนิยายรัก) 

Afganistan
Photo: WAKIL KOHSAR / AFP
หญิงชาวอัฟกันสวมผ้าคลุมบูร์กากับกุหลาบในมือ บันทึกภาพในวันสตรีสากล ปี 2563

เรามิอาจจินตนาการได้ว่าเพทายต้องใช้สายตา มันสมอง และข้อนิ้วชี้หนักแค่ไหน ถึงจะสามารถร่ายมนต์ให้ตัวละครของเธอมีชีวิตที่สมจริงถึงขนาดนี้ จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นนวนิยายที่สะท้อนให้ผู้อ่านทั้งได้รู้จักอัฟกานิสถานในหลากมิติยิ่งขึ้น และได้ย้อนสำรวจตัวเองในเวลาเดียวกัน 

ยกตัวอย่างคำสอนที่เมย์ในร่างมัรยัมพร่ำบอกลูกๆ ของเธอเสมอ ซึ่งไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ใช้ชีวิตบนแผ่นดินไหน หรือเกิดในยุคสมัยใด ก็สามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตได้อย่างเป็นสากล 

ไม่มีใครได้ทุกอย่างที่ต้องการเสมอไป จงมีชีวิตให้เล็ก… แต่กว้าง เจ้ายังมีเพื่อนๆ ที่อดอยาก เจ็บป่วย และกำพร้า พวกเขาไม่มีแม้แต่โอกาสร้องขอสิ่งที่ต้องการ 

 

อ้างอิง 

  • ศิริวรรณ สิทธิภาเพทาย จิรคงพิพัฒน์ นักเขียนมือรางวัล ที่สร้างผลงาน 18 เล่ม ในกรงขังของร่างกายhttps://themomentum.co/petai-writer-typhoon/ 
  • Nussareen. คุยกับโกลาบจัน ผู้เขียน “ใต้ฝุ่น” นิยายรักบนฉากหลังของอัฟกานิสถานhttps://thisable.me/content/2018/10/481