“เครื่องถ้วยที่ใช้สำหรับชนชั้นสูง อันสะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของราชสำนักชาวสยามในสมัยนั้น”
หลังกระจกใสภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีพิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยในราชสำนัก อายุหลายร้อยปี
แสงไฟที่สาดส่องมาจากด้านบนขับสีสันและลวดลายของเครื่องถ้วยให้เด่นชัดท่ามกลางเงามืด เรื่องราวในอดีตคล้ายกำลังถูกเล่าขานอีกครั้ง
เครื่องถ้วยหรือเครื่องเบญจรงค์นี้เรียกอีกอย่างว่า “เครื่องถ้วยให้อย่าง” เพราะราชสำนักสยามเป็นผู้ ‘ให้ตัวอย่าง’ แก่จีนในการสั่งผลิต
เครื่องถ้วยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นสูงในราชสำนักสยามสมัยนั้น
ลวดลายที่ปรากฏมีตั้งแต่ลายดอกไม้ตามธรรมชาติ ไปจนถึงลายครุฑ สัตว์ในตำนานของศาสนาฮินดู ซึ่งตามคติความเชื่อเรื่องกษัตริย์เป็นสมมติเทพ ทำให้เข้าใจว่า เบญจรงค์ลายครุฑเป็นเครื่องใช้ที่ทำขึ้นสำหรับกษัตริย์
โดยสำรับอาหารชุดหนึ่งจะมีภาชนะรูปทรงต่างๆ ซึ่งจะมีการใช้งานที่แตกต่างกันไป เช่น ‘โถทรงแตง’ เป็นภาชนะใส่ข้าวสวย ‘จานเชิง’ หากมีขนาดใหญ่ ก็จะนิยมนำมาไว้ใส่อาหารประเภทยำ ส่วนจานเชิงขนาดเล็กเอาไว้ใส่เครื่องเคียงหรือขนม
เมื่อเวลาล่วงผ่านไป สิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับนิยมก็ค่อยๆ เลือนหายไปตามยุคสมัย เหลือทิ้งไว้เพียงร่องรอยงานหัตถศิลป์ที่เกิดจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ให้เราได้เรียนรู้และศึกษาในเวลาปัจจุบัน.