©ulture

เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว เรามีโอกาสได้ไปเดินเล่นครึ่งวันที่ St Fagans National Museum of History ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองคาร์ดิฟฟ์ เมืองหลวงของประเทศเวลส์

ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นเขียวขจี ชนิดที่สามารถสูดออกซิเจนบริสุทธิ์ตุนไว้ได้เต็มปอด และในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันนั้นเอง พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งนี้ก็สามารถคว้ารางวัล Museum of The Year 2019 รางวัลใหญ่ที่เปรียบได้กับออสการ์แห่งแวดวงพิพิธภัณฑ์โลกมาครอง

St Fagans National Museum of History

จากประสบการณ์ที่ได้ไปสัมผัสพื้นที่เกือบทุกตารางเมตรของ St Fagans ด้วยตัวเอง จึงไม่แปลกใจที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ควรค่ากับคำว่าพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุด แต่เอาเข้าจริง เรากลับต้องทบทวนความทรงจำอีกครั้งว่า ไอ้ที่ไปนั่งชิลปูเสื่อปิกนิกกิน Fish and Chips กับเพื่อนๆ บนสนามหญ้า สลับกับการเดินดูเป็ด ดูปลา ดูนกโรบินบินมาทักทายเล่นใต้ต้นบีชยักษ์ในวันนั้น นั่นคือ เราไปพิพิธภัณฑ์มาจริงๆ ใช่ไหม

St Fagans National Museum of History
รอบพิพิธภัณฑ์แวดล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่อายุหลายร้อยปี

เพราะบรรยากาศสุดแสนจะธรรมดาและเป็นกันเองที่ St Fagans นั้นช่างแตกต่างจากการเดินเข้าไปในประตูพิพิธภัณฑ์อย่างสิ้นเชิง เหมือนเราแค่เข้าไปเดินเล่นในสวนสาธารณะขนาดมหึมาที่มีบ้านเรือนเก่าแก่เรียงรายอยู่ตามเส้นทางให้แวะเข้าไปชม ซึ่งก็สมกับความตั้งใจของภัณฑารักษ์ผู้บุกเบิกที่นี่มาตั้งแต่ปี 1948 อย่างนาย Iorwerth Peate ที่ลั่นวาจาเอาไว้ว่า

“นี่ไม่ใช่การสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บอดีตที่ตายแล้วไว้ในตู้กระจก แต่ St Fagans จะต้องทำหน้าที่เชื่อมโยงอดีตให้เข้ากับปัจจุบัน เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแรงและสภาพแวดล้อมที่ดีแด่ผู้คนในอนาคตสืบไป”

และนี่เองคือที่มาของการสร้างสรรค์ที่นี่ให้เป็น People’s Museum อย่างแท้จริง

St Fagans National Museum of History

ถ้าจะให้แขกผู้มาเยือนอย่างเรา นิยามคำว่า People’s Museum ของ St Fagans ก็ต้องบอกว่า ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์รวบรวมวิถีชีวิตชาวเวลช์ในอดีต ซึ่งสามารถนับย้อนไปได้หลายพันปี มาให้ทั้งชาวเวลช์และชาวโลกได้ศึกษาประวัติศาสตร์มีชีวิตได้อย่างครบถ้วนทุกมิติมากที่สุด โดยจุดเด่นของ St Fagans คือการรวบรวมอาคารที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์มากกว่า 50 หลังมาไว้ที่นี่ ผ่านกระบวนการรื้อถอนจากถิ่นที่ตั้งเดิม แล้วยกมาประกอบใหม่ที่นี่ให้คงสภาพเดิมมากที่สุด

St Fagans National Museum of History
คำว่าอาคารทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้หมายถึงปราสาท ราชวัง วิหาร หรือโบสถ์สุดอลังการ แต่มีทั้งโรงสี โรงนา โรงทอผ้า บ้านช่างตีเหล็ก ที่ทำการไปรษณีย์ ไปจนถึงคอกเลี้ยงหมู!

ทั้งหมดนี้เองที่รวมแล้วเรียกว่า วิถีชีวิตของผู้คน อย่างแท้จริง และท่ามกลางประวัติศาสตร์มีชีวิตที่น่าสนใจไม่แพ้กันเลยสักแห่ง เราได้ทำการคัดสรรวิถีชีวิตธรรมดาที่น่าตามไปดูของผู้คนสมัยก่อน ที่มีรายละเอียดน่าตื่นเต้นในสายตาอาคันตุกะแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเรา มาไว้เป็นน้ำจิ้มให้คุณได้รู้จัก St Fagans National Museum of History ได้ดียิ่งขึ้น

บัทเลอร์ประจำคฤหาสน์ทำอะไรบ้างในแต่ละวัน

จุดเริ่มต้นของ St Fagans National Museum of History เกิดขึ้นที่ St Fagans Castle หรือคฤหาสน์เซนต์ฟาแกนส์ เพราะเจ้าของที่ดินอย่าง Earl of Plymouth รุ่นที่ 3 ได้ยกทั้งตัวคฤหาสน์และที่ดินทั้งหมดกว่า 100 เอเคอร์ ให้แก่ National Museum of Wales เพื่อสร้างเป็นสาธารณะประโยชน์แก่ผืนแผ่นดินเวลส์สืบไป

St Fagans National Museum of History
ปราสาท St. Fagans

คฤหาสน์เซนต์ฟาแกนส์ สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1580 (พ.ศ. 2123 เทียบเท่าสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น) โดยถือเป็นสถาปัตยกรรมในยุคพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 1 ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งเมื่อมองจากมุมท็อปจะเห็นเลย์เอาท์ของตัวอาคารเป็นอักษรรูปตัว E ในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1885 – 1910 คฤหาสน์แห่งนี้มีสถานะเป็นบ้านพักตากอากาศฤดูร้อนของท่านลอร์ด โรเบิร์ต วินด์เซอร์ ซึ่งภายหลังมียศเป็นถึง Earl of Plymouth รุ่นที่ 3

St Fagans National Museum of History38
ภาพปราสาท St Fagans เมื่อ 100 ปีก่อน (photo: https://www.walesonline.co.uk)

ท่านเอิร์ลมักจะพาสมาชิกในครอบครัวรวมทั้งเหล่าบริวารแวดล้อม มาปักหลักพักผ่อนที่นี่ในช่วงฤดูร้อน พอมาถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 คฤหาสน์หลังนี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นสถานพยาบาลชั่วคราวที่สภากาชาดได้ใช้พื้นที่บริเวณรอบๆ ในการพยาบาลบรรดาทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ

แน่นอนว่าเป็นถึงขุนนางระดับเอิร์ล เวลาครอบครัววินเซอร์จะไปไหนแต่ละที จึงต้องมีข้าทาสบริวารคอยรับใช้กว่า 40 ชีวิต ซึ่งแต่ละคนก็มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกันออกไป และตารางการทำงานในแต่ละวันของข้ารับใช้ต่างๆ นี่แหละที่น่าสนใจสุดๆ

St Fagans National Museum of History
โฉมหน้าของบัทเลอร์ตัวจริง

ความสนุกของการเดินชมแต่ละห้องในคฤหาสน์ St. Fagans อยู่ตรงแผ่นป้ายความรู้ที่ผ่านการย่อยข้อมูลมหาศาลให้อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่ได้เต็มไปด้วยรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ยืดยาวยุบยับอย่างในพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ

St Fagans National Museum of History

อย่างแผ่นป้ายแนะนำหน้าที่ของบัทเลอร์ หรือพ่อบ้านประจำคฤหาสน์ กระชับหน้าที่ในแต่ละวันของบัทเลอร์ให้แขกผู้มาเยือนอย่างเราเห็นภาพได้ชัดเจน เช่น บัทเลอร์ต้องรีดหนังสือพิมพ์ทุกเช้า เพื่อที่หมึกจะได้ไม่เลอะเปรอะมือในตอนที่ท่านเอิร์ลอ่านหนังสือพิมพ์ ต้องทำความสะอาดปากกาไม่ให้มีน้ำหมึกเลอะเทอะและเติมหมึกให้พร้อมแก่การใช้งานอยู่เสมอ แยกประเภทจดหมาย รับผิดชอบเครื่องแก้วและเครื่องเงินต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยพร้อมใช้งาน ฯลฯ

St Fagans National Museum of History

เมื่อเดินทะลุไปอีกห้องและเหลือบมองไปบนผนัง ก็เห็นตารางการทำงานในแต่ละวันของเหล่าข้ารับใช้ประจำคฤหาสน์หลังนี้ ที่ต้องตื่นตั้งแต่ 6 โมงเช้า จัดการงานในครัวและตระเตรียมสำรับอาหารเช้า ก่อนที่ต้นห้องชาย-หญิงจะแยกกันไปปลุกนายและนายหญิงในตอน 8 โมงเช้า

จากนั้นคนรับใช้ทุกคนจะกินข้าวพร้อมกันในเวลา 8.15 น. และต้องกินให้เสร็จภายใน 15 นาที เพื่อที่จะได้รุดไปเสิร์ฟอาหารเช้าแก่ท่านเอิร์ลตอน 8.30 น. และเลดี้วินเซอร์ตอน 9.00 น. จากนั้นก็ต้องช่วยท่านลอร์ดแต่งตัว ต้มน้ำให้เลดี้อาบ ช่วยเลดี้แต่งตัว-ทำผม ทำความสะอาดห้องนอน รีดเสื้อผ้า ฯลฯ ฝ่ายคนครัวก็สาละวนเตรียมอาหารกลางวันให้พร้อมเสิร์ฟ เพราะกว่าทุกหน่วยจะสะสางงานช่วงเช้าเสร็จก็ปาไปเกือบเที่ยงแล้ว

St Fagans National Museum of History

บ่ายโมงตรงเหล่าบริกรเริ่มต้นเสิร์ฟอาหารกลางวันแบบ 3 คอร์สแก่สมาชิกตระกูลวินด์เซอร์ และเคลียร์จานให้เรียบร้อยตอนบ่าย 2 โมง พอบ่าย 3 ปั๊บ แม่บ้านก็ต้องเริ่มเปิดเตาเพื่ออบสโคนและทำเค้กสำหรับเสิร์ฟในเวลาน้ำชาตอน 5 โมงเย็น

พอ 6 โมง ใครมีหน้าที่จัดโต๊ะอาหารก็เริ่มเตรียมสำรับสำหรับมื้อเย็น ใครมีหน้าที่ช่วยท่านลอร์ด เลดี้ และสมาชิกตระกูลวินเซอร์แต่งตัวก็ประจำการช่วยสวมเสื้อผ้า แต่งหน้า จัดผมกันไป ก่อนจะเริ่มเสิร์ฟมื้อเย็นแบบ 5 คอร์สในเวลา 2 ทุ่ม ระหว่างนี้ต้นห้องที่รับหน้าที่ดูแลห้องนอนก็จะเริ่มเตรียมเตียงนอน และรอเวลาที่ทั้งครอบครัวจะหนังท้องตึง หนังตาหย่อน พร้อมเข้านอน

St Fagans National Museum of History
ตารางชีวิตของเหล่าผู้รับใช้ในคฤหาสน์แห่งนี้

เมื่อนั้นเองที่หน้าที่ของบรรดาคนรับใช้กว่า 40 ชีวิตถึงจะได้พักผ่อน โดยพ่อบ้านจะทำการปิดไฟและล็อคห้องหับทั้งหมดในเวลา 5 ทุ่ม เพื่อที่จะตื่นมาเริ่มต้นทำงานอีกครั้งในตอน 6 โมงเช้า วนไป

ต่อมาใน ค.ศ. 1948 ท่านเอิร์ลก็ได้ยกทั้งปราสาทและที่ดินทั้งหมดให้กับ National Museum of Wales เพื่อสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้กลางแจ้งในนาม St. Fagans แห่งนี้ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

St Fagans National Museum of History
สวนสวยในบริเวณคฤหาสน์
St Fagans National Museum of History
วิวสวนเมื่อมองลงมาจากรอบๆ บริเวณคฤหาสน์

มหา’ลัยเหมืองแร่ของจริง

ถอยเวลากลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว บ้านขนาดย่อมหลังนี้เป็นที่ตั้งของ Oakdale Workmen’s Institute หรือที่ชาวเวลส์รู้จักกันในชื่อ Stutes ซึ่งเป็นมากกว่าสมาคมชาวเหมืองถ่านหิน

St Fagans National Museum of History
Oakdale Workmen’s Institute

แต่ที่นี่มีสถานะเป็นถึงสถาบันการศึกษา โดยภายในมีทั้งห้องสมุด ห้องอ่านหนังสือ โถงสำหรับจัดแสดงดนตรีและละครเวที ไปจนถึงห้องสันทนาการพลอยทำให้เราจินตนาการถึงความมีชีวิตชีวาในแต่ละห้อง ที่รุ่มรวยไปด้วยบทสนทนาที่บรรดาชาวเหมืองพากันแลกเปลี่ยนทั้งความรู้ และความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวสารบ้านเมืองในแต่ละวัน

St Fagans National Museum of History
ห้องสันทนาการ

เราถูกใจ Quotes ต่างๆ ที่แทรกตัวอยู่ตามชั้นหนังสือในห้องสมุด ซึ่งบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของชาวเหมืองแห่งเวลส์ได้แบบจบในตัว

เช่น The Welsh Miner is a Great Reader  แปลว่า ชาวเหมืองแห่งเวลส์คือนักอ่านตัวเอ้

หรือที่น่ารักมากๆ ก็คือ It is agreed that a subscriber can obtain two books from the Lending Library – one each for himself and wife. หมายถึงว่า เปิดโอกาสให้สมาชิกยืมหนังสือไปฝากภรรยา จะได้อ่านหนังสือไปด้วยกัน

St Fagans National Museum of History
ตู้หนังสือในห้องสมุดแห่ง Oakdale Workmen’s Institute

ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งหลักฐานยืนยันถึงวัฒนธรรมการอ่านที่แข็งแรงของพลเมืองบนเกาะบริเตนใหญ่ ที่ยังคงเข้มข้นอยู่ในสายเลือดจนถึงปัจจุบัน

ที่ St Fagans National Museum of History ช่างกว้างใหญ่ไพศาล ยังมีอีกหลายส่วนให้น่าสำรวจ

รอติดตามตอนต่อไปที่จะพาชมภาพเขียนสีพระเยซูที่น่ารักราวกับการ์ตูนในโบสถ์เก่าแก่อายุกว่า 700 ปี

พร้อมแอบดูสุขาชายแห่งยุควิกตอเรียด้วยกัน.