“จากนั้นก็ใช้มือค่อยๆ สาวเส้นไหมอย่างช้าๆ เพื่อให้ไหมเส้นเล็กๆ หลายเส้น หลอมรวมเป็นเส้นเดียว”
ควันจากถ่านค่อยๆ ลอยสูง หลังจากฟืนไฟในเตาเริ่มติด
จากนั้นเมื่ออุณหภูมิของน้ำร้อนได้ที่ คุณป้าในชุดผ้าท้องถิ่นก็ค่อยๆ หยิบรังไหมใส่หม้อจนเต็ม
.
“เส้นไหมมันมาได้ยังไงครับ”
เด็กชายตัวน้อยถามด้วยความอยากรู้อยากเห็น
ว่ารังไหมที่อยู่ในหม้อน้ำร้อน คลายตัวขึ้นมาเป็นเส้นได้อย่างไร
“ต้องต้มแล้วเอาไม้ช้อนใยมันขึ้นมา”
คุณป้าตอบขณะกำลังนั่งสาวไหม
.
เพราะความร้อนจะทำลายกาวที่ยึดเส้นไยที่อัดแน่นบนรังไหมออกจากกัน
จากนั้นก็ใช้มือค่อยๆ สาวเส้นไหมอย่างช้าๆ เพื่อให้ไหมเส้นเล็กๆ หลายเส้น หลอมรวมเป็นเส้นเดียว
ก่อนจะนำไปฟอก แล้วต่อด้วยกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ
.
ไม่ไกลจากคุณป้านั่งสาวไหม มีกี่ทอผ้าไหมหรือ ‘หูก’ ตั้งอยู่อย่างสงบนิ่ง
ก่อนจะมีสาววัยกลางคนเดินเข้ามาทอผ้าที่เหลือต่อ
“ความยากมันอยู่ที่การเล่นลาย ถ้าลายเยอะก็ยิ่งยาก”
พี่สำลี สาววัยกลางคนที่มีประสบการณ์ในการทอผ้าไหมมากว่า 20 ปี
บอกถึงสิ่งที่ยากที่สุด ก่อนที่จะเป็นผ้าไหมผืนงาม
.
ผมค่อยๆ ผละตัวเองออกห่าง เพื่อเก็บภาพการทอที่ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย
ก่อนจะนำผ้าไหมที่ทอได้ ไปตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม
.
เสียงทอผ้ายังคงดังอยู่ใกล้ๆ
ผ้าที่ทอมาตั้งแต่เช้าใกล้จะแล้วเสร็จ
เช่นเดียวกับการเดินทางของเส้นไหมเหล่านี้ ที่กำลังจะสิ้นสุดลง.
*หมายเหตุงาน ‘ต่ำหูก แต้มผ้า – เล่าอีสานผ่านงานทอ’ จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 5 มกราคม 2563 ณ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม จังหวัดนครราชสีมา