สตรีทฟู้ดสุดพิสดาร ม่านฝุ่น PM 2.5 เสียงบีบแตรกระหน่ำ สตรีในชุดส่าหรี โยคีดัดตน วัวที่เดินได้อย่างเสรีตามท้องถนน ฯลฯ
นึกถึงอินเดีย หลายคนอดไม่ได้ที่จะนึกถึงภาพจำเหล่านี้ที่สามารถพบเห็นจนเจนตา
แต่ไม่ใช่สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
เพราะที่นี่แทบไม่มีใครบีบแตรบนท้องถนน มองไปทางไหนก็สะอาดสะอ้านตา อากาศก็แสนจะบริสุทธิ์ สูดหายใจได้เต็มปอด
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มาทำความรู้จัก ‘อินเดียอีสาน’ สวรรค์ของนักท่องเที่ยวกันเลย
เสน่ห์ที่ไม่เหมือนใครของรัฐเจ็ดสาวน้อย
อินเดียอีสานมักถูกเรียกขานในนาม รัฐเจ็ดสาวน้อย (ที่ประกอบด้วย 8 รัฐ ได้แก่ อัสสัม เมฆาลัย มณีปุระ อรุณาจัลประเทศ มิโซรัม นากาแลนด์ ตรีปุระ และสิกขิม ที่เปรียบเหมือนน้องชายคนสุดท้อง เพราะเป็นรัฐที่เพิ่งถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดียในปี 1975) มีชายแดนติดประเทศจีน พม่า และบังคลาเทศ รวมถึงมีชนเผ่าต่างๆ ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่มาอย่างยาวนาน
ผู้คนในแถบนี้จึงมีวัฒนธรรมเฉพาะเป็นของตนเอง รวมถึงมีหน้าตา ผิวพรรณ การแต่งกาย ลักษณะบ้านเรือน และการดำรงชีพใกล้เคียงกับผู้คนในพม่า ไทย และลาว ใครเคยไปเที่ยวอินเดียมาก่อนสามารถสัมผัสถึงความแตกต่างนี้ได้ทันทีที่เครื่องบินแลนดิ้งสู่ท่าอากาศยานนานาชาติ Lokpriya Gopinath Bordoloi International Airport ในเมืองกูวาฮาติ รัฐอัสสัม ซึ่งถือเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ จึงถือเป็นประตูสู่อินเดียอีสานก็ว่าได้
ความแตกต่างอันดับแรกที่สัมผัสได้ คือ ผู้คนส่วนใหญ่หน้าตาคล้ายคนไทยหรือคนพม่า ไม่พูดภาษาฮินดี เพราะมีภาษาเฉพาะเป็นของตนเองคือ ภาษาอัสสัมมีส เมื่อออกจากสนามบินเข้าสู่เขตเมืองก็สามารถพบเห็นตลาดค้าขายเนื้อสัตว์ที่มีทั้งหมู เป็ด ไก่ ปลา ฯลฯ ต่างจากรัฐอื่นในอินเดียที่ประชากรส่วนมากเป็นมังสวิรัติ เพราะนับถือศาสนาฮินดู ส่วนประชากรในอินเดียอีสานนับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ จึงไม่มีข้อจำกัดเรื่องอาหารการกิน และก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่การเดินทางท่องเที่ยวในแถบนี้สามารถพบเจอโบสถ์คริสต์สวยๆ แทบทุกหัวมุมถนน
บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จัก 1 เมืองใหญ่ในรัฐอัสสัม คือ กูวาฮาติ (Guwahati) และอีก 2 เมืองสุดป็อปปูลาร์แห่งรัฐเมฆาลัย ได้แก่ ชิลลอง (Shillong) และ เชอร์ราปุนจี (Cherrapunji) ผ่าน 10 สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่เมื่อร้อยเรียงเข้าด้วยกันแล้วสามารถบอกเล่าถึงเอกลักษณ์ของรัฐเจ็ดสาวน้อยได้เป็นอย่างดี
แน่นอนว่าสถานที่ท่องเที่ยวทั้งสิบแห่งนี้เปรียบเหมือนหนังตัวอย่างสั้นๆ ที่เชื่อว่าสามารถเย้ายวนใจให้หลายๆ คนอยากออกเดินทางไปสัมผัสเสน่ห์แห่งอินเดียอีสานด้วยตัวเอง
1.
Kamakhya Temple
ขอพลังจากเจ้าแม่กามาขยา
เริ่มต้นออกเดินทางกันที่ กูวาฮาติ (Guwahati) เมืองที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย จนขยับขยายกลายเป็นเขตมหานครใหญ่สุดในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นที่ตั้งของเมืองทิสปุระ (Dispur) เมืองหลวงของรัฐอัสสัม
กูวาฮาติเกิดจากการผสมภาษาอัสสัม 2 คำเข้าด้วยกัน คือ Guwa หมายถึง ผลหมาก และ Hati หมายถึง ทิวแถว รวมความแล้วหมายถึง ดินแดนที่เต็มไปด้วยทิวแถวของต้นหมาก ซึ่งเป็นชื่อที่เหมาะควรเป็นที่สุด เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนในเมืองกูวาฮาติ รวมถึงอีกหลายพื้นที่ในรัฐอัสสัมและเมฆาลัย ก็มองเห็นต้นหมากแทงยอดสูงสู่ฟ้าเป็นแถวเป็นแนวสุดลูกหูลูกตา
นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเมืองกูวาฮาติส่วนมากมักหาโอกาสไปสักการะเทวาลัยเจ้าแม่กามาขยา (Kamakhya) เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยวัดกามาขยาตั้งอยู่บนเขานีลาจละ เป็นวัดที่มีเก่าแก่มากเสียจนมิอาจระบุได้ว่าใครเป็นผู้สร้าง และไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่มีประวัติปรากฏอยู่ในคัมภีร์กาลิกาปุราณะ โดยขอคัดลอกความตอนหนึ่งจากหนังสือ เยี่ยมไทยอาหม สายเลือดของเรา เขียนโดย สารนาถ หรือ สังข์ พัธโนทัย นักหนังสือพิมพ์ผู้เป็นคนไทยคนแรกๆ ที่มีโอกาสได้ไปเยือนเมืองกูวาฮาติตั้งแต่ พ.ศ. 2497
“ครั้งหนึ่งพระศิวะกับนางสตี (คือเจ้าแม่กาลี) ไปเยี่ยมพระทักษะบิดาของนางสตี พระทักษะแสดงความดูหมื่นเหยียดหยามลูกเขยจนนางสตีเสียใจถึงตาย พระศิวะยกร่างของนางสตีขึ้นเหนือหัว ร้องไห้คร่ำครวญไปจนแทบว่าโลกจะถล่มทลาย ทวยเทพจึงขอให้พระวิษณุใช้จักรทำลายร่างของนางสตีให้สูญสิ้นไปเสีย
“ในที่สุดร่างของนางสตีก็ถูกจักรของพระวิษณุตัดออกเป็น 51 ท่อน กระเด็นไปตกตามที่ต่างๆ เช่น นิ้วเท้าขวาไปตกที่เมืองกัลกัตตา ชาวบ้านชาวเมืองถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ทำการบูชากราบไหว้อย่างสูงสุด จำเพาะอวัยวะสืบพันธุ์ของนางสตีมาตกลงที่เขา ณ เมืองเกาฮาตี เขานั้นก็กลายเป็นสีนิลไปพลัน จึงเรียกว่าเขาสีนิลหรือนีลาจละตั้งแต่นั้นมา และถือกันว่าเขานี้คือร่างของพระศิวะนั่นเอง”
สารนาถยังได้บันทึกเพิ่มเติมไว้ว่า “วัดกามาขยาเป็นวัดที่มีลักษณะแปลกกว่าวัดเจ้าแม่กาลีที่สร้างขึ้น ณ ที่อื่นๆ ในอินเดีย เพราะไม่มีรูปเจ้าแม่กาลีประดิษฐานในโบสถ์เพื่อเป็นที่เคารพสักการะ ภายในโบสถ์มีถ้ำ ที่มุมถ้ำมีรูปอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิงสร้างไว้บนหินเรียกว่าโยนิ กับยังมีน้ำพุธรรมชาติไหลรินๆ ทำความชุ่มให้แก่รูปโยนิอยู่ตลอดเวลา ทุกวันมีการฆ่าสัตว์บูชาเจ้าแม่กาลีอย่างเดียวกับที่ปฏิบัติกันอยู่ตามวัดเจ้าแม่กาลีทั่วไป เว้นแต่ที่นี่ห้ามฆ่าสัตว์ตัวเมีย เพราะถือว่าเป็นเพศเดียวกับเจ้าแม่”
“พวกที่มาบูชาโยนิโดยมากเป็นพวกผู้หญิง ฤดูที่มาไหว้มากที่สุดคือเดือนมิถุนายนกับตุลาคม อุตส่าห์เดินทางมาจากที่ไกลๆ เมื่อมาถึงก็อยู่หลับนอนที่วัด 2-3 วัน บูชาโยนิเจ้าแม่กาลีด้วยดอกไม้และใบไม้ จนอิ่มอกอิ่มใจแล้วจึงเดินทางกลับ”
ทั้งนี้ยังมีเรื่องเล่าจากคนไทยอีกหนึ่งคนที่ไปเยือนวัดกามาขยาเป็นคนแรกๆ เช่นกัน นั่นคือ ศาสตราจารย์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ที่กล่าวว่า “นอกจากวัดกามาขยาจะมีความน่าสนใจทางโบราณคดีและสถาปัตยกรรมแล้ว สิ่งที่น่าแปลกคือมีการบูชายัญด้วยสัตว์ที่ไม่ค่อยพบในการบูชายัญนัก เช่น นก นอกจากแพะซึ่งถูกบูชายัญอยู่ทุกวัน”
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ภายในบริเวณวัดกามาขยาจะเต็มไปด้วยสัตว์นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นแพะทุกขนาดทุกวัยที่เดินกันขวักไขว่ นกพิราบที่ทั้งเดินอยู่ตามพื้น บินอยู่บนฟ้า และเกาะอยู่ทั่วบริเวณ ยังรวมถึงวัว สุนัข แมว ฯลฯ ที่ใช้ชีวิตปะปนกับสาธุชนผู้ศรัทธาในพระแม่กามาขยา ต่อแถวยาวเหยียดคดเคี้ยวเป็นงูกินหางเพื่อรอคอยที่จะได้เข้าไปสักการะโยนีด้วยตัวเอง
สำหรับใครที่ไม่ใช่สายมูบูชาเทพ แต่สนใจในเรื่องราวของประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมก็สามารถเอมใจกับการมาเยือนวัดกามาขยาได้เช่นกัน เพราะทั้งโครงสร้างอาคารของมนเทียรและประติมากรรมโดยรอบนั้นเต็มไปด้วยรายละเอียดสวยวิจิตรพิสดาร กล่าวกันว่าวัดกามาขยาแห่งนี้ผ่านการปฏิสังขรณ์หลายต่อหลายครั้งในระหว่างศตวรรษที่ 8–17 ก่อให้เกิดงานศิลปกรรมที่ผสมผสานรูปแบบพื้นถิ่นต่างๆ เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่เรียกว่า ศิลปะนิลจัล (Nilachal Type) ซึ่งก็หมายถึง มณเฑียรที่มีโดมทรงกลมบนฐานอาคารทรงกางเขน อันเป็นรูปทรงอาคารที่ไม่ค่อยปรากฏในวัดฮินดูทั่วไป
2.
Umananda Temple
สักการะพระศิวะ ณ เกาะกลางแม่น้ำพรหมบุตร
การไปเยือนเมืองกูวาฮาติมิอาจสมบูรณ์แบบได้ หากคุณพลาดการนั่งเรือล่องแม่น้ำพรหมบุตร ( Brahmaputra) แม่น้ำที่เราคุ้นชื่อในตำราเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ พอมาเจอเข้ากับของจริงเป็นต้องตกตะลึงในความกว้างใหญ่ แลดูเปี่ยมด้วยพลังแห่งมวลน้ำมหาศาล
ท่ามกลางผืนน้ำกว้างสุดกว้าง มีเกาะเล็กๆ ร่มครึ้มด้วยแมกไม้เขียวขจีปรากฏอยู่กลางแม่น้ำ ชาวอังกฤษในยุคบริติชราชเรียกขานเกาะแห่งนี้ว่า Peacock Island ตามรูปลักษณ์ที่มองดูคล้ายนกยูงรำแพน และบนเกาะกลางแม่น้ำที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญของชาวอัสสัม นั่นคือ วัดอุมานันทา (Umananda Temple)
ตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระศิวะทรงสร้างเกาะแห่งนี้แด่พระแม่อุมา หรือนางปารวตี ผู้เป็นมเหสี จากนั้นพระองค์ก็นั่งสมาธิบำเพ็ญเพียร ณ เนินเขา แต่กลับถูกกามเทพมายั่วให้ตบะแตก พลันดวงตาที่สามของพระศิวะเปิดขึ้นก็เกิดไฟเผาผลาญกามเทพจนม้วยมรณา กองเถ้าดังกล่าวพูนสูงเป็นเขาลูกนี้ที่ได้ชื่อว่า Bhasmachal อันเป็นที่ตั้งของวัดอุมานันทาในปัจจุบัน
นอกเหนือไปจากตำนาน กล่าวกันว่าวัดอุมานันทาสร้างขึ้นโดยกษัตริย์อาหมเมื่อกว่า 330 ปีที่แล้ว แต่พังทลายไปในปี 1897 เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ พ่อค้าวานิชผู้ร่ำรวยรายหนึ่งจึงทำการบูรณะวัดอุมานันทาขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้ฮินดูชนได้มีโอกาสล่องเรือข้ามแม่น้ำมาขอพรพระศิวะผู้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจตราบจนปัจจุบัน โดยผู้คนจะคลาคล่ำเป็นพิเศษในเทศกาลศิวะราตรีราวเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมของทุกปี
3.
Cathedral of Mary Help of Christians
มหาวิหารโกธิคแห่งชิลลอง
หากถอยเวลากลับไปก่อนปี ค.ศ. 1972 สมัยที่รัฐเมฆาลัยยังไม่ถูกขีดเส้นแบ่งขึ้นบนแผ่นที่ประเทศอินเดีย นครที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของรัฐอัสสัมก็คือ ชิลลอง (Shillong) ที่อยู่ห่างจากกูวาฮาติไปเพียง 100 กิโลเมตร ทว่ากลับแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ทั้งสภาพภูมิอากาศ ภาษาที่ใช้ ศาสนาที่นับถือ รูปร่างหน้าตาของผู้คน ไปจนถึงบรรยากาศของบ้านเมือง
จากกูวาฮาติที่ผู้คนนับถือศาสนาฮินดู หน้าตาคมสัน จมูกโด่ง ตาโต เหมือนชาวอินเดียที่เราคุ้นตา เพียงนั่งรถลัดเลาะป่าหมากและทิวเขา อ้อมผ่านทะเลสาบ Umiam ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่งมาถึงเมืองชิลลอง ที่สภาพอากาศเปลี่ยนปุบปับ อุณหภูมิลดจากในกูวาฮาติหลายองศา จนต้องคว้าเสื้อกันหนาวมาสวมเพิ่ม มองไปทางไหนผู้คนก็หน้าตาคล้ายๆ คนไทย และที่น่าประหลาดใจคือ สองข้างทางเต็มไปด้วยเขียงขายเนื้อหมู เป็ด ไก่ ปลา ไปจนถึงเนื้อวัว!
และแทนที่จะมีวัดฮินดูเหมือนที่อื่นๆ ในอินเดีย ชิลลอง (รวมถึงเกือบทุกเมืองในรัฐเมฆาลัย) กลับเต็มไปด้วยโบสถ์คริสต์สวยๆ กระจายอยู่ทุกมุมเมือง โดยมีมหาวิหารทรงโกธิคสีฟ้าสวยสะดุดตาอย่าง Cathedral of Mary Help of Christians ตั้งเด่นเป็นสง่าใจกลางนครชิลลอง
นั่นเป็นเพราะประชากรในแถบนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีทั้งชาวกาสี เจนเตีย และกะโร ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงมีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มของตนเอง แตกต่างทั้งหน้าตา การแต่งกาย ไปจนถึงอาหารการกินที่ไม่จำกัดแค่มังสวิรัติเหมือนฮินดูชน แต่สามารถกินเมนูเนื้อสัตว์ต่างๆ หลากหลาย คนไทยที่ไปเที่ยวรัฐเมฆาลัยจึงอิ่มเปรมกับอาหารรสชาติถูกปาก อากาศดีถูกใจ ผู้คนหน้าตาคล้ายๆ กับเรา และมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยอลังการให้เที่ยวไม่อั้น ชนิดที่ต่อให้เผื่อเวลาแค่ไหนก็เก็บไม่มีทางครบแน่นอน
ก่อนจะไปสำรวจที่เที่ยวในรัฐเมฆาลัยให้ถ้วนทั่ว ห้ามพลาดการแวะไปถ่ายภาพกับมหาวิหารสีฟ้าสวยเท่แห่งนี้ ที่เป็นมหาวิหารนิกายโรมันแคทอลิกเก่าแก่อายุกว่า 85 ปี สร้างโดยคณะมิชชินนารี Salvatorians จากเยอรมนีที่มาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่นี่เป็นคณะแรก เดิมเป็นอาคารไม้ แต่หลังจากถูกไฟไหม้ไปเมื่อปี 1936 ก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่จนมีลักษณะสถาปัตยกรรมโกธิคสวยอลังการดั่งที่ปรากฏในปัจจุบัน
ไม่เฉพาะมหาวิหารแห่งนี้เท่านั้นที่งดงามแปลกตา ตลอดเส้นทางท่องเที่ยวในรัฐเมฆาลัยเต็มไปด้วยโบสถ์วิหารดีไซน์สวยล้ำไม่ซ้ำกันให้แวะถ่ายรูปได้ไม่รู้เบื่อ
4.
Laitlum Canyon
แกรนด์แคนยอนเขียวขจีแห่งอินเดียอีสาน
สก็อตแลนด์แห่งตะวันออก (The Scotland of the East) คือสมญาของเมืองชิลลอง ที่ชาวอังกฤษเรียกขานมาตั้งแต่สมัยบริติชราช เพราะหน้าตาของเทือกเขาในแถบนี้มีลักษณะเป็นทิวเขายอดตัดบ้าง กลมๆ มนๆ บ้าง บรรยากาศละม้ายทิวทัศน์แถบสก็อตแลนด์ไม่มีผิด
หากยังท่องเที่ยวอยู่ในตัวเมืองชิลลองอาจจะรู้สึกไม่เข้าถึงกลิ่นอายความเป็นสก็อตแลนด์นัก เช่นนั้นแล้วขอให้ปักหมุดไปที่ Laitlum Canyon เขยิบห่างจากความพลุกพล่านในตัวเมืองชิลลองราว 45 กิโลเมตร ก็จะได้สัมผัสกับความงามของดินแดนหินผาและหุบเหวเขียวขจีที่สวยชวนตะลึง
Laitlum เป็นภาษากาสี แปลว่า End of hills อันเป็นนิยามที่เหมาะกับทิวทัศน์ของสุดเนินเขาซึ่งมองเห็นหุบเขาสลับซับซ้อนแบบพาโนรามากว้างไกลสุดลูกหูลูกตาของหุบเขากาสีตะวันออก (East Khasi Hills) ที่เขียวขจีตลอดทั้งปี เพราะเมฆาลัยเป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่แห่งบนโลกที่ได้ชื่อว่ามีปริมาณน้ำฝนชุกที่สุดในแต่ละปี
ว่ากันว่า หากไปเยือน Laitlum Canyon ในหน้าฝนก็จะได้สัมผัสกับความชุ่มชื้นของสายฝน ไอหมอก และปุยเมฆลอยเคลียยอดเขา ราวกับได้เดินลุยเหนือเมฆสมชื่อของรัฐเมฆาลัย ส่วนในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่เราไปเยือน เมฆาลัยเพิ่งหมาดฝนและกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ดอกไม้ป่าหลากสีสันจึงทยอยกันบานสะพรั่งตามเชิงผาและบนทุ่งหญ้าทั่วทั้งหุบเขา เป็นภาพที่สวยงามแปลกตาไม่ซ้ำฤดูกาล
Laitlum Canyon เป็นจุดหมายยอดนิยมในการท่องเที่ยวแบบ Day Trip ของชาวชิลลอง ทั้งเพื่อนฝูง ครอบครัว รวมถึงนักท่องเที่ยวนิยมมาเดินเล่น ชมวิว ถ่ายรูป พักผ่อนหย่อนใจกันที่นี่ตั้งแต่วันยันค่ำ โดยเฉพาะโมงยามที่พระอาทิตย์ค่อยๆ ลับเหลี่ยมเขาที่ Laitlum Canyon นั้นถือเป็นการชมอาทิตย์อัสดงที่พิเศษสุดครั้งหนึ่งในชีวิต
5.
David Scott Trail
เส้นทางเดินป่าสุดคลาสสิคแห่งรัฐเมฆาลัย
ห่างจากตัวเมืองชิลลองไปเพียง 30 กิโลเมตร มีเส้นทางเดินป่าเก่าแก่ที่สุดแห่งรัฐเมฆาลัยรอให้นักเดินทางที่โปรดปรานการ hiking ได้เดินสำรวจผืนป่าศักดิ์สิทธิ์ของชาวกาสี ที่เป็นหนึ่งในตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน
David Scott Trail เป็นเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติที่มีระยะทางราว 16 กิโลเมตร ลัดเลาะไปตามขุนเขากาสีฝั่งตะวันออก (East Khasi Hills) โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าเก่าแก่ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรที่เชื่อมระหว่างอินเดียและบังคลาเทศในสมัยที่อังกฤษปกครองอินเดีย ชื่อของ Trail นี้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ David Scott ผู้ตรวจการชาวอังกฤษคนแรกที่ถูกส่งตัวมากำกับดูแลอาณาเขตอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงต้นปี 1800s และเป็นผู้บุกเบิกเส้นทางการค้าสายนี้
David Scott Trail เป็นเส้นทางเดินป่าที่เชื่อมระหว่าง 2 หมู่บ้าน คือ Mawphlang และ Lad Mawphlang โดยอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล บรรยากาศของเส้นทางเดินป่า David Scott Trail ลัดเลาะไปตามหุบเขาลึกที่มีแม่น้ำอูเมียม (Umiam) ไหลเคียงข้างไปตลอดทาง และพาดผ่านป่าศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Grove) ของชาวกาสี ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดหยิบฉวยทรัพยากรธรรมชาติในป่าผืนนี้ติดมือกลับไป แม้จะเป็นแค่กิ่งไม้หรือก้อนกรวดก็ไม่ควร
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ David Scott Trail ถือว่าเดินง่าย เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย และปลอดภัยหายห่วง เพราะจะต้องติดต่อไกด์ท้องถิ่นในการนำทางเสมอ จึงทำให้เพลิดเพลินกับธรรมชาติสองข้างทางได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวหลง แถมยังได้รับเกร็ดความรู้ต่างๆ จากไกด์ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำให้รู้จักพืชพรรณประจำถิ่นที่ขึ้นอยู่ริมทาง เด็ดผลไม้ต่างๆ ให้ลองชิม หรือใช้ความเจนถิ่นในการลิดเฟิร์นกิ่งโตมาสานเป็นมงกุฏดอกหญ้าให้นักท่องเที่ยวสวมศีรษะเพื่อถ่ายรูปเล่นกันสนุกๆ ไปจนถึงการแวะเล่นน้ำใสไหลเย็นในลำธารก็ยังได้
รวมถึงการบอกเล่าตำนานและความสำคัญของสถานที่ต่างๆ เช่น สะพานแขวนข้ามแม่น้ำอูเมียมที่เคยถูกน้ำท่วมใหญ่พัดพังทลายไปเมื่อปี 2007 และสร้างขึ้นใหม่พร้อมใช้งานในปี 2012 พร้อมสร้างความตื่นเต้นเบาๆ เพิ่มสีสันให้ช่วงแรกของการเริ่มเดินป่า
หนึ่งในไฮไลท์ช่วงใกล้จะสิ้นสุดเส้นทาง คือ พิกัดของสะพานหินเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ที่สร้างโดย เดวิด สก็อตต์ ซึ่งใช้ภูมิปัญญาเก่าแก่ของการหินก้อนโตมาก่อติดเข้าด้วยกันด้วยโคลนโดยไม่จำเป็นต้องใช้ซีเมนต์ในการยึดเกาะก็สามารถอยู่ยั้งยืนยงมาได้ถึงปัจจุบัน
ด้วยเอกลักษณ์ของการเป็นพื้นที่ของการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนและธรรมชาตินี่เอง ทำให้ David Scott Trail ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การสหประชาชาติให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ของชนพื้นเมืองและชุมชน หรือ ICCAs (Indigenous and Community Conserved Areas) ที่คนพื้นเมืองอยู่ร่วมกับผืนป่าได้อย่างยั่งยืน
6.
Kyllang Rock
โดมหินยักษ์แห่งมหาศึกระหว่างเทพ
เขยิบจากขุนเขากาสีตะวันออก ไปสู่ขุนเขากาสีตะวันตก (West Khasi Hills) กันบ้าง ตัวแทนแหล่งท่องเที่ยวจากฝั่งตะวันตกโดดเด่นน่าสนใจไม่ใช่เล่น เพราะมีตำนานน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับเทพในอดีตกาลมาพัวพัน
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนั้นมีชื่อว่า Kyllang Rock ตั้งอยู่ในเขตหมู่บ้าน Nongkhlaw ห่างจากเมืองชิลลองไปราว 60 กิโลเมตร เส้นทางลัดเลาะไปตามป่าเขาและหมู่บ้านผ่านทิวทัศน์เขียวขจีที่ดูเหมือนไม่น่าจะมีอะไร แล้วจู่ๆ ก็มีโดมภูเขาหินลูกโตโผล่ขึ้นกลางทางเสียดื้อๆ
Kyllang Rock เป็นก้อนหินยักษ์ที่อยู่ท่ามกลางพื้นที่ราบ หรือที่ศัพท์ทางธรณีวิทยาเรียกกันว่า Monolith ซึ่งมักจะมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันไป หรืออาจคล้ายสิ่งต่างๆ เช่น เต่า เกลียวคลื่น ฯลฯ สำหรับหินคิลแลงนั้นไม่มีรูปลักษณ์เหมือนอะไรเป็นพิเศษ แต่พิเศษตรงตำนานการเกิดของโดมหินก้อนนี้ที่ชาวกาสีเล่าสืบทอดกันมาแต่โบราณ
ชาวกาสีเชื่อกันว่าโดมหินคิลแลงเป็นผลพวงของการต่อสู้กันระหว่างเทพเจ้าในยุคโบราณสององค์ คือ Kyllang กับ Symper ที่ต่างฝ่ายต่างก็ทุ่มหินก้อนมหึมาและสารพัดโคลนต่างๆ นานาเข้าใส่กัน ผลที่ได้คือกองหินที่ก่อตัวจนพูนสูงกลายเป็น Kyllang Rock ดั่งที่เห็นในปัจจุบัน
Kyllang Rock เป็นอีกหนึ่งพิกัดของการเดินป่าแบบเบาๆ ที่ใครก็สามารถเดินขึ้นไปบนยอดโดมหินได้สบายๆ เพราะมีการทำเส้นทางเดินเอาไว้เป็นอย่างดี เดินง่าย ไม่อันตราย (แต่ไม่ควรมาเที่ยวในช่วงฤดูฝน เพราะอาจลื่นไถลได้) ใช้เวลาเดินไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ได้ไปนั่งชิล นอนชิลบนลานหินที่มองเห็นทิวทัศน์ของขุนเขากาสีตะวันตกได้กว้างไกลสุดสายตา
7.
Kongthong : The Whistling Village
หมู่บ้านที่ทุกคนผิวปากแทนการพูดจา
หน้าตาของ หมู่บ้าน Kongthong แทบไม่ต่างจากหมู่บ้านอื่นๆ ในแถบเมฆาลัย ทั้งลักษณะของตัวเรือนที่ส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่ เส้นทางสัญจรภายในหมู่บ้านที่สะอาดสะอ้าน และเชื่อมต่อกันทุกครัวเรือน ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่และสบายตาด้วยไม้ดอกไม้ประดับที่ราวกับแต่ละบ้านแอบประกวดประชันกันเบาๆ
ที่จริงแล้วไม่ว่าจะไปที่ไหนในรัฐเมฆาลัย เราสามารถสัมผัสได้ถึงความสะอาด ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ท่องเที่ยวมาแล้วหลายรัฐในอินเดีย กล้ายืนยันว่าเมฆาลัยเป็นรัฐที่สะอาดมากที่สุดแห่งหนึ่ง ทั้งการที่ไม่มีขยะเกลื่อนกลาด และเกือบทุกสถานที่ที่ไปเยือนมักมีบริการห้องน้ำสาธารณะแบบ Use and Pay ไว้บริการ
หนึ่งในหลักฐานที่ Claim ความสะอาดระดับสุดยอดของเมฆาลัย คือ Mawlynnong Village เจ้าของสมญาหมู่บ้านที่สะอาดที่สุดในเอเชีย ที่มีจุดขายเป็นความสะอาดและอากาศบริสุทธิ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนเนืองแน่นตลอดทั้งปี
กลับมาที่หมู่บ้าน Kongthong ซึ่งไม่ได้มีจุดขายในแง่สะอาดเหนือใคร แต่พิเศษกว่านั้นคือ สมาชิกทุกคนในหมู่บ้าน ตั้งแต่เด็กที่เริ่มพูดได้ไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ล้วนมีวิธีสื่อสารกันเองในแบบเฉพาะตัวด้วยการผิวปาก ที่มีชื่อเรียกในภาษากาสีว่า jingrwai iawbei โดยแต่ละคนจะมี ‘ชื่อผิวปาก’ ที่เป็นทำนองเฉพาะตัว ชื่อนี้แต่งโดยผู้เป็นแม่ที่จะมอบเมโลดี้ไพเราะไม่ซ้ำใคร ผ่านการผิวปากหรือฮัมเพลงที่แม่แต่งขึ้นเองให้ลูกน้อยฟังทุกวัน
ความเพลิดเพลินของการได้เดินเล่นในหมู่บ้าน Kongthong จึงเป็นการแว่วเสียงคล้ายๆ ผิวปากกู่ก้องเป็นท่วงทำนองแปลกหูเกือบจะตลอดเวลา ซึ่งเหมือนเป็นการคุยกันจากระยะไกล อาจจะร้องเรียกกัน ทักกัน หรือส่งสัญญาณให้ทำอะไรบางอย่าง ฟังไปฟังมาก็เพลินดี คล้ายเสียงนกร้องหรือจักจั่นก้องกังวานไกล
8.
Bamboo Trail
สะพานไม้ไผ่สุดขอบฟ้า
ห่างจากหมู่บ้าน Kongthong ในระยะหนึ่งภูเขาขวางกั้นเป็นระยะทางราว 50 กิโลเมตร คือที่ตั้งของหมู่บ้าน Wahkhen อีกหนึ่งชุมชนชาวกาสีที่สื่อสารกันเองในหมู่บ้านด้วยการผิวปากเช่นกัน หากนั่นไม่ใช่จุดขายของที่นี่ เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังหมู่บ้าน Wahkhen ต้องการพิชิต Bamboo Trail เป็นสำคัญ
Bamboo Trail เป็นเส้นทางเดินป่าบนสะพานไม้ไผ่สมชื่อ อารมณ์คล้ายๆ ภูทอกในจังหวัดบึงกาฬของบ้านเรา ที่เป็นสะพานไม้เวียนรอบหน้าผาเพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมน้อมนำให้เข้าถึงหลักคำสอนของพระพุทธองค์
ในขณะที่ Bamboo Trail นั้นมีจุดหมายปลายทางที่ U Mawryngkhang หรือ King of Stones หินยักษ์ทรงแหลมแทงสูงขึ้นไปสู่ฟ้า ที่แน่นอนว่าต้องมีตำนานเล่าขานที่น่าตื่นเต้นประกอบการเดินทาง
เชื่อกันว่าเมื่อครั้งอดีตกาล หินทุกก้อนมีชีวิตจิตใจ และมักรบพุ่งแย่งชิงอำนาจกัน โดย Mawryngkhang คือผู้แข็งแกร่งเหนือหินผาทั้งหลาย จึงได้ครองตำแห่งราชาแห่งศิลาในอาณาจักรของตนเอง
ครั้งหนึ่งเมื่อ Mawryngkhang เดินทางท่องเที่ยวไปยังอาณาจักรใกล้เคียง แล้วเกิดตกหลุมรักเข้ากับหินสาวสวยที่มีนามว่า Kthiang สร้างความไม่พอใจให้กับ Mawpator ที่มีศักดิ์ศรีเป็นราชาแห่งศิลาประจำถิ่นนั้น ซึ่งก็มีใจให้ Kthiang เช่นกัน ราชันย์ของสองอาณาจักรจึงประลองกำลังห้ำหั่นกัน เพื่อชิงหญิงสาวมาครอบครอง
Mawpator นั้นเป็นต่อในช่วงแรก เพราะสามารถตัดแขนซ้ายของ Mawryngkhang จนขาดสะบั้น กระนั้นราชาแห่งศิลาก็ยังคงกัดฟันต่อสู้อย่างอาจหาญ รวบรวมพละกำลังทั้งหมดที่เหลืออยู่แล้วใช้แขนขวาบั่นศีรษะของ Mawpator จนแพ้หมดรูป
กล่าวกันว่าร่องรอยการต่อสู้ทั้งหมดยังปรากฏอยู่ ณ บริเวณนี้ โดยสามารถมองเห็นได้จาก Mawmoit ซึ่งเป็นจุดชมวิวก่อนถึง U Mawryngkhang โดยบริเวณผาสีขาวด้านซ้ายเปรียบเหมือนแผลฉกรรจ์ที่ Mawryngkhang ถูกตัดแขนซ้ายออกไป และไม่ไกลกันนั้นมีหินก้อนเล็กกว่าที่เชื่อกันว่าเป็น Kthiang ที่ได้ยืนหยัดเคียงข้าง Mawryngkhang ตลอดกาล ในขณะที่ศีรษะของ Mawpator นั้นร่วงหล่นไปอยู่ในหุบเขาด้านล่างนั่นเอง
นอกเหนือไปจากตำนานสนุกๆ แล้ว เส้นทางเดินป่า Bamboo Trail ที่มีระยะทางไป-กลับรวม 3.7 กิโลเมตรก็เดินง่ายและสนุกเช่นกัน โดยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เพิ่งได้รับการบุกเบิกและสร้างสะพานต่างๆ ขึ้นเมื่อปี 2017 มีทั้งสะพานแขวนข้ามแม่น้ำ Wahrew ทั้งหมด 5 เส้น สลับกับสะพานไม้ไผ่อีกกว่า 50 สะพาน
สำหรับผู้ที่คิดคำนวณและลงมือก่อสร้างสะพานไม้ไผ่แห่ง Bamboo Trail ได้แก่ Roger Buhphang และ Nising Khongjirem ชาวบ้านในหมู่บ้าน Wahkhen ที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและความชำนาญในพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผืนป่าแห่งหมู่บ้านไกลปืนเที่ยงให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแนวผจญภัยที่นักเดินทางสายเอาท์ดอร์พร้อมจะดั้นด้นมาเยือน
หมายเหตุ : แม้จะเป็นสะพานไม้ไผ่ริมผาท่ามกลางอ้อมกอดของเทือกเขาสูงใหญ่ แต่กลับไม่น่าหวาดเสียวแม้แต่น้อย ภูทอกของเรามีดีกรีชวนขาสั่นมากกว่าสิบเท่า ! แนะนำว่าใครมาเที่ยวเมฆาลัยควรหาเวลาสักครึ่งวันมาเที่ยว Bamboo Trail แห่งนี้ที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย
9.
Dawki River
แม่น้ำที่ทำให้เรือทุกลำดูราวกับล่องลอยได้
ลองเสิร์ชคำว่า Dawki River ใน Google หรือ Instagram ดู
ผลลัพธ์ที่ได้คือ เรือที่ลอยลำอยู่ในแม่น้ำสีเขียวอมฟ้าใสแจ๋วเสียจนดูราวกับล่องลอยอยู่เหนือผิวน้ำ
ทิวทัศน์สวยสะกดใจแบบนี้ มีหรือจะอดใจไหว Dawki River จึงถูกปักหมุดลงในแผนการเดินทางทันที
จากเมืองชิลลองไปยังแม่น้ำดอว์กี (Dawki River) หรือในอีกชื่อเรียกหนึ่งคือ แม่น้ำอุมโงต (Umngot River) เป็นระยะทางเพียง 80 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ด้วยเส้นทางคดโค้งลัดเลาะไปตามป่าเขา และระหว่างทางมีน้ำตกสวยๆ หลายแห่งให้แวะจอดรถหยุดพัก แล้วเดินไปทักทาย ไม่ว่าจะเป็น Krangshuri Falls, Phe Phe Waterfalls, Tyrshi Fall, Sua Ludong Waterfalls ฯลฯ ทำให้คนเดินทางต้องบริหารเวลาดีๆ เพราะขึ้นชื่อว่าน้ำตก แปลว่า ต้องอยู่กลางป่า นั่นหมายความว่าต้องใช้เวลาเดินเข้าไปเป็นระยะทางพอสมควรก่อนจะได้ชื่นชมความงามของธรรมชาติ
แม่น้ำดอว์กี อยู่ไม่ไกลจาก Mawlynnong หมู่บ้านที่สะอาดที่สุดในเอเชีย จึงสามารถหาบ้านพักที่ Mawlynnong ได้ แล้วค่อยนั่งรถมาล่องเรือที่ดอว์กี หรือจะหาที่พักแถวๆ แม่น้ำเลยก็สะดวกดี จะได้มีเวลาละเลียดวิวของพรมแดนอินเดีย – บังคลาเทศแบบไม่ต้องรีบร้อน
ริมฝั่งแม่น้ำดอว์กีเรียงรายด้วยป่าหมากร่มเย็นสบายตา เมื่อไปถึงแล้วก็ไม่ต้องพูดพล่ามทำเพลง จะมีคนขับเรือเดินมาทักทายขันอาสาพานั่งเรือล่องแม่น้ำในราคาที่ทัดเทียมกันทุกเจ้า ไม่ต้องต่อรองให้เหนื่อย (ราคาล่องเรือไป-กลับราว 1 ชั่วโมง 600 รูปี หรือประมาณ 300 บาท)
แน่นอนว่าภาพจากอินเตอร์เน็ตดูจะสวยเกินจริงไปมาก เพราะแม้แม่น้ำดอว์กี้จะใสสะอาดจนสามารถมองเห็นหินกรวดก้อนกลมใต้ท้องน้ำและฝูงปลาแหวกว่ายได้ถนัดตา ทว่าไม่ได้มีสีเขียวฟ้ากระจ่างตาเหมือนผลจากการ Search ภาพในโลกออนไลน์
หากอยากได้ภาพของเรือลอยเหนือผิวน้ำสีฟ้าเขียวคราม คนพายเรือในท้องที่แนะนำว่าควรมาเที่ยวในเดือนมกราคม และออกเรือตอนเที่ยงท่ามกลางแดดจัดจ้า 200% ถึงจะได้ภาพในฝัน Instagrammer คนไหนอยากได้รูปสวยเหนือจริง เตรียมวางแผนการเดินทางไว้แต่เนิ่นๆ ได้เลย
นอกเหนือไปจากการถ่ายภาพสวยๆ แล้ว การได้ปล่อยจอยปล่อยใจล่องลอยไปกับเรือที่ลอยลำไปเรื่อยๆ ในแม่น้ำใส สะอาด สงบ ท่ามกลางโอบล้อมของขุนเขาเขียวขจีที่ขนาบสองฝั่งน้ำ ได้เมียงมองชาวบ้านที่กำลังจับปลาตามวิถีดั้งเดิม สัมผัสไอเย็นของแก่งน้ำไหลซู่รุนแรงที่ปลายทาง ถือเป็นหนึ่งในโมเมนต์ชวนประทับใจที่ Search หาในอินเตอร์เน็ตยังไงก็ไม่เจอ ต้องเดินทางมาสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้น
10.
Living Root Bridge
สะพานรากไม้ขวัญใจมหาชน
ปิดท้ายด้วยสถานที่ท่องเที่ยวที่ถือเป็นแลนมาร์คประจำรัฐเมฆาลัยก็ว่าได้ นั่นคือ Living Root Bridge หรือสะพานรากไม้ มรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษชาวกาสีและเจนเตียใช้ภูมิปัญญาทางวิศวกรรมท้องถิ่นในการปลูกต้นยางขึ้นสองฝั่งแม่น้ำ รอคอยให้ต้นยางค่อยๆ เติบใหญ่ปีแล้วปีเล่า พลางถักทอรากอันเหนียวแน่นแข็งแรงของต้นยางจากทั้งสองฟากแม่น้ำให้ประสานเข้าหากันจนเกิดเป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่แข็งแกร่งเสียยิ่งกว่าสะพานคอนกรีตสมัยใหม่
ว่ากันว่าลึกเข้าไปในผืนป่ากาสีละแวกนี้ยังมีสะพานรากไม้เก่าแก่หลงเหลืออยู่หลายแห่ง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการชมสะพานรากไม้แบบไม่ต้องบุกปาฝ่าดง คงไม่มีที่ไหนเหมาะเท่าหมู่บ้าน Nongriat ในเมืองเชอร์ราปุนจี (Cherrapunji) หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ Sohra ที่อยู่ห่างจากเมืองชิลลองไปราว 70 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวเป็นที่เรียบร้อย
ผู้เขียนเคยอยากไปเยือนความมหัศจรรย์ของธรรมชาติบวกความเพียรพยายามของมนุษย์แห่งนี้มากเสียจนหาข้อมูลเขียนถึง สะพานมีชีวิตแห่งเมฆาลัย ก่อนได้ไปเห็นของจริงนานถึงสามปี โดยเคยจินตนาการไว้ว่าสะพานรากไม้ต้องอยู่กลางป่าลึกและเดินทางไปยากมากเสียจนน้อยคนถึงจะสามารถไปเยือนได้
การณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสุดป็อบ แม้จะต้องเดินลงบันไดถึง 3,000 กว่าขั้น (และต้องไม่ลืมว่าเดินลงแล้วต้องเดินขึ้นอีก 3,000 กว่าขั้นในขากลับเช่นกัน) นักท่องเที่ยวทั้งหลายก็ไม่หวั่น พร้อมใจกันเดินๆ พักๆ ตลอดทางเพื่อไปยลโฉมสะพานรากไม้ด้วยตัวเองให้ได้
เส้นทางเดินป่าเพื่อไปชมสะพานรากไม้เริ่มต้นที่หมู่บ้าน Tyrna โดยจะมีสะพานรากไม้ให้ชม 2 แห่ง แห่งแรกที่จะถึงก่อน (หลังจากเดินลงบันไดราว 1,000 ขั้นนานครึ่งชั่วโมง) คือ สะพานรากไม้หมู่บ้านน็องทิมไม (Nongthymmai) ซึ่งถือเป็นสะพานรากไม้ที่มีความยาวมากที่สุด นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่อาจมีอุปสรรคทางด้านสุขภาพร่างกายหรือมีเวลาท่องเที่ยวจำกัด มักเลือกชมแค่สะพาน Nongthymmai เพราะหากจะต้องเดินไปสะพานรากไม้แห่งที่สองต้องเดินลงบันไดอีก 2,000 กว่าขั้น และเดินข้ามสะพานแขวนชวนหวาดเสียวสำหรับคนกลัวความสูง สิริรวมแล้วเป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง
แต่ไหนๆ ก็มาแล้ว ไม่ควรพลาดการไปเยือนสะพานลำดับที่สอง ซึ่งก็คือ สะพานรากไม้สองชั้นอุมเชียง (Umshiang Double Decker Living Root Bridge) นางเอกแห่งบรรดาสะพานรากไม้ทั้งปวงก็ว่าได้ เพราะเอกลักษณ์ของการเป็นสะพานสองชั้นที่เหลือเพียงไม่กี่แห่ง
และด้วยความที่เป็นนางเอกประจำป่าศักดิ์สิทธิ์จึงมีนักท่องเที่ยวมาชื่นชมความสวยงามและแข็งแกร่งของสะพานรากไม้สองชั้นพลุกพล่านเป็นพิเศษ ใครอยากถ่ายรูปคู่กับสะพานต้องรอคิวนานหน่อย สามารถเล่นน้ำในลำธารหรือชื่นชมความงามของธรรมชาติรอบตัวแบบไม่ต้องรีบร้อน กว่าจะเดินเท้ามาถึงที่นี่ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ลองนั่งนิ่งๆ แบบไม่ต้องทำอะไร เชื่อสิว่าบรรดาผีเสื้อหลากสีหลายพันธุ์เหล่านี้จะบินมาทักทายบรรดามนุษย์แปลกหน้าอย่างเราให้หัวใจเบิกบาน
จริงๆ แล้วเราสามารถปิดทริปที่สะพานรากไม้เลยก็ได้ แต่หากใครอยากไปต่อก็มีจุดหมายสำหรับสายลุย นั่นก็คือ Rainbow Falls ที่ต้องเดินป่าต่อไปอีกราวหนึ่งชั่วโมงจึงจะได้พบกับน้ำตกที่สายน้ำตกกระทบทำมุมได้ระดับกับแสงอาทิตย์ส่อง เกิดเป็นสายรุ้งพาดผ่านสมชื่อ สร้างความสดชื่นให้ผืนน้ำสีเทอร์ควอยส์เบื้องล่างให้สวยงามขึ้นอีกเท่าตัว
ปิดท้ายด้วยหนึ่งในแลนด์มาร์คของเมืองเชอร์ราปุนจีอย่าง Nohkalikai Falls หนึ่งในน้ำตกน้ำโจนที่สูงที่สุดในอินเดีย ซึ่งสามารถขับรถไปเที่ยวได้อย่างสะดวกสบาย แต่แน่นอนว่ามี options สำหรับคนรักการเดินป่า เพราะมีเส้นทางเดินป่าระดับเทพที่เชื่อมระหว่างน้ำตก Nohkalikai กับหมู่บ้าน Nongriat ที่ตั้งของสะพานรากไม้ทั้งสองแห่งที่กล่าวมา ใครอยากเดินป่ายาวๆ จากสะพานรากไม้ไปจนถึงน้ำตก Nohkalikai ควรติดต่อไกด์ในพื้นที่เป็นผู้นำทางจะปลอดภัยที่สุด
สำหรับ Nohkalikai Falls เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีตำนานประกอบความอัศจรรย์ของธรรมชาติ แต่ตำนานบทนี้ออกจะเศร้าสักหน่อย เพราะชื่อของน้ำตกแห่งนี้ แปลว่า สถานที่ที่ลิไกกระโดดลงมา โดยลิไกคือหญิงสาวในหมู่บ้านแถบนี้ที่เพิ่งแต่งงานและมีลูกน้อยกลอยใจ ทว่าสามีมาด่วนจากไปก่อนวัยอันควร ลิไกจึงแต่งงานใหม่ แต่โชคร้ายที่สามีใหม่อิจฉาความรักที่เธอมีต่อลูกของสามีคนแรก เมื่อลิไกออกไปทำไร่ทำสวน เขาจึงวางแผนปลิดชีพลูกน้อยของเธอ (บางเรื่องเล่าอ้างว่าเขานำลูกของลิไกมาทำเป็นอาหารให้เธอกิน เธอเองก็กินไปด้วยความไม่รู้…) เมื่อหญิงสาวทราบความจริงว่าลูกสาวได้จากไปอย่าวไม่มีวันกลับ
เธอจึงไปยังขอบผาของน้ำตกที่สูงสุดหยั่งแห่งนี้ แล้วกระโดดลงมาเพื่อปลิดชีพตัวเอง อันเป็นที่มาของชื่อเรียกน้ำตกแห่งนี้ที่สวยไม่ซ้ำกันในแต่ละฤดูกาล
*สนับสนุนการเดินทางโดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย บินตรงสู่กูวาฮาติ ตรวจสอบเที่ยวบินและจองตั๋วเครื่องบินได้ที่ www.airasia.com
อ้างอิง
- สารนาถ.เยี่ยมไทยอาหมสายเลือดของเรา.สยามปริทัศน์,2555.
- คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง.เทวาลัยเจ้าแม่กามาขยา : ที่แสวงบุญใหม่ของคนไทยสายมู.http://bit.ly/3ZD6dWj
- Indiahikes.David Scott Trek Trek through the Khasi Hills of Meghalaya.https://bit.ly/3OT0ffh
- MeghalayaTourism.Kyllang Rock.https://bit.ly/3OViVeh
- IncedibleIndia.Umananda Temple.https://bit.ly/3OSNBwR
- Precious Rongmei.Breathtaking beauty of Laitlum Canyons in Meghalaya.https://bit.ly/3VH74V4
- Antara Choudhury.Mawryngkhang Trek (Bamboo Trail) Meghalaya – A Complete Travel Guide.https://bit.ly/4iDxv7E